กรุงเทพฯ/ปัตตานี ในมหาสมุทรและสุสาน : ความรู้และการเมืองแบบหลังอาณานิคม (11)

กรุงเทพฯ/ปัตตานี ในมหาสมุทรและสุสาน : ความรู้และการเมืองแบบหลังอาณานิคม (11)

กรุงเทพฯ/ปัตตานี ในมหาสมุทรและสุสาน : ความรู้และการเมืองแบบหลังอาณานิคม (11)

หลายครั้งที่ความขัดแย้งในสังคมไทยปะทุจากการตัดสินใจผิดๆ ซึ่งถ้าไม่เกิดก็อาจช่วยถอดสลักความขัดแย้งที่บานปลายในระยะยาว

แต่ก็อย่างที่รู้กัน มนุษย์ใม่ใช่พระเจ้า และความสามารถในการมองเห็นภาพใหญ่ก็ไม่ใช่คุณสมบัติที่ติดตัวมนุษย์ทุกคน

ประวัติศาสตร์มนุษย์ในทุกสังคมจึงเกิดเรื่องไม่ควรเกิดที่สร้างผลเสียหายในภายหลังได้ตลอดเวลา

ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์บีบีซีภาคภาษาไทยเผยแพร่ข่าวเล็กๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อสถานการณ์ชายแดนใต้มหาศาล

Advertisement

สรุปสั้นๆ คือ ศาลแพ่งกรุงเทพพิพากษายึดที่ดินโรงเรียนอิสลามบูรพาเป็นของรัฐ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นผู้ฟ้องศาลเรื่องนี้ และหน่วยงานดังกล่าวอ้างว่าฟ้องให้ยึดเพราะผู้ก่อการร้ายใช้พื้นที่โรงเรียนสนับสนุนปฏิบัติการ

อย่างไรก็ดี ทนายของโรงเรียนแย้งว่าศาลอาญาตัดสินตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 ว่าผู้บริหารโรงเรียนไม่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ทำไมศาลแพ่งจึงอ้างการจับกุมในเขตโรงเรียนเป็นหลักฐานว่าโรงเรียนสนับสนุนปฏิบัติการ?

ไม่ต้องพูดถึงความเชื่อมโยงระหว่างการจับกับโรงเรียนที่มาจากบันทึกปากคำของ “ศูนย์ซักถาม” ไม่ใช่พนักงานสอบสวน ไม่มีทนายรู้เห็น และไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง

สำหรับผู้ที่นึกไม่ออกว่า “ศูนย์ซักถาม” คืออะไร คำตอบคือศูนย์เป็นหน่วยทหารในค่ายอิงคยุทธที่องค์กรสิทธิระหว่างประเทศระบุว่ามีการทรมานผู้ต้องหา ส่วนศูนย์ของตำรวจชายแดนเพิ่งเกิดเหตุผู้ต้องหาตายในห้องควบคุมตัว

คำว่า “ศูนย์ซักถาม” จึงมีภาพลักษณ์ด้านสิทธิไม่ดีนัก ไม่ต้องพูดเรื่องที่ตอนนี้กองทัพฟ้องนักสิทธิที่จัดทำรายงานเรื่องศูนย์ฯ ละเมิดสิทธิประชาชน

“อิสลามบูรพา” เป็น “ปอเนาะ” หรือโรงเรียนสอนศาสนาซึ่งเด็กส่วนใหญ่เป็นลูกคนจนในพื้นที่เปราะบางอย่างอำเภอตากใบ ส่วนครูใหญ่และผู้อำนวยการโรงเรียนคือ ซูไบดะห์ ดอเลาะ ผู้หญิงอายุ 40 ซึ่ง ศอ.บต. ยอมรับให้เป็นกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไม่สงบในนราธิวาส เคยได้รางวัลสตรีดีเด่นด้านสันติภาพจากรัฐบาลที่แล้ว

รวมทั้งมีบทบาทในภาคประชาสังคมที่ทำงานเรื่องผู้หญิงและสันติภาพในเขตชายแดน

กล่าวอย่างรวบรัดที่สุด ขณะที่เรื่องเล่าฝั่งรัฐระบุว่าโรงเรียนสนับสนุนผู่ก่อการร้าย คำตัดสินยึดที่ดินโรงเรียนก็เต็มไปด้วยเชื้อไฟให้สร้างเรื่องเล่าอีกแบบว่ารัฐไทยพุทธยึดปอเนาะของเด็กมุสลิมจนๆ แค่เพราะทหารจับโจรหนึ่งคนในกระท่อมร้างท้ายโรงเรียน และเมื่อเรื่องเล่าแต่ละชุดกระจายตัวสู่ผู้คน ความรู้สึกนึกคิดที่จะแพร่ระบาดตามไปคือความหวาดระแวงระหว่างคนที่มีความแตกต่างทางอัตลักษณ์ / พื้นที่ / เชื้อชาติ / ศาสนา ซึ่งถึงจุดหนึ่งก็มีโอกาสลุกลามเป็นความขัดแย้งและความรุนแรง

