สุจิตต์ วงษ์เทศ : กุลา (เป็นชาวไทยใหญ่จากพม่า) บ้านโนนใหญ่ ที่อุบลราชธานี

เครื่องใช้ไม้สอยของชาวกุลาในอดีต

ชาวกุลาจากพม่าไปอยู่บ้านโนนใหญ่ อ. เขื่องใน จ. อุบลราชธานี เมื่อปลายสมัย ร.3 ราว พ.ศ. 2390 มีในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน (พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2542 เรียบเรียงโดย คนึงนิตย์ จันทบุตร) จะสรุปมาดังต่อไปนี้
เมื่อเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านก็ได้แต่งงานกับหญิงพื้นเมือง และตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านโนนใหญ่ ระยะแรกก็ยังเดินทางไปค้าขายยังเมืองต่างๆ ภายหลังเมื่อมีอายุมากขึ้นก็เลยอยู่กับที่ ไม่เดินทางค้าขายไปไหนอีก
ในระยะแรกที่ชาวกุลาเข้ามานั้น มีอยู่ประมาณ 15 ครอบครัว บางครอบครัวมีบุตร ภรรยา ญาติพี่น้องมาด้วย มีพ่อใหญ่คำปานเป็นหัวหน้ากุลา ในกลุ่มผู้มาประกอบด้วยชนหลายเผ่า อาทิ ไทยใหญ่, ต้องซู่, ยาง, กะเหรี่ยง, พม่า ฯลฯ

แผนที่แสดงเส้นทางของกุลาจากพม่าสู่อีสาน
แผนที่แสดงเส้นทางของกุลาจากพม่าสู่อีสาน

ในงานเขียนของ นายถวิล แสงสว่าง ชาวโนนใหญ่ กล่าวว่า กุลาคือไทยใหญ่ แม้ว่าราชการจะเรียกชนเหล่านี้ว่าต้องซู่ และกำหนดเป็นนามสกุลหลังชื่อ แต่ชาวกุลาบ้านโนนใหญ่ก็ยังถือว่าตนเองเป็นไทยใหญ่ มิใช่ชาวต้องซู่
ชาวกุลากลุ่มแรก ได้แก่
1. แม่ใหญ่ล้อม เฒ่าคำหลอ มีน้องสาวชื่อแม่แก้ว และญาติพี่น้องชื่อแม่เขียว แม่แอ้ แม่เต็ม คณะพวกนี้มาพร้อมกัน โดยเล่าว่าหนีศึกฮ่อเข้ามาเมืองไทย เดินทางค้าขายเรื่อยมาจนถึงบ้านโนนใหญ่
2. พ่อใหญ่สามเมีย แม่คำ
3. พ่อใหญ่คำปาน เป็นหัวหน้าชาวกุลา ได้แต่งงานกับหญิงพื้นบ้านชื่อแม่ใหญ่ผอง บ้านโนนใหญ่
4. พ่อใหญ่คำแผง เมียแม่สีดา
5. พ่อใหญ่อุติ้ป เมียแม่พา
6. พ่อใหญ่นายฮ้อย คำตัน หรือปู่จ๊อง คำตัน
7. พ่อใหญ่คำชู แม่บุญ
8. ปู่จ๊องย่อง แม่พวง (เป็นมัคนายกวัด และสร้างอุทกสีมาที่หนองสิม)
9. พ่อยอดแสง แม่ทุม
10. หม่องโพเย แม่ใหญ่ขาวใบ (เป็นชาวพม่าเห็นได้จากคำเรียกหม่อง ซึ่งหมายถึงนาย)
11. อุหยี แม่โม้
12. พ่อจินะ แม่ใหญ่สา

เนื่องจากชาวกุลาดำรงอาชีพเป็นพ่อค้าเร่ จึงไม่ได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ในภาคอีสานปรากฏชาวกุลาอยู่หลายจังหวัด แต่กล่าวกันว่ากุลาที่บ้านโนนใหญ่เป็นกลุ่มกุลาที่มีปริมาณมากที่สุด
เมื่อชาวกุลาเข้ามาอยู่รวมกันมากๆ จึงเกิดความคิดที่จะสร้างวัดกุลาเพื่อเป็นศูนย์รวม และทำบุญทำทานตามประเพณี และเพื่อให้บุตรหลานกุลาได้บวชและศึกษาพระธรรมตามหลักทางศาสนา จึงได้เรี่ยไรเงินกันเพื่อสร้างวัดขึ้น โดยครั้งแรกนั้นสร้างเป็นกุฏิหลังเล็กๆ นิมนต์พระอาจารย์ใหญ่ชื่อกัตติยะ (ภายหลังลาสิกขา เรียก สะหล่าโหลง) เมื่ออาจารย์ กัตติยะลาสิกขา จึงได้นิมนต์เจ้าบุญหม่านมาอยู่จนมรณภาพไป
การอพยพของกุลารุ่นที่ 2-3 ประกอบด้วยกุลาประมาณ 27-30 ครอบครัว เมื่อรวมกุลาที่อพยพจากรุ่นแรกมาสู่รุ่นหลังก็ประมาณ 40-50 ครอบครัว นับเป็นกลุ่มกุลาที่มีปริมาณมากที่สุดในแถบภาคอีสาน มาจากพม่า

