มีชัย ฤชุพันธุ์ ไข 3 ปมใหญ่ สิทธิ-เสรีภาพ-อำนาจ ในร่างรัฐธรรมนูญ

หมายเหตุนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมของเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ วันที่ 7 สิงหาคม 2559 โดยตอบข้อซักถามเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐบาล รัฐสภา และองค์กรอิสระ ที่ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญอย่างละเอียด ดังต่อไปนี้

สิทธิเสรีภาพของประชาชนเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไรบ้าง?

การร่างรัฐธรรมนูญยึดถือตามหลักสากลว่า “มนุษย์ทุกคนควรมีสิทธิทำได้ทุกอย่างจนกว่าจะมีกฎห้าม” ซึ่งกฎนั้นต้องเป็นกฎที่กำหนดไว้เพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม

ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญจะเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ไม่ใช่เรื่องเฉพาะมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งดูเหมือนดี แต่ความจริงประชาชนมีสิทธิเท่าที่ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น ท้ายที่สุดจะกลายเป็นข้อถกเถียงไม่มีที่สิ้นสุด

Advertisement

ที่สำคัญประเทศไทยหากจะเขียนอะไรไว้ในกฎ แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญก็ถูกเพิกเฉยเพราะถือว่าแม้คุณมีสิทธิ ก็มีไป แล้วอย่างไรต่อ เช่น คุณมีสิทธิที่จะรู้ข้อมูลข่าวสารของภาครัฐได้ แต่หน่วยงานรัฐก็เพิกเฉย เราก็ต้องไปร้องกับผู้บังคับบัญชา แล้วผู้บังคับบัญชาก็เห็นด้วยว่าไม่ควรให้ข้อมูล เราก็ต้องไปอุทธรณ์กับคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารซึ่งกว่าจะทราบเรื่องก็ 9 เดือน สุดท้ายเราก็ได้ข้อมูลที่ต้องการ แต่เราได้เพียงคนเดียว คนอื่นยังไม่รู้ต่อไป ทำให้เราคิดได้ว่าสิทธิบางอย่างถ้าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ทำไมเราไม่ทำให้เป็นหน้าที่ของรัฐ เพราะเมื่อเป็นหน้าที่ของรัฐ ดังนั้นรัฐจึงต้องทำ

ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เราได้เขียนใหม่ว่า รัฐมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของทางราชการที่ไม่ใช่ความลับ ประชาชนก็ไม่ต้องไปวิ่งเต้นตามเรื่องให้เสียเวลา สุดท้ายจะเกิดคำถามว่าแล้วถ้ารัฐไม่ทำจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเป็นคำถามที่จะไม่เกิดขึ้นที่ไหนในโลกเพราะทุกคนล้วนเคารพในกติกา แต่มักจะเกิดขึ้นในเมืองไทยเพราะรัฐจะไม่ทำ ดื้อๆ เลยก็ได้ เราจึงเขียนไว้ว่า “ถ้ารัฐไม่ทำประชาชนสามารถร้องเรียนและฟ้องร้องรัฐได้ โดยจะฟ้องในมาตรา 157 หรือจะผิดทางอาญาก็ได้”

ขณะที่เราเขียนเรื่องสิทธิของประชาชนในเรื่องสิทธิเฉพาะตัว เช่น สิทธิในการพูด สิทธิในการอยู่อาศัย ซึ่งเราเขียนไว้ในหมวดสิทธิและเสรีภาพ ส่วนเรื่องส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ที่ทุกคนควรได้นั้นเราก็เขียนไว้ในหน้าที่ และเพื่อยืนยันว่าคนทุกคนมีสิทธิจนกว่าจะถูกห้าม จึงมีมาตราเฉพาะขึ้นมา 1 มาตรา คือ “ประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิทุกชนิดเว้นแต่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายห้าม”

Advertisement

ดังนั้น เมื่อไหร่อยากห้ามต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน แต่ก็เกิดปัญหาว่าในอนาคตจะไม่แย่หรือ

เราจึงเขียนป้องกันเอาไว้ว่า “ในการออกกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนนั้นจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้” เพราะรัฐธรรมนูญจะบอกว่าการจำกัดสิทธิและเสรีภาพบางอย่างได้เพื่ออะไรบ้าง เช่น การเลือกปฏิบัติเพื่อประโยชน์ ให้คนที่พิการได้รับประโยชน์นั้นสามารถทำได้ ซึ่งคนที่พิการต้องได้รับประโยชน์ แต่จะไปจำกัดคนทั่วไปด้วยไม่ได้ หรือสิทธิในการเลือกถิ่นที่อยู่ กฎหมายจำกัดได้แต่ต้องเพื่อประโยชน์ในการดูแลเด็กและเยาวชน ไม่ใช่ว่าปล่อยทิ้งให้เด็กอายุ 3 ขวบออกไปอยู่ที่อื่นโดยอ้างว่าเขามีเสรีภาพแล้วจะไปอยู่ที่ไหนก็ไป แบบนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะถูกจำกัดไว้ว่าพ่อแม่มีสิทธิกำหนดที่อยู่อาศัยให้บุตร ซึ่งถือเป็นเงื่อนไข

