รอผลวันนี้! หมอสูติฯระดมสมองออกแนวทาง ปมหญิงท้องติด ‘ซิกา’ ยุติตั้งครรภ์หรือไม่!!

สธ.นัดระดมสูตินรีแพทย์ 5 ต.ค. วางแนวทางปฏิบัติดูแลหญิงท้องติดเชื้อ เจอเด็กหัวลีบยุติตั้งครรภ์ได้หรือไม่ ด้านหมอเผยข้อบังคับแพทยสภาเปิดช่อง หากเสี่ยงพิการยุติตั้งครรภ์ได้

หลังจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีมาตรการเฝ้าระวังเข้มในหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อไวรัสซิกา 39 ราย และทารกคลอดปกติ 9 ราย แต่ 2 รายล่าสุดพบปัญหาทารกมีศีรษะเล็กนั้น เนื่องจากไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยซิกา และยังเหลืออีก 1 ราย ผลตรวจยังไม่ยืนยันว่าหัวลีบจากซิกา กระทั่งคณะกรรมการวิชาการด้านโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ตั้งคณะกรรมการจัดการแนวทางของหญิงตั้งครรภ์สงสัยว่าจะติดเชื้อไวรัสซิกา มี รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ เป็นประธาน เพื่อหาทางป้องกันและศึกษาความเป็นไปได้ในการยุติการตั้งครรภ์หากพบความพิการ

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการวิชาการด้านโรคติดเชื้อไวรัสซิกา เปิดเผยว่า สำหรับผลการตรวจทารกศีรษะเล็กรายที่ 3 ยังไม่ได้ข้อสรุป อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญขณะนี้คือ ต้องหาแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ในหญิงตั้งครรภ์สงสัยติดเชื้อไวรัสซิกา รวมทั้งกรณีทารกศีรษะเล็กจะมีการดำเนินการอย่างไร โดยได้มอบให้ รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี เป็นประธาน

@ ระดมสูตินรีแพทย์ช่วยวางแนว

Advertisement

“โดยหลักจะจัดทำเป็นแนวทางเพื่อให้ทราบว่าพิจารณาอย่างไรว่าเด็กมีภาวะศีรษะเล็ก 1.ต้องพิจารณาจากเส้นรอบวงศีรษะของทารก เช่น 31 เซนติเมตร ก็ถือว่าผิดปกติแล้ว และ 2.มีภาวะติดเชื้อซิกาจริงหรือไม่ หากตรวจ

ในมารดาพบเชื้อซิกาจริง ด้วยปัญหาเหล่านี้ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะยุติการตั้งครรภ์ได้หรือไม่ และหากทำจะต้องทำที่อายุครรภ์เท่าไร ก็ต้องก่อนจะถึง 28 สัปดาห์ หรืออาจต่ำกว่านั้นได้หรือไม่ เรื่องนี้ต้องให้สูตินรีแพทย์มาร่วมพิจารณาและวางแนวทางร่วมกัน” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว และว่า เรื่องนี้

สำคัญมาก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดต้องร่วมกันมาช่วยกันคิด เพราะพ่อแม่มีลูกพิการศีรษะเล็กก็ถือว่าทุกข์แล้ว และต้องคลอดออกมาและเลี้ยงพวกเขาไปตลอดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีเด็กทารกศีรษะเล็กจะมีอายุได้นานแค่ไหน ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะดังกล่าว รายที่มีความรุนแรงมากอาจอยู่ได้ประมาณ 1 ปี แต่บางรายก็อยู่ได้เป็นสิบๆ ปีก็มี สิ่งสำคัญป้องกันไม่ให้เกิด ลดปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะอย่าให้ถูกยุงลายกัด ทายากันยุงในหญิงตั้งครรภ์ ส่วนสามีก็ต้องป้องกันด้วย ยิ่งหากมีเพศสัมพันธ์ก็ต้องสวมถุงยางอนามัย เพราะเชื้ออยู่ในอสุจิได้ 6 เดือน

