เปิดหลักฐาน ! ร่องรอยก่อนการเป็นเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดมหาธาตุเชลียงและวัดชมชื่น

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง

การดำเนินการขุดค้นบริเวณวัดชมชื่น วัดเจ้าจันทร์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียงในครั้งนี้ ต้องการศึกษาพัฒนาการชุมชนที่สันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของเมืองเชลียงและชั้นวัฒนธรรมที่มีมาก่อนเมืองเชลียง

การที่เลือกดำเนินการขุดค้นที่วัดชมชื่น วัดเจ้าจันทร์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง นอกจากเชื่อว่าเป็นโบราณสถานที่เริ่มสร้างแต่ครั้งเมืองเชลียงแล้วยังนำผลจากการสำรวจบริเวณใกล้เคียงคือ จากการสำรวจตลิ่งแม่น้ำยมที่พังทลายใกล้บริเวณวัดชมชื่นเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2536 พบกลุ่มโบราณสถานที่ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ 2 จุด และพบชั้นดินที่มีเศษถ่านและดินเผาไฟหนาแน่นอยู่ลึกลงไปจากผิวดินประมาณ 5-6 เมตร เชื่อว่าน่าจะเป็นชั้นดินที่มีกิจกรรมของมนุษย์ในสมัยก่อนการก่อตั้งเมืองเชลียงและสุโขทัย ซึ่งสอดคล้องกับผลการกำหนดอายุจากตัวอย่างถ่านที่ส่งไปหาค่าอายุที่สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้ผลว่ามีอายุในพุทธศตวรรษที่ 11-15 (1250+-230 BP)

แผนผังอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย : ภาพจากกองโบราณคดี กรมศิลปากร
แผนผังอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย : ภาพจากกองโบราณคดี กรมศิลปากร
วัดเจ้าจันทร์
วัดเจ้าจันทร์
วัดชมชื่น
วัดชมชื่น
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง

การดำเนินการขุดค้นบริเวณวัดชมชื่น วัดเจ้าจันทร์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียงในครั้งนี้ ต้องการศึกษาพัฒนาการชุมชนที่สันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของเมืองเชลียงและชั้นวัฒนธรรมที่มีมาก่อนเมืองเชลียง

การที่เลือกดำเนินการขุดค้นที่วัดชมชื่น วัดเจ้าจันทร์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง นอกจากเชื่อว่าเป็นโบราณสถานที่เริ่มสร้างแต่ครั้งเมืองเชลียงแล้วยังนำผลจากการสำรวจบริเวณใกล้เคียงคือ จากการสำรวจตลิ่งแม่น้ำยมที่พังทลายใกล้บริเวณวัดชมชื่นเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2536 พบกลุ่มโบราณสถานที่ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ 2 จุด และพบชั้นดินที่มีเศษถ่านและดินเผาไฟหนาแน่นอยู่ลึกลงไปจากผิวดินประมาณ 5-6 เมตร เชื่อว่าน่าจะเป็นชั้นดินที่มีกิจกรรมของมนุษย์ในสมัยก่อนการก่อตั้งเมืองเชลียงและสุโขทัย ซึ่งสอดคล้องกับผลการกำหนดอายุจากตัวอย่างถ่านที่ส่งไปหาค่าอายุที่สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้ผลว่ามีอายุในพุทธศตวรรษที่ 11-15 (1250+-230 BP)

Advertisement

ตำแหน่งที่ตั้ง

       วัดชมชื่นห่างจากตัวเมืองโบราณศรีสัชนาลัย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณแก่งหลวงไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1.6 กิโลเมตร

วัดเจ้าจันทร์ อยู่ด้านทิศตะวันตกของวัดชมชื่น โดยห่างจากวัดชมชื่นประมาณ 130 เมตร

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง อยู่ห่างจากวัดชมชื่นไปทางทิศตะวันออกประมาณ 400 เมตร

Advertisement

โบราณสถานทั้ง 3 แห่ง อยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย หมู่ 6 บ้านพระปรางค์ ตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

ผลที่ได้จากการวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดี

 หลุมขุดค้นวัดชมชื่น : ภาพจากฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
หลุมขุดค้นวัดชมชื่น : ภาพจากฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

การศึกษาชั้นดินและโบราณวัตถุที่พบในดินแต่ละชั้นของหลุมขุดค้นทั้ง 3 แหล่งคือ วัดพระศรีรัตน มหาธาตุเชลียง วัดเจ้าจันทร์ วัดชมชื่น ทำให้สามารถแบ่งแยกความแตกต่างชั้นดินทางวัฒนธรรมออกเป็น 4 สมัยด้วยกัน และชั้นดินธรรมชาติมี 8 ชั้น ซึ่งบางครั้งดูเหมือนว่าการพบโบราณวัตถุในเนื้อดินจะขาดช่วงไปนาน แต่เชื่อว่าน่าจะมีกลุ่มคนในบริเวณแถบนี้อย่างต่อเนื่อง และพัฒนาตนเองขึ้นมาเรื่อย เนื่องจากเป็นบริเวณที่ถูกน้ำท่วมอยู่เสมอจึงทำให้ชั้นดินที่พบโบราณวัตถุขาดช่วงไป และผู้คนอาจเปลี่ยนพื้นที่ในการประกอบกิจกรรมที่ยังเหลือร่องรอยให้เห็นไปยังบริเวณข้างเคียงบ้าง ซึ่งเชื่อว่าคงไม่มีการอพยพทิ้งเมืองให้ร้างไปอย่างสิ้นเชิง

