คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ฟัลลูจาห์กับ ‘ไอเอส2.0’

REUTERS/Suhaib Salem/File Photo

นักสังเกตการณ์และผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการก่อการร้ายตั้งข้อสังเกตตรงกันว่า ขบวนการก่อการร้ายอย่างกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส หรือไอซิส หรือที่เรียกกันในภาษาอาหรับว่าดาเอช) กำลังอยู่ในช่วงของการปรับเปลี่ยนภายในครั้งใหญ่ เปลี่ยนทั้งในเชิงยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี เพื่อรองรับกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทั้งในอิรักและซีเรีย

กล่าวกันว่า การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้เริ่มต้นที่ฟัลลูจาห์

“ฟัลลูจาห์” เป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ในอิรักที่กองกำลังติดอาวุธของไอเอสยึดครองได้แบบเบ็ดเสร็จในอิรักเมื่อราวต้นปี 2014 ก่อนที่จะขยายอาณาเขตออกไปอย่างรวดเร็วข้ามเส้นเขตแดนสมมุติสู่ซีเรียในเวลาต่อมา และกลายเป็น 1 ใน 3 เมืองสำคัญของไอเอส ที่ประกอบด้วย ฟัลลูจาห์กับโมซุล ในอิรัก กับ รอกเกาะห์ ที่ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองหลวงแห่งไอเอส” ในซีเรีย

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กองทัพอิรักภายใต้ความร่วมมือของกองกำลังติดอาวุธมุสลิมชีอะห์และการโจมตีทางอากาศของสหรัฐอเมริกากับพันธมิตร บุกเข้ายึดฟัลลูจาห์คืนกลับมาจากเงื้อมมือของไอเอส

Advertisement

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการสูญเสียพื้นที่อิทธิพลในซีเรียมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เสียต่อกองกำลังกองทัพซีเรียเสรี (เอฟเอสเอ) ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐ และที่กองทัพซีเรียที่ได้รับการหนุนหลังเต็มที่จากรัสเซีย

นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันพบเห็นได้ในฟัลลูจาห์ เมืองที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของไอเอสยาวนานที่สุดในบรรดาเมืองทั้งหลายของอิรัก

ฟัลลูจาห์สอนบทเรียนให้ไอเอสได้ตระหนักว่า การยึดเมืองนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง การปกครองและบริหารจัดการเมืองที่ยึดไว้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง

เมื่อแรกเริ่มหลังยึดครองฟัลลูจาห์ ไอเอสประกาศจะ “ปฏิวัติ” ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมืองที่รัฐบาลอิรัก “ไม่เคยมอบให้” ได้มาก่อน สร้างความคาดหวังสูงให้กับเมืองแห่งชนเผ่าที่รัฐบาลอิรักไม่เคยเหลียวแลและถูกกดขี่ข่มเหงมาตลอดด้วยน้ำมือของกองกำลังความมั่นคงอิรักที่เต็มไปด้วยมุสลิมชีอะห์

แต่ผลลัพธ์ไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวัง วัดได้จากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาราว 2 ปีที่ผ่านมา ที่ชาวเมืองราวๆ 100,000 คนเดินทางออกจากฟัลลูจาห์ ทั้งที่เปิดเผยและลักลอบ หลงเหลือประชากรอยู่เพียงแค่ 80,000 คนโดยประมาณเท่านั้นเอง

ผู้คนที่หลงเหลืออยู่ในฟัลลูจาห์ถ้าไม่ตกอยู่ในลักษณะ “จำยอม” ก็อยู่ในรูปแบบ “ดื้อแพ่ง” ในทุกท่วงทำนองเท่าที่สามารถทำได้

นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไอเอสสูญเสียฟัลลูจาห์อย่างรวดเร็วในทันทีที่กองทัพอิรักตัดสินใจบุก

