เดินเครื่องปฏิรูปตำรวจ สืบ-สอบสวนด้วยนิติวิทยาศาสตร์ จัด 1,542 ชุดพิสูจน์หลักฐานประจำโรงพัก

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผบ.ตร. ในฐานะประธานกรรมการขับเคลื่อนและประสานงานการปฏิรูปองค์กรตำรวจ เปิดเผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการปฏิรูประบบงานสอบสวนและการบังคับใช้กฎหมายของสถานีตำรวจ 514 แห่ง ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลา 1 ปี ว่า ขณะนี้ทุกสถานีตำรวจได้จัดทีมบูรณาการสำหรับการปฏิบัติงานรับแจ้งความและสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน จำนวน 3 ทีมเสร็จสิ้นแล้ว โดยแบ่งเข้าเวรปฏิบัติหน้าที่วันละ 3 ผลัด แต่ละผลัดมีพนักงานสอบสวนหัวหน้าทีมเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารคดี มีผู้ช่วยพนักงานสอบสวน ฝ่ายสืบสวน ฝ่ายป้องกันปราบปราม ฝ่ายจราจร และเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน พร้อมยานพาหนะ และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีความพร้อมสูงสุดต่อการปฏิบัติหน้าที่

“ในส่วนของการตรวจสถานที่เกิดเหตุและเก็บรวบรมพยานหลักฐาน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้สั่งการมอบหมายให้สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ พิจารณาจัดชุดตรวจสถานที่เกิดเหตุ อยู่ประจำสถานีตำรวจทั้ง 514 แห่ง ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อออกไปตรวจปฏิบัติงานพร้อมกับพนักงานสอบสวน โดยการชุดดังกล่าวจะต้องดำเนินการให้ครบถ้วนและแล้วเสร็จภายใน 1 ปี เนื่องจากชุดตรวจสถานที่เกิดเหตุเป็นกลไกสำคัญในการเก็บตรวจและเก็บรวบรวมพยานหลักฐานสำคัญในที่เกิดเหตุ ซึ่งถือเป็นพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่มีความสำคัญที่ต้องนำไปใช้ยืนยันการกระทำผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลย ทั้งกระบวนการจึงต้องเป็นไปด้วยความถูกต้องและครบถ้วน โดยในเรื่องนี้ พล.ต.ท.สุวิระ ทรงเมตตา ผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่ดูแลการปฏิรูประบบงานสืบสวนสอบสวน พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว ผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่ดูแลการปฏิรูปงานนิติวิทยาศาสตร์ และ พล.ต.ท.มนู เมฆหมอก ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ได้ร่วมประชุมและกำหนดแนวทางในการดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในการดำเนินการตามแผนปฏิรูป ได้กำหนดให้มีชุดตรวจสถานที่เกิดเหตุ จำนวน 1,542 ชุด อยู่ประจำสถานีตำรวจทั้ง 514 แห่ง โดยแต่ละแห่งจะมีมีชุดตรวจสถานที่เกิดเหตุ จำนวน 3 ชุดปฏิบัติการ เพื่อรองรับการทำหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง”รองผบ.ตร.กล่าว

พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวว่า แต่ละชุดจะมีเจ้าหน้าที่ 3 นาย เป็นนักวิทยาศาสตร์ทำหน้าที่หัวหน้าชุด 1 นาย และอีก 2 นายทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย โดยชุดตรวจสถานที่เกิดเหตุจะต้องเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุและเก็บรวบรวมพยานหลักฐานควบคู่ไปกับการทำงานของพนักงานสอบสวน ซึ่งจะช่วยให้การป้องกันรักษาสถานที่เกิดเหตุเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ วัตถุพยานสำคัญต่างๆ ไม่เสื่อมสภาพหรือถูกทำลาย มีผลทำให้การเก็บรวบรวมพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุเกิดความครบถ้วนและรอบคอบรัดกุม  โดยการดำเนินการตามแนวทางการปฏิรูปดังกล่าว จะใช้นักวิทยาศาสตร์ทำหน้าที่หัวหน้าชุดจำนวน 1,542 นาย และผู้ช่วยนักวิทยาศาสตร์อีก 3,084  นาย

“ในระหว่างนี้ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจได้ปรับเกลี่ยนักวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ เพื่อจัดชุดตรวจสถานที่เกิดเหตุไปประจำทำงานในสถานีตำรวจทั้ง 514 แห่ง แห่งละ 1 ชุดก่อน ส่วนที่เหลืออีกแห่งละ 2 ชุดตรวจนั้น อยู่ระหว่างการกำหนดตำแหน่งเพื่อสรรหาโดยด่วน โดยทั้ง 1,542 ชุด จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ส่วนการจัดหายานพาหนะและเครื่องมืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ เช่น กระเป๋าพร้อมชุดอุปกรณ์ตรวจสถานที่เกิดเหตุ ชุดไฟหลายความถี่ใช้ตรวจลายพิมพ์นิ้วมือแฝง เครื่องตรวจหาโลหะ เครื่องลอกลายนิ้วมือชนิดฝุ่น กล้องถ่ายภาพดิจิทอล เครื่องวัดระยะโดยใช้แสงเลเซอร์ รวมทั้งอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นในการปิดกั้นสถานที่เกิดเหตุ ส่วนยานพาหนะที่จำเป็นสำหรับการเดินทางไปปฏิบัติงานของชุดตรวจสถานที่เกิดเหตุทั้ง 1,542 ชุด ก็จะมีการเร่งรัดดำเนินการจัดหาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีเช่นเดียวกัน”รองผบ.ตร.กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image