การแบ่งช่วงวัฒนธรรมออกเป็น 4 สมัยด้วยกันนี้จำแนกตามกลุ่มโบราณวัตถุที่พบ โดยเฉพาะเศษภาชนะดินเผา แล้วนำไปเปรียบเทียบกับหลุมขุดค้นที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง ซึ่งพบโบราณวัตถุในชั้นวัฒนธรรมล่างๆ มากกว่ารวมทั้งหลุมขุดวัดเจ้าจันทร์ จึงสามารถแบ่งชั้นวัฒนธรรมได้เป็น 4 ชั้นดังนี้

 

  1. ชั้นวัฒนธรรมดั้งเดิม

ชั้นวัฒนธรรมนี้มีหลักฐานชัดเจนที่หลุมขุดค้นวัดชมชื่นกำหนดอายุได้จากตัวอย่างถ่านที่ส่งไปหาค่าอายุที่สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติประมาณพุทธศตวรรษที่ 9 (1720+-70 BP) ซึ่งในบริเวณแถบนี้พบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายชัดเจนและใกล้เคียงที่สุดคือแหล่งโบราณคดี เขาเขน เขากา ในเขตอำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเก่าศรีสัชนาลัยประมาณ 15 กิโลเมตร มีลำน้ำเดิมที่ไหลลงแม่น้ำยมไม่ไกลจากเมืองศรีสัชนาลัยนัก แหล่งโบราณคดีแห่งนี้พบเครื่องมือหินขัด และเครื่องมือสำริด ซึ่งจัดเป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย นอกจากนี้ยังพบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในอำเภอและจังหวัดข้างเคียงอีกหลายแห่ง เช่น อำเภอศรีสำโรง อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย อำเภอเมือง จังหวัดอุครดิตถ์ เป็นต้น

หลักฐานที่พบในชั้นดินมีเพียงเศษภาชนะดินเผาในปริมาณน้อย ซึ่งอาจเป็นเพราะขุดเพียง 1 ใน 4 ของพื้นที่หลุมขุดค้นเท่านั้น เนื่องจากในบริเวณอื่นมีโครงกระดูกอยู่ด้านบนลักษณะเนื้อดินเศษภาชนะดินเผาที่พบมีสีคล้ำ และพบเศษก้อนดินเผาไฟชิ้นเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไปเป็นชั้นหนาจึงทำให้เชื่อว่าบริเวณอื่นๆ ในระดับชั้นดินนี้น่าจะมีร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์ที่ชัดเจนกว่า

สำหรับเศษภาชนะดินเผาที่พบเป็นเศษภาชนะที่แตกต่างจากที่พบในชั้นดินเหนือขึ้นไปอย่างชัดเจน เพราะเป็นเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเห็นเม็ดทราย ขึ้นรูปด้วยมือ เผาอุณหภูมิต่ำ ตกแต่งเป็นลายเชือกทาบ และพบว่าเศษภาชนะดินเผาบางชิ้นเนื้อดินหลอมเยิ้มออกมาเป็นรูพรุนทำให้ภาชนะบิดเบี้ยว และมีน้ำหนักเบามากซึ่งเกิดจากการผสมเนื้อดินไม่ได้สัดส่วนอาจเติมวัตถุบางอย่างที่ช่วยลดอุณหภูมิการเผามากเกินไป ทำให้เนื้อดินหลอมได้ในอุณหภูมิต่ำแต่ภาชนะเกิดการเสียหาย

ส่วนระดับความลึกที่พบเศษดินเผาข้างแท่นวางโครงกระดูกหมายเลข 7 ซึ่งอยู่ลึกกว่าโครงกระดูกประมาณ 20 เซนติเมตร ทำให้แน่ใจว่ากลุ่มคนเจ้าของเศษภาชนะดินเผาเหล่านี้ไม่ได้อยู่ร่วมสมัยหรือมีอายุใกล้เคียงกับโครงกระดูก ทั้งนี้เพราะพื้นเดิมของคนกลุ่มที่ใช้พื้นที่นี้เป็นแหล่งฝังศพ น่าจะอยู่สูงกว่าระดับนี้มาก เพราะโครงกระดูกแต่ละโครงต้องถูกขุดหลุมฝังลึกพอสมควรอย่างน้อยก็ประมาณ 1 เมตร ขึ้นไป จึงแยกชั้นวัฒนธรรมนี้ออกจากชั้นที่พบโครงกระดูก

 

