วราพร สุรวดี “กลัวที่สุดคือถูกหาว่าเอาประโยชน์จากพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” #เกาะติดระดมทุนซื้อที่ 40 ล้าน

“ระดมคนละร้อย หวัง 10 ล้าน ! ซื้อที่ดินข้างพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก เจ้าของเดิมทุ่มแล้ว 30 ล้าน กันสร้างตึก 8 ชั้นบังแหล่งเรียนรู้?”

นี่คือพาดหัวข่าวในเว็บไซต์มติชนออนไลน์ที่ไต่ขึ้นอันดับหนึ่งข่าวยอดนิยมในสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยจำนวนครั้งการแชร์ในโลกโซเชียลกว่า 98,500 ครั้ง และยอดผู้อ่านหลายแสนราย เช่นเดียวกับสื่อทุกแขนงที่ต่างพร้อมใจนำเสนอเรื่องราวของ รศ.วราพร สุรวดี ประธานกรรมการมูลนิธิอินสาท-สอาง วัย 81 ปี ผู้ก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” ย่านบางรัก ซึ่งเปิดรับบริจาคเงินจำนวน 10 ล้านบาท โดยขอระดมทุนรายละ 100 บาท หรือตามกำลัง เพื่อซื้อที่ดินด้านข้างพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีแผนสร้างตึก 8 ชั้น อันจะบดบังทัศนียภาพของพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวลงอย่างสิ้นเชิง

ไม่เพียงเท่านั้น ยังอาจส่งผลกับโครงสร้างของอาคารอนุรักษ์ซึ่งเป็นบ้านเดิมของ รศ.วราพร จึงสอบถามไปยังเขตบางรักซึ่งแจ้งกลับมาว่าสร้างได้ตามกฎหมาย เนื่องจากอยู่ในเขตพาณิชยกรรมจึงเบนเข็มมาทำจดหมายถึงผู้ว่าฯกทม. เพื่อร้องขอให้ซื้อที่ดินดังกล่าว เนื่องจากได้มอบเป็นสมบัติของ กทม. ตั้งแต่ พ.ศ.2547 กลายเป็น “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก”

ย้อนกลับไปในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รศ.วราพรให้สัมภาษณ์กับ “มติชน” ว่า ยังคาดหวังให้ กทม.ตกลงปลงใจ แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นเช่นนั้น ต้นเดือนมิถุนายน จึงตัดสินใจเซ็นสัญญาซื้อที่ดินซึ่งมีราคา 40 ล้านบาท ด้วยตนเอง โดยนำเงินมัดจำแล้ว 30 ล้านบาท มีกำหนดชำระส่วนที่เหลือภายใน 2 กันยายนนี้

Advertisement

เมื่อเรื่องราวเผยแพร่ออกไป ได้กลายเป็นกระแสสังคมที่กระหน่ำความช่วยเหลืออย่างล้นหลามจนเป็นปรากฏการณ์ พร้อมๆ กับการตั้งคำถามถึงเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์ และปัญหาที่เกิดขึ้น

ระหว่างการสัมภาษณ์ครั้งนี้ มีทั้งโทรศัพท์ดังขึ้นไม่ขาดสาย ดอกไม้ให้กำลังใจ ผู้คนนำเงินสดมามอบให้ เป็นบรรยากาศในสังคมที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

และต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของการสนทนากับสตรีผู้อยู่ในกระแสร้อนแรงขณะนี้

Advertisement

หลังกลายเป็นกระแส สถานการณ์เป็นอย่างไร?

ตอนเริ่มเป็นข่าวคือวันหยุดยาวช่วงเข้าพรรษา ก็คิดว่าคงไม่มีใครมาพิพิธภัณฑ์ ปรากฏว่าทั้งชาวบ้านและใครต่อใครมากันเต็มเลย นักข่าวก็มากันมากมายหลายสำนัก ยอดบัญชีธนาคารจาก 20,000 กว่า อยู่ดีๆ ก็เอ๊ะ! เพิ่มเป็น 200,000 เลยตื่นเต้นว่าใครให้ โทรถามธนาคารเขาก็ไม่เปิดเผย บอกว่าเป็นความลับ ปรากฏว่าเป็นลูกศิษย์คนหนึ่ง ต่อจากนั้นยอดเงินก็ทยอยเข้ามาทั้งวัน จนเครื่องตัดอัตโนมัติ เพราะบัญชีออมทรัพย์ทำรายการได้วันละไม่เกิน 900 ครั้ง แล้วมีคนโทรมาต่อว่า ว่าโอนไม่ได้ จนต้องไปเปิดบัญชีเดินสะพัดอีกบัญชี

