ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ นักดนตรีของพระราชา

ห้วงเวลาที่ประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช นอกจากการถวายการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำพระองค์แล้ว วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ เป็นเสมือนพระโอสถอีกขนาน

70 ปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงงานหนักมาโดยตลอด

ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ไม่เคยมีวันหยุด

ทั้งนี้ นอกจากพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์เพลง และทรงเรียบเรียงเสียงประสานทรงใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือสื่อกับประชาชนของพระองค์ ทรงก่อตั้ง วง อ.ส.วันศุกร์ และทรงร่วมบรรเลงกับสมาชิกของวง กระจายเสียงทางสถานีวิทยุเป็นประจำทุกวันศุกร์ เป็นการเปิดโอกาสให้พสกนิกรได้ติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ง่ายขึ้น

Advertisement

วง อ.ส.วันศุกร์มีความพิเศษตรงที่ว่าตั้งแต่ตอนที่เสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ ทรงดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์เพลง และพระราชทานแก่ประชาชน มีพระราชประสงค์ใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการสื่อสารระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน

พระองค์ท่านเสด็จฯไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ทรงนำวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ไปด้วยเพื่อสร้างความผูกพัน

เวลาที่ทรงพระราชนิพนธ์เพลงก็ทรงใช้เราเล่นเพื่อที่จะเผยแพร่เพลงพระราชนิพนธ์ ซึ่งเพลงพระราชนิพนธ์แต่ละเพลงก็ทรงคิดไว้แล้วว่าจะพระราชทานให้ใคร เช่น เพลง “ยิ้มสู้” ก็พระราชทานให้กับคนตาบอด

Advertisement

ผศ.ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ สมาชิก อ.ส.วันศุกร์ ที่อายุน้อยที่สุด เปิดใจ

เขาเป็นอีกคนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ เข้าเฝ้าฯถวายรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในด้านดนตรีอยู่เนืองๆ ได้รับพระเมตตาคุณและพระมหากรุณาธิคุณให้ร่วมบรรเลงดนตรีในวงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ตั้งแต่อายุเพียง 14 ปี

เป็นบุตรของเรืออากาศตรี ศ. (พิเศษ) ดร.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ และลออวรรณ ศรีกรานนท์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนส่วนพระองค์เพื่อให้ไปศึกษาด้านดนตรีระดับปริญญาตรี Bachelor of Music in Composition and Saxophone Performance จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน แอนน์อาร์เบอร์ ปริญญาโท Master of Music in Composition จากมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา และปริญญาเอก Doctor of Philosophy in Music Composition จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ สหราชอาณาจักร

และกลับมารับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท ทั้งทำเพลงถวาย และเล่นเพลงถวายในฐานะหนึ่งในสมาชิกวง อ.ส.วันศุกร์ กระทั่งสิ้นรัชกาล

ปัจจุบันในวัย 43 ปี ภาธรเป็นนักประพันธ์ดนตรีอิสระ เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรรับเชิญให้กับสถาบันศึกษาต่างๆ

ภาธร ศรีกรานนท์

– เข้าเฝ้าครั้งแรก?

ครั้งแรกที่พ่อพาเข้าไปเฝ้า ผมอยู่อนุบาล 2 ตอนนั้นไม่รู้เรื่องหรอก ผมเด็กมาก จำอะไรไม่ได้มาก จำได้ว่าผมซ้อมกราบพระบาทโดยกราบเท้าพ่อ แล้วตอนที่ได้เข้าเฝ้าจริงๆ พอท่านเสด็จเข้ามา ผมไม่ได้กราบท่าน เพราะท่านใส่รองพระบาท แต่ตอนที่ซ้อมที่บ้านพ่อไม่ได้ใส่รองเท้า

แต่ตอนที่เข้าเฝ้าแล้วรู้เรื่องแล้วตอนสิบกว่าขวบ แล้วเห็นว่าท่านทรงแซกโซโฟนก็อยากเล่นบ้าง

– ยังไม่ได้คิดถึงการเป็นนักแซกโซโฟน?