และเราก็เขียนบังคับไว้ว่า “การจะจำกัดสิทธิเสรีจะต้องไม่เป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุ ไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และต้องระบุเหตุและความจำเป็น” คือไม่ใช่ว่าคุณมีเสียงข้างมากในสภาแล้ว คุณจะออกกฎหมายมาจำกัดสิทธิของคนได้ทั่วไป

ทั้งนี้ก็มีนักวิชาการออกมาบอกว่าสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญฉบับนี้แย่กว่าเก่า เพราะฉบับเก่าระบุไว้ว่าให้ออกกฎหมายได้เท่าที่จำเป็น เกิดคำถามว่าระหว่างคำว่า “จำเป็น” กับ “เกินสมควรกว่าเหตุ” อะไรมากกว่ากัน เช่น จำเป็นต้องไปสู้รบกับคนอื่น ฉะนั้นเขาสามารถบังคับให้เราไปรบได้ทุกอย่างหรือ

ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเขียนกำกับว่าจำเป็นหรือไม่ก็ตาม แต่จะต้องไม่บังคับเกินสมควรกว่าเหตุ เพราะแม้จะเกิดการรบที่ใดก็บังคับคุณจนเกินสมควรกว่าเหตุไม่ได้

เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญนี้คุ้มครองมากกว่าที่ นักวิชาการหลายคนเข้าใจ

สิ่งที่เรากังวลมากที่สุดก็คือนับวันคนจะนิยมออกกฎหมายกันมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้อยู่ในภาครัฐ เช่น องค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ (เอ็นจีโอ) ก็มักออกร่างกฎหมายมา เพราะนึกว่าการออกกฎหมายคือการสร้างอำนาจ แต่ลืมไปว่าเมื่อกฎหมายสร้างอำนาจให้คนคนหนึ่ง แต่ตัวกฎหมายต้องใช้บังคับคนทั้งประเทศ คนที่สนุกกับอำนาจมีไม่ถึงร้อยคน แต่คนที่อยู่ใต้อำนาจนั้นมีเป็นล้าน

เราจึงกังวลว่ากฎหมายที่ออกมานั้นอาจไม่ใช่ของดีทั้งหมด เพราะบ้านเมืองที่ดีต้องมีกฎหมายน้อย แล้วใช้ระบบสังคมเข้ามาควบคุมกัน ซึ่งไทยยังไปไม่ถึงขั้นนั้น เราจึงเขียนบังคับไว้ว่า “กฎหมายที่จะออกต้องมีการรับฟังจากผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย” ซึ่งไม่เคยเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับอื่นมาก่อน และต้องไม่สร้างภาระให้กับประชาชนจนเกินไป เช่น ภาครัฐบอกว่าหากทุกคนมีรถจะทำให้รถติดเพราะฉะนั้นหากใครต้องการมีรถส่วนตัวต้องมาขออนุญาต

คิดดูว่าคนไม่กี่คนมานั่งออกใบอนุญาต ส่วนคนหลายหมื่นเดินทางมาขอใบอนุญาต สุดท้ายก็มีการยัดเงินใต้โต๊ะ จึงมีการให้คำนวณก่อนว่าประชาชนทั้งหมดที่อยู่ใต้กฎหมายนั้นๆ จะต้องควักกระเป๋าเท่าไร แล้วคนออกกฎหมายได้ประโยชน์เท่าไร ถ้าชั่งน้ำหนักเทียบกันไม่ได้ก็ไม่ต้องออก ขณะเดียวกันก็เขียนบังคับไว้ด้วยว่าต้องตรวจสอบกฎหมายที่ออกมาแล้วทุกระยะ

ดังนั้น ในเรื่องสิทธิและเสรีภาพอย่าไปคิดว่าเราจะเขียนแต่เรื่องสิทธิแล้วมันจะดี มันไม่ใช่ เพราะเสรีภาพต่างถูกลิดรอนไปโดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นในรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเขียนเรื่องดังกล่าวเอาไว้มาก เพราะหากเราไปเจอพรรครัฐบาลที่มีเสียงในสภาค่อนข้างมาก ที่จะออกหรือแก้กฎหมายอย่างไรก็ได้ สุดท้ายเราก็ต้องอยู่ภายใต้อาณัติเหล่านั้นทั้งหมด ซึ่งอันตราย

