สุจิตต์ วงษ์เทศ : กุลาที่อุบลฯ มีประเพณีเหมือนไทยใหญ่ในพม่า

วัดแรกในหมู่บ้านโนนใหญ่ของชาวกุลา ชื่อวัดทุ่งสว่างอารมณ์ บ้านโนนใหญ่ ต. ก่อเอ้ อ. เขื่องใน จ. อุบลราชธานี

บรรพชนคนกุลาที่อุบลฯ มาจากไทยใหญ่ มีประเพณีเหมือนไทยใหญ่ในพม่า สรุปจากเรื่อง “กุลา (บ้านโนนใหญ่) : ชาติพันธุ์” เรียบเรียงโดย คนึงนิตย์ จันทบุตร จาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2542] ดังต่อไปนี้
วัดทุ่งสว่างอารมณ์ ชาวกุลาบ้านโนใหญ่ได้นิมนต์เจ้าบุญจ้างอินตา พระที่มีฝีมือด้านการช่างมาสร้างวัด เสร็จ พ.ศ. 2454
ส่วนที่ดินนั้นซื้อบ้างเรี่ยไรบ้าง ไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างได้มาจากดงทางปากเซ (จำปาสัก) และไม้ในบริเวณหมู่บ้าน สิ่งใดที่ไม่มีก็หามาจากพม่า อังวะ หงสาวดี
พระพุทธรูปหินอ่อนแบบพม่าได้มาจากย่างกุ้งบ้าง มัณฑะเลย์บ้าง
วัดกุลา มีลักษณะวัฒนธรรมคล้ายพม่า เป็นอาคารไม้มุงหลังคาสังกะสี แกะลวดลาย สังกะสีที่ประดับมียอดเป็นชั้นๆ ห้อยกระดิ่งขนาดเล็กๆ โดยรอบ

วัดแรกในหมู่บ้านโนนใหญ่ของชาวกุลา ชื่อวัดทุ่งสว่างอารมณ์ บ้านโนนใหญ่ ต. ก่อเอ้ อ. เขื่องใน จ. อุบลราชธานี
วัดแรกในหมู่บ้านโนนใหญ่ของชาวกุลา ชื่อวัดทุ่งสว่างอารมณ์ บ้านโนนใหญ่ ต. ก่อเอ้ อ. เขื่องใน จ. อุบลราชธานี

บวชลูกแก้ว หรือ ปอยส่างลอง

ปอยส่างลอง ได้แก่ การบวชสามเณรหรือบวชลูกแก้ว ส่าง แปลว่าสามเณร ส่วนลองมาจากคำว่า อลอง แปลว่าพระโพธิสัตว์ หรือหน่อพุทธางกูร

การบวชปอยส่างลอง เป็นความเชื่อของชาวพม่าไทยใหญ่ที่เชื่อว่าถ้าใครได้จัดงานบรรพชาสามเณร และได้อุปสมบทพระภิกษุจะได้อานิสงส์มากล้น และหากได้มีโอกาสมาร่วมในงานปอยส่างลองแล้ว จะได้บุญกุศลใหญ่หลวง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเจ้าภาพส่างลอง หรือผู้ที่เป็นอุปัฏฐากให้ส่างลองได้เข้าบวช

พ่อบวช แม่บวช ทั้งเณรและภิกษุ จะได้รับการยกย่องยอมรับนับถือจากสังคมอย่างมาก พ่อบวชสามเณรจะได้รับคำเรียกว่าพ่อส่าง แม่บวชเรียกแม่ส่าง พ่อบวชภิกษุเรียกว่าพ่อจาง แม่บวชภิกษุเรียกว่าแม่จาง การเรียกชื่อจะเรียกกันตลอดไป หลังจากการจัดงานแล้ว

Advertisement

ส่วนคนที่เคยบวชเณรเมื่อสึกออกมาแล้ว เรียกว่าส่างนำหน้าชื่อ ผู้ที่เคยอุปสมบทจะได้รับการเรียกว่านาค หรือหนาน

การบวรสามเณร (ส่างลอง) บวชตามประเพณีชาวกุลา (พม่า) ดังคำบอกเล่าของ นายถวิล แสงสว่าง ความว่า

รุ่งเช้าประมาณ 3 โมงเช้า ก็นำส่างลองไปรวมกันที่วัดแล้ว แห่ส่างลองไปที่บ้านของญาติพี่น้อง เมื่อส่างลองขึ้นไปบนบ้านก็ปูสาดเสื่อ ต้อนรับด้วยข้าวปลาอาหาร แล้วก็ผูกแขนเจ้าส่างคนละ 1 บาท (ถือเป็นเงินจำนวนมากในสมัยนั้น)

เมื่อชาวกุลาสร้างวัดทุ่งสว่างเสร็จ ระยะแรกนิมนต์พระสงฆ์จากพม่ามาจำพรรษา มีพระพม่าอยู่ 3 รูป ได้แก่ พระกัตติยะ เจ้าบุญหม่าน (เป็นเผ่าต้องสู้) พระอุเต็กตะ

