ก้าวใหม่พลิกโฉมวงการยาง ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าฯคนแรกกับงานบูรณาการทั้งระบบ

วันที่ 15 กรกฎาคม 2558 การประกาศ พ.ร.บ.ยางแห่งประเทศไทย ทำให้เกิดการรวมตัวของ 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.), องค์การสวนยาง และสถาบันวิจัย เข้าเป็นองค์กรเดียว

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จึงถือกำเนิดขึ้น โดยมีเป้าหมายในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ

มีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการยางฯคนแรกของประเทศไทย ผู้วางเป้าหมายและทิศทางตามนโยบายของภาครัฐ

ธีธัช บอกว่า รัฐบาลอยากจะให้มีหน่วยงานหลัก ที่รวมหน่วยงานเกี่ยวกับยางพาราและบูรณาการศักยภาพของแต่ละหน่วยงานให้เกิดประโยชน์ เป็นระบบเดียวกัน เพื่อบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบอย่างครบวงจร ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

Advertisement

“เราจะดูตั้งแต่การวิเคราะห์พันธุ์ยางที่เหมาะสม การส่งเสริมให้เกิดกระบวนการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม และนำนวัตกรรมมาใช้ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมยางพาราไทย”

นอกจากการจัดการเรื่องยางพาราแล้ว ต้องยอมรับว่าการหลอมรวม 3 องค์กร ซึ่งมีวัฒนธรรม วิธีคิด วิธีการทำงานที่แตกต่างกัน และมีกำลังคนมากกว่า 4,000 คน เป็นงานค่อนข้างหนัก

ธีธัชยอมรับว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการหลอมรวมหน่วยงานให้ทำงานภายใต้ทิศทาง บริบทและวัตถุประสงค์องค์กรใหม่ เบื้องต้นเรามีการจัดการโครงสร้างองค์กรใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับหน้าที่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องทำให้ทุกคนมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน คือ เป้าหมายของ กยท.

ที่มุ่งหวังการขับเคลื่อนการบริหารจัดการและยกระดับคุณภาพยางพาราของประเทศไทย

 

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการยางฯ

คิดว่าการเกิดขึ้นของ กยท.ช้าไปหรือเปล่า?

ผมมองว่าทุกอย่างมีเหตุผลของมัน ถ้า กยท.เกิดขึ้นก่อนเราก็จะไม่ได้เรียนรู้ปัญหา อาจจะไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรก็ได้ อย่างถ้าสัก 10 ปีก่อนเราพูดเรื่องนวัตกรรมเรื่องเทคโนโลยีก็อาจจะยังไม่มีใครสนใจ เพราะมันเร็วเกินไป ดังนั้น ผมมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วล้วนดีเสมอ เป็นเหตุผลของมัน เป็นพลวัตของมัน เพียงแต่วันนี้ กยท.เราต้องปรับตัวให้ทันกับพลวัตที่เกิดขึ้น

กดดันไหมในฐานะผู้ว่าฯคนแรก?

ถือว่าเป็นบทบาทที่ท้าทายและหนักกว่าในหลายบทบาทที่เคยทำมา ผมมองว่า กยท.เป็นกรณีศึกษากรณีแรกของประเทศไทย ที่มีการรวมหน่วยงานของรัฐในลักษณะที่รวมกันแบบเบ็ดเสร็จ แบบปิดบริษัทเดิมแล้วเหลือแค่ 1 องค์กร หากทำได้ผมว่าก็อาจจะมีอีกหลายหน่วยงานที่มีความซ้ำซ้อนกันอยู่ อาจจะเดินมาในเส้นทางนี้ก็ได้

ทิศทางของ กทย.?

เราดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล 4 เรื่อง คือ

1.มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราของประเทศไทย จากเดิมมีพื้นฐานคือยางแท่งที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก แต่ความจริงยังมีผลิตภัณฑ์อีกหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น ยางก้อนถ้วย น้ำยางพารา หรือยางรูปแบบอื่นๆ ที่ควรส่งเสริมให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้ซื้อในต่างประเทศ

2.ส่งเสริมเรื่องงานวิจัยและการใช้นวัตกรรมให้มากขึ้น การรวม 3 หน่วยงานผมเชื่อว่าน่าจะเป็นการรวมผู้เชี่ยวชาญเรื่องยางพารามาอยู่ด้วยกันทั้งหมดแล้ว

3.ส่งเสริมการแปรรูป เพื่อการใช้งานในประเทศและเพื่อส่งออก จากเดิมผลผลิตทั้งหมดเราส่งออกในรูปของวัตถุดิบ 90 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกษตรกรคนไทยเผชิญกับการซื้อถูกขายแพง เพราะเราขายวัตถุดิบแล้วไปซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูงกลับมา ถ้าเราสามารถแปรรูปเป็นขั้นกลาง หรือแปรรูปสู่ผลผลิตขั้นสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นล้อยาง หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ เราก็จะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำได้

4.ส่งเสริมการปลูกเสริม ปลูกแซม ก่อนอื่นต้องมองว่าอะไรที่มันมีมากเกินไปก็จะส่งผลต่อราคา ขณะเดียวกันราคาของยางพาราไม่ได้กำหนดโดยคนในประเทศ แต่ถูกซื้อขายกันในต่างประเทศ เพราะฉะนั้นมันมีผลกระทบค่อนข้างมาก ดังนั้น ถ้าเราสามารถส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เสริมจากการปลูกพืชอื่น หรือเลี้ยงสัตว์ ก็จะเป็นการการกระจายความเสี่ยงได้ หากยางมีราคาตกลง

มีแนวทางการจัดการ ราคายางพาราอย่างไร?

เราต้องการสร้างเสถียรภาพทางราคา กยท.ไม่สามารถกำหนดให้ราคาสูงหรือต่ำได้ สิ่งที่เราทำได้คือ การอำนวยความสะดวกให้เกษตร สถาบันเกษตรได้รับข้อมูลได้รับโอกาสเท่าเทียมกันให้มากที่สุด เพื่อที่เขาจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และสิ่งที่เราจะทำต่อไปคือรวมสิ่งที่มีอยู่ เช่น สกย.มีตลาด 108 แห่ง มาร้อยเรียงใหม่ เป็นจุดที่ผู้ซื้อผู้ขายในระดับท้องถิ่นเข้าถึงได้ เป็นทางเลือกในกรณีที่ไปที่อื่นแล้วไม่ได้ราคา แล้วเสริมทัพด้วยการสร้างโรงงานระบบจีเอ็มพี ในการแปรรูปผลผลิตในขั้นต้นเข้าสู่ผลผลิตขั้นกลางที่พร้อมส่งออก

ยังมีตลาดกลางยางพารา 6 แห่งของสถาบันวิจัยยาง ที่คอยรับซื้อขาย ประมูลยางพารา ส่วนนี้ผมจะเอาพื้นฐานของความเป็นนักการตลาดมาปรับเปลี่ยนและเสริมบทบาทมากขึ้น ให้เป็นตลาดที่นอกจากผู้ซื้อผู้ขายมาเจอกันอย่างเดียวแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรหรือสหกรณ์เอาสินค้าของตัวเองมาแปรรูปพร้อมส่งที่ได้ราคามากขึ้น ซึ่งมีการดำเนินการแล้วที่ จ.สุราษฎร์ธานี เราเปิดตลาดกลางที่มีโรงงานแปรรูปยางแผ่น มาตรฐานจีเอ็มพีเพื่อพร้อมส่งออก เป้าหมายคือ ไม่อยากให้อนาคตเกษตรกรผลิตออกมาแล้วค่อยนึกว่าจะขายที่ไหน แต่ต้องสามารถมองเห็นว่าผลผลิตที่ออกมาใครคือผู้ที่จะซื้อ

นอกจากนี้ จะมีการนำระบบการบริหารยุคใหม่มาใช้มากขึ้น เช่น เรื่องตลาดประมูล ก็จะมีการสนับสนุนให้มีตลาดประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เเละมีการเชื่อมโยงลิงก์ราคาปิดตลาดของจังหวัดต่างๆ เช่น สงขลา หนองคาย กระบี่ มาประกาศ เพื่อเป็นราคาที่จะสามารถสร้างมาตรฐานผู้ซื้อ ผู้ขายในประเทศ และเป็นการเปิดกว้างมากขึ้น ผู้ซื้อจะไม่ใช่แค่ในพื้นที่ไม่กี่ราย

นอกจากตลาดของ กยท.แล้วมีตลาดอื่นอีกไหม?

