ชาติและอัตลักษณ์ใน “มหาสมุทรและสุสาน” : ความรู้และการเมืองแบบหลังอาณานิคม (12)

ชาติและอัตลักษณ์ใน "มหาสมุทรและสุสาน" : ความรู้และการเมืองแบบหลังอาณานิคม (12)

ชาติและอัตลักษณ์ใน “มหาสมุทรและสุสาน” : ความรู้และการเมืองแบบหลังอาณานิคม (12)

มหาสมุทรและสุสานเป็นภาพยนตร์ที่ตัวละครทั้งหมดวนเวียนอยู่กับการเดินทาง

แต่ขณะที่หนังเสนอภาพตัวละครขณะเดินทางจากกรุงเทพสู่ปัตตานีในสภาพที่เต็มไปด้วยความเครียด หวาดระแวง และมองทุกอย่างเป็นภัยคุกคามชีวิต

ตัวละครขณะเดินทางข้ามมหาสมุทรสู่เกาะอัลคาฟกลับเต็มไปด้วยความสงสัยใคร่รู้โดยไม่ปรากฏภาวะอารมณ์เชิงลบให้เห็นแม้แต่น้อย ทั้งที่ไม่มีใครรู้ว่าเกาะนี้อยู่ไหน สภาพบนเกาะเป็นอย่างไร ต้องอยู่บนเรือเล็กอีกนานแค่ไหน และจะเกิดอะไรหากคนนำทางทำร้ายทุกคน

นอกจากปฏิกิริยาของตัวละครในสภาวะเดินทางระหว่าง (In Between) ในสองกรณีจะต่างกัน ปฏิสัมพันธ์ของตัวละครต่อผู้คนและพื้นที่ในสองกรณีก็ต่างกันด้วย

Advertisement

ตัวละครหลักจากกรุงเทพฯ ทั้งสามคนอยู่ปัตตานีโดยแทบไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใครในปัตตานี ต่อติดกับปาตานีไม่ได้ มิหนำซ้ำการดีลกับปัตตานีสำเร็จได้ก็เพราะอาศัยตัวกลางคือทหารเกณฑ์ลูกอีสานเป็นคนช่วยเหลือ

แต่เมื่อขึ้นไปบนเกาะอัลคาฟ ตัวละครทั้งหมดกลับมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและบริบททางวัฒนธรรมรอบตัวอย่างดีและแทบจะทันที

เพื่อให้ผู้อ่านที่ไม่ได้ชม “มหาสมุทรและสุสาน” เข้าถึงระดับความหนักหน่วงของความรู้สึกไม่ปลอดภัยซึ่งทำให้ตัวละครแทบไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใครในเวลาที่อยู่ในปัตตานี

Advertisement

ขอพูดให้เห็นภาพง่ายๆ ว่าตั้งแต่หนังเริ่มต้นจนถึงฉากจบ พื้นที่เดียวในปัตตานีที่ตัวละครแสดงความรู้สึกปลอดภัยได้แก่โรงแรมที่พักระหว่างเดินทางเท่านั้น

ไลลาจะโทร.หาพ่อที่กรุงเทพฯ และดูผ่อนคลายอย่างไม่เคยเห็นในฉากไหน ส่วน “กู๊ด” ก็จะดึง “ต้อย” ที่สะอึกสะอื้นในห้องน้ำมาโอบกอดราวคู่รักที่รอสัมผัสแรกของกันและกัน

ถ้ายอมรับว่า “มหาสมุทรและสุสาน” สะท้อนภาพปัตตานีในฐานะสถานแห่งความผิดแผก (Space of Difference) หรือพื้นที่ซึ่งอัตลักษณ์ที่ต่างกันด้านศาสนา, ชาติพันธุ์, ภูมิภาค ฯลฯ ทำให้ทุกคนหวาดระแวง ต่างคนต่างอยู่ และใช้ชีวิตแบบชุมชนปิดซึ่งรังเกียจการแผ้วพานของอัตลักษณ์ที่ผิดแผกกัน “โรงแรม” ก็เป็นพื้นที่พิเศษซึ่งใครก็ไม่ต้องยุ่งกับใคร ทุกคนปิดตัวอยู่ในห้องนานแค่ไหนก็ได้

หรืออีกนัยคือตัวละครเห็นโรงแรมเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพราะไม่มีอิสลามตัวเป็นๆ ให้เห็น มีแต่ตัวเองและตัวเอง

ในขณะที่ตัวละครหลักหวาดระแวงปาตานีจนโรงแรมเป็นพื้นที่เดียวที่รู้สึกปลอดภัยในปัตตานี ข้อเท็จจริงของโลกกลับมีอยู่ว่าตัวละครหลักและผู้คนในพื้นที่คือเป็นคนชาติเดียวกันและมีศาสนาเดียวกันด้วย