@ เผยข้อบังคับแพทยสภาเปิดช่อง

ศ.คลินิก นพ.ชาญชัย วันทนาศิริ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ฯ ชุด รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี เป็นประธาน ว่า เห็นด้วย เพราะโรคติดเชื้อซิกาเป็นโรคใหม่ การวางแนวทางปฏิบัติก็ใหม่ตามไปด้วย แต่หากมีแนวทางชัดเจนก็จะช่วยให้แพทย์ปฏิบัติงานได้ดีขึ้น สำหรับคำถามเรื่องการยุติการตั้งครรภ์นั้น ไม่ได้มีกฎหมายเฉพาะ แต่ข้อบังคับของแพทยสภาเรื่องหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ระบุว่า การจะยุติการตั้งครรภ์ต้องเป็นกรณีจำเป็น เนื่องจากปัญหาสุขภาพทางกายของหญิงตั้งครรภ์ หรือเป็นกรณีจำเป็นต้องกระทำเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางจิตของหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากพบว่าทารกในครรภ์อาจพิการ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ที่การยินยอมของแม่อุ้มท้อง และพ่อด้วย แพทย์ไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินใจ เพียงแต่แพทย์มีหน้าที่ให้ข้อมูลข้อเท็จจริง ส่วนเด็กทารกคลอดออกมามีศีรษะเล็กนั้น ก็ต้องดูแลด้านพัฒนาการ ขณะที่เรื่องของสุขภาพจิตก็ต้องมีด้วย โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้เลี้ยงดู

ผู้สื่อข่าวถามว่า โดยทั่วไปจะตรวจหาความผิดปกติในครรภ์ได้อายุครรภ์เท่าไร ศ.คลินิก นพ.ชาญชัยกล่าวว่า หากมีการตรวจอัลตราซาวด์ก็สามารถพบได้อายุครรภ์ประมาณ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ก็เริ่มเห็นความผิดปกติ แต่การจะยุติการตั้งครรภ์ต้องพิจารณาหลายๆ อย่าง ปัญหาของซิกาคือ ยังไม่มีแนวทางชัดๆ ว่าแบบไหนควรยุติการตั้งครรภ์ เพราะที่ผ่านมา กว่าจะตรวจพบความผิดปกติของทารกก็อายุครรภ์ประมาณ 24 สัปดาห์แล้ว จะไม่ยุติการ

ตั้งครรภ์ จะคล้ายๆ กรณีหัดเยอรมันทำให้ทารกมีความพิการได้ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด อย่างหากอายุครรภ์ 2 เดือน พบว่ามีเชื้อหัดเยอรมัน แพทย์ก็จะแจ้งว่ามีความเสี่ยงทารกจะพิการได้ แต่ไม่ 100% อาจมี 30% ลูกไม่พิการ

ก็อยู่ที่พ่อแม่จะรับความเสี่ยงนั้นหรือไม่ กรณีซิกาก็เช่นกัน

@ นัด5ต.ค.ตั้งวงถกหาข้อสรุป

ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และคณะทำงานด้านโรคติดเชื้อไวรัสซิกาขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า เรื่องแนวทางปฏิบัติในการตรวจและดูแลหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อไวรัสซิกาของกรมการแพทย์ ที่ทำร่วมกับราชวิทยาลัยสูติฯ และแนวปฏิบัติขององค์การอนามัยโลกนั้นมีอยู่แล้ว แต่ในวันที่ 5 ตุลาคม ราชวิทยาลัยสูติฯ กรมการแพทย์และโรงเรียนแพทย์ต่างๆ จะมีการประชุมร่วมกันพิจารณาและปรับแนวทางเหล่านี้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ปกติทารกในครรภ์เริ่มมีสมองเมื่ออายุครรภ์ได้ 12 สัปดาห์ จากนั้นจะเริ่มการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ การตรวจสามารถทำได้ด้วยการอัลตราซาวด์ โอกาสน้อยจะตรวจเจอความผิดปกติของสมองในอายุครรภ์น้อยๆ ได้ ต้องดูขนาดของสมองร่วมกับการคำนวณทางสถิติต่างๆ กว่าจะทราบได้ว่าสมองมีขนาดผิดปกติหรือไม่นั้นเมื่ออายุครรภ์มาก การตรวจสามารถทำได้ด้วยการอัลตราซาวด์ และการเจาะน้ำคร่ำ