วันที่แน่นๆ คนดูแลบัญชีต้องอัพเดต 3 หน นับปึกกระดาษไม่ไหว ใช้สมุดไม่ได้แล้ว ธนาคารให้ใช้เป็นกระดาษเป็นปึกๆ เพราะเปิดสมุดธนาคารไม่ทัน ดีใจมาก เป็นสิ่งที่เกินคาด ตอนนี้ทุกคนติดตามลุ้นว่าจะสำเร็จครบ 10 ล้านไหม ก็ลุ้นตัวเองไปด้วย ตอนนี้มาเกินครึ่งทางแล้ว

คิดว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้คนช่วยมากขนาดนี้?

เพราะคนเห็นว่าเราทำอะไร เขาเข้าใจ คิดว่าคนรับรู้ว่าเป็นหน้าที่ของเขา ไม่ใช่มาช่วยเพราะเราน่าสงสาร ขาดเงิน แต่เพราะมันเป็นพิพิธภัณฑ์ของคุณ เรายกให้คนกรุงเทพฯ ให้คนไทยไปแล้ว ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ที่โอนเงินมาให้ ไม่เคยมาเที่ยว ไม่เคยรู้จักมาก่อนด้วยซ้ำ แต่เห็นจากข่าว เลยชวน เขาบอกยังไม่ว่างแต่จะโอนเงินมาให้ (หัวเราะ)

เรื่องนี้ทำให้รู้ว่าที่ผ่านมาเรานี่หยิ่ง คิดว่าตัวเองเป็นพิพิธภัณฑ์ชั้นดี มีคนเข้าชมเยอะกว่าที่อื่นทั้งคนไทยและฝรั่งมากันไม่ขาด ที่แท้คนยังไม่รู้จักเราอีกตั้งเยอะแยะมากมาย โอ้โห! ตายจริง นึกว่าประชาสัมพันธ์ดีแล้วพอเกิดเหตุครั้งนี้เลยเป็นความรู้ใหม่เอี่ยมที่พิพิธภัณฑ์เราต้องปรับปรุงเลย

ทำไมไม่ไปขอแหล่งทุนรายใหญ่ แต่มาเรี่ยไรคนละร้อย?

ที่จริงตอนที่รู้ว่าต้องหาเงิน 10 ล้าน คิดว่าจะขายคอนโดฯ แต่ขายไม่ออก คิดว่าจะไปกู้ใครดี คิดอะไรหลายอย่าง กระทั่งไตร่ตรองว่าทุกคนควรมีส่วนร่วม เพราะนี่คือชุมชน เลยขับรถไปส่งจดหมายตามโรงเรียนที่เคยพานักเรียนมาที่พิพิธภัณฑ์ อย่างอัสสัมชัญชาย-หญิง กับกรุงเทพคริสเตียน ตอนนี้ต้องมาช่วยบ้างสิ (หัวเราะ) นี่วัดม่วงแคกับวัดสุทธิวรารามก็ส่งเงินมาช่วยอีกทาง

ทราบมาว่าส่งจดหมายเรี่ยไร มท.1 ด้วย?

ใช่ อยากรู้ว่า 100 นึงท่านจะให้ไหม (หัวเราะ)

ถ้ากระแสเกิดแผ่ว ได้ไม่ครบจริงๆ มีแผนสำรองไหม ?

คิดไว้แล้วว่าอาจไปขอยืมหรือกู้ธนาคารเพื่อจ่ายไปก่อน คาดว่าคงไม่เกิน 3 ล้าน จากนั้นก็จะขอเรี่ยไรต่อจนได้ครบ นี่ก็บนไข่ไว้ 300 ฟอง กับพระแก้วมรกตขอให้สำเร็จ (ยิ้ม)

ตอนวางเงิน 30 ล้าน ทำไมมั่นใจว่าจะหาเงินได้อีก 10 ล้าน ไม่กลัวถูกริบมัดจำ?

