‘อิฐเก่าๆแผ่นเดียวก็มีค่า’ ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับโบราณคดีไทย

ทอดพระเนตรหลุมขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี เมื่อ พ.ศ.2515

กว่าอิฐแต่ละก้อนซึ่งถูกปั้นจากเรี่ยวแรงและหยาดเหงื่อของบรรพบุรุษ

กว่าจะมีสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์

กว่าสยามจะเป็นไทยในวันนี้

มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและทรงคุณค่า

Advertisement

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงยิ่งต่อการอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานของชาติ ทรงมีพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส ให้สงวนรักษาสมบัติอันเป็นส่วนรวมของชาติ ทั้งยังเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ของกรมศิลปากร ทอดพระเนตรการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีสำคัญ

ต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส และเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องกับงานด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ รวมถึงศิลปวัฒนธรรมของชาติ

 ทรงเปิดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2504
ทรงเปิดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2504

อิฐเก่าๆ แผ่นเดียว

ย้อนเวลากลับไปในช่วงต้น พ.ศ.2499 มีการพบกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะซึ่งถูกโจรลักลอบขุดค้นจนพบเครื่องทอง เพชรนิลจินดา และข้าวของล้ำค่ามหาศาล กลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศ

Advertisement

ต่อมา เมื่อ พ.ศ.2500 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จทอดพระเนตรเครื่องทองจากกรุดังกล่าว แล้วทรงมีพระราชปรารภกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและอธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้นว่า “โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะนี้ สมควรจะได้มีพิพิธภัณฑสถานเก็บรักษา และตั้งแสดงให้ประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้ หาควรนำไปเก็บรักษา และตั้งแสดง ณ ที่อื่นไม่”

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จึงถือกำเนิดขึ้น โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2504 มีพระราชดำรัส ดังนี้

“โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถานทั้งหลายนั้น ล้วนเป็นของมีคุณค่า และจำเป็นแก่การค้นคว้าในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะและโบราณคดี เป็นเครื่องแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติไทยที่มีมาแต่อดีตกาล สมควรจะสงวนรักษาให้คงทนถาวรเป็นสมบัติส่วนรวมของชาติไว้ตลอดกาล โดยเฉพาะโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ควรจะได้มีพิพิธภัณฑสถานเก็บรักษาและตั้งแสดง นักศึกษาและประชาชนได้ชม และศึกษาหาความรู้ให้มาก และทั่วถึงยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้

“มีผู้กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีผู้สนใจ และหาซื้อโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ส่งออกไปต่างประเทศกันมาก ถ้าต่อไปภายหน้า เราจะต้องไปศึกษา หรือชมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของไทยเราเองในต่างประเทศ ก็คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้า และน่าอับอายมาก เราจึงควรจะขวนขวาย และช่วยกันหาทางรวบรวมโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุของเรา แล้วจัดสร้างพิพิธภัณฑสถาน เก็บรักษาไว้จะเป็นการดีที่สุด”

เสด็จพระราชดำเนินยังปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา เมื่อ พ.ศ.2498 (ภาพจากคลังพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา)
เสด็จพระราชดำเนินยังปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา เมื่อ พ.ศ.2498 (ภาพจากคลังพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา)

อีกหนึ่งพระบรมราโชวาท ที่พสกนิกรและผู้ปฏิบัติงานด้านโบราณคดีน้อมนำใส่เกล้ารำลึกอยู่เสมอ คือพระราชดำรัสเมื่อครั้งเสด็จฯยังพระที่นั่งเย็น พระนครศรีอยุธยา ในวันเดียวกัน ความว่า

“การสร้างอาคารสมัยนี้ คงจะเป็นเกียรติสำหรับผู้สร้างคนเดียว แต่เรื่องโบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่าๆ แผ่นเดียวก็มีค่าควรช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย ไม่ควรจะเอาของใหม่ไปปนกับของเก่า ควรจะรักษาของเก่าไว้เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจของพลเมือง และสิ่งเหล่านี้เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ จึงควรรักษาไว้”

นอกจากนี้ ยังทรงมีพระบรมราโชวาทถึง “ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ” ว่า ต้องระวังรักษาโบราณสถานและโบราณวัตถุอย่างดีที่สุดตลอดไป ความว่า

“เป็นที่ทราบกันว่า หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของประเทศของเราที่เป็นเอกสารมีอยู่โดยจำกัด การศึกษาประวัติศาสตร์จำเป็นต้องอาศัยหลักฐานทางโบราณวัตถุเทียบเคียงสันนิษฐานด้วยอย่างมาก ดังนั้น จึงถือได้ว่าโบราณสถานและโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจะต้องระวังรักษาอย่างดีที่สุดตลอดไป ไม่ปล่อยปละละเลยให้เกิดความสูญเสียหรือเสียหาย เพราะถ้าได้ปล่อยให้เป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับได้ทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชาติ ซึ่งจะเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรง…”

ฉันจะตามไปเปิด

ครั้นเมื่อ พ.ศ.2507 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2507 ได้ตรัสกับนายธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งเจ้าตัวได้บันทึกไว้ในหนังสือ “ชีวิต-เด็กวัด บันทึกวิถีชีวิต และผลงานโดยสังเขปในมัชฌิมวัยและปัจฉิมวัย ของ ธนิต อยู่โพธิ์” ต่อมา มีการพิมพ์เป็นหนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงศพของผู้เขียน เมื่อ พ.ศ.2536

นายธนิต บันทึกไว้ดังนี้

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย เมื่อ ณ วันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2507 ได้เสด็จประพาสโซกพระร่วงด้วย และก่อนเสด็จพระราชดำเนินขึ้นบันไดเครื่องบินพระที่นั่งกลับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงผันพระองค์ทรงหันพระพักตร์มามีพระราชกระแส พระราชดำรัสแก่ข้าพเจ้าว่า

“ต่อไปนี้ กรมศิลปากรไปสร้างพิพิธภัณฑสถานที่ไหน ฉันจะตามไปเปิด”

ในทันทีนั้น ข้าพเจ้าได้ถลาลงหมอบกราบ ณ พื้นที่สนามใกล้เบื้องพระยุคลบาท ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม

นับเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณูปการต่องานโบราณคดีและศิลปวัฒนธรรมของชาติที่สืบเนื่องยาวนานมาตราบเท่าทุกวันนี้

เสด็จเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ.2509
เสด็จเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ.2509

 

ทอดพระเนตรวัดเจดีย์เจ็ดแถว จ.สุโขทัย เมื่อ พ.ศ.2509
ทอดพระเนตรวัดเจดีย์เจ็ดแถว จ.สุโขทัย เมื่อ พ.ศ.2509

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image