เตือนหน้าฝน ระวังโรคขาประจำ ‘ไข้เลือดออก-ฉี่หนู-อุจจาระร่วง’

เมื่อวันที่  4 ตุลาคม นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ในช่วงนี้มีฝนตกต่อเนื่อง และตกหนักในบางแห่ง ส่งผลให้บางพื้นที่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน   คร.จึงขอแนะนำการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงฝนตกน้ำท่วม เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคไข้เลือดออก โรคฉี่หนู   เป็นต้น โดยข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ต้นปี 2559 โรคอุจจาระร่วง พบผู้ป่วย 885,942 ราย เสียชีวิต 3 ราย โรคไข้เลือดออก พบผู้ป่วย 44,396 ราย เสียชีวิต 33 ราย และโรคฉี่หนู พบผู้ป่วย 1,355 ราย เสียชีวิต 21 ราย

นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า  ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง การใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนจะลำบากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการขับถ่ายอุจจาระที่ไม่ถูกสุขลักษณะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอุจจาระร่วงได้ โดยผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงจะมีอาการถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้ง/วัน หรือมากกว่า หรือถ่ายมีมูกหรือปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง อาเจียนบ่อย กินอาหารไม่ได้ กระหายน้ำกว่าปกติ มีไข้สูง  การป้องกันโรคให้ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” คือ รับประทานอาหารเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อนและสะอาด หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ สำหรับอาหารที่รับประทานไม่หมดต้องเก็บในตู้เย็นและนำมาอุ่นก่อนรับประทานใหม่ แต่หากมีรสหรือกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทานเด็ดขาด และหมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังขับถ่าย และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก ที่สำคัญควรปฏิบัติตนให้ถูกหลักสุขอนามัย

อธิบดีคร. กล่าวอีกว่า สำหรับโรคไข้เลือดออก ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค มักมีการระบาดสูงสุดในช่วงหน้าฝน และเพื่อให้ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายและจำนวนผู้ป่วยลดลง กรมควบคุมโรค จึงขอความร่วมมือประชาชนในการควบคุมยุงลายในบ้านของท่านเองอย่างสม่ำเสมอ โดยดำเนินตามมาตรการ 3 เก็บ “เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ” เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา รวมถึงการป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด โดยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดป้องกันยุงกัด นอนในมุ้ง ทายากันยุง หรือใช้สมุนไพรไล่ยุง และหมั่นกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย เป็นต้น

นพ.เจษฎา กล่าวว่า นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมอาจป่วยเป็นโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรสิส ซึ่งภายหลังน้ำลดแล้วจะทำให้สภาพพื้นดินในบริเวณที่พักอาศัยหรือทางเดินชื้นแฉะ เป็นแอ่งน้ำขัง โดยเชื้ออาจอยู่ตามบริเวณดังกล่าวได้ เชื้อโรคชนิดนี้จะสามารถเข้าทางบาดแผล หรือตามรอยถลอก รวมถึงผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานานได้ สำหรับการป้องกันโรคฉี่หนู ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมขัง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมรองเท้า เช่น รองเท้าบู๊ทยาง หากมีบาดแผลที่เท้าหรือบริเวณขา ให้ใช้ถุงพลาสติกหรือวัสดุที่กันน้ำได้ห่อหุ้มขาและเท้าเพื่อป้องกันน้ำเปียกแผล รวมถึงดูแลบ้านให้สะอาด กำจัดขยะและเศษอาหารให้ถูกวิธี โดยใส่ในถุงพลาสติกหรือในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิดเพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยหรือเป็นแหล่งอาหารของหนู

Advertisement

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image