เสื้อผ้าของชาวกุลา (สีขาวเป็นเสื้อของผู้หญิง สีเขียวขี้ม้าเป็นเสื้อของผู้ชาย)
เสื้อผ้าของชาวกุลา (สีขาวเป็นเสื้อของผู้หญิง สีเขียวขี้ม้าเป็นเสื้อของผู้ชาย)
เครื่องใช้ไม้สอยของชาวกุลาในอดีต
เครื่องใช้ไม้สอยของชาวกุลาในอดีต

จากการสัมภาษณ์ ชาวกุลามาจาก 2 แหล่ง คือ
1. จากเชียงตุง อพยพเข้ามาในไทย และค้าขายไปเรื่อยๆ จากเมืองนั้นสู่เมืองนี้จนถึงบ้านโนนใหญ่
2. จากเมืองมะละแหม่ง (เมาะลำเลิง) ผ่านมายังเมืองระแหง (จ. ตาก) ผ่านมายังช่องเขาเพชรบูรณ์มายังอีสาน

Advertisement

ส่วนสาเหตุที่เข้ามาอยู่บ้านโนนใหญ่ ก็เนื่องจากว่าเป็นบ้านที่มีการทำทองขาย เศรษฐกิจดี ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ ประชาชนชาวอีสานเป็นคนอ่อนโยน ไม่ถือเขาถือเรา ยิ่งเห็นชาวกุลามีฐานะดี ร่ำรวย ก็อยากจะให้ลูกหลานได้แต่งงานกับชาวกุลาเหมือนๆ ที่พอใจให้แต่งงานกับชาวจีน
กุลาอื่นๆ เมื่อทราบว่าที่บ้านโนนใหญ่มีวัดกุลา (พม่า) ขึ้นแล้ว มีชาวกุลาอยู่กันหลายครอบครัว ทั้งมีสินค้าดีๆ ขายด้วย บางคนก็มาซื้อสินค้าไปขาย บ้างก็มาเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง พากันทยอยมาเรื่อยๆ ปีละ 10 กว่าคน เมื่อมาถึงบ้านโนนใหญ่เห็นว่าเป็นทำเลที่มีความเหมาะสมอยู่สุขสบายดี ก็มักจะตั้งถิ่นฐานอยู่เลย พวกที่กลับไปแล้วก็มักจะกลับมาอีก เลยได้แต่งงานกับหญิงพื้นเมือง ออกลูกออกหลานมามากมาย จนบ้านโนนใหญ่เป็นที่รู้จักกันในนามบ้านโนนกุลา

ประวัติของ ปู่จ๊อง คำตัน บิดาของนายถวิล แสงสว่าง เป็นตัวอย่างให้เห็นการเดินทางในสมัยนั้น
ปู่จ๊อง คำตัน (คำตัน เป็นชื่อ ส่วนจ๊อง เป็นภาษาไทยใหญ่ แปลว่ามรรคนายก) เป็นกุลาเมืองเชียงตุง แต่อยู่บ้านนอก ออกจากบ้านเกิดเมืองนอนตั้งแต่อายุได้ 18 ปี เดินทางค้าขายมากับพี่ชายเข้ามาในเขตไทย
การเดินทางใช้วิธีหาบเร่ โดยซื้อผ้าจากเมืองกุลา เป็นผ้าไหม หรือผ้าแพร กับสินค้าอื่นๆ เข้ามาขายแลกเปลี่ยนในชายแดนไทย เช่น สีย้อมผ้า เข็มเย็บผ้า ขันน้ำ เครื่องขันหมาก และสินค้าอื่นๆ หีบห่อที่ใส่สัมภาระคือ กระทอกรวย 2 ใบใหญ่ สานด้วยหวาย มีกาบราวไม้ไผ่รอบข้างในสองชั้นเพื่อกันฝน ฝาปิดสานด้วยหวาย เย็บวงกลมแนบติดกัน ปิดปากกันฝนตก มัดใส่ขาม้าทั้งสองข้าง เอาของที่จะขายยัดใส่ให้เต็ม เดินทางขายไปเรื่อยๆ กับพี่ชายสองคน ค่ำไหนก็นอนที่นั่น ขอข้าววัดบ้าง ข้าวชาวบ้านบ้าง ส่วนใหญ่จะเดินขาย เพราะไม่มีรถ
เดินทางไปถึงบ้านกลางใหญ่ จ. อุดรธานี หยุดอยู่บ้านกลางใหญ่ พี่ชายก็มีครอบครัวอยู่ที่นี่ ตนก็ลาพี่ชายไปขายของต่อ ไปถึงบ้านโนนข่า อ. ชุมแพ จ. ขอนแก่น แวะไปหาพรรคพวกจึงได้ภรรยาและลูกสาว 1 คน และก็กลับไปเมืองกุลาอีก โดยเอาของจากเมืองไทยไปขายบ้าง เช่น ผ้าไหมต่างๆ ไปขายของอยู่ตั้งปีกว่าจึงได้กลับมาหาเมีย เมียทางนี้ทนไม่ได้ก็เลยเอาผัวใหม่

