พบฟอสซิล 3.7 พันล้านปี เก่าแก่ที่สุดในโลก

ทีมวิจัยจากสำนักวิทยาศาสตร์โลกและสิ่งแวดล้อม (เอสอีอีเอส) นำโดยอัลเลน นัทแมน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโวลลองกอง ประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่รายงานการค้นพบฟอสซิลอายุเก่าแก่ที่สุดในโลกโดยมีอายุ 3,700 ล้านปี ในวารสารวิชาการเนเจอร์ เมื่อเร็วๆ นี้ ทำลายสถิติเก่าแก่ที่สุดเดิมลงได้ 220 ล้านปี และนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าจะมีความหมายสำคัญต่อการค้นหาสิ่งมีชีวิตในดาวอื่นอย่างมาก โดยเฉพาะบนดาวอังคาร

การค้นพบดังกล่าวมาจากการค้นพบก้อนหินขนาดเล็กความสูง 1-4 เซนติเมตร ถูกกักติดอยู่ในหน้าตัดของผิวก้อนหินที่โผล่ขึ้นมาจากพื้นผิวในพื้นที่ “อิซัว กรีนสโตน เบลท์” ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งเคยมีการสำรวจเป็นครั้งแรกในทศวรรษ 1980 และเป็นที่ยอมรับกันในหมู่นักธรณีวิทยาว่าเป็นกลุ่มหินที่เก่าแก่ที่สุดบนพื้นผิวโลก

ก้อนหินที่โผล่พ้นผิวดินขึ้นมาดังกล่าว ถูกค้นพบเมื่อหิมะและแผ่นน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ละลายเร็วกว่าปกติ เปิดเผยพื้นผิวและกลุ่มหินกลุ่มใหม่ที่ไม่เคยมีการสำรวจตรวจสอบมาก่อนขึ้นมา

ฟอสซิลที่พบติดอยู่ในก้อนหินเก่าแก่นี้เป็นจุลชีพสโตรมาโทไลท์ หรือสาหร่ายรูปกรวยเกาะกันเป็นกลุ่ม มีโครงสร้างคล้ายหินซึ่งเคยปกคลุมโลกเมื่อหลายพันล้านปีก่อน จุลชีพดังกล่าวนี้ติดอยู่ในชั้นหินที่เดิมเชื่อว่าเป็นตะกอนกับคาร์บอเนตที่เกิดและสะสมอยู่ภายในอาณาจักรของจุลชีพชนิดนี้ซึ่งเติบโตบนพื้นใต้น้ำทะเลหรือทะเลสาบตื้นๆ

Advertisement

การค้นพบดังกล่าวนี้สนับสนุนทฤษฎีที่ว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกเริ่มต้นวิวัฒนาการขึ้นเมื่อราวกว่า 4,000 ล้านปีก่อนในช่วงเวลาที่เรียกว่า “เฮดีน อิออน” หรือ “เฮดีน พีเรียด” ซึ่งโลกที่เพิ่งเกิดใหม่ในตอนนั้นยังถูกถล่มด้วยอุกกาบาตบ่อยครั้งและเกิดภูเขาไฟระเบิดขึ้นดกดื่น และเชื่อกันว่าในช่วงเวลานี้เองที่เริ่มมี “มวลน้ำ” ปรากฏขึ้นบนพื้นผิวโลกตามปากปล่องอุกกาบาตหรือปากปล่องภูเขาไฟ

นัทแมนกล่าวว่า ก้อนหินส่วนใหญ่ของโลกเปลี่ยนรูปและเปลี่ยนองค์ประกอบของเนื้อหินไปมากสืบเนื่องจากกระบวนการกำเนิดภูเขาตามธรรมชาติ แต่ยังมีพื้นที่ส่วนเล็กๆ บางส่วนที่โครงสร้างเดิมของหินหรือตะกอนไม่ถูกทำลายเช่นในกรณีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์มากขึ้นไปอีกเพราะเป็นครั้งแรกที่พบสโตรมาโทไลท์ในหินเก่าแก่เช่นนี้ ที่น่าสนใจมากขึ้นก็คือ หินที่พบฟอสซิลเก่าแก่นี้จัดเป็นหินแปร (เมทามอร์ฟิค ร็อก) ซึ่งเกิดจากความร้อนและแรงดันสูงใต้ดินทำให้รูปร่างเดิมและองค์ประกอบทางเคมีของหินเดิมเปลี่ยนแปลงไป แต่คุณลักษณะและรูปร่างของสโตรมาโทไลท์ยังคงอยู่ แม้ว่ารายละเอียดมากๆ จริงๆ จะถูกลบหายไปก็ตาม

อย่างไรก็ตามด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า สโตรมาโทไลท์เป็นโครงสร้างที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งมีชีวิตเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้นักวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยครั้งนี้หลายคนชี้ว่าฟอสซิลดังกล่าวจำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบอีกมาก เพื่อยืนยันว่าเป็นฟอสซิลอายุเก่าแก่ที่สุดในโลกจริง ทั้งนี้ ฟอสซิลเก่าแก่ที่สุดแต่เดิมนั้นก็เป็นซากฟอสซิลสโตรมาโทไลท์เช่นเดียวกัน แต่พบที่ออสเตรเลียตะวันตกเมื่อปี 2006 อายุ 3,500 ล้านปี อาบิเกล ออลวู้ด นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ประจำห้องปฏิบัติการเจท โพรพัลชั่น ซึ่งมีส่วนในการค้นพบที่ออสเตรเลียชี้ว่า จุดที่น่าประหลาดใจก็คือฟอสซิลดังกล่าวพบในหินแปรซึ่งเปลี่ยนรูปไปจากเดิมมาก

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ออลวู้ดและบอลซ์ แคมเบอร์ นักธรณีเคมีจากทรินิตี คอลเลจ ในกรุงดับลิน ซึ่งเคยศึกษาสโตรมาโทไลท์จากออสเตรเลียตะวันตก ชี้ว่าการค้นพบใหม่นี้จะมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อวิชาการด้านชีวะดาราศาสตร์ และการค้นหาสิ่งมีชีวิตในดาวดวงอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนดาวอังคาร

เพราะเชื่อกันว่าบนดาวอังคารก็มีหลุมอุกกาบาตที่เคยมีมวลน้ำขังอยู่เหมือนกับโลกในช่วงเฮดีนเช่นเดียวกันนั่นเอง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image