ฟัลลูจาห์มีสะพานแห่งหนึ่งที่ไอเอสเปลี่ยนมันให้กลายเป็นสะพานแห่งความกลัว ด้วยการใช้เป็นลานประหารและแขวนซากศพของทหารอิรักที่จับตัวไว้ได้ ไม่ห่างออกไปมากนักคือมัสยิดที่ถูกเปลี่ยนให้เป็น “ศาล” ทำหน้าที่เป็นองค์กรบังคับใช้กฎหมายชาเรีย ที่ถูกตีความจนสุดโต่ง ยิ่งนานวันไป ศาลแห่งนี้ยิ่งเพิ่มโทษทัณฑ์หนักหนาสาหัสมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ผู้กระทำผิดเพียงละเมิดในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น

ฮัมดิยา มุกห์ลิฟ จากการ์มาส่วนหนึ่งของฟัลลูจาห์ บอกว่า สามีของเธอแค่นั่งในร้านน้ำชา คุยกับเพื่อนฝูงสูงวัยด้วยกัน เรื่องที่ทั้งเมืองขาดแคลนทั้งบริการและอาหาร

“พวกนั้นบอกว่าทำไมถึงพูดจาเลวร้ายกับพวกเรา แล้วเอาตัวไป 10 วัน ทุบตีทุกวัน” มุกห์ลิฟบอก “เราเหมือนนักโทษ ไม่ได้รับอนุญาตแม้แต่จะพูด”

ปัญหาของชาวฟัลลูจาห์ที่เหลืออยู่เกิดขึ้นเมื่อกองทัพอิรักคุกคามเข้ามา การสู้รบเกิดถี่ขึ้น เงินทองลดน้อยลง ไฟฟ้าในตัวเมืองถูกตัดขาดจากโครงข่ายจ่ายไฟฟ้าของภาครัฐมาตั้งแต่เริ่มแรก ราคาอาหารและน้ำมันเชื้อเพลิงพุ่งสูงขึ้นเหมือนติดจรวด

เครื่องปั่นไฟเอกชนที่ใช้กันอยู่จำเป็นต้องขึ้นราคาตามราคาน้ำมัน ส่งผลให้เหลือบ้านเพียงไม่กี่หลังเท่านั้นที่มีไฟฟ้าใช้ 2-3 หลังในจำนวนนี้เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต การพูดคุยทางโทรศัพท์จำกัดลงเหลือเพียงแค่ที่จำเป็นสุดขีดเพราะเกรงถูกดักฟัง

เมื่อสถานการณ์แย่ลงถึงขีดสุด หลายคนก็เลิกหวั่นกลัว คาราม อาเหม็ด มาจิด แม่บ้านทำความสะอาดใน รพ.ฟัลลูจาห์ เคยถึงกับบอกใส่หน้าพวกนั้นว่าตำรวจอิรักยังดีกว่าพวกแก!

“พวกนั้นลากคอฉันขึ้นรถ พามาที่สะพานแห่งความกลัว เพื่อเตือนว่าถ้าพูดอย่างนี้อีก-หัวจะขาด”

ผู้ชายในฟัลลูจาห์ถูกบังคับให้พับขากางเกงขายาวขึ้นมาอยู่ตรงครึ่งแข้ง ทุกคนต้องไว้เครา สั้นๆ ก็ยังดี ส่วนผู้หญิงต้องสวมแต่ “คีมาร์” ชุดคลุมยาวหลวมโคร่งที่ไม่แสดงให้เห็นถึงสัดส่วนใดๆ ฟอว์เซีย อาบิด ปฏิเสธไม่ยอมสวม

“ฉันบอกว่าฉันแก่แล้ว ไม่ยอมใส่หรอก” คำตอบที่ได้คือการข่มขู่จะ “โบย” ฟอว์เซียยันกลับไปว่า “เอาเลย”