เมื่อกลับมา พ่อค้าคำตันเห็นดังนั้นก็อภัยให้ ไม่ว่าอะไร กลับให้พร ขอให้มีความสุขด้วยกันเสียอีก หมู่บ้านนี้มีพวกกุลามาก จนได้สร้างวัดกุลาขึ้นให้เป็นที่สำหรับทำบุญ
ต่อมาได้ทราบว่าที่บ้านโนนใหญ่มีการทำทอง ซึ่งเป็นสินค้าออกได้ดี ก็เลยมาพกอยู่ที่บ้านโนนใหญ่ และได้สู่ขอนางน้อยเป็นภรรยา มีบุตร 1 คน ชื่อแม่ใหญ่คำ ต่อมาได้กลับไปค้าขายที่กุลา (เชียงตุง) ไปนานเมื่อกลับมาภรรยาได้แต่งงานใหม่แล้ว จึงไปสู่ขอนางยา แสงสว่าง มาเป็นภรรยา ซึ่งนางสีมารดานางยาก็ยินดียกให้

นี่คือชีวิตของชาวกุลาที่ร่อนเร่พเนจร จนมีลูกมาก มีภรรยามาก เพราะการเดินทางสัญจรค้าขาย ประกอบกับมีฐานะดีจากการค้าขาย หญิงสาวจึงมีความพอใจที่จะเป็นภรรยา
ความที่เป็นผู้ร่อนเร่พเนจร ชาวกุลาจึงมีลักษณะอย่างหนึ่ง คือความกล้าหาญอดทน ไม่เกรงกลัวใคร ไม่ว่าจะเป็นผู้ร้าย ผีสาง ช้างป่า ดังความว่า “พวกกุลา ค่ำไหนนอนนั่น ไม่กลัวอันตราย โจรผู้ร้ายช่างมันสู้ ผีสาง ช้างป่าก็ช่างมัน หลีกได้ก็หลีกไป หลีกไม่ได้ก็ต้อง สู้…”

การทำทองของชาวกุลาบ้านโนนใหญ่ หรือโนนกุลา
การทำทองของชาวกุลาบ้านโนนใหญ่ หรือโนนกุลา

 

ชาวกุลา บ้านโนนใหญ่ อ. เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
ชาวกุลา บ้านโนนใหญ่ อ. เขื่องใน จ.อุบลราชธานี

สถานภาพของชาวกุลา

ชาวกุลาและครอบครัวถือเป็นคนในบังคับของ อังกฤษ เมื่อกระทำผิดต้องขึ้นตรงต่อกงสุลอังกฤษ ไม่ขึ้นตรงต่อศาลไทย เมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุล ทุกคนก็ใช้นามสกุลว่าต้องสู้ ในการปกครองจะมีหัวหน้านายกอง 1 คน และรองนายกองอีก 1 คน
เจ้าคำปาน สร้างพรม เป็นตำแหน่งนายกองคนที่ 1 และ 2
สะหล่า เป็นตำแหน่งรองนายกอง
นายกองมีหน้าที่เรียกประชุม ให้คำปรึกษาและพิจารณาโทษ เมื่อจะเรียกประชุมก็จะตีฆ้อง ชาวกุลาก็จะมาประชุมกัน ชาวกุลาส่วนใหญ่ให้ความเคารพนับถือเชื่อฟังนายกอง

[พรุ่งนี้อ่าน กุลาที่อุบลฯ มีประเพณีเหมือนไทยใหญ่ในพม่า]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image