หมอสูติฯหนุนแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ หวังไกด์ไลน์ยุติตั้งครรภ์ ‘เด็กหัวลีบ’ จากซิกา

หลังจากกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีมาตรการเฝ้าระวังเข้มในหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อซิกา 39 ราย และทารกคลอดปกติ 9 ราย แต่ 2 รายล่าสุดที่พบปัญหาทารกมีศีรษะเล็กนั้น เนื่องจากไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยซิกา และยังเหลืออีก 1 รายที่ผลตรวจยังไม่ยืนยันว่าหัวลีบจากซิกาหรือไม่นั้น กระทั่งคณะกรรมการวิชาการด้านโรคติดเชื้อไวรัสซิกา    ตั้งคณะกรรมการจัดการแนวทางของหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อไวรัสซิกา   โดยมีรศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ เป็นประธาน  เพื่อหาทางป้องกันและศึกษาความเป็นไปได้ในการยุติการตั้งครรภ์หากพบความพิการขึ้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค(คร.) ในฐานะประธานกรรมการวิชาการด้านโรคติดเชื้อไวรัสซิกา กล่าวว่า สำหรับผลการตรวจทารกศีรษะเล็กรายที่ 3 ยังไม่ได้สรุปออกมา อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญขณะนี้คือ ต้องหาแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ในหญิงตั้งครรภ์สงสัยติดเชื้อไวรัสซิกา รวมทั้งกรณีทารกศีรษะเล็กจะมีการดำเนินการอย่างไร โดยได้มอบให้ รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ เป็นประธาน

“โดยหลักจะจัดทำเป็นแนวทางเพื่อให้ทราบว่า พิจารณาอย่างไรว่าเด็กมีภาวะศีรษะเล็ก ซึ่ง 1. ต้องพิจารณาจากเส้นรอบวงศีรษะของทารก เช่น 31 เซนติเมตรก็ถือว่าผิดปกติแล้ว และ2. มีภาวะติดเชื้อซิกาจริงหรือไม่ ซึ่งหากตรวจในมารดาพบเชื้อซิกาจริง ด้วยปัญหาเหล่านี้ก็ต้องมาพิจารณาว่า จะยุติการตั้งครรภ์ได้หรือไม่ และหากทำจะต้องทำที่อายุครรภ์เท่าไร ซึ่งก็ต้องก่อนจะถึง 28 สัปดาห์ หรืออาจต่ำกว่านั้นได้หรือไม่ เรื่องนี้ต้องให้ทางสูตินรีแพทย์มาร่วมพิจารณาและวางแนวทางร่วมกัน” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว และว่า เรื่องนี้สำคัญมาก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดต้องร่วมกันมาช่วยกันคิด เพราะการที่พ่อแม่มีลูกที่พิการศีรษะเล็ก ก็ถือว่าทุกข์แล้ว และการที่ต้องคลอดออกมาและเลี้ยงพวกเขาไปตลอดก็ไม่เช่นเรื่องง่าย

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีเด็กทารกศีรษะเล็กจะมีอายุได้นานแค่ไหน ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะดังกล่าว รายที่มีความรุนแรงมากอาจอยู่ได้ประมาณ 1 ปี แต่บางรายก็อยู่ได้เป็นสิบๆปีก็มี สิ่งสำคัญป้องกันไม่ให้เกิด ลดปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะอย่าให้ถูกยุงลายกัด ทายากันยุงในหญิงตั้งครรภ์ ส่วนสามีก็ต้องป้องกันด้วย ยิ่งหากมีเพศสัมพันธ์ก็ต้องสวมถุงยางอนามัย เพราะเชื้ออยู่ในอสุจิได้ 6 เดือน

Advertisement

ศ.คลินิก นพ. ชาญชัย  วันทนาศิริ ภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ฯ ชุดรศ.(พิเศษ) นพ.ทวี เป็นประธาน ว่า ตนเห็นด้วย เพราะโรคติดเชื้อซิกา เป็นโรคใหม่ การวางแนวทางปฏิบัติก็ใหม่ตามไปด้วย แต่หากมีแนวทางที่ชัดเจนก็จะช่วยให้แพทย์ปฏิบัติงานได้ดีขึ้น  สำหรับคำถามเรื่องการยุติการตั้งครรภ์นั้น ไม่ได้มีกฎหมายเฉพาะ แต่มีข้อบังคับของแพทยสภาเรื่องหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ระบุว่า การจะยุติการตั้งครรภ์ต้องเป็นกรณีที่จำเป็น เนื่องจากปัญหาสุขภาพทางกายของหญิงตั้งครรภ์ หรือ  เป็นกรณีที่จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางจิตของหญิงตั้งครรภ์   เนื่องจากพบว่าทารกในครรภ์พิการ  แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ที่การยินยอมของแม่ที่อุ้มท้อง และพ่อด้วย ซึ่งแพทย์ไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินใจ เพียงแต่แพทย์มีหน้าที่ให้ข้อมูลข้อเท็จจริง

นพ.สุธิต คุณประดิษฐ์ หัวหน้ากลุ่มงานสูติ-นรีเวชกรรม โรงพยาบาลลำพูน กล่าวว่า แนวทางการดูแลหญิงตั้งครรภ์ในเรื่องซิกานั้น หากพบว่ามีอาการตามเกณฑ์ของซิกา ก็ต้องตรวจเลือดหาเชื้อไวรัส และประเมินว่ามีความเสี่ยงกับทารกหรือไม่ ส่วนแนวทางที่ว่าหากพบว่าเด็กศีรษะเล็กจะยุติการตั้งครรภ์หรือไม่ คงต้องให้มีข้อมูลมากกว่านี้ เพราะขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลมากเพียงพอที่จะระบุว่า หากเด็กทารกในครรภ์ศีรษะเล็กจะต้องยุติการตั้งครรภ์หรือทำแท้งเลยหรือไม่ เนื่องจากเป็นโรคที่เพิ่งพบว่าส่งผลต่อทารกในครรภ์ทำให้ศีรษะลีบเล็ก และก็ไม่ได้มีโอกาสเป็นทุกราย ซึ่งแนวทางปฏิบัติสำหรับเรื่องนี้ยังไม่มีออกมา แต่หากมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนก็เป็นเรื่องดี

นพ.สุธิต กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วการยุติการตั้งครรภ์ จะทำก็ต่อเมื่อเกิดผลกระทบต่อทารกที่จะเกิดมาอย่างมาก ที่เป็นแนวทางปฏิบัติสากล อย่างเด็กในครรภ์มีภาวะพิการอย่างรุนแรง เช่น กะโหลกศีรษะปิดไม่มิด ซึ่งคลอดออกมาส่วนใหญ่ก็มักเสียชีวิต หรือเด็กที่มีภาวะธาลัสซีเมียขั้นรุนแรง ซึ่งเมื่อคลอดออกมาเด็กก็มีอายุไม่ยืน อาจอยู่ได้ประมาณ 20 ปี มีภาวะตัวซีด ต้องตัดม้าม และต้องมีการเติมเลือดไปตลอด ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็ชัดเจนว่าต้องยุติการตั้งครรภ์ โดยช่วงที่เหมาะสมคือ ช่วงที่อายุครรภ์อยู่ระหว่าง 16-20 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กในครรภ์ยังไม่โต ก็จะมีการให้ยากระตุ้นการเปิดของปากมดลูก ซึ่งจะต้องใช้โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image