ไทย‘ท้องไม่พร้อม’สูงอันดับ2ในอาเซียน อายุน้อยสุด10ขวบ รามาฯตั้งคลินิกให้คำปรึกษาทั้งระบบ

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.นพ.พัญญู พันธ์บูรณะ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ในฐานะประธานคณะกรรมการคลินิกแม่วัยรุ่น เป็นประธานแถลงข่าวเรื่อง “แม่วัยรุ่น วาระแห่งชาติ” โดยมี ผศ.นพ.สัญญา ภัทราชัย อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และนพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการบูรณาการงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ระดับชาติ ร่วมแถลงข่าว

รศ.นพ.พัญญู กล่าวว่า ปัญหาแม่วัยรุ่น หรือการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ถือเป็นปัญหา ระดับโลก เนื่องจากอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางคณะกรรมการคลินิกแม่วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงได้จัดตั้งคลินิกแม่วัยรุ่นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อปี 2552 ซึ่งในโอกาสครบรอบ 7 ปี จึงได้จัดประชุมวิชาการเพื่อเผยแพร่ผลงานและจัดให้ความรู้ประชาชน พร้อมจัดแถลงงานกระตุ้นเตือนวัยรุ่นให้ตระหนักถึงปัญหาในโอกาสวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ ที่ใกล้จะถึงนี้ ซึ่งมีค่านิยมที่สุ่มเสี่ยงให้มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย จนนำไปสู่การตั้งครรภ์

ด้าน พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ กล่าวว่า ตั้งแต่มีการจัดตั้งคลินิกมา พบว่าวัยรุ่นที่มารับคำปรึกษาจากคลินิกต่างขาดความพร้อมในทุกด้าน ทั้งด้านจิตใจ เศรษฐกิจ และวุฒิภาวะ ที่สำคัญแม่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ในช่วงศึกษา ซึ่งไม่มีความพร้อมในการเลี้ยงดูบุตร สุดท้ายต้องออกจากระบบการศึกษา และกลายเป็นปัญหาของประเทศ

ทั้งนี้ จากสถิติการคลอดในประเทศไทย พบว่าในปี 2556 มีจำนวนการคลอดทั้งหมด 748,067 ราย เป็นการคลอดจากผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 125,371 ราย คิดเป็นร้อยละ 16.8 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13.9 ในปี 2547 เมื่อคิดเป็นอัตราการคลอดของหญิงอายุ 15-19 ปี ต่อประชากรหญิงในช่วงอายุดังกล่าว 1,000 คน มีการตั้งครรภ์เท่ากับ 51.2 ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน และสูงเป็น 13 เท่าของสิงคโปร์ ที่มีอัตราตั้งครรภ์ 4 ต่อ 1,000 นอกจากนี้จำนวนการคลอดซ้ำในกลุ่มวัยรุ่นยังสูงถึงร้อยละ 12.2 เพิ่มจากร้อยละ 11 ในปี 2553

Advertisement

พญ.จิราภรณ์ กล่าวว่า ปัญหาที่ตามมาคือการทำแท้งผิดกฎหมาย ซึ่งจากรายงานการเฝ้าระวังการแท้งในประเทศไทยปี 2556 โดยสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย พบว่าสัดส่วนการทำแท้งในกลุ่มอายุ 15-19 ปี มีถึงร้อยละ 28.1 ของผู้ป่วยที่ทำแท้งในสถานพยาบาล ซึ่งแน่นอนว่าการทำแท้งนอกสถานพยาบาลต้องสูงกว่านี้หลายเท่า ดังเช่นกรณี 2,002 ศพ ที่พบในวัดไผ่เงินเพียงวัดเดียว ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่าแม่วัยรุ่นส่วนใหญ่ร้อยละ80 ตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจและร้อยละ 30 นำไปสู่การทำแท้ง ในจำนวนนี้มีร้อยละ 10 ทิ้งลูกในโรงพยาบาลที่คลอด และยังพบว่าแม่วัยรุ่นส่วนใหญ่มีความเครียด มีภาวะซึมเศร้า ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของแม่และเด็ก และยังพบว่าลูกคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ถึงร้อยละ 18 และจากการขาดทักษะในการเป็นพ่อแม่ ทำให้ลูกไม่ได้รับวัคซีนครบถ้วน การเจริญเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์

