เปิดข้อมูลโบราณราชประเพณี “สรงน้ำพระบรมศพและพระศพ”

แผ่นทองจำหลักปิดพระพักตร์ พร้อมด้วยพระสางและซองพระศรี (ภาพจาก จดหมายเหตุงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยกรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.2541)

ข้อมูลจากหนังสือ “ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย” โดย นนทพร อยู่มั่งมี

การสรงน้ำพระบรมศพหรือพระศพ อนุโลมเรียกอย่างชาวบ้านก็คือ อาบน้ำศพ เป็นการอาบน้ำชำระศพให้สะอาด ธรรมเนียมนี้เป็นเรื่องการทำความสะอาดเพื่อให้ผู้ตายที่ไปอยู่ในภพภูมิอื่นในลักษณะบริสุทธิ์หมดจด บางทีก็เชื่อกันว่าเป็นการเตรียมตัวสำหรับไปไหว้พระจุฬามณีเจดีย์

วิธีปฏิบัติตามแบบแผนโบราณที่สืบกันมาคือ ต้องต้มน้ำด้วยหม้อดิน เก็บเอาใบไม้สดต้มลงไปด้วย และหาก้อนเส้า 3 ก้อนมาเตรียมไว้ เมื่อน้ำเดือดยกหม้อน้ำวางบนก้อนเส้านั้น การอาบน้ำจะต้องอาบด้วยน้ำร้อนก่อนแล้วจึงอาบด้วยน้ำเย็น ฟอกด้วยส้มมะกรูดชะล้างให้สะอาดหมดจด ตำขมิ้นชันสดกับผิวมะกรูดมาขัดสีอีกทีให้ทั่วร่างกาย

พระบรมศพสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ กษัตริย์กรุงกัมพูชา ในพระหัตถ์ทั้งสองข้างทรงถือซองพระศรีบรรจุเครื่องบูชาพระจุฬามณี พร้อมกับทรงแผ่นทองจำหลักปิดพระพักตร์ (ภาพจากลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ 20 : ราชกำหนดกรุงกัมพูชา เรื่องการพระบรมศพสมเด็จพระศรีสวัสดิ์พระเจ้ากรุงกัมพูชา)
พระบรมศพสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ กษัตริย์กรุงกัมพูชา ในพระหัตถ์ทั้งสองข้างทรงถือซองพระศรีบรรจุเครื่องบูชาพระจุฬามณี พร้อมกับทรงแผ่นทองจำหลักปิดพระพักตร์ (ภาพจากลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ 20 : ราชกำหนดกรุงกัมพูชา เรื่องการพระบรมศพสมเด็จพระศรีสวัสดิ์พระเจ้ากรุงกัมพูชา)

ถ้าเป็นศพผู้ใหญ่ก็มักเอาผ้าขาวมาซับฝ่าเท้า ฝ่ามือ หรือหน้า เพื่อถอนเอารอยจากส่วนต่างๆนี้ให้ลูกหลานไว้บูชา ในราชสำนักวิธีการดังกล่าวยังไม่ปรากฏเป็นลายลักษณะอักษรเด่นชัด เนื่องจากถือเป็นเรื่องเฉพาะสำหรับเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง แต่ในหมายรับสั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เตรียมงานพระศพพระองค์เจ้าอรุณ เมื่อปี พ.ศ.2384 (จ.ศ.1203) ระบุให้เจ้าพนักงานวิเสทนอกตำขมิ้นและมะกรูดส่งให้เจ้าพนักงานสนมพลเรือน ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับพระบรมศพและพระศพ

Advertisement

ทำให้สันนิษฐานได้ว่าวิธีสรงน้ำพระบรมศพหรือพระศพแต่โบราณนั้น คงเป็นเช่นเดียวกันกับพิธีศพของราษฎรที่ใช้ขมิ้นกับมะกรูดขัดสีร่างกาย ธรรมเนียมการสรงน้ำพระบรมศพ ปรากฏหลักฐานในสมัยกรุงศรีอยุธยาจาก คำให้การชาวกรุงเก่า อธิบายวิธีการไว้ดังนี้ “เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาสวรรคต ได้จัดการพระบรมศพตามโบราณราชประเพณีดังนี้ คือ สรงน้ำชำระพระบรมศพสะอาดแล้ว ถวายพระสุคนธ์ สรงพระบรมศพ แล้วเอาผ้าคลุมบรรทม มีลายริมเงินคลุมพระบรมศพไว้ จนถึงเวลาสรงพระบรมศพ

ครั้นสรงเสร็จแล้วถวายภูษาอาภรณ์ ทรงพระบรมศพ และทรงสังวาลและพระชฎา ประดิษฐานไว้ยังพระแท่นในพระมหาปราสาท

การตั้งแต่งอันสรงน้ำพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ภานในพระที่นั่งพิมานรัตยา
การตั้งแต่งอันสรงน้ำพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ภายในพระที่นั่งพิมานรัตยา

สำหรับพิธีของราชสำนักจะเตรียมการเมื่อเจ้านายสิ้นพระชนม์ลง ด้วยการจัดแต่งสถานที่และอุปกรณ์ต่างๆในด้านสถานที่คงเป็นไปตามความสะดวกและพระเกียรติยศ เช่น การสรงน้ำพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 เวลา 4 โมงเช้า กระทำบนพระที่นั่งอัมพรสถานอันเป็นที่สวรรคตถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกให้ฝ่ายในสรงน้ำพระบรมศพประทับบนพระแท่นที่เคยบรรทม มีสมเด็จพระบรมราชเทวีประทับเป็นองค์ประธาน จากนั้นเจ้าพนักงานภูษามาลาได้เชิญพระบรมศพไปที่ห้องบรรณาคมจัดบรรทมบนพระแท่นทอง ที่นำมาจากพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าถวายน้ำสรงทั่วกัน

Advertisement

อุปกรณ์ที่ใช้ในการนี้ตามที่ปรากฏในจดหมายเหตุงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เมื่อปี พ.ศ.2527 ให้รายละเอียดการตั้งแต่งสถานที่และเครื่องใช้ต่างๆที่จัดภายในพระที่นั่งพิมานรัตยา ว่ามีการเตรียมพระแท่นปิดทองลายเท้าสิงห์ปูพรมลาดพระสุจหนี่เยียรบับ ทอดพระยี่ภู่พระเขนยผ้าสีขาวสำหรับสรงพระบรมศพ ซึ่งบรรทมหันพระเศียรไปทางทิศตะวันออก ที่ด้านเหนือพระเศียรตั้งม้าหมู่สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามแก่นจันทน์ประจำพระชนมวาร ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยเครื่องทองน้อย 1 เครื่อง และพานตั้งทองคำดุนสำหรับถวายปิดพระพักตร์ ซองพลูทองคำลงยา มีดอกบัว ธูปไม้ระกำ เทียน อย่างละ 1 สิ่ง สำหรับถวายพระพนม (พนมมือ) และพระชฎาทองคำลงยา สวมเวลาเชิญลงสู่พระโกศ พร้อมกับลาดพระสุจหนี่ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงกราบราบที่หน้าพระแท่นมณฑล พร้อมด้วยเครื่องทองน้อย 2 เครื่อง

พระชฎา แผ่นทองจำหลักปิดพระพักตร์ ซองพระศรี และพระสางไม้ (ภาพจาก จดหมายเหตุงานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เล่ม 1 โดยกรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2529)
พระชฎา แผ่นทองจำหลักปิดพระพักตร์ ซองพระศรี และพระสางไม้ (ภาพจาก จดหมายเหตุงานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เล่ม 1 โดยกรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2529)