ส่วนเรื่องส่วนบุคคลเราได้เขียนไว้ครบถ้วน แต่จะมีคำบางคำที่แตกต่างไปจากเดิมเพราะเราคิดว่าคำเดิมนั้นแคบหรือไม่เหมาะสม เช่น คำว่าคนพิการ ซึ่งเรามองว่าเป็นคำแง่ลบ ดูเป็นการตราหน้าให้เขา เราจึงคิดจะเปลี่ยนเป็นคำว่าคนทุพพลภาพแทน เชื่อหรือไม่ว่ามีคนพิการออกมาประท้วงหาว่าเปลี่ยนคำของเขากลายเป็นทอดทิ้งเขาไป ส่วนเราก็คิดว่า คำว่า “ทุพพลภาพ” จะกว้างกว่า รวมถึงฟังดูดี แต่เมื่อผู้พิการยืนยันว่าเขาต้องการคำเดิมเราก็ไม่ขัดข้อง จึงกลับไปใช้คำว่า “ผู้พิการ” เหมือนเดิม

ส่วนเสรีภาพความทัดเทียมกันระหว่างหญิงกับชายที่ผ่านมาเราพูดกันว่าหญิงและชายเท่าเทียมกัน จะเลือกปฏิบัติไม่ได้ แต่เวลาตั้งงบประมาณแผ่นดินซึ่งมีคนเรียกร้องให้แบ่งจ่ายหญิงและชายอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เพราะผู้หญิงกับผู้ชายมีความจำเป็นต่างกัน แล้วถ้าหากเราไม่ตั้งงบประมาณให้สอดคล้องกับความจำเป็นแล้วความทัดเทียมทางเพศก็ไม่เกิด เช่น ได้งบประมาณมา 2 แสนบาท แบ่งสร้างส้วมผู้หญิง 1 แสนบาท ผู้ชาย 1 แสนบาท ของผู้ชายสร้างส้วมได้ 5 ห้อง สร้างโถปัสสาวะได้ 10 โถ ส่วนของผู้หญิงสร้างห้องส้วมได้ 10 ห้อง ถามว่าใน 20 นาทีผู้หญิงเข้าห้องน้ำได้ชุดเดียวเพราะต้องเข้าไปทำความสะอาด กว่าจะนั่ง จะทำธุระเสร็จ แต่ผู้ชายเข้าไปปัสสาวะในโถ แค่คนละไม่เกิน 1 นาทีก็เสร็จ ดังนั้นผู้ชายจึงเข้าห้องน้ำได้มากกว่าผู้หญิงในเวลาเท่ากัน ถามว่าทัดเทียมหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าไม่ทัดเทียม เพราะผู้หญิงต้องยืนเข้าคิวรอ เราจึงเขียนในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า “ในการดูแลความทัดเทียมต้องนึกถึงความจำเป็นใดๆ ในความแตกต่างทางเพศ และผู้หญิงลำบากตั้งแต่ตั้งท้อง เราก็เขียนลงไปเลยว่ารัฐจะต้องดูแลสตรีมีครรภ์ด้วย”

สรุปคือในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เสรีภาพมากกว่า ส่วนใครที่บอกว่าเรื่องนั้นไม่มี เรื่องนี้ไม่มี ถือเป็นความเข้าใจผิด เพราะเราอาจจะเขียนไว้ในหลายมาตรา แต่อ่านกันไม่ครบจึงเกิดความเข้าใจผิดว่าไม่มี

มีชัย-ฉบับพิเศษ

การศึกษาในรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาไม่เคยมีฉบับใดบอกว่าเรียนฟรีไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 บอกเพียงว่าให้เรียนฟรี 12 ปี ถามว่าทำไมปัจจุบันยังเรียนฟรีถึง ม.6 ก็เพราะว่ารัฐบาลนับตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึง ม.6 แต่วันนี้ทุกคนยังได้เรียนฟรีจนถึง ม.6 ทั้งๆ ที่ไม่มีรัฐธรรมนูญแล้วเพราะเกิดจากนโยบายรัฐบาล แต่ไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ คราวนี้ที่เราเขียนไว้เพราะเรามีเป้าหมายที่แตกต่างจากเดิม