สิ่งที่เราต้องการดำเนินการต่อไปคือมุ่งเน้นการสร้างตลาดใหม่ วันนี้เราจะเอาผลผลิตไปผูกกับตลาดใดตลาดเดียว เมื่อประเทศเขามีปัญหา หรือชะลอการซื้อก็จะมีผลต่อเกษตรกรบ้านเราแต่ถ้าเราสามารถกระจายความเสี่ยงหาผู้ซื้อจากหลายภูมิภาคได้ อาจจะเป็นตลาดที่ก่อนหน้าเราละเลย แต่กลุ่มประเทศเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีความต้องการใช้ยาง ถ้าเราสามารถผูกสัมพันธ์สร้างสมดุลตรงนี้ได้ จะเกิดกระบวนการเสริมความแข็งแกรงให้กับยางพาราไทย

ตลาดต่างประเทศ?

ล่าสุดมีการดึงนักธุรกิจอินเดียเข้ามาดูยางพาราในประเทศระหว่างวันที่ 7-11 กันยายนที่ผ่านมา เป็นการสร้างตลาดใหม่ ให้กับอุตสาหกรรมยางพาราในบ้านไม่ต้องแย่งชิงกันบนตลาดเก่าที่มีคู่แข่งมากขึ้น เหมือนเค้กก้อนหนึ่งมีคนแย่งชิงจำนวนมากขึ้น เราก็เพิ่มขนาดเค้ก หรือเพิ่มเค้กก้อนใหม่เข้าไปก็จะทำให้ทุกคนเพิ่มประโยชน์เพิ่มมากขึ้น

ซึ่งนักธุรกิจที่เข้ามาทั้ง 9 ราย เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ มีบริษัทล้อรถยนต์รายใหญ่เป็นอันดับ 1-3 ของประเทศ ซึ่งมีพลังการผลิตติดอันดับโลก มีเจ้าของบริษัทที่ทำเรื่องของอุตสาหกรรมยางประเภทอื่น เช่น บริษัททำถุงมือ รองเท้ายาง และผู้ที่มาเป็นผู้ที่สามารถตัดสินใจซื้อได้ นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนของหอการค้าอินเดีย ตัวแทนของสมาคมผู้ประกอบกิจการยางพารา

เป้าหมายที่อยากเห็นคือเขายังมีปริมาณความต้องการใช้ยางส่วนเกินประมาณ 400,000 ตันต่อปี และทุกวันนี้เขานำเข้าจากไทยอยู่ประมาณ 100,000 ตันต่อปี ภายใน 2 ปี ถ้าสามารถเพิ่มปริมาณการนำเข้าอย่างน้อยเป็น 200,000 ตันต่อปีได้ จะทำให้เกิดตลาดถ่วงดุลกับประเทศอื่นได้มากขึ้น

แต่การเชื่อมโยงต่างประเทศเข้ามาคงไม่หยุดแค่ที่ประเทศอินเดีย ต้องมีที่อื่นด้วย เช่น ประเทศในตะวันออกกกลาง อย่าง อิหร่าน หรือประเทศที่มีความต้องการใช้ยางพาราหรือประเทศผู้ใช้ยางที่มีศักยภาพในการซื้อมากขึ้นด้วย

มีความร่วมมืออย่างไรกับประเทศผู้ปลูกยางพารา?

ผมในฐานะที่เป็นประธาน International Rubber Consortium (IRCO) เป็นการรวมตัวของประเทศผู้ผลิตยางพาราของโลก มีประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซีย ร่วมทุนเปิดเพื่อจะเป็นการร่วมกันคิดร่วมกันบริหารจัดการยางของโลกให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม

วันนี้เราจะทำคนเดียวไม่ได้ต้องผ่านกลไกระดับโลกด้วย ถ้าผลิตมากเกินกว่าความต้องการของตลาดโลกก็จะทำให้ราคามีปัญหา ดังนั้น จึงต้องพยายามควบคุมการผลิตของแต่ละประเทศโดยใช้มาตรการต่างๆ ผ่านความร่วมมือของ IRCO สร้างสมดุลระหว่างดีมานด์ และซัพพลาย รวมถึงต่อยอดสร้างตลาด ตลาดยางพาราของภูมิภาคอาเซียน (Regional Rubber Market) เป็นตลาดซื้อขายส่งมอบจริง ณ ราคาจริงและกำหนดมาตรฐานเพื่อให้ผู้ซื้อในระดับโลกยอมรับ

IRCO จะเกิดประโยชน์กับอุตสาหกรรมยางพาราอย่างไร?