เธอบอกว่าสุดท้าย “พวกนั้น” ก็ยอมจากไปแต่โดยดี เมื่อฟอว์เซียบอกว่า จะใส่ก็ได้ถ้าไอเอสจะให้เงินมา 25 ดอลลาร์ (ราว 900 บาท) เพื่อเอาไปซื้อ “คีมาร์”

ที่โรงเรียน ไอเอสจัดการโยนตำราเรียนทุกเล่มทิ้ง และสั่งการใช้ “หลักสูตร” ของตัวเอง บางครอบครัวไม่อยากส่งลูกๆ ไปเรียน เพราะ “ทั้งหมดมีแต่เรื่องศาสนา” ไม่มีประวัติศาสตร์ ไม่มีภูมิศาสตร์ ไม่มีภาษา ไม่มีอะไรเลย ซูอัด คาลิล บอกว่า โรงเรียนอื่นๆ ที่เหลือถูกเปลี่ยนให้เป็น “ฐานทัพ” ของไอเอสไปทั้งหมด

ลูกคนเล็ก 3 คนของเธอไม่ได้ไปเรียนมา 3 ปีแล้ว แต่ใครก็ตามที่ทำอย่างนี้ต้อง “คิดค้น” ข้ออ้างขึ้นมาเอง “เราอ้างว่า เรากลัวถูกโจมตีทางอากาศ”

นอกเหนือจากศาสนาแล้ว ซูอัดบอกว่า ตำราเรียนของไอเอสมีอีกเรื่องเดียวเท่านั้นที่แตกต่างออกไป นั่นคือเรื่อง “ปืน”

สารพัดไรเฟิล มีทั้งหมด-เธอว่าอย่างนั้น

ไอเอสดึงคนฟัลลูจาห์ส่วนหนึ่งเป็นพวก โดยอาศัย “ผู้หญิง” เป็นเครื่องมือล่อใจ ผู้หญิงที่ถูกแจกจ่ายให้กับคนที่เข้าร่วมกับไอเอส ก็คือผู้หญิงของชนกลุ่มน้อย ยาซิดี ที่ตกเป็นเป้าทำลายล้างทีละหมู่บ้านโดยไอเอสตั้งแต่แรกเริ่ม

เจ้าหน้าที่ตำรวจรายหนึ่งในฟัลลูจาห์บอกว่า “พวกนั้น” จะเรียกร้องให้ครอบครัว “จัดส่ง” ผู้คนให้ จะเป็นลูกสาวก็ได้ลูกชายก็ดี ลูกชายถ้าไม่ถูกส่งไปยังแนวหน้าเพื่อรับมือกับกองทัพอิรัก ก็ถูกใช้แรงงานในการขุดหลุมเพลาะและอื่นๆ ลูกสาวก็จะกลายเป็น “เจ้าสาว” ของนักรบไอเอส ที่แต่ละรายสามารถมีภรรยาได้ 4 คน

รายได้ของไอเอสในฟัลลูจาห์ หลักๆ มาจากการเก็บภาษีและการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อน เมื่อรายได้เริ่มหดหาย เงินก้อนแรกที่ถูกยึดเอาไปใช้แทนคือส่วนที่จ่ายเป็นเงินเดือนให้กับเจ้าหน้าที่พลเรือนในตัวเมือง ไม่มีการปรับลด แต่ยึดไปทั้งหมด

เมื่อราคาอาหารแพงขึ้น ข้าวปลาอาหารในส่วนของเจ้าหน้าที่พลเรือนที่ทำหน้าที่บริการในตัวเมืองก็ถูกยึด เพื่อจัดส่งไปให้นักรบในแนวหน้า ชาวเมืองหลงเหลือเพียงแค่ผลไม้ตากแห้งประทังชีวิต

อาหารทุกอย่างที่หายากมากขึ้นเรื่อยๆ ถูกประกาศให้เป็นอาหาร “ฮาราม” หรืออาหารต้องห้ามตามหลักศาสนา สุดท้าย แม้แต่ “น้ำตาลทราย” ก็กลายเป็น “ฮาราม”

