ยุติธรรมยกเครื่องกม.ยาเสพติด แยกนักค้า-เหยื่อ กำหนดโทษหนักเบาตามพฤติการณ์ร้ายแรง

เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมเมทแอมเฟตามีน พร้อมด้วย นพ.จิโรจ สินธวานนท์ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรม ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางและจัดระบบการแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติด นายวิทยา สุริยะวงศ์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์และให้ข้อมูลข่าวสาร และนายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. รวมทั้งคณะผู้บริหารสื่อมวลชน และหัวหน้าฝ่ายข่าว เข้าร่วมประชุมเสวนาเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความเข้าใจสื่อมวลชนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามแนวทางประชารัฐ

โดยนายชาญเชาวน์ กล่าวว่า ตามที่พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ศอ.ปส.) มีคำสั่งจัดตั้งอนุกรรมการขึ้น 3 คณะ เพื่อเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามแนวทางใหม่อย่างมีระบบ ตนในฐานะประธานคณะอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมเมทแอมเฟตามีน ขอชี้แจงเรื่องการปรับปรุงกฎหมายว่า เป็นการปรับแบบค่อยเป็นค่อยไปและเป็นขั้นตอน ที่ผ่านมามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 7 ฉบับ โดยเราจะนำกฎหมายดังกล่าวมารวมกันเป็นประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของกฤษฎีกา

“หลักการและสาระสำคัญ ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จะมีการปรับปรุงระบบกำหนดโทษกับกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มนักค้ารายใหญ่ มีโทษสูงสุดประหารชีวิต 2.กลุ่มแรงงาน และ3.กลุ่มเหยื่อ สำหรับการปรับปรุงฐานความผิดและบทลงโทษโดยให้ยกเลิกระบบนับเม็ด แต่นำระดับของการกระทำความผิดโดยใช้พฤติการณ์ บทบาทที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ความร้ายแรงของการกระทำความผิด และปริมาณยาเสพติด เป็นเครื่องกำหนดโทษ นอกจากนี้ เรายังมีแนวความคิดที่จะเพิ่มดุลพินิจให้ศาลด้วย เนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลต้องตัดสินพิพากษาลงโทษในคดียาเสพติดตามที่กฎหมายกำหนดโทษเอาไว้ ส่วนภาคการบำบัดรักษา และฟื้นฟูมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดและมาตรการอื่นแทนการลงโทษ สำหรับผู้เสพและติดยา เน้นการสมัครใจเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู ให้ศูนย์คัดกรองตรวจประวัติและคัดแยกเพื่อส่งบำบัดในสถานที่ที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำความเข้าใจกับประชาชนทั้งประเทศ ถึงนโยบายยาเสพติดที่จะออกมาใหม่ ไม่ได้ปล่อยให้ยาเสพติดเป็นสิ่งถูกกฎหมาย แต่เป็นการจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเหมาะสม

“ปัจจุบันในเรือนจำมีนักโทษคดียาเสพติดถึงกว่าร้อยละ80 จากนักโทษในเรือนจำทั่วประเทศกว่า 300,000 คน มีนักโทษเป็นผู้เสพปะปนอยู่กับผู้ค้า อีกทั้งการประชุม UNGASS 2016 ที่ทั่วโลกเริ่มหันมาใช้นโยบายจัดการปัญหายาเสพติดใหม่ต้องคำนึงถึงมิติสาธารณสุข อาชญากรรม สิทธิมนุษยชน ความยากจน และการพัฒนามากขึ้น รวมถึงยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างเข้ามา จึงทำให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดจะต้องทำให้เกิดความสมดุล”นายชาญเชาวน์ กล่าว

Advertisement

นายชาญเชาวน์ กล่าวด้วยว่า การปรับนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทย นำทิศทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดของโลก มาปรับทิศทางนโยบายยาเสพติดของไทย โดยจำแนกและจัดนโยบายที่เหมาะสมของตัวยาเสพติดแต่ละชนิด ไม่เหมารวมเหมือนกันทั้งหมด ดำเนินการปรับปรุงนโยบายเกี่ยวกับพืชเสพติดและตัวยาเสพติดรวม 4 ชนิด คือ กัญชง กัญชา กระท่อม และเมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า เพื่อให้มีการนำมาใช้ในทางการแพทย์อย่างเหมาะสม โดยอยู่ในการควบคุมจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ จะดำเนินการกับกัญชงและกระท่อมเป็นลำดับแรก อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำความเข้าใจกับประชาชนทั้งประเทศ ถึงนโยบายยาเสพติดที่จะออกมาใหม่ ซึ่งไม่ได้ปล่อยให้ยาเสพติดเป็นสิ่งถูกกฎหมาย แต่เป็นการจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเหมาะสม

ด้าน นพ.จิโรจ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขจะแยกเป็น 3 ระดับ คือ 1.ผู้ใช้ เป็นผู้เสพยาเสพติดแบบครั้งคราว เช่น ใช้ในงานปาร์ตี้เพื่อสร้างความสนุกสนานให้กับตัวเอง อาจ 3-6 เดือนใช้ครั้งหนึ่ง 2.ผู้เสพ เป็นกลุ่มที่มีการใช้ยาเสพติดเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ส่งผลกระทบกับการงาน หรือผู้คน และ 3.ผู้ติด เป็นกลุ่มที่ใช้ยาเสพติดเพิ่มจำนวนขึ้น ไม่สามารถหยุดใช้ยาเสพติดได้ ต้องใช้เป็นประจำ และมีผลกระทบทางชีวิตประจำวันและต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยจะเข้ามารองรับการดำเนินงานในแต่ละจุด แต่ละระบบ และในปีงบประมาณ 2560 จะรับผิดชอบกำกับการดำเนินงานบำบัดรักษาฟื้นฟูได้ครบทุกระบบทั่วประเทศ เบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขจะกำหนดให้สถานพยาบาลซึ่งมีอยู่ 896 แห่งทั่วประเทศ เป็นศูนย์คัดกรองและส่งต่อผู้เข้ารับการบำบัดอย่างเหมาะสม และเมื่อผ่านการบำบัดรักษาแล้ว ทางรัฐบาลจัดให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ผ่านการบำบัดรักษา ทั้งให้การศึกษาต่อ ฝึกทักษะอาชีพ จัดหางาน และเงินทุนประกอบอาชีพด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image