ในแง่นี้หนังเสนอประเด็นที่โหดเหี้ยมอย่างนวลเนียนว่าตัวละครหลักกับปาตานีมีความแตกต่างหลายอย่างจน “ชาติ” และ “ศาสนา” ไม่ใช่แรงยึดเหนี่ยวที่แข็งแกร่งพอจะดึงผู้คนจากอัตลักษณ์ที่ต่างกันให้รู้สึกเป็นพวกเดียวกันได้

หรืออีกนัยคือ “ความต่าง” มีพลังกว่า “ความเหมือน” ในกรณีปัตตานี

สภาพตัวละครตั้งแต่เดินทางข้ามมหาสมุทรจนอยู่บนเกาะเป็นทุกอย่างที่ตรงข้ามกับปัตตานี เพราะทันทีที่เท้าทั้งสองข้างของตัวละครสัมผัสพื้นดิน การทักทายอย่างมีไมตรีกับคนในพื้นที่ก็เริ่มขึ้น

ไลลาและซูกู๊ดพยายามต่อติดกับคนบนเกาะโดยการเอื้อนเอ่ยแทบจะทันทีที่พบพานว่าอัสลามูอาลัยกุม ทั้งที่ไม่รู้ว่าเขาใช่อิสลามหรือไม่ และที่แย่กว่านั้นคือการริเริ่มเชื่อมต่อกับคนที่ “เป็นอื่น” แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเมื่อตัวละครหลักอยู่ในพื้นที่ปัตตานี ถึงจะอยู่ท่ามกลางคนที่รู้ชัดๆ ว่าเป็นมุสลิมเหมือนกัน

เมื่อคำนึงว่าหนังบอกผู้ชมแล้วว่าสามตัวละครหลักไปอัลคาฟโดยเข้าใจว่าหมู่บ้านอยู่ในปัตตานี ความกระเหี้ยนกระหือในการต่อติดกับคนแปลกหน้าทันทีที่ถึงเกาะก็ยิ่งน่าฉงน

ไม่ต้องพูดว่าก่อนหน้านี้ตัวละครแทบไม่ปรากฏความระแวงขณะเรือเล็กพาข้ามมหาสมุทรไปแสนไกลโดยไม่รู้มาก่อน เช่นเดียวกับแทบไม่หวาดกลัวเมื่อพบภูมิประเทศและผู้คนสภาพราวมาจากต่างภพ

พูดง่ายๆ คือตัวละครที่ไม่รู้อะไรกลับไปเกาะด้วยความใคร่รู้และเปิดกว้างซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากท่าทีของพวกเขาในปัตตานี

หากถักทอสองภาพนี้เข้าด้วยกัน “มหาสมุทรและสุสาน” เสนอภาพของมนุษย์ที่เดินทางไปมาในสภาวะระหว่างสองพื้นที่ซึ่งเมื่ออยู่ในปัตตานีกลับมองเห็นแต่ความผิดแผกระหว่างตัวเองกับผู้คนในพื้นที่นั้น

แต่เมื่อถึงเกาะอัลคาฟกลับจินตนาการถึงอัตลักษณ์ร่วมที่ไม่รู้ว่ามีหรือไม่ระหว่างตัวเองกับพื้นที่ หรือพูดกลับกันคือตัวละครกลุ่มนี้มองข้ามอัตลักษณ์ร่วมด้านอิสลามของตัวเองกับคนมุสลิมเวลาที่อยู่ปัตตานี แต่มองไม่เห็นความผิดแผกของตัวเองกับอัลคาฟ

ซึ่งที่จริงคือคนแปลกหน้าซึ่งเพิ่งพบพาน

ยิ่งตัวละครเดินเข้าไปในเกาะมากเท่าไร หนังจะทำให้ผู้ชมเห็นว่าเกาะเป็นที่รวมของอารยธรรมคาบสมุทรที่ดูรุ่มรวยและศิวิไลซ์แบบที่ปัตตานีในหนังไม่มีมากขึ้นเท่านั้น เราจะเห็นผู้หญิงมุสลิมคลุมผมแต่เล่นเปียโนเป็นบางท่อนจาก Toccata C Minor ของบาค ถัดไปเป็นผู้ชายใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาววาดภาพบนผืนผ้าใบพร้อมผู้หญิงยกน้ำชาเสิร์ฟกลางดึก จากนั้นปิดท้ายด้วยไลฟ์สไตล์ บ้านสไตล์โคโลเนียล และวัฒนธรรมการกินอาหารของคนรวยตามจินตภาพยุคผู้ดียุคชายน้อย และ พจมาน สว่างวงศ์