พระอุเต็กตะเป็นพระพม่า มรณภาพเมื่อ พ.ศ. 2500 หลังจากนั้นก็ไม่มีพระพม่ามาจำพรรษาอีกเลย การบวชส่างลองเลิกไป นิยมบวชเป็นสามเณร หรือภิกษุ เหมือนเช่นธรรมเนียมไทย พ.ศ. 2524 วัดทุ่งสว่าง ซึ่งเป็นวัดกุลาก็พังทลายลงเพราะความเก่าแก่ ศิลปวัตถุของพวกกุลาสูญหายไปพร้อมกับชาวกุลาก็ล้มตายไปตามอายุขัย

พระพุทธรูปที่อยู่บนบ้านของชาวกุลา ลักษณะเป็นภาพวาดบนกระจก ระบายสีสวยงาม
พระพุทธรูปที่อยู่บนบ้านของชาวกุลา ลักษณะเป็นภาพวาดบนกระจก ระบายสีสวยงาม
ธรรมาสน์ ฝีมือช่างชาวกุลา
ธรรมาสน์ ฝีมือช่างชาวกุลา

อาหาร

ชาวกุลาบริโภคข้าวเจ้า ดื่มน้ำชา ไม่นิยมดื่มสุรา อาจดื่มบ้าง แต่ไม่มากนัก ไม่นิยมเล่นการพนัน อาหารส่วนใหญ่คล้ายคลึงทางภาคเหนือ ในยามเทศกาลนิยมทำแกงฮังเล น้ำพริกอ่อง ถั่วเน่า (ถั่วเป็นแผ่น) รับประทานปลาร้า แต่นิยมใช้ปลาตัวโตๆ รับประทานกับขนมจีน แต่น้ำยาใส่กะทิ การรับประทานอาหารนิยมนั่งล้อมวง มีขันโตกอยู่ตรงกลาง

สมัยก่อนจะรับประทานข้าวเจ้ากุลา โดยนำพันธุ์จากพม่า เป็นข้าวเมล็ดใหญ่ ยาว นิ่ม ปัจจุบันรับประทานทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว อาหารเป็นแบบพื้นบ้าน เช่น ลาบ แกงหน่อไม้ ส้มตำ น้ำพริก ป่นปลาทู ย่าง ปิ้ง ก้อย ฯลฯ

มรดก

ในสมัยอดีต ทรัพย์สมบัติจะยกให้บุตรสาว เมื่อแต่งงานแล้ว ผู้หญิงจะอยู่กับผู้ชาย ปัจจุบันจะยกให้ทั้งบุตรสาวหรือบุตรชาย บุตรที่เลี้ยงดูบิดามารดาจะได้รับมรดกมากกว่าผู้อื่น

อาชีพ

อาชีพแต่เดิมคือการเดินทางค้าขายผ้า ฆ้อง พลอย ขายเงินทองรูปพรรณ แต่ปัจจุบันลูกหลานอาจจะรับราชการเป็นครู พยาบาล ทหาร ตำรวจ พ่อค้า หรือทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ค้าขายบ้างเล็กๆ น้อยๆ การเดินทางค้าขายเลิกไปเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากอังกฤษให้เอกราชแก่พม่า การเดินทางผ่านพรมแดนไทย-พม่าโดยเสรียุติลง

นามสกุล

เมื่อก่อนชาวกุลาทุกคนใช้นามสกุลว่า “ต้องสู้” ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลโดยใช้ชื่อบิดามารดาเป็นมงคลนาม เช่น ปานสุวรรณ (ปู่คือ พ่อเฒ่าคำปาน) เครือสิงห์, แสงสว่าง, สอนอาจ และครองยุทธ (กุลาแถบหมู่บ้านสร้างถ่อ)

รักษาโรค

อดีตใช้ยาสมุนไพรรักษาโรค ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นยาแผนปัจจุบัน ชาวกุลาบางกลุ่มยังเชื่อเรื่องของการรักษา มีการลำผีฟ้า รักษาไข้ แบบไทยอีสาน

เครื่องรางของขลัง

ชาวกุลาไม่นับถือผีปู่ย่าตายาย แต่เชื่อในเรื่องเวทมนตร์ เครื่องรางของขลัง กุลามักมีงาช้าง นอแรด ว่าน ติดกายในขณะที่เดินทาง

บ้านเรือน

บ้านเรือนชาวกุลามักใหญ่โต เนื่องจากมีฐานะดี ส่วนใหญ่เป็นเรือนปั้นหยา ใต้ถุนสูง แบ่งเป็น 3 ห้อง แต่ลึก หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินขอ แต่ปัจจุบันเรือนกุลาพังทลายเปลี่ยนเป็นเรือนแบบไทยอีสาน

 [พรุ่งนี้อ่าน กุลาร้องไห้ เมื่อค้าขายเดินทางข้ามทุ่งกุลา]

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image