ในขณะที่นักรบไอเอสมีทุกอย่างที่ต้องห้ามเหล่านั้นสำหรับรับประทาน

“แจน คูบิส” ตัวแทนของสหประชาชาติประจำอิรัก ระบุถึงสถานการณ์โดยรวมของไอเอส ทั้งในอิรักและซีเรียในเวลานี้ไว้ว่า กำลังตกอยู่ในสภาพ “ปราชัยในแนวรบ” แต่ในเวลาเดียวกันก็ “กำลังหาทางแก้เผ็ดการสูญเสียของตัวเอง” ด้วยการใช้พลเรือนเป็นเป้า-ไม่เพียงแต่ในอิรักหรือซีเรีย หากแต่ยังหมายรวมถึงในหลายประเทศทั่วโลก

ฮิชัม อัลฮาชิมี นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงในแบกแดด บอกว่า “ดาเอช” แพ้ในแนวรบเพียงด้านเดียว แต่ยังมีอีกหลายแนวรบที่ยังสามารถเปิดฉากทำสงครามกับทั้งโลกได้

“พวกนี้เปลี่ยนวิธีการจากสงครามเชิงอุดมการณ์ มาเป็นสงครามใต้ดินแบบลับๆ เปิดฉากการใช้งานบรรดาผู้ปฏิบัติการก่อการร้ายทั้งหลายขึ้นมา อาศัยช่วงจังหวะเวลาที่บางอย่างพุ่งขึ้นสูง บางอย่างลดต่ำลง เพื่อลงมือ”

อัลฮาชิมีบอกว่า เราจะได้เห็นการลงมือใน “รูปแบบใหม่ๆ” ที่มี “คุณภาพ” ในเชิงก่อการร้ายจากไอเอสมากขึ้น

“ผู้หญิงและเด็กๆ จะตกเป็นเป้าของคนเหล่านี้มากกว่าเมื่อก่อน ทำไมน่ะหรือ? เพื่อกดดันให้รัฐบาลและทุกๆ ฝ่ายยุติการโจมตีนั่นแหละ”

มีข้อที่น่าสังเกตว่า ปริมาณของนักรบต่างชาติของไอเอสลดลงมากกว่า 90% ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีข่าวกรองของหน่วยข่าวกรองตะวันตก ที่ระบุว่าไอเอสเริ่มส่งหน่วยปฏิบัติการของตนกระจายออกไปในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเลบานอน จอร์แดน และลิเบีย หน่วยข่าวบางฝ่ายวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ว่าอาจจะเป็นความพยายามในการสร้างฐานปฏิบัติการใหม่ขึ้นมา

ฟาวัซ เกอร์เกส ผู้เชี่ยวชาญเรื่องขบวนการมุสลิมสุดโต่ง ประจำลอนดอน สคูล ออฟ อีโคโนมิค แอนด์ โพลิติคอล ไซนซ์ คิดว่าไอเอสกำลังเตรียมการเพื่อรองรับการสูญเสียดินแดนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เกอร์เกสเชื่อว่า การสูญเสียเมืองไหนๆ รวมทั้ง “รอกเกาะห์” ที่เป็นกองบัญชาการของไอเอสในซีเรีย ก็ยังไม่สำคัญเท่ากับการสูญเสีย “โมซุล” ให้กับกองทัพอิรัก

โมซุลเป็นเมืองสำคัญไม่เพียงในทางยุทธศาสตร์ แต่ยังสำคัญในเชิงจิตวิทยาและในทางศาสนาต่อไอเอส ซึ่งประกาศก่อตั้ง “อาณาจักรกาหลิบอิสลาม” ขึ้นที่สุเหร่าสำคัญของเมืองนี้

เกอร์เกสคาดหมายว่าการยึดทั้งรักกาและโมซุลกลับคืนมาจากไอเอสนั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นในเร็ววัน แต่อาจต้องใช้เวลาระหว่าง 8-12 เดือน

