ดัชนีลูกน้ำยุงลายในวัดพุ่ง! 60 ใน 100 แห่ง ปลัดสธ.ขอความร่วมมือทุกส่วน

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 3 ตุลาคม นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ทั่วประเทศ โดยกำชับให้มีการเฝ้าระวังและป้องกันโรคซิกาอย่างเข้มข้น ทั้งเรื่องของการกำจัดลูกน้ำยุงลาย และเฝ้าระวังหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยซิกาเป็นพิเศษ

นพ.โสภณกล่าวว่า ดัชนีลูกน้ำยุงลายบางสถานที่ถือว่าน่าเป็นห่วง โดยศาสนสถานหรือในวัด พบร้อยละ 60.47 โรงเรียนร้อยละ 41.40 โรงงานร้อยละ 38.10 และโรงพยาบาลร้อยละ 27.59 ส่วนในบ้านประชาชนแหล่งที่พบลูกน้ำยุงลายในภาชนะมากที่สุดคือ ภาชนะที่เก็บน้ำใช้พบถึงร้อยละ 70 รวมทั้งในภาชนะที่ไม่ใช้ประโยชน์ และยางรถเก่า นอกจากนี้ จากการสอบถามการรับรู้เรื่องซิกาของประชาชน พบว่าประชาชนรับรู้และตื่นกลัวต่อโรคซิกาถึงร้อยละ 80 แต่พฤติกรรมการจัดการกับปัญหายังไม่ดี คือมีการลงมือปฏิบัติเพื่อป้องกันเชื้อซิกา เช่น กำจัดลูกน้ำยุงลาย เพียงร้อยละ 58-60 เท่านั้น ซึ่งย้ำว่าการจะควบคุมโรคนี้ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน อย่างบางแห่งสอบสวนโรคพบผู้ป่วยแต่ละแวกบ้านแถวนั้นไม่ยอมให้เข้าไปกำจัดยุง

IMG_2505-768x432

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะทราบดัชนีลูกน้ำยุงลายได้อย่างไร นพ.โสภณกล่าวว่า อย่างบ้าน ก็จะมีการเข้าไปตรวจ 100 หลัง หากพบ 10 หลังมีลูกน้ำยุงลายก็ถือว่าดัชนีลูกน้ำยุงลายอยู่ที่ร้อยละ 10 ขณะที่วัด โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม จะดูจากภาชนะ หากตรวจ 100 ภาชนะ มีน้ำขังและเจอลูกน้ำยุงลาย 10 ภาชนะ ก็ถือว่าเกิดลูกน้ำยุงลายร้อยละ 10 ซึ่งมาตรฐานต้องไม่เกินร้อยละ 10 แต่จะดีที่สุดต้องเป็นศูนย์ อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่วัด ขณะนี้มี อสม. ชาวบ้าน ลูกศิษย์วัด เข้าไปช่วยกำจัดลูกน้ำยุงลายแล้ว

Advertisement

เมื่อถามว่าจะมีการกำชับให้เจ้าพนักงานบังคับกำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลายตามกฎหมายหรือไม่ นพ.โสภณกล่าวว่า กฎหมายมีการใช้มานานแล้ว ซึ่งเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นแหล่งรำคาญ ออกเมื่อปี พ.ศ.2545 ตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 โดยส่วนใหญ่จะไปขอความร่วมมือในการดำเนินการ ไม่มีการจับปรับ หากจะมีก็เป็นการทำข้อตกลงกันในพื้นที่ ในชุมชนร่วมกัน เช่น ปรับ 100 บาทหากพบ เหมือนเป็นข้อตกลงของหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านพร้อมใจกันทำ อย่างบางอำเภอในจังหวัดอุตรดิตถ์

“ข้อเท็จจริงคือไม่ได้ต้องการใช้กฎหมาย เราต้องการแค่ความร่วมมือช่วยเหลือกัน หากทุกบ้านช่วยเหลือกัน การดูแลบ้าน รอบบ้าน และสถานที่ต่างๆ ในชุมชนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะช่วยป้องกันได้ แม้บ้านตัวเองจะไม่มีเด็ก ไม่มีคนท้อง แต่หากไม่ดูแล ปล่อยบ้านเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ก็เกิดปัญหาได้ทั้งหมด” นพ.โสภณกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image