ก.ล.ต.ชี้คนเกษียณกว่า 50% มีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ใช้เดือนละไม่ถึง 4,000 บาท

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรม ก.ล.ต

ก.ล.ต.ชี้คนเกษียณกว่า 50% มีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพใช้เดือนละไม่ถึง 4,000 บาท-เผยคลังเล็งชงครม.ให้ใช้กม.บังคับ

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรม ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ ในปี พ.ศ.2568 ประเทศไทยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด ระบบบำเหน็จบำนาญหรือระบบสวัสดิการแบบเดิมอาจไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีพ ในภาคเอกชนจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับการออมเพิ่มเติมรองรับการเกษียณอายุสำหรับแรงงานในระบบ แต่ยังพบว่ามีสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบางส่วนไม่เข้าใจเรื่องการเลือกนโยบายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เหมาะสมกับช่วงอายุ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีและมีเงินพอใช้ในวัยเกษียณ

ทั้งนี้ ปัจจุบันกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในประเทศไทยมีอัตราสะสมเฉลี่ยอยู่ที่ 5% และอัตราสมทบเฉลี่ย 5% ขณะที่กฎหมายอนุญาตให้ลูกจ้างสามารถสะสมได้ถึง 15% และนายจ้างสมทบได้ถึง 15% โดยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนใหญ่ลงทุนในตราสารหนี้และเงินฝากในสัดส่วนสูง 85% ทำให้กองทุนมีผลตอบแทนต่ำเติบโตช้า เงินก้อนที่สมาชิกจะได้รับเมื่อเกษียณอายุ อาจไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต นอกจากนี้ ยังพบว่าสมาชิกกองทุนที่เกษียณอายุมากกว่า 50% ได้รับเงินก้อนจำนวนไม่ถึง 1 ล้านบาท หากสมาชิกเหล่านี้มีอายุยืนต่อไปอีก 20 ปี จะมีเงินใช้ไม่ถึงเดือนละ 4,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอกับค่าครองชีพขั้นต่ำที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเคยประเมินไว้ว่าควรมีอย่างน้อยเดือนละ 10,000 บาท

นายรพีกล่าวอีกว่า จากประเด็นดังกล่าว ก.ล.ต. จึงสนับสนุนให้นายจ้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาช่วยผลักดันให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเครื่องมือการออมที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ เพราะปัจจุบันขนาดของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาพสมัครใจมีอยู่ 9.7 แสนล้านบาท มีผู้ออมเพียง 2.5 ล้านคน ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนวัยทำงานที่มีอยู่ การออกกฎหมายภาคบังคับจะเป็นประโยชน์ในการสร้างหลักประกันเพื่อเงินเพียงพอในวันเกษียณ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image