มุมมองใหม่ ทำแท้งปลอดภัย

ประเทศไทยกำลังตื่นตัวกับสถานการณ์ท้องวัยรุ่น ล่าสุดมี พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 อีกทั้งยังจัดทำแผนเชิงป้องกันต่างๆ ตั้งแต่ตู้กดซื้อถุงยางในโรงเรียน สอนเพศศึกษา มีบริการคุมกำเนิดฟรีตามสถานพยาบาลของรัฐ แต่แทบไม่มีใครพูดถึง การยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย หรือการทำแท้ง ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับอนาคตเด็กและเยาวชนเช่นกัน

เป็นความรู้และข้อมูลน่าสนใจจากวงเสวนา เรื่อง “คุยเรื่องแท้ง : คิดใหม่ มุมมองใหม่” ในงานการรณรงค์เพื่อสิทธิเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม กล่าวว่า ทุกปีจะมีผู้หญิงตั้งครรภ์เข้าไปทำแท้งอย่างไม่ปลอดภัย และเสียชีวิตถึงปีละ 4.7 หมื่นคน หรือร้อยละ 13 จากสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงทั่วโลก อย่างในประเทศไทยข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติระบุว่า มีผู้หญิงเข้ารับการรักษาจากภาวะแทรกซ้อนจากการแท้งประมาณ 3 หมื่นคน เสียชีวิตประมาณ 24-28 คนต่อปี เครือข่ายจึงต้องการสร้างความรู้เข้าใจถึงสิทธิการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ ด้วยวิธีปลอดภัย ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ ไม่ถูกหลอกลวงเอาเปรียบจากกลุ่มคนที่ขายยาทำแท้งปลอม จนต้องเผชิญความเสี่ยงต่อสุขภาพและชีวิต

“เวลาค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต อย่าพิมพ์แค่คำว่า “ทำแท้ง” เพราะจะได้ข้อมูลไม่ถูก แต่ให้พิมพ์คีย์เวิร์ดว่า “กลุ่มทําทาง”, “สายด่วน 1663″ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายเราคอยให้บริการแบบนิรนาม ตั้งแต่ให้คำปรึกษาเรื่องการทำแท้งอย่างปลอดภัยกับผู้หญิงทุกอายุและชนชั้น มีบล็อกเขียนให้ข้อมูล นอกจากนี้ ยังมีแพทย์อาสาคอยให้ความช่วยเหลือผู้หญิงท้องไม่พร้อมครอบคลุมทุกภูมิภาค” รศ.กฤตยากล่าว และว่า ตอนนี้ขอเพียงผู้หญิงสามารถเข้าถึงและมีข้อมูล เขาก็สามารถเข้าสู่กระบวนการทำแท้งอย่างปลอดภัยและถูกกฎหมายได้

Advertisement

พลิกดูด้านกฎหมายปัจจุบันอนุญาตให้ทำแท้ง 3 กรณีคือ 1.สุขภาพกายและจิตแม่ 2.สุขภาพเด็ก 3.ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ถูกล่อลวง บังคับ หรือยินยอมแต่อายุต่ำกว่า 15 ปี โดยหากอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำได้ที่คลินิก แต่หากเกินต้องไปใช้บริการที่โรงพยาบาลเท่านั้น ขณะที่วิธียุติการตั้งครรภ์ปัจจุบันที่องค์การอนามัยโลกแนะนำมี 2 วิธีคือ 1.ใช้อุปกรณ์กระบอกดูดสุญญากาศ (Manual vacuum aspiration: MVA) 2.ใช้ยายุติการตั้งครรภ์

IMG_1965

ผศ.นพ.สัญญา ภัทราชัย อาจารย์ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า กระบอกดูดสุญญากาศเป็นเทคโนโลยีที่มาแทนการขูดมดลูก ซึ่งปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากกว่า การขูดที่อาจทำให้มดลูกทะลุ มดลูกตีบตัน บางเคสขูดเอาลำไส้ติดออกมาด้วย ซึ่งองค์การอนามัยโลกไม่แนะนำ แต่ที่เครื่องดูดไม่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เพราะถูกมองอคติว่าถูกสร้างมาเพื่อทำแท้งโดยตรง บางโรงเรียนแพทย์ที่ต่อต้านการทำแท้งจึงไม่มีเครื่องมือนี้เลย ขณะที่เครื่องดูดใช้กรณีอายุครรภ์ไม่ถึง 12-14 สัปดาห์

Advertisement

ส่วนยายุติการตั้งครรภ์นั้น ปัจจุบันมียา “Medabon” หรือยาปรับประจำเดือน ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมาก กินเพียงไม่กี่เม็ดประจำเดือนก็กลับมาปกติ ใช้กรณีอายุครรภ์ไม่เกิน 9 สัปดาห์” โดย ผศ.นพ.สัญญายืนยันว่า “ทั้ง 2 วิธีนี้มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันที่ร้อยละ 99 หากทำวิธีถูกต้อง และจะไม่มีผลกระทบระยะยาว มดลูกไม่อักเสบ สามารถมีลูกได้อีก”

“แต่ยา Medabon ขณะนี้ยังเป็นยาควบคุมพิเศษเหมือนยาเสพติด ทุกครั้งที่สั่งจ่ายยา หมอคนนั้นต้องทำบันทึกถึงกรมอนามัยทุกครั้ง ฉะนั้นยอมรับว่าคนทั่วไปยังเข้าถึงลำบาก หาซื้อทั่วไปไม่ได้ แนะนำว่าให้มาที่โรงพยาบาลรามาฯ ในวันอังคารและวันพฤหัสบดี ผมจะไม่ตั้งคำถามเลย ยานี้ยังสะดวกกว่ายาคุมกำเนิดทั่วไป ที่ต้องกินตรงตามเวลาถึงจะมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ขอฝากไปถึงคนที่ชอบใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินโดยเฉพาะวัยรุ่น เนื่องจากร้อยละ 90 ของวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์มาหาที่โรงพยาบาล พบว่าเกิดจากการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ซึ่งผมขอบอกว่ามันไม่เวิร์ก และไม่ควรใช้ประจำ” ผศ.นพ.สัญญากล่าว

ในที่ประชุมเห็นตรงกันว่าเทคโนโลยีพร้อมแล้ว เหลืออย่างเดียวตอนนี้คือ “ใจ” ที่ยอมรับของสังคม ที่ต้องคิดว่าการทำแท้งเป็นสิทธิส่วนบุคคล ฉะนั้นทำอย่างไรจะเป็นทางเลือกที่ถูกกฎหมาย ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ภายใต้ประโยคสำคัญที่ว่า

“ไม่มีผู้หญิงคนไหนตั้งใจท้อง เพื่อจะไปทำแท้ง”

ผศ.นพ.สัญญา ภัทราชัย  (4)
ผศ.นพ.สัญญา ภัทราชัย
รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล (3)
รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image