แต่ไม่คุ้มเพราะเสี่ยงแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนดเทียบกับเปอร์เซ็นต์การเกิดภาวะศีรษะเล็กจากเชื้อซิกา ยังไม่มีความชัดเจน ตั้งแต่ร้อยละ 1 บ้างก็ร้อยละ 5

@ หมอสูติฯลำพูนชี้ข้อมูลไม่พอ

นพ.สุธิต คุณประดิษฐ์ หัวหน้ากลุ่มงานสูติ-นรีเวชกรรม โรงพยาบาลลำพูน กล่าวว่า แนวทางการดูแลหญิงตั้งครรภ์ในเรื่องซิกานั้น หากพบว่ามีอาการตามเกณฑ์ของซิกา ก็ต้องตรวจเลือดหาเชื้อไวรัส และประเมินว่ามีความเสี่ยงกับทารกหรือไม่ ส่วนแนวทางหากพบว่าเด็กศีรษะเล็กจะยุติการตั้งครรภ์หรือไม่ คงต้องให้มีข้อมูลมากกว่านี้ เพราะขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลมากเพียงพอระบุว่าหากเด็กทารกในครรภ์ศีรษะเล็กจะต้องยุติการตั้งครรภ์หรือทำแท้งเลย

หรือไม่ เนื่องจากเป็นโรคเพิ่งพบว่าส่งผลต่อทารกในครรภ์ทำให้ศีรษะลีบเล็ก และก็ไม่ได้มีโอกาสเป็นทุกราย แนวทางปฏิบัติสำหรับเรื่องนี้ยังไม่มีออกมา โดยทั่วไปแล้วการยุติการตั้งครรภ์ จะทำก็ต่อเมื่อเกิดผลกระทบต่อทารกจะเกิดมาอย่างมาก เป็นแนวทางปฏิบัติสากลอย่างเด็กในครรภ์มีภาวะพิการอย่างรุนแรง เช่น กะโหลกศีรษะปิดไม่มิด คลอดออกมาส่วนใหญ่ก็มักเสียชีวิต หรือเด็กมีภาวะธาลัสซีเมียขั้นรุนแรง เมื่อคลอดออกมาเด็กก็มีอายุไม่ยืน อาจอยู่ได้ประมาณ 20 ปี มีภาวะตัวซีด ต้องตัดม้าม และต้องเติมเลือดไปตลอด หากเป็นเช่นนี้ก็ชัดเจนว่าต้องยุติการตั้งครรภ์ ช่วงที่เหมาะสมคือช่วงอายุครรภ์อยู่ระหว่าง 16-20 สัปดาห์ เป็นช่วงเด็กในครรภ์ยังไม่โต ก็จะให้ยากระตุ้นการเปิดของปากมดลูก จะต้องใช้โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์

“สำหรับการดูแลหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อซิกา ควรดำเนินไปตามปกติก่อน แม้จะพบว่าเด็กมีศีรษะเล็กก็ต้องดูแลติดตามต่อไปจนกว่าคลอด ไม่ใช่ว่าจะต้องยุติการตั้งครรภ์เลย” นพ.สุธิตกล่าว

@ เชียงใหม่เผยอาการรายล่าสุด

ร.อ.ภูรีวรรธน์ โชคเกิด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงใหม่ เปิดเผยว่า สถานการณ์ไวรัสซิกาล่าสุดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิกาเพิ่มอีกเป็นรายที่ 16 จากตรวจหาไวรัสซิกาในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 872 ราย พบผลเป็นบวก 16 ราย เป็นบุคคลทั่วไป 13 ราย หญิงตั้งครรภ์ 3 ราย อยู่ในความดูแลของสูตินรีแพทย์ สำหรับผู้ป่วยที่พบรายล่าสุดตรวจพบเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม เป็นชาย อายุ 33 ปี พักอาศัยในพื้นที่ ต.สันนาเม็ง อ.สันทราย โดยอาการของผู้ป่วยที่พบติดเชื้อไวรัสซิกาทั้ง 16 ราย ส่วนใหญ่มีไข้ต่ำๆ ออกผื่น อาการ ดีขึ้นภายใน 3-5 วัน รักษาแบบผู้ป่วยนอก ขณะนี้อาการเป็นปกติทุกราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image