“มหาสมุทรและสุสาน” สะท้อนความหวาดระแวงของ “คนนอก” จากกรุงเทพฯ และอีสานต่อคนในพื้นที่ออกมาหลายจุด

แต่ที่น่าทึ่งกว่านั้นคือหนังสะท้อนความหวาดระแวงที่คนในพื้นที่มีต่อ “คนนอก” อย่างแนบเนียนด้วย

ผู้หญิงและเด็กมุสลิมจึงถูกหนังนำเสนอในรูปความแขยงคนนอกถึงขั้นลุกหนีทุกครั้งที่เห็นทหารและคนกรุงเทพฯ เดินเข้าไปหา

ความระแวงคนที่มีอัตลักษณ์ต่างกันไม่ใช่สิ่งพบได้แต่ในฝั่ง “คนนอก” เพราะคนในพื้นที่ก็ระแวง “คนนอก” แค่จากความเป็นคนนอกด้วยเหมือนกัน

ถึงจุดนี้เราอาจพูดได้ว่า “มหาสมุทรและสุสาน” ไปไกลกว่าภูมิความคิดในสังคมไทยที่สร้างขั้วตรงข้ามระหว่าง กรุงเทพฯ / ปาตานี แล้วเลือกเชียร์ข้างใดข้างหนึ่งจนนำไปสู่วาทกรรมเรียวแคบประเภท “โจรใต้” หรือไม่ก็ “อาณานิคมสยาม”

เพราะถึงแม้หนังจะมีน้ำเสียงเห็นใจฝ่ายปาตานีผ่านการประจานความไม่รู้เรื่องของฝ่ายกรุงเทพฯ หนังก็เสนออย่างแผ่วเบาว่าปาตานีซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึงอิสลาม / มลายู / ชายแดนใต้ ก็มีด้านที่ทำให้อยู่ร่วมกับผู้คนจากภูมิภาคอื่นได้ยากเหมือนกัน

อย่างไรก็ดี หนังไม่บอกว่าสาเหตุของความเยอะฝั่งปาตานีเกิดจากอะไรมากเท่ากับที่อธิบายสาเหตุฝั่งกรุงเทพฯ อย่างละเอียดลออ

“ไลลา” เป็นคนนอกคนเดียวในหนังที่มุ่งมั่นจะต่อติดกับปัตตานีจนออกเดินทางและ transform ตัวเองตามพื้นที่

แต่ความพยายามนี้ล้มเหลวจนแค่ติดต่อเพื่อนที่เป็นอาจารย์ มอ. ก็ยังไม่สำเร็จ

และเมื่อหนังปิดฉากลง ผู้ชมจะค้นพบเองว่าไม่มีวินาทีไหนในหนังที่แสดงให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างปาตานีกับ “คนนอก” ทั้งที่มาจากกรุงเทพฯ และลูกอีสาน

ปัตตานีในหนังจึงเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ซึ่งอัตลักษณ์ที่ต่างกันของปาตานีกับ Non-Patani สื่อสารกันไม่ได้เกือบสมบูรณ์

ตลอดภาพยนตร์เรื่องนี้ “คนนอก” อยู่ในโลกของคนนอกด้วยกัน

คนกรุงเทพฯ สนทนาเฉพาะกับคนกรุงเทพฯ ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับปาตานี และไม่มีแม้แต่ปฏิสัมพันธ์กับคนนำทางที่เป็นพลทหารลูกอีสาน

ระยะทางที่เข้าใกล้ปัตตานีไม่ได้ทำให้ “คนนอก” จากกรุงเทพฯ เข้าถึงปาตานีมากขึ้นไปด้วย

ตัวละครหลักทั้งหมดต่อติดพื้นที่ไม่ได้ และความผิดแผกระหว่างกรุงเทพฯ กับปัตตานีทำให้ความเป็นอิสลามิกชนไม่มีพลังในการเกาะเกี่ยว “คนนอก” กับปัตตานีอย่างสิ้นเชิง

ถึงแม้จะเป็นคนศาสนาเดียวกันก็ตาม

ในหนังเรื่องมหาสมุทรและสุสาน “คนนอก” อยู่กันแต่ในหมู่ “คนนอก” เช่นเดียวกับปาตานีที่ก็อยู่แต่ในส่วนของปาตานี

ถ้ามองระดับภาพรวม หนังเรื่องมหาสมุทรและสุสานทำให้ปัตตานีเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ซึ่ง “คนนอก” อยู่ในสภาวะเดินทางระหว่าง (In Between) ที่ทุกคนล้วนหลงทาง แปลกแยก ไม่รู้จะไปไหน และต่อติดกับใครไม่ได้ ขณะที่ “คนใน” ก็อยู่ในสภาพชุมชนปิดซึ่งหันหลังให้ความพยายามต่อติดของ “คนนอก” อย่างสิ้นเชิง

ปาตานีในหนังคือสถานแห่งความผิดแผก (Space of Difference) ซึ่งอัตลักษณ์ร่วมทั้งหมดสูญสลาย