อีกทั้งพ่อแม่วัยรุ่นมักมีปัญหาและลงเอยด้วยการหย่าร้าง ที่สำคัญยังขาดโอกาสทางการศึกษา ซึ่งจากข้อมูลในปี 2556 พบว่าร้อยละ 32 ต้องออกจากการศึกษา จึงเป็นไปได้ว่าวัยรุ่นที่คลอดปีละกว่า 100,000 คน ส่วนใหญ่ต้องหยุดเรียนและไม่สามารถกลับไปเรียนต่อได้ โดยข้อมูลจากสำนักเลขาธิการสภาการศึกษา รายงานว่าอัตราการออกจากโรงเรียนด้วยเหตุดังกล่าวในกลุ่มนักเรียนประถมศึกษา ระหว่างปีการศึกษา 2548-2555 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.9 เป็น 2.7 กลุ่มมัธยมศึกษาตอนต้น เพิ่มจากร้อยละ 5.1 เป็น 6.2 และกลุ่มมัธยมศึกษาตอนปลาย จากร้อยละ 4.2 เป็น 6.5

ด้าน ผศ.นพ.สัญญา ภัทราชัย อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา กล่าวว่า คลินิกแม่วัยรุ่น เปิดให้บริการทุกวันศุกร์ เวลา 09.00น.-12.00น. ที่หน่วยตรวจโรคเด็กและวัยรุ่นโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อดูแลแม่วัยรุ่นที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ หลังคลอดและดูแลเด็กอย่างต่อเนื่องจนอายุครบ 1 ปี โดยมีการดูแลแบบองค์รวมจากกุมารแพทย์ สูติแพทย์ จิตแพทย์พยาบาล และนักจิตวิทยา ซึ่งจะร่วมกันประเมินปัญหาที่แม่วัยรุ่นประสบ เพื่อให้คำแนะนำอย่างเหมาะสม โดยหวังว่าแม่และเด็กจะมีสุขภาพจิตใจและร่างกายที่ดี ที่สำคัญคือเด็กเจริญเติบตามวัย ส่วนแม่จะได้รับการประเมินและคำแนะนำในการกลับสู่ระบบการศึกษา เสริมทักษะในชีวิตและความภาคภูมิใจในตัวเอง หากต้องการบริจาคลูก คลินิกจะได้ประสานกับมูลนิธิที่เกี่ยวข้องไว้ โดยแต่ละสัปดาห์มีแม่วัยรุ่นมารับบริการหลายราย ที่ผ่านมาพบอายุน้อยสุดคือ 11 ปี ส่วนข้อมูลทั้งประเทศจากกรมอนามัยพบอายุน้อยสุด 10 ปี ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการถูกล่อล่วงทางเพศ

ผศ.นพ.สัญญา กล่าวว่า ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่าแม่วัยรุ่นที่ใช้บริการเป็นการฝากครรภ์คุณภาพมากกว่า 3 ครั้ง คลอดครบกำหนด และเด็กส่วนใหญ่มีน้ำหนักแรกเกิดมากกว่า 2,500 กรัม อีกทั้งส่วนใหญ่มีการคุมกำเนิดและกลับไปศึกษาต่อ ส่วนลูกก็ได้รับวัคซีนครบ เจริญเติบโตตามเกณฑ์ มีพัฒนาการสมวัย ซึ่งทุกด้านสูงกว่ากลุ่มที่ไม่รับบริการอย่างชัดเจน ซึ่งแม่วัยรุ่นสามารถมาใช้บริการที่คลินิกได้ทุกวัน หรือขอรับข้อมูลได้ที่สายด่วน 0-870-535-500 ตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านนพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการบูรณาการงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ระดับชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้เห็นความสำคัญต่อปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด โดยขณะนี้ได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ มีเป้าหมายคือลดอัตราการตั้งครรภ์ลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2567 ซึ่งทุกกระทรวงบวงกรมได้ร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2558-2567 มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกำหนดยุทธศาสตร์ ซึ่งจะใช้แผนนี้ดำเนินงานในระดับชาติ และนำไปสู่การร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งอยู่ระห่างรอนำร่าง พ.ร.บ. เสนอลงพระปรมาภิไธย เพื่อใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้

“แม้ว่าสถิติล่าสุดในปี 2557 พบว่าอัตราการตั้งครรภ์ในแม่วัยรุ่นมีแนวโน้มลดลง คืออยู่ประมาณ 48 ต่อ 1,000 ราย เทียบกับปี 2556 ที่มีอัตรา 51 ต่อ 1,000 ราย แต่กลับพบว่าโรคติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์กลับเพิ่มขึ้น 2 เท่า ซึ่งสะท้อนว่าการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นยังมีความเสี่ยง ยังไม่มีความรู้เรื่องการป้องกันที่ถูกต้องปลอดภัย ดังนั้นแผนยุทธศาสตร์จึงไม่ใช่แค่ต้องการลดจำนวนการตั้งครรภ์ แต่จะให้ความสำคัญเรื่องการป้องกันด้วย” นพ.วิวัฒน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image