จับเหี้ย สวนลุมฯ ข่าวใหญ่ สังคม มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

มีนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ออกมาตั้งคำถามว่า

สังคมไทยเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

จุดที่การดำเนินการ “จัดระเบียบ” หรือการยกกองกำลังไปจับ “เหี้ย” ในสวนสาธารณะ ลุมพินี

เป็นข่าวเกรียวกราวทั้งในหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์

Advertisement

เป็นที่สนใจของข่าวโทรทัศน์

รวมไปถึงการถ่ายทอดสดแบบ “ไลฟ์สตรีมมิ่ง” ในเว็บไซต์ข่าวหลายสำนัก

เป็นการตั้งคำถามที่มิได้พุ่งเป้าแต่เฉพาะการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนทั่วไป

Advertisement

แต่ลงลึกไปถึง “รสนิยม-ความสนใจ” ของสังคมไทย

ว่าเกิดอะไรขึ้น

กระนั้น ภาวการณ์เช่นนี้ก็มิใช่ของใหม่ในสังคมไทย

 

นิตยสารสารคดีฉบับเดือนเมษายน 2554 ที่ทำสารคดีประวัติของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ระบุว่า

หลัง “กบฏแมนฮัตตัน” ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2494

รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ประกาศกฎอัยการศึก พร้อมกับมีนโยบายให้ตรวจข่าว (เซ็นเซอร์-censor) หนังสือพิมพ์

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์สยามรัฐไม่พอใจ

ประกาศหยุดคอลัมน์ประจำที่เขียนทั้งหมด

รวมทั้งนิยาย “สี่แผ่นดิน”

และสยามรัฐประท้วงการตรวจข่าว ด้วยการเสนอข่าวที่ “ปราศจาก” การเมือง

เช่น

ต้นหมากที่หลังโรงพิมพ์มีกี่ต้น หน้าต่างตึกกระทรวงกลาโหมมีกี่บาน จำนวนเมฆคิวมูโลนิมบัสที่ลอยผ่านพระนครไปเมื่อวานนี้

หรือตุ๊กแกของไทย ร้องไม่เหมือนกับตุ๊กแกฝรั่ง และตุ๊กแกไหหลำอย่างไร

รวมถึงข่าวพาดหัวหน้า 1 ฉบับวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2494

“รายงานข่าวด่วนจากคึกฤทธิ์

พระอาทิตย์ที่หัวหินขึ้นผิดทางกับศรีราชา

สงสัยพระอาทิตย์มี 2 ดวง?”

เนื้อข่าวกล่าวว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางไปสังเกตการณ์ทางธรรมชาติวิทยา ที่หัวหิน ค้นพบว่าอาจมีพระอาทิตย์มากกว่า 1 ดวง

เพราะที่ศรีราชา จังหวัดชลบุรี พระอาทิตย์ขึ้นจากภูเขาและตกในทะเล

ต่างจากที่ชายหาดหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่พระอาทิตย์กลับขึ้นจากทะเลแล้วตกไปทางภูเขา

หนังสือพิมพ์สยามรัฐกลับคืนสู่ภาวะปกติ ก็เมื่อรัฐบาลยุติการตรวจข่าวในเดือนถัดมา

และยกเลิกกฎอัยการศึกในเดือนกันยายน

 

อีกครั้งเมื่อ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2557

1 วันหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ประกาศกฎอัยการศึก

1 วันก่อนการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม

กองอำนวยการรักษาความสงบออกคำสั่งฉบับที่ 9/2557

ห้ามเจ้าของกิจการสื่อสิ่งพิมพ์และรายการวิทยุโทรทัศน์ทุกประเภท บรรณาธิการ พิธีกร และสื่อมวลชน เชิญบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่มิได้ดำรงตำแหน่งราชการในปัจจุบัน ทั้งในส่วนของข้าราชการและนักวิชาการ รวมทั้งอดีตผู้ปฏิบัติงานในศาล และกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนองค์กรอิสระ

ให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็น ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการขยายความขัดแย้ง บิดเบือน และสร้างความสับสนให้กับสังคม รวมทั้งอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงโดยเด็ดขาด

หากฝ่าฝืนจะถูกเรียกตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ระงับการจำหน่ายจ่ายแจกสื่อสิ่งพิมพ์

และการออกอากาศของรายการ

 

โดยพลัน ก็มีปฏิกิริยาตอบสนองนักวิชาการในกลุ่มสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ที่ยืนหยัดเรียกร้องประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง

ที่พากัน “ปฏิบัติตาม” คำสั่งของ กอ.รส.อย่างเคร่งครัด ด้วยการโพสต์กิจวัตรประจำวันของตัวเองในเฟซบุ๊กส่วนตัวกันอย่างครื้นเครง

อาทิ

“วันนี้เก็บปัสสาวะได้สองขวดกว่าๆ เตรียมไปยื่นห้องแล็บเพื่อตรวจไต”ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ “กำลังรอประกาศห้ามกดไลค์ ห้ามนักวิชาการเล่นเฟซบุ๊ก ออกมาเมื่อไหร่ดิฉันจะลาไปเป็นนางงาม เพื่อนบอกว่าอวบใช้ได้”ผศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

“วันนี้เล่นกะมะหมาพันธุ์บีเกิ้ล 4 ตัวที่บ้านอย่างหนุกหนาน”เกษม เพ็ญพินันท์ นักวิชาการด้านปรัชญา

“วันนี้กินเย็นตาโฟเส้นหมี่ใส่ลูกชิ้นปลา ลูกชิ้นกุ้ง และปลาหมึก อร่อยมากๆ อยากให้ทุกคนได้ลองแล้วจะติดใจ”

ผศ.ดร.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

สองกรณีข้างต้น

พอจะช่วยตอบได้ว่า

สังคมไทยมาถึงจุดที่การเสนอข่าว “จับเหี้ยสวนลุมฯ” เป็นเรื่องใหญ่ได้อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image