ครับ แต่จริงๆ ตอนนั้นผมเล่นดนตรีแล้วนะ ที่สยามกลการ เรียนอิเล็กโทน ไวโอลิน แต่ไม่ได้จริงจังเพราะยังไม่มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้อยากเล่นดนตรี วันที่ได้เข้าเฝ้าและเห็นพระองค์ท่านทรงแซกโซโฟนก็ยังไม่รู้อีกว่ามันคืออะไร ก็ถามพ่อว่าคืออะไร แล้วพ่อเองมีอยู่แล้วเครื่องหนึ่งที่พระราชทานให้สำหรับถวายการสอนสมเด็จพระบรมฯ ตั้งแต่ยังทรงเป็นนักเรียนอยู่ในวังจิตรดา กลับมาบ้านผมก็เลยเอาแซกโซโฟนออกมาเล่น แต่ตอนนั้นยังเล่นไม่เป็น พ่อก็ไปเชิญครูจากกองทัพอากาศมาสอน พอเล่นได้สัก 4-5 เดือนพ่อก็พาไปถวาย

– ความรู้สึกครั้งแรกที่เห็นพระองค์ท่านทรงแซกโซโฟน?

ทรงประทับอยู่ ผมจะนั่งอยู่บนพื้น ผมมองจากตรงนั้น พอท่านเริ่มทรงดนตรีและเล่นแจ๊ซ ผมก็รู้สึกว่าทรงเท่มาก แล้ววิธีการทรงดนตรีของพระองค์ท่าน ท่านจะเล่นหวาน เป็นสไตล์การเล่นแบบสวิงที่มีการเอื้อนเสียงแบบจอห์นนี่ ฮ็อดเจส (Johnny Hodges) หรือเบนนิ คาร์เตอร์ เพราะพระองค์ท่านก็ทรงชื่นชอบนักดนตรีสองคนนี้มาก และก็ทรงเล่นได้อย่างนั้นเลย

หลังจากนั้นไม่ถึงปีผมก็ไปเรียนต่อต่างประเทศ พระราชทานทุนเล่าเรียนหลวง พอไปเรียนที่นู่น ก็ไปเรียนจริงๆ จังๆ กระทั่งจบปริญญาเอกด้านดนตรี

– ได้เล่นดนตรีถวายจริงจังตอนไหน?

ทุกปี ผมจะกลับมาปีละ 2 ครั้ง ตอนนั้นก็ถือว่าเราโชคดีที่พ่อทำเพลงให้การบินไทยก็จะได้ค่าจ้างเป็นตั๋วโดยสารเครื่องบินปีละกี่ใบก็ว่ากันไป เวลากลับมาก็เข้าไปเฝ้าเล่นถวายพระองค์ท่าน ท่านก็ทรงสอน แต่ไม่ได้สอนโดยตรง ทรงแนะนำ และทรงสอนเทคนิคในขณะที่เราเล่นอยู่ในวง อ.ส.วันศุกร์ ซึ่งสมัยนั้น อ.ส.วันศุกร์เล่นถวายอาทิตย์ละ 2 ครั้ง วันศุกร์กับอาทิตย์ ที่สวนจิตรลดา

แต่ตอนที่ผมกลับมาเป็นการถาวร พระองค์ท่านประทับอยู่ที่วังไกลกังวลแล้ว เราจะเล่นทุกวันเสาร์ เนื่องจากนักดนตรีส่วนมากทำงานที่กรุงเทพฯ มีคนหนึ่งมาจากเชียงใหม่ด้วยซ้ำ ทรงเห็นว่าจะไม่สะดวกเลยรับสั่งว่า เวลาแปรพระราชฐานจะมีดนตรีวันเสาร์แทน

– ดนตรีเป็นสิ่งเดียวที่ทรงใช้พักพระราชอิริยาบถ?