ผลก็คือผู้คนในพื้นที่มองหาแต่ความไม่ลงรอยจนถึงจุดที่แม้กระทั่งความเป็นชาติหรือความเป็นอิสลามก็ไร้ความหมายโดยสมบูรณ์

ปาตานีอยู่ในโลกของปาตานีที่หวาดระแวงคนนอก เช่นเดียวกับคนนอกที่เกาะกลุ่มกันแล้วหวาดระแวงปัตตานี และถึงที่สุดแล้ว ทุกกลุ่มอยู่ในพื้นที่นี้แบบต่างคนต่างอยู่ตลอดเวลา

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า “มหาสมุทรและสุสาน” เป็นหนังที่มาจากต่างภพกับ “ละติจูดที่ ๖” ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) สนับสนุนในฐานะงานประชาสัมพันธ์ของทหาร และในเมื่อทีมเบื้องหลังของหนังคือพลโทนักรบผู้มีบทบาทเจรจาสันติภาพในชายแดนใต้ “ละติจูดที่ ๖” จึงเป็นหนังภาครัฐซึ่งดีเท่าที่อะไรเกี่ยวกับรัฐจะดีได้

นั่นคือแค่ไม่พูดวาทกรรม “โจรใต้” ก็บุญแล้ว ซ้ำยังพยายามอธิบายเรื่องทั้งหมดโดยยืมเลนส์วิชาการด้าน “พหุนิยมทางวัฒนธรรม” มาผสมกับความรักและความดี

สารของภาพยนตร์เรื่องนี้คือคนที่แตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนาอยู่ร่วมกันได้ หากทุกฝ่ายยึดมั่นใน “ความรัก” และ “ความดี” ฉากจบของ “ละติจูดที่ ๖” จึงเฝือแต่แสนสุขสมความเป็นหนังที่ภาครัฐสร้างขึ้น เพราะหนังทำให้คนต่างเชื้อชาติต่างศาสนาเลิกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแล้วแสดงความดีโดยร่วมสร้างมัสยิดด้วยกัน

ตรงข้ามกับ “มหาสมุทรและสุสาน” ซึ่งไม่พูดอะไรเรื่องความรักและความดี รวมทั้งไม่มีน้ำเสียงที่มองเห็นความเป็นไปได้ของการอยู่ร่วมกันที่สูงกว่าการอยู่ในพื้นที่เดียวกันแบบต่างคนต่างอยู่

ควรระบุด้วยว่าพวกกรุงเทพฯ มีปฏิสัมพันธ์กับคนนอกกลุ่มเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรกเมื่อเดินทางเลยปัตตานีข้ามมหาสมุทรไปเกาะอัลคาฟที่ไกลโพ้น แม้ผู้ชมจำนวนมากจะตะลึงไปกับองค์ประกอบด้านภาพและแสงที่ชวนให้คิดถึงอาณาจักรผู้พันเคิร์ตซ์ใน Apocalypse Now แต่สาระสำคัญกว่านั้นคือรายละเอียดทุกอย่างบนเกาะแสดงถึงการเป็นที่พำนักของคนหลากหลายที่อยู่ร่วมกันโดยความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนาไม่เป็นประเด็นปัญหาแม้แต่นิดเดียว

ถ้าปัตตานีคือสถานแห่งความผิดแผกหรือ Space of Difference ซึ่งความแตกต่างทางเชื้อชาติ / ศาสนา / ภูมิภาค / ภาษา ฯลฯ ทำให้ผู้คนต่อติดกันไม่ได้ ถึงจะอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เกาะอัลคาฟก็คือสถานแห่งความไม่แบ่งแยก (Space of Indifference) ซึ่งความแตกต่างของอัตลักษณ์ไม่ใช่อุปสรรคของการสื่อสารและต่อติดระหว่างคนซึ่งอยู่ในพื้นที่ทางกายภาพเดียวกันต่อไปอีก พวกกรุงเทพฯ จึงต่อติดกับคนเกาะอัลคาฟได้ทันทีที่ขึ้นฝั่ง ตรงกันข้ามกับที่ต่อติดกับพวกปาตานีไม่ได้เลย

คำถามคือทำไมกรุงเทพฯ ถึงต่อติดกับปัตตานีไม่ได้และเต็มไปด้วยความหวาดระแวงทั้งที่เป็น “ชาติ” เดียวกัน?

ทำไมปัตตานีที่ใกล้แสนใกล้ทางกายภาพกลับไกลแสนไกลจากคนกรุงเทพฯ ทางความรู้สึกนึกคิด?

ทำไมคนกรุงเทพฯ ที่หวาดระแวงปัตตานีกลับไว้ใจอัลคาฟซึ่งทุกคนไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน?

หรือพูดให้ถึงที่สุด ภาพยนตร์เรื่องมหาสมุทรและสุสาน ต้องการบอกอะไรผ่านเรื่องเล่าที่ย้อนแย้งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ-ปัตตานี-โพ้นปัตตานี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image