ทำให้โอกาสของผู้ขายมีมากขึ้น ที่ผ่านมาผู้ซื้อเป็นผู้กำหนดราคายางพารา ซึ่งผมมองว่ามีของแค่ไม่กี่อย่างในโลกที่ผู้ซื้อเป็นผู้กำหนดราคา ในความเป็นจริงผู้ขายต้องมีส่วนด้วย เพราะฉะนั้นการรวมตัวกันเพื่อสร้างแรงต่อรอง ซึ่งไม่ได้ต่อรองให้ราคาสูงขึ้น หรือต่ำลง แต่เป็นทำให้โอกาสของผู้ซื้อและผู้ขายในตลาดโลกเสมอกันได้ และจะทำให้เกิดเสถียรภาพทางราคา

ขณะเดียวกัน IRCO จะเป็นตลาดซื้อขายและส่งมอบจริง เป็นเกิดทางเลือกใหม่ ตลาดนี้อาจจะเข้ามาเป็นตลาดที่สร้างความสมดุล ระหว่างตลาดซื้อขายล่วงหน้าได้ในอนาคต

มีเเนวทางการส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกยางอย่างไร?

ตอนนี้มีหลายโครงการที่นำเสนอไป กำลังรอ ครม.อนุมัติดำเนินการ เเละมีมาตรการส่งเสริมด้านต่างๆ ซึ่งยึดตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะไม่ใช้นโยบายเชิงประชานิยม ที่เอาเงินมาแจกเพราะจะมีผล

กระทบ ที่เป็นการบิดเบี้ยวโครงสร้างทางการตลาดเพราะการจะทำให้โครงสร้างทางการตลาดแข็งแรงและสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนควรเป็นการสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือ หรือโอกาส

มองว่าเกษตรกรควรปลูกพืชอื่นแทนยางพาราหรือไม่?

สิ่งที่ กยท.มุ่งหวังคือ เราจะทำอย่างไรให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง เราพยายามเปลี่ยนมุมมองว่าอย่าเอาทุกอย่างไปผูกไว้กับพืชประเภทใดประเภทหนึ่ง แต่เราไม่ได้บอกให้เลิกปลูกอันนี้ไปปลูกอีกอันแทน สมมุติเราเชียร์ให้เลิกปลูกยางไปปลูกปาล์ม ทุกคนแห่ไปปลูกหมด ก็จะเกิดปัญหาขึ้นกับปาล์มอีกแล้วเชียร์ให้ปลูกอย่างอื่นอีกหมุนวนกันไปแบบนี้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือการสร้างความสมดุลมากกว่า ขณะนี้มีนโยบายส่งเสริมการปลูกแทน โดยการให้ลดจำนวนการปลูกยางพาราประมาณ 400,000 ไร่ต่อปี ทดแทนด้วยยางพันธุ์ดี 300,000 ไร่ อีก 100,000 ไร่ ก็จะสนับสนุนให้ปลูกพืชประเภทอื่น ทำให้เราสามารถควบคุมปริมาณยางที่อยู่ในตลาดแต่ยกระดับคุณภาพยางไปในตัว

มาตรการส่งเสริมเกษตรกรระยะยาว?

ตอนนี้กำลังวางแนวทางการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน ของอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบ นอกยางน้ำยางพาราจะต่อยอดไปถึงไม้ยาง และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับยางพารา เมื่อก่อนไม้ยางพาราไม่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานที่รับรองคุณภาพในระดับสากล ทำให้เราขายได้แค่ไม่กี่ประเทศ เช่น จีน และขายในราคาถูก แต่ต่อไปเราจะขับเคลื่อนให้ กยท. เป็นหน่วยงานหลักที่ได้รับการรับรองจาก FCC ที่รับรองกำหนดมาตรฐานไม้ที่ส่งออกในระดับนานาชาติและจะร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดตั้งเป็นหน่วยงาน TFCC เพื่อบริหารจัดการไม้ในประเทศไทย สามารถส่งออกไปประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ในราคาที่สูงขึ้นจากเดิม