“มหาสมุทรและสุสาน” สร้างฉากสนทนาบนโต๊ะอาหารให้ป้าเป็นประธานพร้อมประกาศเจตนารมณ์ว่าบ้านคือพื้นที่ร่วมของคนจากหลากศาสนา-วัฒนธรรม และเมื่อถึงจุดนี้ องค์ประกอบของบ้านที่รุ่มรวยแต่ไม่ลงตัวเช่นเดียวกับคฤหาสน์โบราณกลางเกาะซึ่งไม่มีในแผนที่ก็จะได้รับการคลี่คลายจนหมดจด บ้านคือสถานแห่งการเปิดรับ (Inclusive Space) อัตลักษณ์ที่หลากหลายเหมือนพื้นที่ซึ่งชาติพันธุ์-ศาสนา-วัฒนธรรม ฯลฯ ที่ต่างกันผสมผสานจนเกิดเป็นอารยธรรมคาบสมุทรที่มีลักษณะเฉพาะตัว

ในแง่นี้มหาสมุทรไม่ใช่เป็นแค่ที่ตั้งเกาะ แต่มหาสมุทรคืออัปลักษณ์ถึงการเปิดรับอัตลักษณ์จากหลากที่มาซึ่งปะทะประสานจนเกิดอัตลักษณ์ใหม่ที่ไม่เหมือนอัตลักษณ์อื่น

ตัวละครกรุงเทพฯ และผู้ชมจะรู้สึกว่าอัลคาฟดูจิต, ไม่ใช่กรุงเทพฯ แต่ก็ต่อติดได้จากรสนิยมทางชนชั้น ส่วนตัวละครอิสลามก็จะเห็นว่าอัลคาฟอยู่ปัตตานี แต่ไม่ใช่ปาตานี

ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงคลุมผมเล่นเปียโนซึ่งหายากในปัตตานียุคที่เชื่อว่าการร้องเพลงคือบาป หรือการฝังศพมุสลิมบนอัลคาฟซึ่งไม่เหมือนความเชื่อเรื่องพิธีศพแบบอิสลาม

แน่นอน ความไวของตัวละครจากกรุงเทพฯ ในการนำเสนอและต่อติดตัวเองกับเกาะนั้นคือภาพสะท้อนว่าพวกเขายอมรับเกาะได้กว่าปาตานี และภาพในหนังก็ทำให้เห็นมุมมองของพวกกรุงเทพฯ ชัดๆ ว่าความเป็นสถานแห่งการเปิดรับทำให้เกาะมีร่องรอยความเจริญจากอิสลาม จีน โปรตุเกส อังกฤษ ฯลฯ และมีสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองกว่าปัตตานีที่หนังแสดงให้เห็นอยู่มาก เกาะรุ่มรวย มีคลาส มีการศึกษา มีทุกอย่างที่พวกรุงเทพฯ อยากเห็น ขณะที่ปัตตานีไม่มีอะไรนอกจากมัสยิดร้างและมัสยิดที่คนถูกยิง

ขณะที่หนังเชื่อมโยงความเปิดกว้างและความหลากหลายกับความรุ่มรวย หนังก็ให้คนบนเกาะบอกผู้ชมตรงๆ ว่าสภาวะทั้งหมดนี้กำลังเสื่อมถอยและไร้อนาคต ยิ่งกว่านั้นคือกล้องทำให้ผู้ชมเห็นภาพบนฝาผนังที่แสดงยุคสมัยซึ่งคนต่างศาสนาต่างวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันถึงขั้นสร้างครอบครัวด้วยกันได้ แต่ภาพก็มีสภาพเก่าบนกระดาษกรอบราวเป็นอดีตกาลที่ย้อนไปเกือบหนึ่งศตวรรษ ความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันอย่างรุ่มรวยจึงเคยยิ่งใหญ่ในอดีต เสื่อมสภาพในปัจจุบัน

และรอวันสลายไปกับกาลเวลา

นอกจากเกาะจะมีองค์ประกอบที่ยิ่งใหญ่แต่เต็มไปด้วยการครวญคร่ำถึงสภาวะไร้อนาคต ตัวละครจากกรุงเทพฯ ยังพบต่อไปว่าคนบนเกาะพรรณนาถึงการดำรงอยู่ที่หลุดลอยจากโลกปัจจุบัน พูดสั้นๆ อัลคาฟเป็นภาพจำลองของคนกลุ่มที่นักประวัติศาสตร์ Willem van Schendel เรียกว่า Zomia ซึ่งอยู่แถบเทือกเขาสูงของเวียดนาม / ลาว / ไทย / พม่า / ทิเบต ปากีสถาน / อัฟกานิสถาน / อินเดียตอนเหนือ / จีนทางตะวันตกเฉียงใต้ จนห่างไกลจากการควบคุมด้วยอำนาจรัฐดินแดนที่ราบอย่างสิ้นเชิง