ส่วนเครื่องใช้สำหรับการพระราชพิธีครั้งนี้ อาทิ หม้อน้ำทองคำลงยา บรรจุน้ำสรง ผอบทองคำลงยาใส่น้ำขมิ้น น้ำพระสุคนธ์ อย่างละ 1 สิ่ง พระโกศและพระลองทองใหญ่ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 มีพุ่ม เฟื่องพู่ ดอกไม้ฝา และดอกไม้เอวพร้อม พระภูษาฉลองพระองค์ยกทองพื้นสีขาว เครื่องพระสุกำสำหรับทรงพระบรมศพ เป็นต้น อุปกรณ์และเครื่องใช้ที่ปรากฏล้วนจำเป็นสำหรับการพระราชพิธีในส่วนนี้และทำให้ทราบถึงธรรมเนียมปฏิบัติสืบมาแต่โบราณราชประเพณี

น่าสังเกตว่าการถวายน้ำสรงพระบรมของพระมหากษัตริย์จะถวายบริเวณพระบาท ต่างกับสามัญชนที่รดน้ำลงบนฝ่ามือ คงเนื่องจากพระมหากษัตริย์เป็นบุคคลที่มีสถานะสูงสุดแห่งแผ่นดิน การที่บุคคลมีศักดิ์ต่ำกว่าจะถวายสิ่งของต่อพระหัตถ์โดยตรงจึงไม่สมควร ในกรณีนี้ยังรวมถึงสมเด็จพระพันปีหลวง สมเด็จพระราชชนนี และพระราชินี ด้วย ลำดับของพระอิสริยยศและฐานันดรจึงเป็นเครื่องกำหนดตำแหน่งถวายน้ำสรงพระบรมศพ บางครั้งมีการถวายน้ำสรงต่างกันในคราวเดียว เห็นได้จากงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ในปี พ.ศ. 2527 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับน้ำสรงจากเจ้าพนักงานทรงถวายน้ำสรงบนพระอุระ

ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถวายน้ำสรงที่พระบาทพระบรมศพ ทั้งสองพระองค์ทรงกราบราบที่หน้าพระแท่นแล้วเสด็จฯ ไปประทับที่พระราชอาสน์นอกพระฉาก จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ถวายน้ำสรงพระบรมศพที่พระบาท ขณะถวายน้ำสรงนั้น เจ้าพนักงานประโคมสังข์ แตรฝรั่ง แตรงอน ทหารกองเกียรติยศพระบรมศพถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี หยุดประโคมเมื่อประดิษฐานพระโกศพระบรมศพที่แท่นสุวรรณเบญจดลเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ถวายน้ำสรงพระบรมศพเป็นขั้นตอนการสาง (หวี) พระเกศา (ผม) โดยใช้พระสางไม้ที่เจ้าพนักงานเตรียมไว้ มีวิธีการสาง (หวี)

เริ่มจากสางพระเกศาขึ้นครั้งหนึ่ง ลงครั้งหนึ่ง แล้วสางกลับขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นจึงหักพระสางวางไว้ที่พานซึ่งเจ้าพนักงานเชิญอยู่

วิธีการลักษณะนี้กระทำพอเป็นพิธีในเชิงปริศนาธรรม เพื่อแสดงว่าไม่ต้องการความสวยงาม และเป็นเครื่องหมายว่าหมดประโยชน์ไม่มีความเป็นจำเป็นต้องแต่งกายใดๆ ส่วนพระสางที่หักแสดงว่าไม่ต้องการใช้พระสางนั้นอีกแล้ว ต่อจากนั้นจะเป็นพิธีสุกำศพ (ใส่เครื่องแต่งกายและมัดตราสัง) ก่อนอัญเชิญพระบรมศพหรือพระศพลงสู่พระโกศเพื่อประดิษฐานบนพระแท่นสุวรรณเบญจดลในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หรือสถานที่อื่นตามความเหมาะสมเป็นลำดับต่อไป

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image