  1. ชั้นวัฒนธรรมก่อนการก่อตั้งเมืองเชลียง

       ชั้นวัฒนธรรมนี้สันนิษฐานว่าจะเป็นชั้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ที่ถูกพบโครงกระดูกทั้ง 12 โครง มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 10-11 (1560+-70 BP) กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์โดยวิธีคาร์บอน 14 จากตัวอย่างถ่านที่ได้จากการจุดค้นในชั้นดินที่พบเศษภาชนะดินเผาปะปนอยู่กับดินเผาไฟและถ่านชั้นกิจกรรมของมนุษย์ที่พบมี 2 ลักษณะคือ ชั้นบนเป็นกิจกรรมที่มีร่องรอยของการใช้ไฟและชั้นล่างเป็นแหล่งฝังศพ

ชั้นกิจกรรมในชั้นวัฒนธรรมที่ 2 หรือก่อนการก่อตั้งเมืองเชลียงนี้พบว่าช่วงบนเป็นบริเวณที่มีดินเผาไฟจำนวนมากปะปนกับเศษถ่านและเศษภาชนะดินเผา ชั้นกิจกรรมนี้พบเป็นช่วงๆ ระดับต่างกันเล็กน้อย แสดงให้เห็นว่ามีการเคลื่อนย้ายบริเวณที่ทำกิจกรรมอยู่เสมอและไม่ใช่ลักษณะของพื้นที่ที่เคยใช้เป็นที่อยู่อาศัยเช่นเดียวกับหลุมขุดค้นวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สันนิษฐานว่าอาจเป็นบริเวณที่ใช้เผาภาชนะจึงทำให้พบเศษภาชนะดินเผาปะปนในกลุ่มดินเผาไฟอย่างหนาแน่นและพบเศษภาชนะที่มีรูปแบบเฉพาะกลุ่มไม่หลากหลายเหมือนบริเวณที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ยังพบว่าเศษภาชนะบางชิ้นถูกไฟซ้ำหลายครั้งจนเนื้อเริ่มแกร่งขึ้น ซึ่งอาจเป็นชิ้นส่วนของภาชนะที่เสียหายและถูกทิ้งไว้ในบริเวณที่ใช้เผาภาชนะนั่นเอง

รูปแบบภาชนะดินเผาที่พบตกแต่งผิวด้วยลายเชือกทาบ เป็นลักษณะของภาชนะดินเผาที่ใช้ชีวิตประจำวัน เศษภาชนะดินเผาบางชิ้นเทียบเคียงรูปแบบได้กับภาชนะแบบทวารวดี ได้แก่ภาชนะทรงชามก้นค่อนข้างแบน ลำตัวและปากเบนออกเป็นแนวตรง ผิวภาชนะขัดมัน เนื้อสีส้มในชั้นดินที่มีกิจกรรมใช้ไฟนี้พบตุ๊กตาดินเผา 2 ชิ้น โดยชิ้นแรกเป็นตุ๊กตารูปวัวพบเฉพาะ ตุ๊กตาส่วนใหญ่พบในแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ที่บ้านนาดี หนองหาน อุดรธานี (กรมศิลปากร กองโบราณคดี 2531 : 119) บ้านหนองใหญ่ อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ (สุรพล นารายพันธ์) ส่วนที่ 2 เป็นตุ๊กตารูปผู้หญิง ตั้งใจปั้นเพียงครึ่งบนของลำตัวลักษณะมือเหมือนทำวงโค้งออกมาด้านหน้าเพื่อที่จะอุ้มหรือโอบกอด ไม่พบส่วนหัวจึงอาจจะเป็นไปได้ที่ตุ๊กตานี้อาจปั้นเพื่อเป็นของเล่นเท่านั้น หรืออีกประการหนึ่งเพื่อใช้เป็นตุ๊กตาเสียบกบาลซึ่งเป็นพิธีหลอกภูตผีปีศาจไม่ให้มาเอาชีวิตของคน โดยใช้ตุ๊กตาเป็นตัวแทน แต่ความเชื่อเช่นนี้นิยมแพร่หลายมากในสมัยสุโขทัยถึงอยุธยา โดยเฉพาะที่เมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย แต่ไม่อาจยืนยันได้แน่ชัดว่าพิธีกรรมเช่นนี้มีมาแล้วที่นี้ก่อนสมัยสุโขทัย อย่างไรก็ตามพบตุ๊กตาแบบนี้เช่นกันที่เมืองศรีมโหสถ อำเภอโคกปีป จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดี จนถึงลพบุรี