เป้าหมายของเราคือการศึกษาที่ให้ฟรีตั้งแต่ ป.1 จนถึง ม.6 นั้นไม่ได้สร้างความทัดเทียมกัน แต่กลับสร้างความเหลื่อมล้ำมหาศาลให้เด็ก เพราะการเรียนรู้ เกิดจากสมองของเด็ก ซึ่งเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่สามารถพัฒนาได้จนถึง 5 ขวบ หลังจากนั้นพัฒนาไม่ได้ เพราะฉะนั้นต่อให้เราเปิดให้เรียนฟรีจนถึงปริญญาเอก ถ้าสมองเด็กพื้นๆ ก็ไม่ได้ใช้สิทธิเรียนฟรีนั้น พวกลูกเศรษฐีต่างหากที่จะได้ใช้ฟรี เพราะลูกเศรษฐีเขาเรียนตั้งแต่เนิร์สเซอรี่ ทำให้สมองพัฒนามาตั้งแต่เข้าเนิร์สเซอรี่ แล้วก็มาเข้าอนุบาล 1-3 แล้วไปถึง ป.1 ถามว่าลูกตาสีตาสาธรรมดาได้เรียนเนิร์สเซอรี่หรือไม่ ก็ไม่ พอเวลาเด็กทั่วไปมาสอบแข่งกับลูกเศรษฐี เขาจะสู้ได้หรือไม่ เพราะเด็กที่เรียนเนิร์สเซอรี่กว่าจะเข้าอนุบาลก็หยิบสมาร์ทโฟนมาเล่นได้แล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความทัดเทียมในเรื่องการศึกษา เราจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กธรรมดาซึ่งเป็นเด็กส่วนใหญ่ของประเทศมีโอกาสเท่าๆ กัน

เราจึงเขียนบังคับไปว่า “เริ่มเรียนฟรีตั้งแต่อนุบาลจนจบภาคบังคับคือ ม.3” แล้วเขียนกำกับไว้อีกในหมวดปฏิรูปว่า “ให้จัดการศึกษาก่อนอนุบาลหรือเนิร์สเซอรี่ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ” รวมแล้วเป็นเรียนฟรี 14 ปี เพิ่มเนิร์สเซอรี่ไปอีก 2 ปี ส่วนในระดับ ม.4-6 นั้นเราเองก็ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลที่เข้ามาบริหารจะมีนโยบายอย่างไร เราจึงเขียนกองทุนไว้ให้คนยากจน หากรัฐบาลไม่ได้เรียนฟรีในระดับมัธยมปลาย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ม.4-6 ก็ให้เรียนฟรีอยู่แล้ว ทำให้ได้เรียนฟรีจาก 14 ปี เป็น 17 ปี แล้วต่อจากนี้ไปเด็กธรรมดาทั่วไปก็จะมาสู้เด็กร่ำรวยได้แล้วเพราะได้รับการสนับสนุน แต่แน่นอนว่าเนิร์สเซอรี่ที่เป็นของรัฐบาลคุณภาพอาจยังด้อยกว่าของเอกชน แต่อย่างน้อยก็จะได้รับการพัฒนา ความเสมอภาคจึงจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง

อำนาจของสภาผู้แทนฯ วุฒิสภา เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไรบ้าง ?

อำนาจ ส.ส.กับวุฒิสภาไม่ได้มีความแตกต่างอะไรจากของเดิม แต่จะเพิ่มว่าอำนาจของ ส.ส.และ ส.ว.ที่เคยห้ามไว้ว่าในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีห้ามไม่ให้แปรญัตติเพื่อเอาเงินไปให้ ส.ส.และ ส.ว.ใช้

เรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งมาเขียนในฉบับนี้ แต่เขียนไว้ตั้งแต่สมัยรัฐธรรมนูญปี 2540 แล้ว แต่ไม่เคยปฏิบัติ ซึ่งแปลว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องเพิกเฉยต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งอันตรายมาก เพราะถือเป็นกฎหมายสูงสุดในประเทศ แต่ทุกคนตั้งแต่สำนักงบประมาณ ส.ว. ส.ส. กรรมาธิการ จนไปถึงกระทรวง ทบวง กรม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมมือกัน สุดท้ายฟังแล้วมันน่าเจ็บปวดหรือไม่

ทีเวลาจะขึ้นเงินเดือนข้าราชการบอกไม่มีเงิน แต่เงินเหล่านั้นมันหายไปไหนหมด ก็หายไปอย่างที่ทุกคนร่วมมือจัดการกับมัน ซึ่งในครั้งนี้เราไม่ได้แก้ไขอะไรเลย แต่เขียนต่อไปอีกหน่อยว่า “หากเกิดการกระทำลักษณะดังกล่าวให้ไปฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้คำแปรญัตติเป็นอันตกไป” ซึ่งแค่นั้นไม่เพียงพอเพราะทุกคนร่วมมือกันแล้วใครจะเป็นคนฟ้อง เราจึงเขียนต่อไปว่า “เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาแล้วให้พ้นจากตำแหน่งทันที ทั้ง ส.ว.และ ส.ส.คนที่ลงมติ”