ความจริงมีค่าโอนอีก แต่ไม่อยากให้เป็นการโยนภาระให้คนอื่น แค่ขอระดมทุน 10 ล้านก็วุ่นแล้ว ถ้าเปิดรับบริจาคแล้วมีเงินเข้ามาแค่ 3,000 บาท จนถูกริบเงินมัดจำ 30 ล้านไป ก็จะคิดเสียว่านั่นเป็นเงินมูลนิธิ เอามาใช้ส่วนตัวไม่ได้อยู่แล้ว หายก็หายไป จะเดือดร้อนอะไร

คนใกล้ชิดมีความเห็นอย่างไรบ้าง หลังตัดสินใจซื้อที่ดิน?

ญาติๆ ก็ชักจะรู้สึกว่า เราให้ไม่รู้จักจบจักสิ้น ส่วนลูกศิษย์บอก ถ้ารู้ก่อนว่าจะเป็นแบบนี้ จะห้ามไม่ให้ทำพิพิธภัณฑ์ เพราะให้มาเยอะแล้ว จะมาทำอะไรอีก แก่แล้ว เจ็บป่วยจะมีเงินเหลือเหรอ ใครจะดูแล

ที่ดินที่จะซื้อเป็นสิทธิใคร?

มีแต่คนถามว่าแล้วจะให้ กทม.อีกไหม ตอบเลย ไม่ให้ (เน้นเสียง) แต่จะเป็นของมูลนิธิ ไม่ใช่ของส่วนตัวแน่นอน

แต่จริงๆ แล้วเงินมูลนิธิที่นำมาวางมัดจำก็เป็นเงินส่วนตัว?

ไม่ได้คิดว่าเป็นเงินตัวเองเต็มร้อย เพราะไม่ได้หามาเองด้วยน้ำพักน้ำแรง แต่ขายมรดก ขายที่ดินได้ มีการแบ่งอย่างเด็ดขาด ว่าบัญชีไหนส่วนตัว บัญชีไหนมูลนิธิ บ้านกับที่ดินที่ยกให้ กทม.ก็เหมือนกัน คือเป็นมรดกจากคุณแม่ เราไม่ได้หามาเอง ส่วนตัวเคยรับราชการ ตอนนี้มีเงินเดือนหลักหมื่นจาก ม.เกษมบัณฑิต ก็อยู่ได้

เหตุผลที่ขณะนั้นตัดสินใจยกให้ กทม.?

อย่างที่บอกว่า ได้มรดกมา ไม่ได้เป็นน้ำพักน้ำแรง ตอนคุณแม่เสียชีวิต ตัวเองอายุ 50 ปีแล้ว ที่ผ่านมาสอนด้านนิเวศวิทยา ต้องจัดออกซิเจน เลยอยากมอบระบบนิเวศให้กรุงเทพฯ ซึ่งตรงนี้เป็นพื้นที่สีเขียว มีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น ข้าวของก็เก็บไว้เยอะแยะ ถ้าให้หลานเดี๋ยวเอาไปขายเป็นคอนโดฯหมด

ทำไมไม่ใช้ชีวิตบั้นปลายแบบเศรษฐินีทั่วไป?

ไม่รู้สิ คงชินมั้ง ทุกวันนี้ก็ทำกับข้าวเอง ทำพิพิธภัณฑ์ได้เจอคนเยอะแยะ เดี๋ยวก็มีคนมาคุยด้วย ชีวิตดี ไม่งั้นคงนั่งจับเจ่า นี่ก็ยังไปทำงานที่ ม.เกษมบัณฑิต นายยังไม่ไล่ แต่ช่วงนี้รถเข้าอู่เพราะจู่ๆ ก็วูบ เลยไปชนท้ายเขา เลยต้องนั่งมอเตอร์ไซค์ไปต่อรถไฟฟ้าก็สบายดี แอร์เย็น (ยิ้ม) รถเมล์ฟรีก็ชอบนั่ง เพราะได้ใช้สิทธิภาษีประชาชน

ตั้งแต่เกิดกระแสข่าว กทม.ติดต่อมาบ้างไหม?

มีคนทำงาน กทม.จากกองกลางที่มีน้ำใจกับเราเขาแวะมาหา มาช่วยในนามส่วนตัว ผอ.เขตบางรักก็มา ซึ่งต้องบอกว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ดูแลไม่ดี ทั้งๆ ที่เขตต้องเอาใจใส่ พอฉันได้ออกสื่อ กำลังจะซื้อที่ดินตรงนี้ กลับมีคนมาหาบอกว่าจะซ่อมอะไร นมนานกาเล ทำไมไม่มาติดต่อ ตอนนี้จะมาเกณฑ์ให้ฉันไปนั่งบอกว่าตรงไหนผุ ขอโทษที วันนี้ไม่ว่าง

อะไรคือปัญหาใหญ่ของ กทม. วิธีคิด ระบบราชการ หรือทัศนคติ?