ชั้นที่พบร่องรอยของมนุษย์ในระดับล่าง คือบริเวณที่ใช้เป็นแหล่งฝังศพถึงแม้ว่าจะไม่พบโบราณวัตถุฝังร่วมกับโครงกระดูกมากนัก ซึ่งไม่มีภาชนะดินเผาเลย โบราณวัตถุที่ฝังร่วมกับโครงกระดูก ได้แก่ แท่งดินเผารูปวงรียาวและแบนที่โครงกระดูกหมายเลข 4 แท่งดินเผารูปทรงกระบอกถูกตัดเป็นท่อน และท่อนเหล็กฝังร่วมกับโครงกระดูกหมายเลข 5 และลูกปัดแก้วสีฟ้าจำนวน 87 เม็ด และสีน้ำตาลอีก 1 เม็ด ที่โครงกระดูกหมายเลข 7 สำหรับลูกปัดแก้วที่พบนั้น เป็นรูปแบบเดียวกันกับลูกปัดที่พบอย่างแพร่หลายในแหล่งโบราณคดี ตั้งแต่ช่วงที่รับวัฒนธรรมจากภายนอก เช่น อินเดียและรับเรื่อยมาจนร่วมสมัยกับวัฒนธรรมทวารวดีตลอดจนแท่งดินเผาที่มีลวดลายตกแต่งเป็นโบราณวัตถุที่พบในแหล่งโบราณคดีที่มีอายุสืบเนื่องถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย และแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีบางแห่ง เช่น ที่บ้านเมืองฝ้าย ตำบลเมืองฝ้าย อำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ เมืองพระรถ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี และเมืองฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งโบราณวัตถุประเภทนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับที่ประทับลายบนผิวภาชนะดินเผา (PADDLE) อย่างไรก็ตามในบางแห่งพบว่ามีทั้งแบบเรียนและลายแบบอื่น ที่ไม่เหมาะในการประทับให้เกิดลวดลายบนผิวภาชนะ อีกทั้งที่แหล่งโบราณคดีเมืองพระรถ เมืองคูบัว ยังพบหลายขนาด ซึ่งขนาดเล็กไม่เหมาะที่จะใช้ประทับลายผิวภาชนะ และลายที่พบนั้นเป็นลายตื้น ลายบางอย่าง เช่น ลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เป็นลายแบบง่ายๆ ที่สามารถขูดขีดลงบนผิวภาชนะได้สะดวกกว่าซึ่งส่วนใหญ่วัสดุที่ใช้ทำที่ประทับลายบนผิวภาชนะน่าจะทำด้วยไม้ เพราะสามารถขุดร่องลวดลายได้ลึก ล้างทำความสะอาดได้ง่ายและแตกหักยากกว่าดินเผา ดังนั้นโบราณวัตถุประเภทนี้จึงน่าจะใช้ประโยชน์ในด้านอื่น เช่น เครื่องประดับเครื่องบอกตำแหน่งทางสังคมหรือเครื่องรางของคลัง

หลุมขุดค้นวัดชมชื่นพบภาชนะทรงบาตรเนื้อเนียนละเอียดสีนวลสลับดำขัดผิว เนื้อดินไม่ใช้ของท้องถิ่น การเตรียมภาชนะพิเศษสำหรับพระภิกษุสงฆ์คล้ายบาตรพระ (ROULETTED WARE) ของอินเดีย แต่เนื้อไม่เหมือนซึ่งอาจจะเป็นสินค้านำเข้าก็เป็นได้

จากโบราณวัตถุต่างๆ ที่พบและผลที่ได้จากการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ ทำให้สามารถกำหนดอายุได้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้นาจะมีชีวิตอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 (1560+-70 BP)    ซึ่งคงเป็นช่วงที่กลุ่มคนเหล่านี้เริ่มพัฒนาตนเอง จากสังคมแบบดั้งเดิม โดยมีการติดต่อชุมชนภายนอกเพิ่มมากขึ้นและไกลออกไป เช่นเมืองโบราณสมัยทวารวดีในเขตนครสวรรค์หรือในการเคลื่อนย้ายชุมชนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยผ่านมาทางเมืองนครไทย พิษณุโลก (ศรีศักดิ์ โตสาระยา 2538 : 234) จึงรับเครื่องใช้หรือเครื่องประดับบางอย่าง ซึ่งไม่สามารถผลิตได้เองในท้องถิ่นมาใช้

 