หาก ครม.ลงมติ ครม.ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย แต่ข้าราชการประจำจะไม่พ้นต่อเมื่อได้ทำความเห็นทักท้วงไว้หรือทำหนังสือลับแจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไว้ ข้าราชการก็ไม่ต้องรับผิดชอบ และเพื่อให้เกิดผลอย่างจริงจังเราจึงเขียนเรื่องนี้ให้มีอายุความถึง 20 ปี

ตรงนี้อาจทำให้ฝ่ายการเมืองไม่ค่อยพอใจ แต่ในฐานะประชาชนเราขมขื่นมาก เพราะแม้รัฐธรรมนูญจะห้ามไว้ แต่ทุกคนร่วมมือกันเพิกเฉย ซึ่งก่อนที่เราจะเขียนเพิ่มไปก็ได้ถามความเห็นหลายฝ่ายว่าจะเปลี่ยนให้ระบุไว้ตรงๆ เลยหรือไม่ว่าถึงปีงบประมาณก็ให้แบ่งงบให้ ส.ส.และ ส.ว.ไปชัดๆ เลย จากนั้นจะเหลือให้ประชาชนเท่าไรก็ไปว่ากันอีกที ก็จะเขียนให้ ซึ่งไม่มีใครออกมาบอก แสดงว่ายังยืนยันจะยืนตามหลักการเดิมแต่ต้องเพิ่มข้อบังคับใหม่ลงไปด้วย

อำนาจของวุฒิสภาเป็นอย่างไร ?

ปกติ ไม่ได้มีอะไรมาก แต่ถูกตัดอำนาจการถอดถอนออก เพราะเรื่องที่จะไปให้วุฒิสภาดำเนินการถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งคือเรื่องทุจริต ประพฤติมิชอบ ร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของการทำผิดทางอาญา ไม่ใช่เรื่องที่จะเอาไปโหวตกัน มิเช่นก็จะสบาย ดังนั้นจึงไม่เคยมีการถอดถอนใครได้ เพราะมันขัดแย้งกับธรรมชาติของคนไทย

คนไทยเรามีพรรคพวก ไหนจะมีหลักการทางพระพุทธศาสนาอย่างพรหมวิหาร 4 อีกคือ เมตตา กรุณา มุทิตา พอถึงสุดท้ายทำอะไรไม่ได้ ก็แค่วางเฉย อุเบกขา ไม่โหวตออก ผลสุดท้ายทำอะไรไม่ได้ จึงได้แต่คิดว่าถ้าคนเหล่านั้นทำผิดก็ให้ไปฟ้องศาล ถ้าศาลตัดสินว่าผิดก็ไปเลย ไม่ต้องมาโหวต ขาดคุณสมบัติไปเลย เพราะฉะนั้นจึงตัดอำนาจถอดถอนออก

อำนาจฝ่ายบริหารเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากกว่าเดิม ?

มันไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่ว่าเริ่มมีกรอบ คือ กรอบที่ปกติธรรมดาที่รัฐบาลทั้งโลกเขามี แต่เราไม่มี ซึ่งเราก็มักจะเถียงกัน ดังนั้น จึงนำกรอบนั้นมาใส่ มีทั้งหมด 4 อย่าง คือ

1.ตามมาตรา 164 ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ เปิดเผย มีความรอบคอบ ระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

2.รักษาวินัยการเงินการคลัง

3.ยึดถือการบริหารบ้านเมืองที่ดี

และ 4.สร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนมีความรักและสามัคคีกัน

ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นอะไรมาก แต่เป็นหน้าที่หลักธรรมดาที่ต้องทำกันอยู่แล้ว ถามว่าทำไมเราถึงต้องเขียนสิ่งเหล่านี้ เพราะที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์ที่ว่า ถ้าเลือกพรรคเรา เราจะสร้างหอประชุม ซึ่งการทำเช่นนี้ไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกัน ในรัฐธรรมนูญของเรามีอะไรหลายอย่างที่ในโลกเขาไม่มี จริงหรือไม่ ตอบว่าจริง เพราะว่าบ้านเรามีเหตุหลายอย่างที่ประเทศอื่นๆ เขาไม่เกิด แต่เหตุการณ์ก็ไม่ใช่ว่ามันไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะในแต่ละประเทศก็มีเหตุของมัน

ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่สหรัฐอเมริกา มีรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้มาครอบครองซึ่งอาวุธปืน ตั้งแต่สหรัฐตั้งประเทศจนถึงปัจจุบัน รัฐธรรมนูญนั้นก็ยังอยู่ ทั้งโลกไม่มีใครมีแบบนี้ แล้วถามว่า ป่าเถื่อนหรือไม่ ถ้าลองประเทศเรามี แล้วเขาไม่มี เขาจะต้องว่าเราป่าเถื่อนแน่ๆ เพราะที่สหรัฐเพิ่งมีเหตุการณ์ยิงกัน ยิงกันทีเป็น 10 คน แต่พวกเขาก็ยังทน เพราะอยากรักษาเสรีภาพตัวนั้น โดยเอาชีวิตคนบริสุทธิ์ไปแลก ถามว่าพวกเราจะรับได้หรือไม่ เรารับไม่ได้หรอก แต่เราก็ไม่ได้ไปว่าอะไรเขา มีแต่เขาที่มาว่าเรา สิ่งที่เรามีอะไรแตกต่างออกไป เพราะว่าเขาไม่เคยรู้เรื่องภายใน

อีกส่วนที่แตกต่างออกไปคือคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีถ้าพ้นจากตำแหน่งแล้วยังรักษาการอยู่ “เว้นแต่กรณีเสียชีวิต” แต่เรื่องใหม่นี้ คือ “เว้นแต่กรณีทุจริต” เพราะถ้าลาออกหรือพ้นจากตำแหน่งเพราะทุจริต แล้วมารักษาการเงินคงหมด

อำนาจขององค์กรอิสระ

เราเพิ่มอำนาจบางส่วนของแต่ละส่วน แต่เพื่อให้ทำงานได้คล่อง เช่น กกต. ถ้าไปเจอการทุจริตสามารถสั่งการได้เลยทันที เพื่อให้องค์กรอิสระมีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน มีคนบอกว่าองค์กรอิสระมีอำนาจล้นฟ้า ไม่มีใครไปตรวจสอบได้ ไม่จริง เพราะองค์กรอิสระทั้งหมดอยู่ภายใต้อาณัติที่ ส.ส.สามารถเข้าชื่อกันเพื่อไปร้องต่อ ป.ป.ช.ได้ เพราะทุกองค์กรโยงการตรวจสอบไปที่ ป.ป.ช. ส่วน ป.ป.ช.ก็ให้ ส.ส.ร้องเรียนตรวจสอบได้ด้วย สตง. องค์กรอื่นร้องเรียน ถ้ามีปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญก็ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ ป.ป.ช.เมื่อถูกร้องแล้วส่งไปยังศาลฎีกาเลย แปลว่าถ้าทำผิดแล้วก็ติดคุกเลยทันที

เพราะฉะนั้นทุกองค์กรจะถูกตรวจสอบ และเพื่อให้บ้านเมืองมีกฎกติกามารยาทที่ชัดเจนขึ้น เรากำหนดให้องค์กรอิสระทุกองค์กรไปร่วมกันจัดทำจรรยาบรรณ จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อทำเสร็จแล้วก็ใช้กับตนเอง พร้อมส่งไปให้ ครม.และวุฒิสภาพิจารณา เพราะฉะนั้นร่างรัฐธรรมนูญจะมีจริยธรรมอะไรบ้าง ทั้งนี้ในเรื่องจริยธรรมในกฎหมายเมืองนอกเขาไม่ต้องเขียน เพราะเขาจะรู้ด้วยตนเอง แต่ประเทศไทยยังไม่มีแบบนั้น จึงต้องมีการตรวจสอบ ชาวบ้านก็ตรวจสอบจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองส่งเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญได้

อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมีอะไรบ้าง?

ก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าเก่า คือ ดูแลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ดูแลปัญหาที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ที่เปลี่ยนไปนิดหน่อย คือ แต่ก่อนจะเขียนว่าจะต้องมีคนทะเลาะกันเสียก่อน แล้วจึงไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ แต่ต่อไปนี้ถ้าพบว่าอะไรที่มีปัญหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญก็ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญได้เลย และประชาชนสามารถไปร้องเรียนได้ด้วยตนเอง แต่จะมีเงื่อนไขว่ากรณีไหนทำได้และไม่ได้ เพราะเราเห็นว่าที่ผ่านมาเกิดปัญหาเดินไปข้างหน้าไม่ได้ แต่ครั้งนี้สามารถหยิบเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ได้เลย ซึ่งอำนาจยังคงมีอยู่เท่าเดิม ไม่ได้มากกว่าหลักการเดิม แต่ที่จะมากกว่าคือระหว่างที่องค์กรอิสระควบคุมกันเอง