ใช่ครับ ในยุคต่อมาทรงใช้ดนตรีเป็น “ยา” รักษาจิตใจ ช่วงที่ประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชประชวรมาก เราก็ใจเสีย บทบาทของพวกเรา อ.ส.วันศุกร์ เราก็เล่นดนตรีถวายท่าน เราทำทุกอย่างจะเป็นอะไรก็ได้ ในช่วงนั้นสมเด็จพระเทพฯท่านก็ทรงมาร่วมด้วย ทรงร้องเพลง ทรงเล่นทุกอย่าง เล่นไวบราโฟน (ระนาดฝรั่ง) ทรงกีตาร์ ทรงทำหมด ช่วงเวลานั้นเราใช้ดนตรีเป็นยา

– สมเด็จพระบรมฯได้เข้าร่วมวง?

ครับ คือแต่ละพระองค์จะมีเวลาเสด็จเยี่ยมเฉพาะอยู่แล้ว ส่วนวง อ.ส.วันศุกร์ จะได้เข้าเฝ้าเวลาไหนแล้วแต่จะทรงโปรด ฉะนั้นในช่วงแรกๆ ที่เราไปเฝ้าเราจะไปแต่เช้า 7-8 โมง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทูลกระหม่อมจุฬาภรณ์ท่านเสด็จ เราก็จะได้เฝ้าท่านด้วย แล้วเวลาที่โปรดให้เข้าเฝ้าได้ก็จะเลื่อนมาเรื่อยๆ มาเป็นตอน 10-11 โมง ก็จะเป็นเวลาที่สมเด็จพระบรมฯ เสด็จฯเข้าเฝ้า เราก็มีโอกาสได้เข้าเฝ้าอยู่บ้าง ท่านก็ยังได้ทรงร้องเพลงคริสต์มาสถวายด้วยกัน ทรงน่ารักมาก ทรงประทับอยู่ที่พื้นข้างๆ ตอนหลังรับสั่งให้เข้าเฝ้าเวลาบ่าย 3-4 ซึ่งเป็นเวลาที่สมเด็จพระเทพฯเข้าเฝ้า

– ทูลกระหม่อมจุฬาภรณ์ได้ทรงดนตรีถวาย?

ช่วงนั้นเป็นช่วงแรกๆ ที่ทรงพระอาการดีขึ้น แต่ยังไม่ทรงแข็งแรงพอที่จะทรงดนตรีได้ ฉะนั้นเราไปเฝ้าเฉยๆ ที่ห้องบรรทมชั้น 16 แต่ช่วงที่สมเด็จพระบรมฯเฝ้าก็มีทรงร้องเพลง ที่ห้องบรรทมมีคีย์บอร์ดอยู่เครื่องหนึ่ง บางทีพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงคีย์บอร์ดบ้าง แต่ไม่ได้เป็นวง จนในที่สุดเมื่อพระพลานามัยดีขึ้นเยอะ เมื่อทรงเครื่องดนตรีได้ ถึงได้ลงไปเฝ้าชั้น 14 แทน เพราะห้องนั้นใหญ่พอ ซึ่งเวลาที่มีวงดนตรีจากต่างประเทศมา ผมก็พาไปเฝ้าถวายที่ชั้น 14 นี้

– ครั้งสุดท้ายเล่นถวายเมื่อไหร่?

เดือนธันวาคมปีที่แล้ว (2558) ที่โรงพยาบาลศิริราช เพราะหลังจากนั้นพระอาการพระองค์ท่านก็ทรุดลง เราไปเข้าเฝ้าตอนนั้นท่านทรงไม่ได้แล้ว เราก็ร้องเพลงถวาย ก่อนเราจะทูลลา เราจะร้องเพลง “ทรงพระเจริญ” ที่พ่อผมแต่ง เพราะเนื้อร้องง่ายดี …ทรงพระเจริญๆๆ ยิ่งยืนนาน ทรงพระเจริญๆๆ ยิ่งยืนนาน (เสียงเครือ) ชั่วนิรันดร์…

– ทรงมีปฏิกิริยาอย่างไร?

