อภิสิทธิ์แถลงไม่รับร่างฯ หนุนบิ๊กตู่เป็นผู้นำร่างรธน.ใหม่ หยิบยื่นสิ่งที่ดีกว่าแก่ปชช.

“อภิสิทธิ์” ลั่น ไม่รับรธน.เหตุ ขัดอุดมการณ์ ปชป.-ไม่แก้ปัญหาแต่เพิ่มคู่ขัดแย้ง พร้อมหนุน “บิ๊กตู่” อยู่ต่อ หากไม่ผ่านประชามติ ยันไม่ยอมให้ใครใช้เป็นข้ออ้างทำบ้านเมืองวุ่นวาย หวั่น รัฐธรรมนูญผ่าน จำเลยคดีจำนำข้าว ได้ผลประโยชน์ เหตุกม.เปิดช่องอุทรณ์ง่าย

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 27 กรกฎาคม ที่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคปชป. แถลงจุดยืนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญว่า การแถลงวันนี้ไม่สามารถเป็นมติพรรคได้ เพราะไม่สามารถประชุมพรรคได้ แต่เป็นจุดยืนที่ผมแสดงความเห็นในฐานะหัวหน้าพรรค เป็นอุดมการณ์ของพรรค เป็นการสานต่ออุดมการณ์สำคัญของพรรคตามคำพูดของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตหัวหน้าพรรคฯ คือ “อุดมคติเท่านั้นที่จะยั่งยืนอยู่ได้ แม้ตัวผู้ปกครองจะล้มหายตายจากไป สัจจะตามอุดมคติจะยังอยู่” ปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข ประเด็นที่ 1. การกำหนดทิศทางของประเทศ หนีไม่พ้นการอาศัยหลักการประชาธิปไตย คือ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และการกำหนดสิทธิเสรีภาพมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อตามอุดมการณ์พรรคคือ การกระจายอำนาจสู่ชุมชนและท้องถิ่น แต่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าวและมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพน้อยกว่ารัฐธรรมนูญปี 50 จึงมองว่าโอกาสที่รัฐธรรมนูญจะทำให้ประเทศก้าวหน้า และรัฐบาลที่มาหลังประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ จะตอบสนองสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็นไปได้ยาก เพราะไม่สามารถตอบโจทย์ประเทศและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในประเด็นที่ 2 ความขัดแย้ง ต้องแก้ด้วยกระบวนการการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่ใช่แค่เลือกตั้งใช้เสียงข้างมาก แต่ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเหมาะสม แต่กลไกของส.ว. 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกกันเองในบทถาวร และแต่งตั้งในบทเฉพาะกาล ไม่ได้มาจากประชาชน จึงไม่สามารถแก้ปัญหาขัดแย้ง มีแต่จะสร้างคู่ขัดแย้งใหม่เกิดขึ้น ส่วนกติกาที่ตั้งมาเป็นกติกาที่แก้ยากมาก เป็นตัวที่บีบรัดและตีกรอบความขัดแย้งในอนาคต อีกทั้งกระบวนการประชามติเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างผิดปกติ ไม่เป็นไปตามแนวทางที่ปฏิบัติกันมา เป็นปัญหาเรื่องความชอบธรรมในการจัดทำประชามติ จึงหมายความว่ารัฐธรรมนูญนี้จะเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งในอนาคตได้ และ ประเด็นที่ 3 การแก้ไขปัญหาการทุจริต เป็นจุดเด่นของรัฐธรรมนูญนี้ ตนสนับสนุนหลายมาตรา ซึ่งจะมีการเพิ่มโทษอย่างไรก็แล้วแต่ การจับการทุจริตต้องเริ่มต้นจากบรรยากาศที่เปิด ประชาชนสามารถตรวจสอบเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเต็มที่ แต่รัฐธรรมนูญนี้เปลี่ยนแปลงกระบวนการไปจากเดิมที่มีทั้งกระบวนการถอดถอน และดำเนินคดีอาญา แต่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ถอดกระบวนการถอดถอนออก โดยพึ่งกลไกหลัก คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และศาลฏีกแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กลับทำให้ 2 องค์กรนี้อ่อนแอลง เพราะคนทำผิดสามารถอุทรณ์ได้ง่าย