คงผสมกัน ดูแล้วมีหลายอย่าง เช่น การบริหารจัดการ ยอมรับว่าโกรธมากที่จับพิพิธภัณฑ์นี้ยัดลงไปเป็นพิพิธภัณฑ์เขต เพราะเราให้ในฐานะตัวแทนชาวบางกอก ไม่ใช่แค่บางรัก แล้วตอนที่มีโครงการให้งบประมาณพิพิธภัณฑ์ละ 2 ล้าน กทม.ใช้วิธีว่า ถ้าที่นี่ 2 ล้าน ที่อื่นก็ 2 ล้าน มี 50 เขต ก็เอาไปเท่าๆ กัน นี่คือการกระทำที่ฉาบฉวย เพราะจริงๆ แล้วทุกอย่างต้องเจาะลึก ถ้าจะทำให้ดี ต้องลงทุกรายละเอียด คนไทยทำอะไรหยาบ ไม่ใช่แค่ กทม. อย่างที่นี่ นิทรรศการชั้นบนมีนิดเดียว บริษัทที่ทำบอก พอแล้ว เราบอกมาช่วยจัดของหน่อย มีเยอะ อย่างน้อยช่วยจัดแสง จัดไลติ้งก็ยังดี ยังไม่ช่วยเลย การขึ้นลงเข้าออก ก็ไม่ใส่ใจ

สุดท้ายถึงขั้นตั้งบริษัทมาประมูลเอง?

ชัวร์ๆๆ ก่อนหน้านี้มีบริษัทมาทำ แล้วทำไม่ดี เขาเริ่มต้นมีการเปิดระบบประมูลเมื่อไหร่ เราก็ไม่รู้เรื่อง ตอนหลังตั้งบริษัทเองเลย ชื่อบริษัท “เพื่อพิพิธภัณฑ์” นิติกรก็ไปหาจากอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.เกษมบัณฑิต ที่ตัวเองทำงานอยู่

กลัวถูกมองว่ายึดติดไหม เพราะยกให้ราชการไปแล้ว?

มีบ้าง ไม่เถียงว่ายึดติด แต่สิ่งที่กลัวที่สุดคือ จะมาหาว่าเอาประโยชน์จากที่นี่ย้อนกลับไป เพราะฉะนั้น เรื่องค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เราแยกบัญชีชัดเจนไม่ปนกัน ไม่เคยใช้ของหลวง บริษัทเพื่อพิพิธภัณฑ์ก็ประมูลแบบตัดราคาแหลก เพื่อเราจะได้ดูแลเอง แล้วจะได้กำไรตรงไหน ส่วนของที่ระลึกก็เคยโดนข้อกล่าวหาว่าขายของในสถานที่ราชการ แต่เรามองว่าพิพิธภัณฑ์ควรมีกิฟต์ช็อป มีหนังสือขาย มิฉะนั้น ทัวร์ใหญ่ไม่ลง เพราะไม่มัน นักท่องเที่ยวต้องการใช้เงิน

ถ้าย้อนเวลาได้ ยังจะยกให้ กทม.ไหม เคยคิดขอคืนหรือเปล่า?

หลายคนก็มาบอกอย่างนั้น แต่เราถือว่าให้ชาวกรุงเทพฯ ให้ประเทศไทย ไม่ได้ให้ กทม. เวลาโกรธก็เถียงไป ตำหนิไป อย่างแรกที่ต่อว่าโดยประท้วงเป็นเรื่องเป็นราวคือ เจ้าหน้าที่ไม่พอ 50 เขต ให้เขตละ 1 คน สำหรับที่นี่ไม่พออยู่แล้ว เพราะฉะนั้น แม้จะรู้อนาคตว่าจะมีปัญหา ก็ยังจะยกให้ แต่จะรอบคอบกว่านี้ จะขอให้มีการทำสัญญาที่จะเป็นประโยชน์ต่อพิพิธภัณฑ์

คิดไว้ตั้งแต่แรกหรือเปล่าว่ายกบ้านให้แล้ว จะอยู่ที่นี่ต่อ?