เจมส์ สก๊อต ใน The Art of Not Being Governed พัฒนาแนวคิดนี้ต่อว่าการอยู่โดยไม่ถูกรัฐแทรกแซงเป็นเวลานานทำให้พวก Zomia มีวิถีชีวิตต่อเนื่องจนสามารถสร้างเรื่องเล่าว่ารัฐและเทคโนโลยีสมัยใหม่จะดูดกลืนพวกเขา ผลก็คือคนกลุ่มนี้หนีจากสภาวะสมัยใหม่ไปสังคมที่ระบบเศรษฐกิจแทบเป็นบุพกาล

จากนั้นนักวิชาการก็ประยุกต์แนวคิดนี้เพื่ออธิบายคนในมหาสมุทรซึ่งสร้างพื้นที่ไม่สังกัดรัฐ (non-state space) ไม่เข้าโครงสร้างของรัฐ และกำลังถูกอำนาจของรัฐประชาชาติขจัดทิ้งอย่างสมบูรณ์

น่าสนใจว่าทั้งที่พวกกรุงเทพฯ รู้สึกต่อติดกับเกาะจากความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมที่งอกงามตามความหลากหลายในอดีต มุมมองของเกาะเรื่องการดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระจากรัฐชาติกลับทำให้ตัวละครที่มุ่งมั่นเดินทางมาหาป้ามากที่สุดอย่าง “ไลลา” มีปัญหาจนแยกตัวออกมา ผลก็คือการสนทนาบนโต๊ะอาหารเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมถูกแทนที่ด้วยการถกเถียงเรื่องชาติและสภาวะไร้ชาติ

ในที่สุดไลลาบอกว่าเรื่องนี้เพ้อเกินไป จากนั้นเธอก็เตรียมกลับสู่แผ่นดินใหญ่อีกที

หนังปิดฉากที่เรือเล็กพาไลลาและคณะออกจากเกาะสู่มหาสมุทรใต้แสงอุ่นยามเช้าตรงข้ามกับความลี้ลับช่วงเข้าเกาะ

คนหนุ่มสุดบนเกาะขอตามชาวกรุงเทพฯ ไปด้วย พลังชีวิตอันเหลือน้อยนิดของอัลคาฟตัดสินใจทิ้งเกาะและขึ้นฝั่งไปกับไลลา ตัวละครแห่งอนาคตหันหลังให้มหาสมุทรแห่งความหลากหลายและความเชื่อเรื่องพิ้นที่ซึ่งไม่สังกัดรัฐใด ส่วนไลลาและคณะจบการแสวงหาด้วยการพบว่าพวกตนเข้ากับปาตานีไม่ได้ แต่ก็ไม่รู้จะอยู่อย่างไรในสังคมที่บอกว่าชาติไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง

ท่ามกลางภาพใหญ่ของหนังที่พูดถึงความไม่รู้เรื่องปัตตานี “มหาสมุทรและสุสาน” เต็มไปด้วยรายละเอียดที่ทำให้หนังเป็นเรื่องของคนตัวเล็กๆ ที่ไม่มีกลุ่ม เข้ากับใครไม่ได้ อยู่พื้นที่ไหนก็รู้สึกไม่ตรงตามอัตลักษณ์ของตัวเองไปหมด

ต้อยเข้ากับปัตตานีไม่ได้ กู๊ดมีท่าทีอมทุกข์ตลอดเวลา พลทหารลูกอีสานไม่พูดกับใครในชายแดนใต้ ขณะที่ไลลาผู้แปลกแยกจากกรุงเทพฯ จนมุ่งมั่นที่สุดที่จะต่อติดกับปัตตานีก็ต้องยอมรับความจริงว่าเธอเข้าไม่ได้แม้กับคนกลุ่มที่ปฏิเสธรัฐชาติและปัตตานี

สำหรับผู้ชมภาพยนตร์ที่นิยมความดาร์ก “มหาสมุทรและสุสาน” ทำให้ตัวละครทนความเขลาของชาติไม่ได้ อยู่ฝ่ายถูกชาติเหยียบไม่ไหว และไปกลุ่มโพ้นชาติก็ไม่ได้อีก

หรือท้ายที่สุดคือตัวละครล้มเหลวในการบรรลุถึงชุมชนซึ่งเขาเป็นส่วนหนึ่งของมัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image