“ถ้ารัฐธรรมนูญนี้ผ่านคนกลุ่มแรกที่ได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญนี้ คือ จำเลยในคดีจำนำข้าว เพราะถ้าตัดสินว่าผิด จะสามารถอุทรณ์ตามรัฐธรรมนูญใหม่ได้เลย ผมสนับสนุนการปราบโกง แต่บทบัญญัติกำลังทำให้กระบวนการปราบโกงอ่อนแอลง ไม่ได้เป็นอย่างที่พูดกันว่าการปราบโกงเข้มข้นขึ้น ดังนั้นโจทย์ 3 ข้อ จึงให้คำตอบว่า ผมไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในฉบับนี้ ขอย้ำว่า เกณฑ์การพิจารณาไม่มีประเด็นใดเลยที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือกตั้ง และการเมือง แต่ที่ไม่รับเพราะเห็นว่าร่างนี้ไม่ตอบโจทย์ของประเทศ ไม่เป็นกติตกาที่เอื้อให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากปัญหาเดิม ๆ ได้ ซึ่งถ้า 7 สิงหาคม ร่างไม่ผ่านจะเกิดอะไรขึ้น ผมก็เรียกร้องเรื่องนี้มายาวนาน แต่ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน จึงต้องตอบคำถามวันนี้ให้ชัดว่า ผมไม่สามารถรับร่างนี้ได้เพียงเพราะผมกลัวที่จะได้สิ่งที่แย่กว่า” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

Advertisement

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า การลงมติรับหรือไม่รับไม่ใช่เรื่องที่บอกชอบหรือไม่ชอบ เชียร์หรือไม่เชียร์ฝ่ายใดทางการเมือง เพราะตนไม่ยอมให้ใครนำเงื่อนไขว่า ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านมาสร้างความวุ่นวายขัดแย้งในบ้านเมือง ตรงกันข้ามถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ตนสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ทำรัฐธรรมนูญใหม่ตามโรดแมปที่กำหนดไว้ แล้วเลือกตั้ง เพราะ คสช. และพล.อ.ประยุทธ์ ต้อรับผิดชอบ จึงเป็นโอกาสที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จะให้รัฐธรรมนูญที่ดีแก่สังคม ตนมั่นใจว่าถ้าไม่ผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ต้องตระหนักว่าสาเหตุมีที่มาที่ไปอย่างไร และท่านคงไม่เขียนคนเดียว แต่ต้องฟังจุดอ่อนจุดแข็งจากสังคม โดยไม่ต้องเปลี่ยนเป้าหมายในการแก้ปัญหาประเทศ ดังนั้น ตนเสนอจุดเริ่มต้นว่าน่าจะเป็นรัฐธรรมนูญปี 50 เพราะเคยผ่านการทำประชามติมาแล้ว และรัฐธรรมนูญ 50 ไม่ใช่ตัวปัญหาเงื่อนไขที่ทำให้เกิดรัฐประหาร และบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพปี 50 ชัดเจนที่สุด เราไม่ควรถอยหลังไปจากนี้ ที่สำคัญพล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถปฏิรูปเรื่องสำคัญ ๆ ก่อนการเลือกตั้งได้โดยไม่โยนเรื่องการปฏิรูปไปสู่คณะกรรมการฯ

“ยืนยันว่าการกำหนดจุดยืนของผมเพื่อต้องการให้พรรคปชป. เริ่มต้นก้าวแรกที่เป็นก้าวใหม่ในการเมืองใหม่ เราต้องพิจารณาตามหลักการ อุดมการณ์ และผลประโยชน์ส่วนรวมประเทศ โดยไม่สนใจว่า คสช. หรือ นปช.จะพูดอย่างไร ถ้าเรายังเอาการเมืองที่ว่า คนนี้เราชอบ พูดอย่างนี้เราต้องตาม ถ้าคนนี้ไม่ชอบพูดอย่างนี้ เราต้องค้านตลอดเวลา เราจะไม่มีวันก้าวผ่านวิกฤติได้เลย หลักเกณฑ์เช่นนั้นกำหนดอนาคตประเทศไม่ได้ สำหรับคนที่เป็นห่วงว่าผมแถลงอย่างนี้ เพราะสมคบคิดพรรคการเมือง คงไม่ใช่ เพราะอุดมการณ์ชัดเจน เราจะดำเนินการด้วยความบริสุทธิ์ ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่มีวันไปสมคบคิดกับคนที่โกงชาติ หรือคิดจะโกงชาติในอนาคตโดยเด็ดขาด และวันนี้จะไม่ตอบคำถามสื่อมวลชน อยากให้ท่านไปพิจารณาสาระที่ผมพูดวันนี้ว่า จะทำให้ประเทศเดินหน้าได้หรือไม่ ถ้าใครเห็นว่าสิ่งที่ผมพูดวันนี้ไม่ถูกต้องเพราะข้อเท็จจริงที่เอามาอ้างนั้นไม่ใช่ ผมยินดีแลกเปลี่ยนเสมอ แต่วันนี้อย่าเอาเนื้อหาสาระที่พูด ดึงผมว่า ขัดแย้งหกกับใคร หรือสมคบใคร ผมแถลงด้วยจุดยืนที่จะเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต” หัวหน้าพรรคปชป. กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image