ไม่ๆ ตอนนั้นหลังจากยกให้ กทม.แล้ว ตั้งใจจะไปปฏิบัติธรรม ไปปลูกบ้านไว้ที่อื่นอย่างดี แต่เกิดปัญหาหลายอย่าง เช่น เจ้าหน้าที่อธิบายไม่รู้เรื่อง เราต้องลงไปอธิบายเอง ซึ่งไม่ใช่แบบไกด์ว่ามีบ้าน 3 หลัง พ.ศ.เท่านั้นเท่านี้ แต่เล่าว่าไอ้นี่ไง เราเคยใช้อย่างนี้ แล้วมันแตกหักครั้งนั้น จำได้ทุกอย่าง คนฟังซักกันสนุกสนาน เขาก็บอกว่านี่แหละพิพิธภัณฑ์มีชีวิต สุดท้ายเลยยังอยู่ที่นี่ต่อ ก็มีการเอาป้ายมาตั้ง มีข้อความว่า สถานที่ราชการห้ามเข้า ไม่รู้เขาไล่หรือเปล่า แต่หันป้ายมาในทิศทางที่เราให้เห็น (หัวเราะ)

เจ็บปวดไหม?

โอ๊ยยยย ! เป็นความโมโห ไม่เจ็บปวดอะไรหรอก ราชการต่างหากจะเสียหายโดยไม่จำเป็น เพราะเคยมีคนบอกว่าอยากมอบของให้ กทม. เราบอกอยากให้ก็ตามใจ เขาทำกับเราอย่างนี้ คิดดูสิ คนมีของดีๆ มีคอลเล็กชั่นดีๆ ก็ไม่อยากให้แล้ว

มองปัญหาชุมชนป้อมมหากาฬอย่างไร?

เห็นใจอยู่แล้ว และเคยไปที่ชุมชนด้วย จริงอยู่ว่ามีบางบ้านที่รกรุงรัง กทม.ต้องตกลงกับเขาสิว่าทำยังไง บ้านเก่าสวยงามก็มีหลายหลัง ข้างล่างขายของที่ระลึกได้ ให้คนมาเที่ยว เรื่องสวนสาธารณะ ชาวบ้านเซย์เยสอยู่แล้ว แต่ทำไมต้องไล่คนออกไปจากชุมชนล่ะ ปัญหาคือ กทม.ไม่ดูในรายละเอียด คิดแต่ว่าทำอย่างไรถึงไม่ขายหน้า คุณจะทำสวนสาธารณะต้องมีงบเลี้ยงสวนไม่ใช่หรือ ทำไมไม่ให้คนเช่าที่ต่อไป กทม.เองก็จะมีรายได้ไว้ดูแลสวนด้วย

ทิศทางของพิพิธภัณฑ์ในอนาคต?

อยากให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วม ตัวเองเป็นคนแก่ ก็คิดได้อย่างคนแก่ เลยอยากให้คนหนุ่มสาวมาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เด็กจะมาจัดกิจกรรมต่างๆ มีขายของ ทำขนม เราเป็นประธานกลุ่มท่องเที่ยวภาคประชาสังคมด้วย โดยเอาพิพิธภัณฑ์นี้เป็นศูนย์กลาง เพราะอยากมีกิจกรรม เคยทำทัวร์เล็กๆ ปรากฏว่าไม่ประสบผลสำเร็จ ตอนนี้มีผลดีทางอ้อมคือ ผู้เข้าชมมาก เท่ากับเป็นการประชาสัมพันธ์ชั้นดี สำหรับที่ดินถ้าซื้อสำเร็จจะให้เป็นพื้นที่สีเขียว และที่จอดรถ ไม่มีการสร้างอาคารสูงบดบังตลอดไป

อยากบอกอะไรกับผู้ร่วมบริจาค?

ขอบคุณมาก เราต่างช่วยปฏิบัติหน้าที่ของเรา ด้วยจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รู้ว่าจำนวนคนที่คิดตรงกับเรามีเยอะ หวังว่าความคิดแบบนี้จะทำให้บ้านเมืองเรายั่งยืน สร้างรากฐานให้แข็งแรงมั่นคง วันก่อนมีคนหนึ่งมาบอกด้วยเสียงเครือๆ ว่า หนูมีช่วยแค่ร้อยเดียวนะ เลยตอบไปว่าไม่เคยเอายอดเงินมาเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อมีการบริจาค อย่างหนึ่งคือยอดเงิน อีกอย่างคือน้ำใจ มันมีพลังเท่ากัน (ยิ้ม)

 

