คลอดแล้ว! แนวทางดูแล-ยุติตั้งครรภ์ ‘หญิงท้องติดเชื้อซิกา-เด็กหัวลีบ’ ครั้งแรกเอเชีย

ระดมสูตินรีแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญคลอดแนวทางดูแลวินิจฉัยหญิงตั้งครรภ์เสี่ยงติดเชื้อซิกา เด็กทารกหัวลีบ ครั้งแรกเอเชีย กระจายแพทย์ทั่วประเทศดำเนินการ ลั่นหากยุติตั้งครรภ์ต้องอายุครรภ์ไม่เกิน 6 เดือน และเป็นไปตามกฎหมายข้อบังคับแพทยสภา

เมื่อวันที่  5 ตุลาคม  ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัยและดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยติดเชื้อไวรัสซิกา ร่วมกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ผู้แทนสูตินรีแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ศิริราช ราชวิถี ฯลฯ รวมทั้งสูตินรีแพทย์จากเอกชน และผู้เชี่ยวชาญกุมารแพทย์ เพื่อพิจารณาหาแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและของเอเชีย

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ  สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์  เป็นประธานกรรมการพิจารณาแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัยและดูแลหญิงตั้งครรภ์ฯ กล่าวภายหลังการประชุมว่า  ขณะนี้ยังไม่เห็นว่าในเอเชียมีการวางแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์กรณีดูแลหญิงตั้งครรภ์ และเด็กในครรภ์ที่เกี่ยวข้องกับซิกาโดยเฉพาะ  เนื่องจากเพราะไทยตรวจพบเด็กหัวเล็กก่อนประเทศอื่นๆ ในเอเชีย จึงรีบดำเนินการหาแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวีกล่าวว่า  ซิกาเป็นเชื้อเก่าเจอมา 60 ปี แต่หัวเล็กในเด็กเป็นกลุ่มอาการใหม่ที่เพิ่งเจอ  ดังนั้น หัวเล็กจึงเป็นกลุ่มอาการใหม่ แต่ตัวซิกาจริงๆ อาการไม่มาก หายได้เอง และมีเพียงร้อยละ 20 ที่แสดงอาการไข้ ผื่นขึ้น ตาแดง อีกร้อยละ 80 ไม่แสดงอาการ ซึ่งไทยมีการตรวจพบซิกามาหลายปีแล้ว มีรายงาน 5-6 ปี กระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเจอเด็กศีรษะเล็กจากซิกา 2 ราย  ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ทางสำนักระบาดวิทยารายงานก็พบว่า มีการเฝ้าระวังและตรวจเชื้อจนพบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 39 ราย มี 16 รายแสดงอาการ ที่เหลืออีก 23 รายหรือประมาณร้อยละ 60 ไม่แสดงอาการ ขณะที่พบว่ามี 9 รายคลอดทารกออกมาเป็นปกติดี ดังนั้น ไม่ใช่ทุกคน แต่เพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกันจึงได้ออกแนวปฏิบัติดังกล่าวขึ้น เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นไกด์ไลน์ในการวินิจฉัยหญิงตั้งครรภ์

Advertisement

ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ กล่าวว่า ปกติแล้วราชวิทยาลัยฯ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข มีแนวทางดูแลอยู่แล้ว โดยในหญิงตั้งครรภ์ปกติจะต้องมีการฝากครรภ์ และมาพบแพทย์อย่างน้อย 5 ครั้ง ทำการตรวจเลือดตรวจปัสสาวะว่ามีความผิดปกติหรือไม่ และตรวจอัลตราซาวด์ 1 ครั้งตอนอายุครรภ์ 4-5 เดือนว่ามีอะไรผิดปกติ แต่พอมีการระบาดของซิกาเกิดขึ้น และอาจส่งผลต่อเด็กทารกให้พิการทางสมองได้ โดยจะพบ 1.หัวเล็กกว่าปกติมีผลต่อการพัฒนา และ 2.มีหินปูนไปจับสมอง ซึ่งอาจพบด้วยกันได้ ซึ่งเกิดจากไวรัสไปทำลายปฏิกิริยาทางสมอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหญิงตั้งครรภ์จะพบความผิดปกติจากซิกาทุกคน

