เบื้องหลังบทเพลงพระราชนิพนธ์ และ “เพลงรักทั้งห้า”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระปรีชาสามารถทางด้านการดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงทั้งสิ้น 48 เพลง โดยเพลงแรกคือ “แสงเทียน” ขณะพระองค์มีพระชนมายุเพียง 19 พรรษา และทรงเป็นพระอนุชาธิราช เมื่อ พ.ศ.2489

ซึ่งปีเดียวกันนั้นเองทรงพระราชนิพนธ์อีก 3 เพลง ใน 3 แนวทางดนตรีที่แตกต่างกัน คือ “ยามเย็น” แนวฟ็อกซ์ทรอท “สายฝน” แนววอลซ์ และ “ใกล้รุ่ง” แนวแจ๊ซ

อย่างไรก็ตาม เพลงพระราชนิพนธ์แรกที่พระราชทานให้นำออกมาบรรเลงกลับเป็น “ยามเย็น” เนื่องจากมีท่วงทำนองเหมาะแก่การเต้นรำซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในสมัยนั้น ขณะที่เพลง “แสงเทียน” มีพระราชประสงค์จะทรงแก้ไขทำนองและคอร์ดบางตอนของเพลงให้ดีเสียก่อน โดยบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” พระราชทานให้ ครูเอื้อ สุนทรสนาน บรรเลงในงานของสมาคมปราบวัณโรค ที่เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2489

เพลงพระราชนิพนธ์ส่วนใหญ่ทรงพระราชนิพนธ์ระหว่างปี พ.ศ.2489-2509 เป็นจำนวน 42 เพลง จากทั้งหมด 48 เพลง โดยมีจังหวะที่หลากหลาย เช่น วอลซ์ สโลว์ ควิกสเตป มาร์ช ไลต์มิวสิก ฯลฯ

Advertisement

ส่วนเนื้อร้องประพันธ์โดยบุคคลอื่นเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ทรงประพันธ์ไว้หลายเพลงทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

ผู้ประพันธ์คนอื่นๆ อาทิ ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เป็นต้น

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์เนื้อร้อง 2 เพลง คือเพลง “รัก” และ “เมนูไข่”

Advertisement

ความสนพระราชหฤทัยในเพลงแจ๊ซนั้นมีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ขณะทรงศึกษาอยู่ที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อแผ่นเสียงเพลงของนักดนตรีแจ๊ซชาวอเมริกันเช่น ดุ๊ก เอลลิงตัน เคานต์ เบซี ส่วนพระเชษฐาทรงซื้อแผ่นเสียงของ หลุยส์ อาร์มสตรอง ซิดนีย์ บิเชท์ ซึ่งเป็นนักดนตรีแจ๊ซชาวอเมริกัน

ทรงบรรเลงเครื่องดนตรีได้เกือบทุกชนิด ทรงโปรดดนตรีแบบแจ๊ซและทรงชำนาญเครื่องเป่าต่างๆ จนได้รับการถวายการยกย่องว่าทรงเป่าโซปราโนแซกโซโฟนได้ดีที่สุดในประเทศไทย

สำหรับ “พรปีใหม่” ซึ่งบรรเลงครั้งแรกวันปีใหม่ 1 มกราคม พ.ศ.2495 ที่ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์ขณะทรงพระประชวร แพทย์สั่งห้ามเล่นแซกโซโฟน ทรงให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริเป็นผู้เป่า แล้วพระองค์ทรงวางนิ้วบนแซกโซโฟน เนื่องจากพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงเล่นแซกโซโฟนไม่เป็น

อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสครั้งหนึ่งว่า “ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊ซหรือไม่ใช่แจ๊ซก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้าดนตรีคือสิ่งประณีตงดงาม และทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาสและอารมณ์ที่ต่างๆ กันไป”

ดร.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ เล่าถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านการประพันธ์เพลงว่า ทรงเป็นเสมือนนักประพันธ์เพลงหรือปราชญ์ของโลก คือทรงพระราชนิพนธ์เพลงสดๆ เมื่อทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัยขึ้นมา เช่น เพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” ทรงเขียนเส้นโน้ตห้าเส้นบนซองจดหมายแล้วทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงออกมาโดยฉับพลัน

เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนท์ สหราชอาณาจักร เสด็จเยือนไทยใน พ.ศ.2502 พระองค์เสด็จฯ ไปรับด้วยพระองค์เองที่สนามบินดอนเมือง ระหว่างที่รอเครื่องบินลงจอดราว 10 นาที ทรงประพันธ์ทำนองเพลงเพื่อต้อนรับเจ้าหญิง โดยทรงใช้เวลาไม่กี่นาที จากนั้นทรงส่งโน้ตให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ประพันธ์เนื้อร้อง เพลงนี้ชื่อ “แผ่นดินของเรา” (Alexandra)

5 เพลงหวาน ที่สุดแห่งเพลงพระราชนิพนธ์

บันทึกส่วนพระองค์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ได้กล่าวถึงบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่แสดงถึงเจตนารมณ์ที่ทรงประพันธ์คำร้องเพลง “อาทิตย์อับแสง” และ “เทวาพาคู่ฝัน” ว่า

ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเริ่มรู้จักชอบพอกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเมื่อครั้งยังทรงเป็น ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร อยู่นั้น ต่างประทับห่างไกลกัน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชประทับตากอากาศอยู่ที่เมืองดาวอส ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ประทับอยู่ที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อต้องทรงจากกันก็เปรียบเหมือน “อาทิตย์อับแสง” (Blue Day) และในพระราชหฤทัยของทั้งสองพระองค์ก็คงทรงหวังให้ “เทวา พาคู่ฝัน” (Dream of Love Dream of You) มาให้ จึงทรงประพันธ์คำร้องเพลงทั้งสองนี้ถวาย

ซึ่งในปีเดียวกัน ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ได้ทรงขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ Blue Day พร้อมด้วยเพลงพระราชนิพนธ์ Dream of Love Dream of You หลังพระกระยาหารค่ำในงานเลี้ยง ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2492 ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจะพระราชทานพระธำมรงค์หมั้นในวันนั้นเอง

ทางด้าน ผศ.ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ สมาชิกวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ เล่าว่า เพลงพระราชนิพนธ์ที่พระราชทานแก่สมเด็จพระราชินีมีอยู่มาก แต่ที่เด่นจริงๆ มี 5 เพลง ที่ผมเรียกว่า “เพลงรักทั้งห้า” ทั้ง 5 เพลงนี้พระองค์ท่านพระราชนิพนธ์เนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษ และแน่นอนพระราชนิพนธ์ทำนองด้วย และเป็นเพลงที่หวาน ได้แก่ Still on My Mind, Old Fashion Melody, No Moon, Dream Island และ Echo

สาเหตุที่ยกทั้งห้าเพลงนี้เป็น “เพลงรักทั้งห้า” ผศ.ดร.ภาธรอธิบายว่า ทุกเพลงทรงพระราชนิพนธ์ในช่วงปี 2508 ซึ่งในแง่ของ artist value นับเป็นปีสูงสุดของพระองค์ ทรงทดลองพระราชนิพนธ์ทั้งคำร้องและทำนองด้วยพระองค์เองทั้งหมด ซึ่งปกตินักประพันธ์ถ้าเขียนทำนองก็จะไม่เขียนเนื้อร้องเอง หรือคนเขียนเนื้อร้องก็จะไม่เขียนทำนองเอง

ยกตัวอย่างเช่น เพลง Echo นั้น เนื้อร้องเป็นบทกวี สวยงามมาก เพลง Dream Island สามารถตีความได้หลายอย่าง ฉันคอยเธอมานานในที่สุดก็ได้เจอเธอ หรือเธอคือนางในฝันของฉัน

“ในด้านทำนองนั้น การเขียนเพลงต้องคิดถึงหลายอย่าง เช่น คนร้องจะร้องได้ไหม ยากง่ายเกินไปหรือเปล่า อย่างเพลง ‘ภิรมย์รัก’ ทรงตั้งพระทัยเป็นทำนอง ไม่ใส่เนื้อร้อง ฉะนั้นช่วงกลางๆ ของเพลงจะเสียงสูงจนหลายคนร้องไม่ได้ แต่ทั้ง 5 เพลงนี้ ช่วงของเสียงพอดี มีความลงตัวมาก”

โดย Still on My Mind เป็นเพลงแรกที่พระราชนิพนธ์คำร้องเป็นภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง เดิมทรงตั้งชื่อเพลงว่า “I Can’t Get You Out of My Mind” ต่อมาทรงเปลี่ยนเป็น “Still on My Mind”

 

4

5

3

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image