ส่วนกรณีที่วินิจฉัยหากประเทศเกิดวิกฤตเหมือนที่ผ่านมาจะอยู่ในมาตรา 5 ของเดิมเคยระบุไว้ว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติใดใช้กับกรณีใดให้เป็นไปตามประเพณีการปกครอง” แล้วมันบอกแค่นั้น ซึ่งไม่รู้ว่าใครจะเป็นคนชี้ว่าคืออะไร แล้วทุกคนก็ไปนึกเอาว่าเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวท่านตรัสมาตลอดว่า ไม่ใช่พระราชอำนาจของท่าน คนก็ไปบอกว่าต้องไปหานายกฯพระราชทาน ท่านก็ตรัสว่าท่านไม่เคยพระราชทาน เพราะท่านก็อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นกัน เพราะฉะนั้นก็ต้องทำตามรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นเราจึงสร้างกลไกขึ้น ประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้เรียก ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานองค์กรอิสระทั้งหมด ประธานสภาผู้แทนฯ ประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้าน และนายกฯ ถือว่าเป็นท็อปของประเทศมาร่วมกันประชุมแล้วมาวินิจฉัยแก้ปัญหาหาทางออก

นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่หลายคนอาจจะไม่ค่อยชอบกัน คือกรณีที่รัฐบาลไปใช้เงินหลวงจนกระทั่งส่อให้เห็นว่าอาจจะทุจริต เสียหาย หรือกระทบต่อบ้านเมือง ถ้า สตง.พบเหตุการณ์ให้รายงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน แล้วถ้าคณะกรรมตรวจเงินฯพบว่าจริง ก็ให้ส่งเรื่องมายัง ป.ป.ช.และ กกต. เพื่อประชุมดูว่าจริงหรือไม่ เพราะ ป.ป.ช.ดูแลเรื่องทุจริต ส่วน กกต.เป็นผู้ดูแลเรื่องนโยบายของรัฐบาล ก็เข้ามาตรวจสอบว่ามีการทุจริตจริงหรือไม่ ซึ่งถ้าเห็นว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนญ ก็ให้แจ้งรัฐบาลว่ามีปัญหา ให้กลับไปคิดทบทวนนโยบายดังกล่าว

ถ้าเขาทำต่อแล้วไม่มีปัญหาก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิดปัญหาและความเสียหายเขาจะต้องรับผิดชอบ

บางฝ่ายมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งแก้แต่ปัญหาทุจริตจนไม่พัฒนาประเทศ

อะไรที่ควรต้องมีในรัฐธรรมนูญนี้ก็มีหมด แต่ที่พูดกันอยู่ก็พูดแต่เรื่องทุจริต เพราะเป็นปัญหาที่ค้างคามานานจึงเน้นตรงนี้ แต่จะเห็นว่าในเรื่องเศรษฐกิจเราก็เปลี่ยน เพื่อทำให้คนได้รับผลประโยชน์ทัดเทียมกัน แต่ก่อนนี้เขียนว่าต้องใช้ระบบเศรษฐกิจเสรี ซึ่งแปลว่ามือใครยาวสาวได้สาวเอา คราวนี้เราเปลี่ยนใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจต้องทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีส่วนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย เพื่อไม่ให้ใครไปรวยคนเดียว ซึ่งเป็นการเปลี่ยนทิศทางใหม่และมีหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อกระตุ้นไม่ให้ฟุ้งเฟ้อ ไม่ให้ไปจนสุดกู่ แล้วในที่สุดก็หาความสุขกันไม่ได้ ให้นึกถึงการพัฒนาทั้งทางวัตถุและจิตใจควบคู่กันไป

ในรัฐธรรมนูญนี้ถ้าว่างลองอ่านกัน จะเห็นอะไรใหม่ๆ ที่อยู่ในนี้เยอะ แม้กระทั่งเรื่องการศึกษาก็เปลี่ยนทัศนคติ ได้เขียนบังคับลงในรัฐธรรมนูญดำเนินการให้เด็กเรียนได้ตามความถนัด เพราะทุกคนขณะนี้มักจะถูกบังคับ แม้ไม่ใช่พ่อแม่ก็จากสังคมรอบข้างเพราะสังคมชอบอันนี้ ถึงจะเรียนกัน

