อียูขึ้นทะเบียน “ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง”เป็นสินค้าจีไอแล้ว

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2559 สหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศขึ้นทะเบียนข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงของไทย เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) ในสหภาพยุโรปแล้ว โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559  ถือเป็นสินค้ารายการที่ 4 ของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นจีไอในสหภาพยุโรป ต่อจากข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยช้าง และ กาแฟดอยตุง

“นอกจากนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา กำลังดำเนินการยื่นขอขึ้นทะเบียนจีไอในสินค้า 3 ชนิด คือ ข้าวสังข์หยด ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ และมะขามหวานเพชรบูรณ์ ถือเป็นการยื่นจีไอครั้งแรกในประเทศจีน เพราะสินค้าทั้ง 3 ชนิดเป็นที่รู้จักและนิยมของคนจีน “

ทั้งนี้  กรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับกรมการข้าว ได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนจีไอข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงในอียู เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 โดยสหภาพยุโรปได้ใช้เวลาในการตรวจสอบคำขอและต่อมาได้ประกาศโฆษณาเพื่อเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียคัดค้าน เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเมื่อไม่มีผู้คัดค้าน จึงได้ประกาศรับขึ้นทะเบียนจีไอข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงของไทย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2559  ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จของสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และทรัพย์สินทางปัญญาไทยในเวทีระดับโลก

สำหรับข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง เป็นข้าวเจ้าพันธุ์สังข์หยด มีลักษณะเมล็ดข้าวเรียวเล็ก อ่อนนุ่ม ข้าวเปลือกสีฟาง ข้าวกล้องสีแดง เมื่อขัดสีแล้วเมล็ดจะมีสีขาวปนแดงแกมชมพูเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีใครเหมือน โดยต้องปลูกในเขตพื้นที่จังหวัดพัทลุงเท่านั้น เนื่องจากจังหวัดพัทลุงเป็นพื้นที่ราบลุ่มเกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำ ระหว่างแนวเขาบรรทัด  และทะเลสาบสงขลาดินฟ้าอากาศ เหมาะสำหรับการปลูกข้าวและด้วยความอร่อยของข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง คนในพื้นที่จึงเล่าขานกันว่า ข้าวนี้อร่อยจนต้อง “สั่งหยุด” เป็นที่มาของชื่อข้าว “สังข์หยด” เมืองพัทลุง โดยก่อนขึ้นทะเบียนเป็นจีไอ ในไทยข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง มีราคาขายปลีกประมาณ 50 บาท/ก.ก. หลังได้ขึ้นทะเบียนเป็นจีไอ ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 80-90 บาท/ก.ก.

Advertisement

ปัจจุบันข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงมีกำลังการผลิตรวมทั้งจังหวัดต่อปี 7,703 ตันข้าวเปลือก และส่งออกยังประเทศต่างๆ เช่น จีน สิงคโปร์อินเดีย และมาเลเซีย เป็นต้น แต่ยังส่งออกในปริมาณยังไม่มากนักเนื่องจากพื้นที่การปลูกมีอยู่อย่างจำกัดจึงคาดว่าการขึ้นทะเบียนจีไอในอียู จะช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่หันมาปลูกข้าวชนิดนี้มากขึ้น เพราะปัจจุบันกำลังได้รับความสนใจจากตลาดสหภาพยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image