ชีวิตสมถะของอดีตลูกคุณหนูที่ “สวยและรวยมาก”

“เปรี้ยวไม่เปรี้ยวไม่รู้ แต่ตามแฟชั่น เขามีกระโปรงนิวลุค เราก็ต้องนิวลุค ตอนอยู่เมืองนอก ฝรั่งก็มาจุกจิกจู้จี้ถามว่ามีแฟนหรือยัง? ก็ตอบไปว่า ยังไม่แน่ ที่จริงตอนนั้นก็มีแฟน เลยคิดว่าตัวเองสวยเหมือนกัน” ถ้อยคำระคนเสียงหัวเราะ พรั่งพรูจากปากอาจารย์วราพร หลังได้ยินคำถามเกี่ยวกับชีวิตวัยสาวที่ดูราวกับนางเอกในบทประพันธ์ชั้นดี

เป็นบุตรสาวคนที่ 4 ใน 5 คนของครอบครัวอันมั่งคั่งในย่านคนมีเงิน นั่งรถเบนซ์ มีเงินกงสี ได้รับการดูแลทะนุถนอมอย่างลูกคุณหนู โตเป็นสาวสะพรั่งก็ใช้ชีวิตสดใสในรั้วมหาวิทยาลัยชั้นนำ เป็นนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เรียนจบก็เป็นอาจารย์ด้านชีววิทยาที่ ม.ศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร คว้าปริญญาโท MAT. Biology จาก Indiana University

“เป็นลูกคนมีเงิน เลยไม่ได้มีจุดหมายอะไรเท่าไหร่ ถ้าจะมีอยู่บ้างก็คือ อยากหาเงินเอง จะได้ไม่ต้องง้อแม่ พี่เราเรียนอักษรศาสตร์ เลยอยากฉีกแนว ขืนเรียนเหมือนกัน เดี๋ยวแพ้เขา (หัวเราะ) สามีคนแรกของคุณแม่เป็นหมอ ก็พร่ำพรรณนา จะมีลูกเป็นหมอ จะให้หนังสือในตู้ แม่ว่าดีก็ดี เลยไปสอบหมอ แต่ไม่ติด ไปติดคณะวิทยาศาสตร์ จุฬา รุ่นแรก พ.ศ.2494 ได้คะแนนสอบเข้าเป็นอันดับหนึ่ง เรียนก็สนุก มีเพื่อน รับน้องใหม่ ไปเที่ยวเรือ”

วราพร สุรวดี

ชีวิตช่างมีสีสัน เป็นสาวทันสมัย ดูห่างไกลจากความสนใจด้านประวัติศาสตร์สังคม แล้วแนวคิดทำพิพิธภัณฑ์มาจากไหน ?

“ครอบครัวไม่ได้ปลูกฝังหรือหล่อหลอมโดยตรง แต่อาจจะมีโดยอ้อม เพราะตอนเด็กๆ เป็นคนโปรดของคุณแม่ ท่านชอบดูละคร ดูโขนกรมศิลป์ ดูพิพิธภัณฑ์ ก็ชี้อยู่นั่นแหละว่านี่ของดี หาไม่ได้แล้ว พรรณนาไป นี่รถไฟของควีนวิกตอเรียนะ ให้เราหัดอ่าน เราก็เออๆ ออๆ โตขึ้นยังจำได้”

อาจารย์เล่าพลางสาละวนกับการคลุกข้าวให้สัตว์เลี้ยง 4 ขาหลากสปีชีส์ ทั้งสุนัขแสนรู้อย่าง “ดอกสร้อย” กับ “น้ำนวล” และน้องเหมียวอีกจำนวนหนึ่ง รวมถึงกระรอกที่ตั้งชื่อตามรูปพรรณสัณฐานว่า “ตาโต” และ “หางเหลือบ” ที่แวะมาอรุณสวัสดิ์ขออาหารทุกเช้าตรู่ ก่อนขับรถโฟล์กเต่ามุ่งหน้า ม.เกษมบัณฑิต ทุกวัน เว้นวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นงานที่ทำตั้งแต่ช่วงหลังเกษียณมาจนถึงวันนี้ ในตำแหน่ง ผอ.ฝ่ายทะเบียนและประมวลผล พร้อมๆ กับอยู่ดูแลพิพิธภัณฑ์ที่เคยเป็น “บ้าน” ของครอบครัว

ถือเป็นชีวิตสมถะ ที่เสียสละเพื่อสังคมโดยแท้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image