  1. ชั้นวัฒนธรรมสมัยที่ได้รับอิทธิพลร่วมวัฒนธรรมทวารวดีตอนปลายและร่วมวัฒนธรรมเขมร

กระเบื้องเชิงชาย
กระเบื้องเชิงชายรูปเทพธิดา

ในชั้นวัฒนธรรมนี้พบโบราณวัตถุเบาบางกว่าที่พบในหลุมขุดค้นบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียงมาก ส่วนใหญ่เป็นอิฐและเศษภาชนะดินเผา ซึ่งไม่พบรูปร่างภาชนะดินเผาที่เป็นลักษณะเด่นที่จะกำหนดอายุได้อย่างแน่ชัด จงต้องอาศัยการเปรียบเทียบกับชั้นดินที่หลุมขุดค้นบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง และวัดเจ้าจันทร์ ซึ่งพบโครงกระดูกมนุษย์อยู่ในสภาพกระจัดกระจาย มีชิ้นส่วนกะโหลก กระดูกยาวบางส่วน ลูกปัดแก้วสีดำเล็กมาก 1 เม็ด เป็นหลักฐานชั้นดินที่มีร่องรอยซากอาคารที่ก่อด้วยอิฐก้อนใหญ่เป็นตัวบ่งชี้ อย่างไรก็ตามโบราณวัตถุที่พบในชั้นดินเดียวกับอาคารอิฐที่พบที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง จะปรากฏอิทธิพลศิลปะเขมรหรือลพบุรี แต่เชื่อว่าเมืองเชลียงนี้น่าจะเคยรับวัฒนธรรมทวารวดีมาก่อน ซึ่งเป็นพัฒนาการที่สืบเนื่องมาจากชั้นวัฒนธรรมที่ 2 โดยที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียงพบกระเบื้องเชิงชายที่ทำเป็นรูปเทพธิดา มีลักษณะการแต่งกายแบบเขมรอย่างพื้นเมืองหรือศิลปะลพบุรีอย่างเด่นชัด ตลอดจนการพบกระเบื้องมุงหลังคาแบบโค้งหรือกาบูซึ่งเป็นกระเบื้องมุงหลังคาที่นิยมใช้กับอาคารแบบเขมร หลุมขุดค้นวัดเจ้าจันทร์พบซากอิฐถูกรื้อทำลายและบดอัดเป็นพื้นรองรับใต้ฐานปราสาทวัดเจ้าจันทร์ใต้ชั้นอิฐลงไปพบเขากวาง และเครื่องถ้วยหริภุญไชยอยู่ร่วมกัน โบราณวัตถุเหล่านี้ล้วนชี้ให้เห็นว่าดินแดนแถบนี้ครั้งหนึ่งเคยรับวัฒนธรรมเขมร ซึ่งเป็นลักษณะที่พบอยู่เสมอกับเมืองที่มีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง เมื่อครั้งหนึ่งเคยรับวัฒนธรรมทวารวดี ในสมัยต่อมาจะถูกเปลี่ยนไปสู่วัฒนธรรมเขมรเพราะเขมรโบราณมักแพร่อิทธิพลไปยังเมืองต่างๆ ที่มีความเจริญอยู่แล้ว

สำหรับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรที่แพร่เข้ามานั้น เชื่อว่าน่าจะตรงกับสมัยบาปวน เนื่องจากพบฐานโบราณที่ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่อยู่ 2 ระดับในหลุมขุดค้นคือ ระดับเหนือชั้นดินที่มีดินถูกเผาไฟและกลุ่มถ่านกับชั้นดินใต้ชั้นสุโขทัย เปรียบเทียบได้กับอิฐซึ่งเป็นวัสดุในการก่อสร้างอาคารโดยเปรียบเทียบกับปราสาทปู่จ่าที่เชิงเขาหลวง อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมศิลปะเขมรสมัยบาปวนพุทธศตวรรษที่ 17 (เอนก สีหามาตย์ 2538 : 128-130) และปรากฏหลักฐานชัดเจนมากขึ้นในสมัยบายนประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 เพราะโบราณสถานต่างๆ ที่พบในกลุ่มเมืองแถบนี้ เช่น วัดศรีสวาย วัดพระพายหลวงที่เมืองเก่าสุโขทัย และซุ้มประตูทางเข้าวัดพระศรีมหาธาตุเชลียง ปราสาทวัดเจ้าจันทร์ ล้วนปรากฏศิลปะเขมรสมัยบายน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ได้แผ่ขยายอำนาจออกมาอย่างกว้างขวาง ซึ่งเมืองเชลียงน่าจะรับวัฒนธรรมในช่วงนั้นเป็นอย่างน้อย จึงกำหนดอายุให้อยู่ในปลายพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงพุทธศตวรรษที่ 18 แต่จากตัวอย่างถ่านในชั้นดินที่พบการสร้างอาคารด้วยอิฐขนาดใหญ่จากบริเวณผนังดินริมตลิ่งแม่น้ำยมใกล้หลุมขุดค้นกำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 หรือ 15 (1250+-230 BP)

ในชั้นวัฒนธรรมนี้ เชื่อว่าในพื้นที่หลุมขุดค้นน่าจะเป็นบริเวณที่ก่อสร้างอาคารโบราณ แต่อาจจะพังทะลายจากน้ำท่วมหรือถูกรื้อทำลายลง จึงปรากฏเศษอิฐกองรวมกันเป็นกลุ่มและในบางบริเวณพบการทำพิธีกรรมบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการใช้ไฟเผาเมล็ดข้าวให้เป็นสีดำ เพราะพบบริเวณที่ใช้อิฐดิบเรียงเป็นแถวแล้วสุมไฟบนแนวอิฐ ซึ่งพบเมล็ดข้าวสารดำรวมอยู่เป็นกลุ่มเหนือแนวอิฐนั้นประมาณ 15 เซนติเมตร การประกอบพิธีกรรมที่มีเมล็ดข้าวเผาไฟจนดำเช่นนี้ พบในแหล่งโบราณคดีหลายแหล่งที่มีอายุสมัยเชื่อมต่อระหว่างทวารวดีกับลพบุรี เช่น ที่เมืองศรีมโหสถ อำเภอโคกปีป จังหวัดปราจีนบุรี เป็นต้น

 

