สุจิตต์ วงษ์เทศ : ประโคมย่ำยาม ทำเสียงสัญญาณศักดิ์สิทธิ์บอกเวลาในพระราชพิธี

เจ้าพนักงานประโคมย่ำยามปี่ไฉนกลองชนะและมโหระทึก (กลองทอง) ในการพระราชพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ประโคมย่ำยาม หมายถึง บรรเลงดนตรีเป็นสัญญาณศักดิ์สิทธิ์บอกเวลาแต่ละช่วงในพิธีกรรมยุคโบราณกาล แล้วรักษาจารีตประเพณีสืบทอดถึงปัจจุบัน

ประโคม แปลว่า ทำดังๆ ให้ครึกโครม เช่น ประโคมปี่พาทย์ แปลว่าบรรเลงดนตรีปี่พาทย์ให้ดังก้องกึกครึกโครม

ย่ำ แปลว่า ตี เช่น ย่ำฆ้อง แปลว่า ตีฆ้อง

ยาม แปลว่า กำหนดเวลาช่วงหนึ่งๆ เช่น ยามเช้า, ยามสาย, ยามบ่าย, ยามเย็น ฯลฯ คนแต่ละกลุ่มแบ่งไม่เท่ากัน แล้วเรียกชื่อยามต่างกัน ซึ่งมีมากเกินจะรู้ได้หมด

Advertisement

[ยาม ที่เป็นคำเรียกบุคคลผู้รักษาการณ์ตามเวลาที่กำหนดว่า คนยาม (คนเฝ้ายาม), แขกยาม (แขกเฝ้ายาม) ฯลฯ ได้จากคำว่ายามที่หมายถึงช่วงเวลา มีคำคล้องจองว่า “นั่งยามตามไฟ” หมายถึงคนนั่งรักษาการณ์โดยก่อไฟไว้ด้วย]

คนไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา กำหนดช่วงเวลาวันหนึ่งเป็น 8 ยามๆ ละ 3 ชั่วโมง แบ่งเป็นกลางคืนกับกลางวัน โดยนับตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดิน เทียบเวลาปัจจุบัน ดังนี้

18.00-21.00 น. เรียก ยามหนึ่ง

21.00-24.00 น. เรียก ยามสอง

24.00-03.00 น. เรียก ยามสาม

03.00-06.00 น. เรียก ยามสี่

แต่นิยมเรียกยามหนึ่ง, สองยาม, สามยามเท่านั้น (ไม่เรียก ยามสี่ หรือ สี่ยาม) มีใช้ในพระนิพนธ์นิราศธารโศก ของ เจ้าฟ้ากุ้ง

ประโคมย่ำยาม ชื่อเรียกเป็นทางการงานพระราชพิธี ถ้ายามปกติมีประเพณีตีขานยาม หมายถึง ตีฆ้องบอกเวลาแต่ละยาม เป็นประเพณีโดยทั่วไปของสังคมยังไม่มีนาฬิกาบอกเวลาเหมือนทุกวันนี้

คนชั้นสูงตลอดจนขุนนางข้าราชการ และไพร่ฟ้าประชาชนทั่วไป ไม่รู้เวลาในรายละเอียด แต่รู้กว้างๆ แค่กลางวัน กลางคืน เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ ดึก ผู้รู้เวลา (ในรายละเอียด) คือ โหร

ยุคอยุธยามีตำแหน่งหน้าที่บอกเวลาฤกษ์พานาที เป็นหน่วยราชการมี 2 กรม คือ

กรมโหรหน้า พระโหราธิบดี เป็นเจ้ากรม ถือศักดินา 3000

กรมโหรหลัง หลวงโลกทีป เป็นเจ้ากรม ถือศักดินา 1600

 

โมง, ทุ่ม มาจากเสียงฆ้อง, กลอง

โมง กับ ทุ่ม เป็นคำบอกเวลาของคนไทยทุกวันนี้ เริ่มมีคำนี้หลายร้อยปีมาแล้ว ในบ้านเมืองบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง เช่น อยุธยา

หลังจากนั้นจึงแพร่หลายไปยังภาคอื่นๆ เมื่อถูกรวมเข้าด้วยกันเป็นสยามประเทศ

โมง เป็นคำได้จากเสียงฆ้อง ตีบอกเวลากลางวัน ช่วงเวลา 60 นาที

ทุ่ม เป็นคำได้จากเสียงกลอง ตีบอกเวลากลางคืน ช่วงเวลา 60 นาที

ปัจจุบันเรียกเฉพาะครึ่งคืนแรก ตั้งแต่ 1 ทุ่ม จนถึง 5 ทุ่ม พอถึง 6 ทุ่ม บางทีก็เรียกสองยาม

แต่เมื่อถึงช่วงยามใดยามหนึ่งต้องตีฆ้องด้วย เพราะเป็นช่วงเวลาพิเศษเรียก ยาม

หลังสองยาม ในนิราศธารโศกของเจ้าฟ้ากุ้ง ยุคปลายอยุธยา เรียกต่อไปว่า เจ็ดทุ่ม (ตีหนึ่ง) แปดทุ่ม (ตีสอง) จนถึงสิบทุ่ม หลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นเรียกอย่างอื่น