ครั้งหนึ่งเรียนนิเทศศาสตร์ถึงจะเจ๋ง ครั้งหนึ่งเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์แล้วจะเท่ เรียนไปตามปัจจัยอื่นทั้งนั้น ไม่ใช่ที่ตนถนัดก็เหมือนกับการฆ่าตัวตาย อย่างบางคนเลือกเรียนวิทย์เพราะอยากไปแข่งเป็นหมอ สุดท้ายคุณก็ไม่ได้เป็น ทั้งที่ความจริงคุณไม่ได้ถนัดทางวิทย์เลย การจะทำให้เด็กเรียนสิ่งที่เขาถนัดนั่นคือหลักที่เขียนเอาไว้ในนี้

มองว่าในอนาคตมันแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ยาก

เราคิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดและเป็นกรอบ เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ แน่นอนความจำเป็นที่ต้องแก้ไขมันก็มี แต่เวลาจะแก้ หาฉันทานุมัติหน่อยได้ไหม ไม่ใช่คุณจะไปเซ็น เสียงข้างมากหนึ่งเสียงแล้วคุณก็แก้มันได้หมดโดยไม่คำนึงถึงฝ่ายค้าน ไม่คำนึงถึงวุฒิสภาเลย มันก็แสดงให้เห็นว่าเกิดปัญหาแล้ว การแก้นั้นมันอาจเป็นอันตรายต่อประเทศชาติ เพราะฉะนั้นเราถึงบอกว่าจะแก้ก็แก้ได้ ถ้าฝ่ายค้าน 20% และวุฒิสภา 1 ใน 3 เขาเห็นด้วย ก็แปลว่ามันมีความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องแก้ ก็แก้ ก็ไม่ได้ว่าใช้เสียงข้างมากได้ แต่ต้องให้มีพวกนี้ร่วมด้วย

ปัญหาที่แก้กันคราวที่แล้วจนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าใช้ไม่ได้ มันจะได้ไม่เกิดขึ้นอีก เพราะว่ารัฐธรรมนูญนี้มันก็สาหัสสากรรจ์ กว่าจะผ่านประชามติก็เหนื่อยยากแสนเข็ญกันอยู่ ถ้าประชาชนผ่าน ก็แปลว่ายอมรับหลักการ เราถึงกำหนดว่าถ้าคุณจะแก้ คุณก็หาฉันทานุมัติ ถ้าคุยให้มันรู้เรื่องปัญหาก็จะไม่เกิด ซึ่งเป็นวิธีในการปรองดองอย่างหนึ่ง ทำให้เรื่องการเมืองไม่เอาเป็นเอาตายจนกระทั่งถึงขั้นไม่เผาผีกัน ยามจำเป็นก็ยังคุยกันได้

บทเฉพาะกาล กรณีหากคำถามพ่วงของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านประชามติขึ้นมาต้องมีการแก้ไขหรือไม่ อย่างไร ?

ถ้าผ่านก็ต้องแก้ ก็แปลว่าประชาชนจะเอาอย่างนั้น หากต้องแก้ก็ไม่ได้กระทบกับการทำงานของ กรธ. โดยให้เวลา กรธ. 15 วันในการแก้ และ กรธ.ก็ต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญดู ศาลรัฐธรรมนูญก็มีเวลา 15 หรือ 30 วัน ดูว่าที่ กรธ.แก้เนี่ยตรงกับที่ประชามติผ่านไหม เขาก็หาคนเช็ก ไม่เช่นนั้น กรธ.เที่ยวไปใส่อะไรต่ออะไรก็ได้สิ ก็ต้องดูให้ตรงแล้วค่อยนำไปกราบบังคมทูล

การปฏิรูปจะอยู่ในส่วนของกฎหมายลูกอีกทีหรือไม่ ?

ต้องมีกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปซึ่งต้องออกโดยเร็วภายในหนึ่งปี เพราะในนั้นมีปฏิรูป 7 เรื่อง บางเรื่องมันอาจลงมือปฏิรูปได้ แต่บางเรื่องต้องออกกฎหมายก็แล้วแต่ แต่ควรมีกฎหมายกลางในการปฏิรูป จะได้รู้ว่าควรฟังอะไร ใคร ที่ไหน และอย่างไร จึงจะเกิดความรอบคอบเหมือนกับยุทธศาสตร์ชาติที่บังคับไว้ว่าต้องออกกฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ

แล้วบังคับไว้ว่า ในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติต้องฟังทุกฝ่าย ประชาชน ชุมชน กลุ่มบุคคล พรรคการเมือง เพราะมันจะผูกพันชาติไป 20 ปี ฉะนั้นต้องมองร่วมกันว่า ชาติเราจะไปทิศทางไหน ตรงนั้นเราจึงออกมามีกฎหมาย เพื่อจะรู้ว่าต้องรับฟังกันอย่างไร ประชุมหารือกันยังไง แล้วถึงไปจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเช่นเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image