  1. ชั้นวัฒนธรรมต้นสมัยสุโขทัย อยุธยา จนถึงการทิ้งร้างของเมืองศรีสัชนาลัย

       ชั้นวัฒนธรรมนี้พบโบราณวัตถุมากที่สุด แต่เนื่องจากชั้นดินถูกรบกวนมากจึงทำให้ไม่สามารถศึกษาการแพร่กระจายของเศษภาชนะดินเผาตามลำดับความลึกได้อย่างชัดเจน ภาชนะดินเผาที่สามารถนำมาพิจารณากำหนดอายุได้แก่เครื่องสังคโลก เครื่องถ้วยเชลียง (เป็นชื่อที่ชาวบ้านเกาะน้อยเรียกภาชนะดินเผาที่เคลือบด้านในด้านเดียว จากการกำหนดอายุของโครงการเครื่องถ้วยไทยออสเตรเลียปรากฏว่ามีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16-18 หรืออาจจะก่อนหน้านั้น) และเครื่องถ้วยจีน ส่วนภาชนะดินเผาประเภทเนื้อไม้แกร่งนั้นเป็นภาชนะดินเผาแบบพื้นเมืองเป็นส่วนใหญ่ มีชิ้นส่วนเครื่องถ้วยภาชนะดินเผาแบบหริภุญไชยปะปนอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นภาชนะประเภทกุณฑี

เครื่องถ้วยจีนเป็นภาชนะดินเผาประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการกำหนดอายุในชั้นวัฒนธรรมนี้ โดยพบเครื่องถ้วยจีนแบบชิงไป๋ ในราชวงศ์ซุ่งภาคเหนือ (พ.ศ. 1503-1669) เครื่องถ้วยจากเตาหลงฉวน สมัยราชวงศ์ซุ่งภาคใต้ และเครื่องลายครามแบบรางวงศ์หมิง และเครื่องลายครามจากราชวงศ์ชิง ซึ่งเครื่องถ้วยเหล่านี้นิยมกันมากในช่วงสมัยอยุธยาควบคู่ไปกับเครื่องสังคโลก จากแหล่งเตาเมืองศรีสัชนาลัยและสุโขทัย

เครื่องถ้วยเชลียงพบในปริมาณมาก ซึ่งมากกว่าการขุดแต่งโบราณสถานหลายๆ แห่งในบริเวณใกล้ศูนย์กลางของเมืองศรีสัชนาลัยซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานอย่างนี้มาก่อน และภาชนะประเภทนี้ได้พัฒนารูปแบบหลากหลายกว่าที่เคยพบจากการขุดแต่งโบราณสถานโดยทั่วไป ซึ่งมักพบเพียงรูปชามเคลือบเฉพาะด้านใน แต่การขุดค้นในครั้งนี้พบว่ามีการพัฒนารูปแบบภาชนะการตกแต่งลวดลายคล้ายกับครั้งหนึ่งภาชนะประเภทนี้เคยเป็นที่นิยมมาก

ส่วนภาชนะแบบสังคโลกพบน้อยกว่าโบราณสถานรุ่นใหม่ในเมืองศรีสัชนาลัยบริเวณแก่งกลวงจนเห็นได้ชัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดเขียนลายสีดำใต้เคลือบใสพบในปริมาณน้อย อย่างไรก็ตามภาชนะประเภทไหและครก กลับพบมากกว่าเครื่องสังคโลกชนิดเคลือบสีเขียวใสและเขียนลายสีดำใต้เคลือบใส

ในชั้นวัฒนธรรมที่ 4 นี้ เป็นชั้นดินร่วมสมัยกับวัดชมชื่นตั้งแต่แรกสร้าง ได้เจริญอย่างมากในช่วงที่มีมากในช่วงที่มีการใช้เครื่องถ้วยแบบเชลียงอย่างเฟื่องฟู แต่พอถึงยุคที่เครื่องสังคโลกชนิดเคลือบสีเขียวใส (CELADON) และชนิดเขียนลายสีดำใต้เคลือบใส  (BLACK PAINING UNDER CLEAR GLAZE WARE) เป็นที่นิยม ซึ่งตรงกับช่วงสมัยอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 โบราณสถานแห่งนี้กลับลดความสำคัญลงอย่างเห็นได้ชัด อาจจะเป็นช่วงที่ย้ายศูนย์กลางของเมืองไปบริเวณวัดช้างล้อมหรือวัดเจดีย์เจ็ดแถว ซึ่งเป็นช่วงที่เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นสวรรคโลกก็ได้

โบราณวัตถุชนิดอื่นที่พบ พอจะบอกให้ราบถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่และคติความเชื่อบางอย่างของกลุ่มคนในช่วงสมัยสุโขทัยถึงอยุธยาได้ ยกตัวอย่างเช่นเบี้ยดินเผา ซึ่งคงเป็นของเล่นสำหรับเด็กที่ยังนิยมกันมาแต่โบราณ เริ่มพบอย่างมากในช่วงสมัยทวารวดี และสืบทอดเรื่อยมา ตุ๊กตาเสียกบาลเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจที่จะมาเอาชีวิตมนุษย์ จึงต้องใช้วิธีหลอกโดยใช้ตุ๊กตาตัดหัวเพื่อแสดงให้เห็นว่าบุคคลนั้นได้ตายไปแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการคลอดลูก ซึ่งในสมัยนั้นคงเป็นอันตรายมาก และมีผู้เสียชีวิตบ่อยครั้ง ตุ๊กตาเสียกบาลรูปแม่อุ้มลูกจึงพบเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้หัวตุ๊กตาที่พบอยู่ทั่วไป ยังสามารถบอกวิถีชีวิตและการแต่งกายของคนในสมัยนั้นได้ เช่น ทรงผมมีการเกล้าเป็นมวยแล้วคาดบริเวณมวยผม การตัดผมเกรียนด้านบนแบนราบ การใส่หมวกปีกแคบด้านบนแบนเทมาด้านหน้า เป็นต้น หัวตุ๊กตาบางหัวมีปุ่มนูนข้างแก้มเหมือนอมเมี่ยง หรือหมากเอาไว้