ทรงรู้พระองค์ อย่างพอเราร้อง When You”re Smiling. ก็ทูลท่านว่า ยิ้มสิ ท่านก็ทรงยิ้ม แล้วเนื้อเพลง อีกท่อน When you”re laughing. แล้วเราก็ทำเสียงหัวเราะ…โฮะๆๆ ก็ทรงแย้มพระโอษฐ์ (สูดน้ำมูก) เราก็พยายามถึงที่สุด ใช้ดนตรีเป็นยา

– หลังจากนั้นยังได้เข้าเฝ้า?

ไม่ได้เข้าเฝ้า คุณหมอบอกว่าท่านติดเชื้อ เดือนมกราคมที่ผ่านมาพระองค์ท่านเสด็จออกมาครั้งหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นทรงติดเชื้อ ซึ่งอันตรายมาก

– อ.ส.วันศุกร์เล่นเพลงถวายเพลงสุดท้ายเพลงอะไร?

When you smiling. ของ แฟรงก์ ซินาตรา เป็นเพลงสแตนดาร์ดแจ๊ซนี่แหละ แต่เนื้อหาดี ..When You”re Smiling When You”re Smiling The Whole World Smiles With You คือเราอยากให้ท่านทรงยิ้ม อยากให้ท่านทรงมีความสุข แล้วเวลาจะเสด็จขึ้นเราก็ร้องเพลง “เราสู้” เราอยากให้ท่านสู้

– ท่านโปรดเพลงอะไร?

ส่วนมากจะเป็นเพลงแจ๊ซ ก็หลากหลายนะครับ มีของ ซิดนีย์ บิเชท์ (Sidney Bechet) เป็นนักดนตรีที่เล่นเทรดิชั่นนัล แจ๊ซ แล้วก็มีของ เบนนิ คาร์เตอร์ ซึ่งก็แต่งไว้เยอะเหมือนกันที่พระองค์ท่านโปรด

ถ้าเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ก็ แสงเทียน ทรงแก้คอร์ดแก้อะไรตลอด ที่ผ่านมาก็ทรงให้ผมเป็นคนทำเพลงเข้าไปถวาย ให้ท่านทอดพระเนตรมีพระวินิจฉัย แล้วก็แก้

– นอกจากโปรดแล้ว ทำไมต้องเป็น”แจ๊ซ”?

ดนตรีแจ๊ซมีความละเอียดอ่อน เป็นดนตรีที่ประกาศอิสรภาพ ประกาศเสรีภาพทางความคิด ด้วยความที่เป็นดนตรีของคนผิวสีที่ถูกเหยียดหยาม ดนตรีประเภทนี้จึงมีพลังในตัวของมันเอง ผมเชื่อว่าพระองค์ท่านทรงได้ฟังเพลงเหล่านี้ถึงได้ทรงชื่นชอบ เลยทรงเลือกดนตรีสไตล์นี้ แต่ดนตรีสไตล์คลาสสิกก็ทรง แต่ไม่ได้โปรดมาก

อีกอย่างที่ผมเห็นเกี่ยวกับวงดนตรีแจ๊ซคือ การที่เราจะมาเล่นดนตรีร่วมกันได้ แน่นอนดนตรีไม่มีขอบเขต เราจะด้นสดทั้งเพลง จะทำอะไรก็ได้ จะเป็นเสียงอะไรก็ได้ เวลาผมสอนนิสิตที่เกษตรศาสตร์ ผมจะบอกว่า ดนตรีจะเป็นเสียงรถยนต์บีบแตรก็ได้ เสียงกระทืบเท้าก็ได้ ทุกอย่างเป็นดนตรีได้หมด แต่การที่เราจะมาเล่นร่วมกันต้องกำหนดกรอบร่วมกัน ต้องมีกติกา คุณเล่นกลอง หน้าที่ของคุณคือกำกับจังหวะ คุณเล่นเบส หน้าที่คือเดินพื้นของคอร์ดนั้นๆ มันคือการทำงานร่วมกัน และเป็นสิ่งที่สอนใจเราว่าแม้เราจะยืนอยู่ข้างหน้าเป็นหัวหน้าวง หรืออะไรก็ตาม เราก็ไม่ได้มีความสำคัญไปกว่าทุกคนที่อยู่รอบข้าง