ศ.นพ.ภิเศกกล่าวอีกว่า แต่เพื่อความรัดกุมในการดำเนินการวินิจฉัยโรคในแนวทางดังกล่าว จะแบ่งหญิงตั้งครรภ์ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่มีอาการจากการติดเชื้อไวรัสซิกา คือ มีไข้ มีผื่น ปวดข้อ ตาอักเสบ เมื่อมีอาการก็ต้องรีบตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะยืนยันว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ รวมทั้งต้องมีการทำอัลตราซาวด์ 18-20 สัปดาห์ และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดทุกเดือน และหากพบความผิดปกติสมองเล็ก ซึ่งมีเกณฑ์มาตรฐานอยู่ในแต่ละอายุครรภ์ ซึ่งหากพบความผิดปกติจะส่งให้ผู้เชี่ยวชาญดูแลต่อไป และ 2.กลุ่มที่ไม่มีอาการ จะทำอัลตราซาวด์ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกที่อายุครรภ์ 18-20 สัปดาห์ และทำครั้งที่ 2 ช่วงอายุครรภ์ 28-30 สัปดาห์ เพื่อดูภาพว่ามีความผิดปกติของศีรษะอย่างไร และดูว่ามีหินปูนจับหรือไม่ แต่อย่าลืมว่าซิกาที่ติดมา หลายคนไม่มีอาการ สิ่งสำคัญจะมีคณะแพทย์ในการดูแล หารือกับครอบครัว แม่ในครรภ์ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์
ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีการยุติการตั้งครรภ์จะทำได้หรือไม่ ประธานราชวิทยาลัยสูติฯ กล่าวว่า คนที่ติดเชื้อไวรัสทุกคน ไม่ได้แปลว่าทารกจะมีความผิดปกติ จึงต้องพิสูจน์ด้วยการอัลตราซาวด์ดูว่าหัวเด็กมีความผิดปกติหรือไม่ แต่ข้อลำบากคือ เมื่อติดเชื้อแล้วไม่ได้ทำให้ผิดปกติเลย จึงต้องติดตามการทำอัลตราซาวด์ คล้ายๆ กรณีดาวน์ซินโดรม  ซึ่งหากพบความผิดปกติทารกในครรภ์ ก็จะยุติตั้งครรภ์ได้ แต่จะต้องมีเกณฑ์ตามกฎหมาย อย่างทารกพิการ มีผลต่อสุขภาพมารดา และต้องปรึกษาหารือระหว่างคณะแพทย์ว่า หากจะทำจะเป็นอันตรายต่อมารดาหรือไม่ รวมทั้งต้องปรึกษากับสามี กับครอบครัวด้วย

ศ.นพ.ภิเศกกล่าวอีกว่า ปัจจุบันการยุติตั้งครรภ์กรณีทารกผิดปกติในครรภ์นั้น ไม่จำเพาะแค่ซิกา แต่รวมทุกกรณี โดยจะทำได้ในอายุครรภ์ 24 สัปดาห์เป็นเกณฑ์ ปัญหา คือ จะพบความผิดปกติก็ตอนอายุครรภ์มากๆ ทำให้ไม่สามารถทำได้ เพราะอันตรายต่อแม่ และอายุครรภ์มากๆ ก็เหมือนการทำคลอด เมื่อคลอดออกมาแล้วก็มีชีวิตแล้ว ดังนั้น การจะยุติการตั้งครรภ์จะต้องทำให้เร็วที่สุด ซึ่ง ก็จะตรวจอัลตราซาวด์แรกเริ่ม 18-20 สัปดาห์ และจะตรวจทุกเดือน รวมทั้งจะพิจารณาหัวเด็กว่าเล็กต่ำกว่าค่ามาตรฐาน 3 เปอร์เซ็นต์ไทล์ทางการแพทย์หรือไม่

เมื่อถามว่า ปัจจุบันข้อบังคับแพทยสภาให้ดำเนินการยุติตั้งครรภ์ได้ใช่หรือไม่ ศ.นพ.ภิเศกกล่าวว่า ใช่ มีข้อบังคับแพทยสภา แต่ก็จะมีเงื่อนไขต่างๆ ทั้งเรื่องความพิการทารก ทั้งเรื่องสุขภาพของแม่ ของครอบครัว แต่ทั้งหมดต้องมีการปรึกษาหารือระหว่างคณะแพทย์และครอบครัวเป็นหลัก สิ่งสำคัญอยากให้เน้นที่ป้องกันก่อนดีกว่า โดยควรมาฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด เพราะบางพื้นที่มาพบแพทย์ช้ามาก บางแห่งพบถึงร้อยละ 30 มาพบแพทย์เมื่ออายุครรภ์หลัง 12 สัปดาห์ไปแล้ว ซึ่งช้าเกินไป เสียโอกาสในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการพัฒนาการของเด็ก

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากไม่ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว จะถือว่าแพทย์ผิดหรือไม่ ศ.นพ.ภิเศกกล่าวว่า ต้องดูหลายๆ อย่าง เพราะแต่ละเรื่องแต่ละกรณีแตกต่างกัน เช่น ให้มาอัลตราซาวด์ แต่ไม่มา เพราะติดภารกิจ หรือการอัลตราซาวด์ ณ เวลานั้น เกิดข้อขัดข้องของเครื่องมือ ซึ่งก็จะมีการพิจารณาเป็นกรณีไป แต่ทั้งหมดแนวทางนี้เพื่อเป็นไกด์ไลน์ให้เท่านั้น

20160930_3627

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image