โบราณวัตถุอีกประเภทหนึ่งที่พบมากคือตุ้มถ่วงแห แสดงให้เห็นวิถีชีวิตของคนในสมัยนั้น ที่ยังชีพด้วยการหาปลาในแม่น้ำยม ซึ่งจัดว่าเป็นแหล่งปาชุกชุมแห่งหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณแก่งหลวง แม้กระทั่งราว 30 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย ผู้คนในท้องถิ่นอื่นเป็นจำนวนมาก ยังคงเดินทางมาจับปลาบริเวณแก่งหลวงในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่มีปลาชุกชุมมากที่สุด

ในชั้นวัฒนธรรมนี้จัดเป็นชั้นวัฒนธรรมที่มีระยะเวลายาวนานมากที่สุด คือตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมาจนถึงสมัยอยุธยาและเกิดการทิ้งร้างของเมือง

สรุป

ผลที่ได้จากการศึกษาและขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุหรือวัดมหาธาตุเชลียง วัดชมชื่น และวัดเจ้าจันทร์ เพื่อศึกษาการเริ่มก่อตั้งเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย มีหลักฐานว่ามีพัฒนาการชุมชนที่ตั้งอยู่ใต้ชั้นดินบริเวณโบราณสถานทั้ง 3 แห่ง อย่างน้อยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 9 เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังพบหลักฐานโครงกระดูกมนุษย์ 12 โครง ในหลุมขุดค้นวัดชมชื่น กำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 10-11 ซึ่งลักษณะการฝังศพเป็นแบบฝังศพทั้งโครง ถึงแม้จะรับอิทธิพลวัฒนธรรมทวารวดีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังนิยมฝังศพแบบดั้งเดิม

เมื่อพัฒนาการเข้าสู่ชั้นวัฒนธรรมทวารวดีตอนปลายประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-16 พบว่าเป็นการฝังครั้งที่ 2  หมายถึงทำการเผาแล้วนำกระดูกมาบรรจุไว้ในโถ ซึ่งพบหลักฐานจากการกู้โครงกระดูก 2 โครง เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2537 บริเวณตลิ่งแม่น้ำยมเมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่ ในขณะเก็บข้อมูลหลักฐานได้พบโถเคลือบสีขาวคล้ายเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ้ง (พ.ศ. 1503-1699) มีฝาปิด ลักษณะการฝังคงถูกขุดฝังลงมาตรงโครงกระดูก 2 โครง เป็นการบังเอิญ แสดงให้เห็นว่าในระยะช่วงเวลาพุทธศตวรรษที่ 10-11 นี้ บริเวณวัดชมชื่น และวัดเจ้าจันทร์ น่าจะเป็นที่ฝังศพมาก่อน แต่ต่อมาเริ่มมีชุมชนเข้ามาตั้งหลักแหล่งเหนือที่ฝังศพโดยเฉพาะชั้นวัฒนธรรมที่มีร่องรอยซากอาคารก่ออิฐเป็นขนาดใหญ่ที่นิยมนำมาเป็นวัสดุก่อสร้างในสมัยทวารวดีในชั้นดินนี้กำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-16

เศษชิ้นส่วนกระเบื้องเชิงชายรูปหน้าบุคคล พบที่เมืองเชลียง
เศษชิ้นส่วนกระเบื้องเชิงชายรูปหน้าบุคคล พบที่เมืองเชลียง

กลุ่มอาคารก่อด้วยอิฐที่พบมี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกอยู่เหนือชั้นดินเผาไฟและถ่านขึ้นมา หลังจากนั้นขาดหายไป และปรากฏอีกครั้งเป็นชั้นที่พบก่อนจะถึงชั้นวัฒนธรรมสมัยสุโขทัย หลักฐานชั้นดินพบชั้นอิฐที่เป็นร่องรอยศาสนสถานทั้งหลุมขุดค้นวัดเจ้าจันทร์ หลุมขุดค้นวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และวัดชมชื่น แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการชุมชนซึ่งมีการรับวัฒนธรรมแบบทวารวดี และสืบเนื่องมาจนเปลี่ยนแปลงมารับวัฒนธรรมร่วมแบบเขมรเนื่องจากหลุมขุดค้นวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียงพบกระเบื้องกาบกล้วย กระเบื้องเชิงชายรูปเทพธิดา หรือนางอัปสร รูปเทวดา หลุมขุดค้นวัดเจ้าจันทร์พบพระพิมพ์เนื้อโลหะทำจากดีบุกทรงเครื่องแบบพระมหากษัตริย์ ซึ่งเทียบได้กับศิลปะเขมรสมัยบายน