ทรงเคยเปรียบเทียบให้ตรงๆ เลย เคยรับสั่งว่า การใช้ชีวิตในสังคมนี้เราต้องรู้จักบทบาทหน้าที่ของตน แต่ละคนก็มีหน้าที่ของตน ทุกคนต้องทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด และทุกคนมีความสำคัญเท่ากันหมด ทุกคนเป็นจักรเป็นเฟืองทำให้สังคมนั้นๆ อยู่ได้ ทำให้สังคมนั้นๆ มีความหมาย ทำให้มีคุณค่า เพราะฉะนั้นทุกคนต้องทำพร้อมกัน ทำให้มันดี

– อ.ส.วันศุกร์ จะมีรวมวงอีกครั้ง?

มีครับ เราตั้งใจกันว่าเดือนธันวาคม จริงๆ ตอนแรกเรามีแผนจะทำถวายอยู่แล้ว เพราะเมื่อตอนต้นปี ผมได้ทูลสมเด็จพระเทพฯ ไว้ว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้วผมจัดนักดนตรีมาจากนิวออร์ลีนส์ เพราะตอนนั้นท่านมีรับสั่งว่าอยากไปนิวออร์ลีนส์ ไม่เคยเสด็จนิวออร์ลีนส์เลย ท่านรับสั่งว่าท่านทรงเกษียณตอนหกสิบแล้วจะไปกัน แต่ทรงไม่เคยได้ไป เพราะทรงไม่เคยเกษียณ ตอนนั้นเมื่อ 5 ปีที่แล้วผมจึงเห็นว่าในเมื่อท่านไม่สามารถเสด็จนิวออร์ลีนส์ได้ เราก็ยกนิวออร์ลีนส์มาให้ท่าน เอานักดนตรีวงเพรสเซอร์เวชั่น ฮอลล์ แจ๊ซ แบนด์ เล่นมาในเรือพระที่นั่ง จอดหน้าท่าน้ำโรงพยาบาลศิริราช

หลังจากนั้นก็จัดอาหารนิวออร์ลีนส์ไปถวายพระองค์ท่านที่ศิริราช ตอนนั้นทรงมีความสุขมาก เมื่อตอนต้นปีผมเลยทูลสมเด็จพระเทพฯ ว่าปีนี้จะจัดอีกครั้ง คุยกับนักดนตรีไว้แล้วว่าปีนี้เราอยากให้ท่านทรงระลึกถึงเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ที่ประทับอยู่สวิตเซอร์แลนด์ จะจัดทำยุโรเปี้ยนแจ๊ซ แต่เป็นนิวออร์ลีนส์แจ๊ซที่อยู่ในยุโรป เราได้วงดัทช์ สวิง คอลเลจ แจ๊ซ แบนด์ ซึ่งวงนี้ปีที่แล้วเพิ่งฉลองครบ 70 ปี ก็คุยกันไว้แล้วว่าจะเอาวงนี้มาเล่นถวาย (เสียงเครือ) จัดให้เหมือนเดิมเลย อยากให้ท่านทรงระลึกได้ว่าเสด็จกลับไปเมื่อตอนที่ทรงพระเยาว์ ก็เตรียมทุกอย่างไว้แล้ว

– จะยังมี?

ตอนนี้ทำไม่ได้แล้ว ก็จะเปลี่ยนเป็นเล่นดนตรีระลึกถึงพระองค์ท่านแทน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image