ขณะเดียวกันก็กำลังร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ใช้นวัตกรรมพัฒนา เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยางพารามากขึ้น เช่น ถนนยางที่ร่วมมือกับ มจพ. และสภาเกษตร ซึ่งใช้ปริมาณยางพาราเพิ่มสูงมากขึ้น ขณะที่ราคาก็ใกล้เคียงกับการทำถนนปกติ แต่สามารถทำให้ถนนมีความยืดหยุ่น รับแรงกระแทกดีขึ้น ทำให้มีความคงทนและมีอายุการใช้งานมากขึ้น

ผมมองว่าถ้ามีนวัตกรรมใหม่ๆ แบบนี้ออกมาเพิ่มเรื่อยๆ ก็จะทำให้เราไม่ต้องกังวลเรื่องการนำยางพาราส่งขายต่างประเทศอย่างเดียวแล้ว เพราะส่วนหนึ่งเราสามารถนำมาใช้ในประเทศได้ด้วย

3

ไขข้อข้องใจ ‘กรดซัลฟิวริก’ วิกฤตยางอีสาน

นับเป็นข่าวสะเทือนวงการยางพาราภาคอีสาน หลังมีข่าวออกมาว่ากำลังจะถูกแบนจากการใช้กรดซัลฟิวริก

งานนี้ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทยจึงต้องรีบเร่งทำความเข้าใจครั้งใหญ่

ธีธัช บอกอย่างมั่นใจว่า ยางอีสานไม่ถูกแบนแน่นอน เนื่องจากกรดซัลฟิวริกเป็นกรดที่ใช้ในอุตสาหกรรม แต่สามารถนำมาใช้ในเชิงเกษตรได้ ส่วนกรดฟอร์มิก เป็นกรดอินทรีย์ที่หลักวิชาการแนะนำให้ใช้

“เบื้องต้นเร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกร เพื่อชี้ให้เห็นว่าการใช้กรดทั้งสองตัวทำให้คุณภาพยางต่างกัน และรณรงค์ให้คนใช้สารเคมีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ”

ธีธัชบอกอีกว่า สิ่งที่มีความเป็นห่วง ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องคุณภาพยาง แต่เป็นเรื่องสุขอนามัยของเกษตรกร เพราะกรดซัลฟิวริกเป็นกรดแก่ที่มีความแรงพอสมควร และกลิ่นค่อนข้างแรง หากนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพของเกษตรกร และอาจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม

“เราไม่ได้เข้าไปบอกว่า ใช้ “กรดฟอร์มิก” ดีกว่า “กรดซัลฟิวริก” แล้วจบ แต่เราต้องไปดูก่อนว่าปัญหาเขาคืออะไร ต้องแก้ตรงนั้น”

จากจุดนี้ทำให้ธีธัชทราบถึงรายละเอียดจากเกษตรกรโดยตรง

“ที่เขาเลือกใช้ กรดซัลฟิวริก เพราะราคาถูก ใช้ง่าย ผสมไว้แล้ว ขณะที่ กรดฟอร์มิก ราคาแพง ขายครั้งหนึ่งเป็นแกลลอนใหญ่ ดังนั้น

จึงสั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ ต่อไปอาจจะมีผลิตภัณฑ์แบรนด์ กยท.ออกมา แต่วันหนึ่งพอตลาดเข้มแข็ง กยท.อาจจะถอยออกมาเพราะเราไม่ได้ต้องการกำไร แต่เราต้องการชี้นำตลาด

“ยังมีการรณรงค์ขอความร่วมมือใช้มาตรการในการจูงใจจากโรงงานผู้ซื้อ ถ้าโรงงานอยากได้ของที่มีคุณภาพเอ ต้องมีความพร้อมที่จะจ่ายมากกว่าของที่คุณภาพบี ไม่ใช่อยากได้ของมีคุณภาพเอแต่จะซื้อราคาเท่าเดิม แล้วเกษตรกรจะผลิตทำไมเมื่อของคุณภาพบีก็ขายได้แล้วราคาเท่ากัน”

เพราะฉะนั้นปัญหานี้ต้องร่วมมือกันหมด ทั้งโรงงานผู้ซื้อ และเกษตรผู้ปลูกยาง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image