ถัดจากชั้นดินที่พบกลุ่มอิฐขึ้นมาได้มีการเปลี่ยนแปลงความนิยมในการสร้างศาสนสถานด้วยศิลาแลง และมีร่องรอยรื้ออาคารศาสนสถานที่สร้างด้วยอิฐโดยก่อสร้างวิหารหลวงทับไปบนอาคารก่ออิฐที่วัดพระศรี  รัตนมหาธาตุเชลียง วัดเจ้าจันทร์ มีการรื้อและปรับบดอิฐให้เป็นรากฐานปราสาทวัดเจ้าจันทร์

หลักฐานต่างๆ เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่ามีชุมชนอาศัยอยู่แถบบริเวณที่เชื่อว่าเป็นพื้นที่เมืองเชลียงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 9 เป็นต้นมา และเริ่มเป็นบ้านเมืองน่าจะอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-16 ซึ่งพบหลักฐานชั้นวัฒนธรรมที่มีอาคารก่ออิฐ

เมืองเชลียงที่ปรากฏในเอกสารโบราณของไทยจึงน่าจะสอดคล้องกันกับหลักฐานที่พบจากการขุดค้นครั้งนี้ และระยะเวลาระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15-16 เมืองเชลียงมีความสัมพันธ์กับเมืองหริภุญไชย สอคล้องกับตำนานเรื่องจามเทวีวงศ์ เนื่องจากในการขุดค้นได้พบหลักฐานเครื่องถ้วยหริภุญไชย (พุทธศตวรรษที่ 16-18) เป็นจำนวนมาก ในหลุมขุดค้นชั้นวัฒนธรรมทวารวดีตอนปลาย ซึ่งเป็นหลักฐานสอดคล้องกับตำนานสร้างเมืองหริภุญไชย (ลำพูน) แสดงถึงความสัมพันธ์ต่อกัน จนมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างเมืองเชลียงและเมืองหริภุไชย ยืนยันถึงการก่อกำเนิดเมืองศรีสัชนาลัยในสมัยสุโขทัย

การพัฒนาของเมืองเชลียงเริ่มชัดเจนขึ้นไม่น้อยกว่าพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา จากการกำหนดอายุ เตาขุดในดินระยะแรกซึ่งผลิตเครื่องถ้วยเชลียง (กรมศิลปากร 2535 : 282) ในพุทธศตวรรษที่ 18 ตรงกับระยะที่พ่อขุนศรีนาวนำถมครอบครองเมือง เมืองศรีสัชนาลัย น่าจะมีวัดพระศรีมหาธาตุเชลียงเป็นศูนย์กลาง ส่วนวิถีชีวิตชาวเมืองน่าจะทำการเกษตรกรรมปลูกข้าว หาของป่า และล่าสัตว์จับปลาในแม่น้ำยมเป็นอาชีพหลัก เพราะพบหลักฐานตุ้มถ่วงดินเผาเป็นจำนวนมาก อาชีพที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการทำภาชนะดินเผา และต่อมาได้พัฒนาฝีมือและความรู้ในการผลิตภาชนะดินเผาจนถึงยุครุ่งเรืองที่สุดประมาณพุทธศตวรรษที่ 20-21 และภาชนะดินเผาสังคโลกกลายเป็นสินค้าส่งออกไปถึงญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หลักฐานซากเตาทุเรียงที่บ้านป่ายางและบ้านเกาะน้อย เป็นหลักฐานที่ยืนยันถึงแหล่งสังคโลกที่มีความสำคัญของเมืองศรีสัชนาลัยอันเป็นหลักฐานสำคัญของความมั่นคงทางเศรษฐกิจของเมือง

หลักฐานที่พบใหม่ครั้งนี้เป็นการสนับสนุนข้อสันนิษฐานนักวิชาการหลายท่านที่เคยตั้งข้อสมมติฐานไว้ว่า เมืองเชลียงเป็นเมืองที่มาก่อนเมืองศรีสัชนาลัยโดยหลักฐานการพบโบราณวัตถุสมัยทวารวดี ลพบุรี สุโขทัย อยุธยา ตามลำดับ โดยมีเหตุผลในการสร้างเมืองเชลียงขึ้นในบริเวณนี้ก็เพื่อให้เป็นย่านชุมชนทางการคมนาคมการค้าขายทางบก ที่จะเดินทางต่อไปยังเมืองแพร่ เมืองงาว พะเยา เชียงแสน และบ้านเมืองทางลุ่มน้ำโขงตอนบนทางหนึ่งกับการที่จะต่อไปทางตะวันออกไปติดต่อกับบ้านเมืองในเขตลุ่มน้ำน่านและทางหลวงพระบางอีกทางหนึ่ง (ศรีศักร   วัลลิโภดม 2533 : 106) และการเชื่อมโยงค้าขายติดต่อกับเมืองเมาะตะมะด้วยอีกเส้นทาง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image