เขาเตือนว่า ระหว่างช่วงเวลานั้นทั่วโลกต้องระมัดระวังการ “ตอบโต้” ต่อสิ่งที่ไอเอสอ้างว่าเป็น “การรุกรานต่อรัฐของตน” จากบรรดา “ครูเซเดอร์” ทั้งหลายเหล่านี้

รูปธรรมของการตอบโต้ดังกล่าวเห็นได้จากเหตุก่อการร้ายทั้งที่นีซ เรื่อยไปจนถึงเวอร์ซบูร์ก และอันสบาค อย่างที่เห็นกันมานั่นเอง

“อารอน สไตน์” นักวิเคราะห์ด้านก่อการร้ายของแอตแลนติก เคาน์ซิล ชี้ว่า ในแนวรบไอเอสอาจยอมรับว่าตนกำลังเพลี่ยงพล้ำ แต่ในแง่ของการปฏิบัติการแล้ว ไอเอสยังมั่นใจว่าพวกตนไม่ได้ตกเป็นเบี้ยล่างหรือจำเป็นต้องถดถอยแต่อย่างใด

ในความเห็นของสไตน์ คนเหล่านี้กำลังเตรียมแผนเพื่อ “เวอร์ชั่นใหม่” ของตนเอง เวอร์ชั่นใหม่ที่สไตน์เรียกว่า “ไอเอส 2.0”

คำถามของเขาก็คือ ไอเอสจะทำอะไรเมื่อพบกับความพ่ายแพ้ในรอกเกาะห์และโมซุล?

“ไอเอส 2.0 จะเป็นกลุ่มก่อการร้าย คนที่หลงเหลืออยู่ของไอเอส ออกปฏิบัติหน้าที่ในรูปแบบของการก่อการร้าย” คนเหล่านี้จะหดตัวเล็กลง แต่ปกปิดซ่อนเร้นมากขึ้น ปิดลับมากขึ้น “คุณทำลายไปพวกหนึ่ง ที่เหลือก็ยังคงทำงานที่ว่านั้นต่อไป”

เขายกตัวอย่างเช่นกรณีของตุรกี ซึ่งสไตน์ชี้ว่า ไอเอสไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลที่นั่นได้ แล้วก็เข้าไปยึดครองพื้นที่ก็ไม่ได้เหมือนกัน “แต่เราเห็นกันแล้วว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เกิดระเบิดที่สนามบินอิสตันบูล ลงมือโดยต่างชาติ 3 คน ฆ่าคนไป 45”

การทำลายเพียงดินแดนที่เคยเป็นพื้นที่ยึดครองของไอเอสจึงไม่ใช่ชัยชนะ เพราะเมื่อเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นคนเหล่านี้ก็จะกระจัดกระจายหายไปเหมือนอากาศธาตุ….เพื่อที่จะไปโผล่ขึ้นในที่อื่น ลับเร้นมากขึ้น อันตรายมากขึ้น

สไตน์เตือนให้เห็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า ปฏิบัติการก่อวินาศกรรมอย่าง 9/11 นั้นเกิดขึ้นในยามที่ขบวนการก่อการร้ายอย่างอัลเคดามี “ผู้ปฏิบัติงาน” เพียง 500 คนทั่วโลก

ตอนนี้ไอเอสมีกองกำลังติดอาวุธไม่น้อยกว่า 30,000 คน ผ่านการฝึกอย่างดี มีอาวุธดีกว่า และมีความสามารถในการ “ผลิตระเบิด” ได้ด้วยตัวเอง

แถมหลายพันหรืออาจจะเป็นหมื่นคนในจำนวนนั้น มีพาสปอร์ตชาติตะวันตก!

นี่ต่างหากคือสิ่งที่ต้องคำนึงถึงและระมัดระวังต่อ “ไอเอส 2.0” ที่ก่อหวอดมาระยะหนึ่งแล้ว!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image