ขานยาม หมายถึง ตีฆ้องสัญญาณบอกช่วงเวลาเมื่อถึงยามใดยามหนึ่ง (ราว 3 ชั่วโมง) กลางคืนปกติตีกลองบอกเวลาทุก 60 นาที เรียกทุ่มตามเสียงกลอง แต่เมื่อถึงชั่วยามต้องตีฆ้อง ถือเป็นช่วงพิเศษ เช่น

ยามสองฆ้องยามย่ำ                  ทุกคืนค่ำย่ำอกเอง                 

เสียงปี่มี่ครวญเครง                             เหมือนเรียมคร่ำร่ำครวญนาน

[กาพย์บทเห่ครวญ ของ เจ้าฟ้ากุ้ง]

ย่ำฆ้องสองยามเข้า                   พี่ไกลเจ้าเหงาตะลึง

นิทราผ้าคลุมขึง                                  หญิงใดวอนห่อนเจรจา

[นิราศธารโศก ของ เจ้าฟ้ากุ้ง]

 

หอฆ้องกลองตีบอกเวลา อยู่กลางกรุงอยุธยา

ยุคอยุธยา มีหอฆ้องกลองตีบอกเวลา อยู่กลางพระนครศรีอยุธยา แล้วมีเจ้าพนักงานดูแลคอยตีตามเวลา

หอฆ้องกลองจะแยกกันอย่างละหอ หรือรวมหอเดียวกันไม่แน่นอน เช่นเดียวกับในวัดทั่วไป บางวัดรวมกัน บางวัดแยกกัน

หอกลอง เอกสารจากหอหลวง ยุคอยุธยา พรรณนาว่าที่ถนนตะแลงแกงมีหอกลอง         มียอดซุ้มทาสีแดง ทำเป็น 3 ชั้น สูง 30 วา

ชั้นยอดใช้คอยดูข้าศึก ถ้ามีศึกมาให้ตีกลองชื่อพระมหาฤกษ์

กลองชั้นกลางชื่อพระมหาระงับดับเพลิง สำหรับตีเมื่อเพลิงไหม้ ถ้าเพลิงไหม้ฟากฝั่งแม่น้ำนอกกรุงให้คาดกลอง 3 ที ถ้าเพลิงไหม้เชิงกำแพงและในพระนคร ให้คาดกลองเสมอจนกว่าเพลิงจะดับ

ชั้นต้นใส่กลองใหญ่ชื่อพระทิวาราตรี สำหรับตีย่ำเที่ยงย่ำสันนิบาตเวลาตะวันยอแสงพลบค่ำตามประเพณีกรุงศรีอยุธยา

เจ้าพนักงานกรมพระนครบาล เป็นผู้พิทักษ์รักษากลองทั้ง 3 ชั้น ผู้รักษาต้องเลี้ยงวิฬาร์ (แมว) ป้องกันมิให้มุสิกะ(หนู) กัดหนังหน้ากลอง

เวลาเช้า-เย็น พนักงานกรมพระนครบาลต้องตามเก็บเบี้ยรายได้ตามร้านตลาดหน้าคุกตั้งแต่จำหล่อไปจนหอกลองในอัตราร้านละ 5 เบี้ย สำหรับมาซื้อปลาย่างให้แมวกิน

 

ยามในโยนกล้านนา

กลุ่มไตยวน (หรือโยนก) แบ่งเวลาเป็น 16 ยาม กลางคืน 8 กลางวัน 8 แต่ละยามนาน 1.30 ชั่วโมง มีชื่อเรียกเฉพาะ เช่น

ยามที่ (1) ตูดเช้า (เป่าเขาควายตอนเช้า) 06.00-07.30 น. (2) ยามกลองงาย (ตีกลองบอกเวลาข้าวเช้า) 07.30-09.00 น. ฯลฯ (5) ตูดซ้าย (เป่าเขาควายเมื่อตะวันคล้อยบ่าย)12.00-13.30 น. ฯลฯ (13) ตูดรุ่ง 24.00-01.30 น. (14) ยามกลองรุ่ง 01.30-03.00 น. (15) ยามแตรใกล้รุ่ง 03.00-04.30 น. (16) ยามรุ่ง 04.30-06.00 น.

[หนังสือ วันวาร กาลเวลา และนานาศักราช โดย วินัย พงศ์ศรีเพียร พิมพ์ครั้งที่สอง (ฉบับแก้ไข) พ.ศ. 2552 หน้า 63]

ตูด ในที่นี้น่าจะกลายจากคำว่า หวูด หมายถึง เครื่องเป่าบอกสัญญาณ เช่น เขาควาย คนแต่ก่อนใช้เป่าบอกเวลา

 

นาฬิกา

นาฬิกา หมายถึง เวลา หรือเครื่องบอกเวลา มีรากจากคำบาลีว่า นาฬิก แปลว่า มะพร้าว หรือกะลามะพร้าว ที่ใช้เจาะรูวางในน้ำเมื่อน้ำไหลเข้าเต็มจนกะลาจม ก็นับเป็นช่วงเวลาหนึ่ง

[กะลาใช้เทียบเวลานี้ บางทีเรียกอันจม ยังมีใช้ในสนามตีไก่, กัดปลา]

รายละเอียดเรื่องเวลายังมีอีกมาก ควรอ่านในหนังสือวันวาร กาลเวลาฯ ของ วินัย พงศ์ศรีเพียร

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image