ภาพเก่าเล่าตำนาน มาริโอ ตามัญโญ สถาปนิกฝีมือขั้นเทพ : โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ปราสาท ราชวัง วัด สถานที่ราชการ สะพาน พระที่นั่งฯ ที่มีความเป็นอารยะ เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกในกรุงเทพฯ ที่โอ่อ่าสง่างามมาจนถึงทุกวันนี้ ใครกันหนอคือคนที่เนรมิตรูปแบบให้งดงามตระการตายิ่งนัก

เมื่อครั้งในหลวง ร.5 เสด็จประพาสยุโรปในปี พ.ศ.2440 ความงดงามของถนนหนทาง บ้านเมือง อาคาร สถานที่ รูปปั้น น้ำพุ งานศิลปกรรม เป็นเสน่ห์ให้ในหลวง ร.5 ตัดสินพระทัยให้ว่าจ้างสถาปนิกชาวอิตาเลียนเข้ามาทำราชการในราชสำนัก เพื่อออกแบบกรุงเทพฯให้สง่างามตระการตาเฉกเช่นเมืองใหญ่ในยุโรป

ในบรรดาสถาปนิกอิตาเลียนที่เข้ามาทำงานในสยาม ที่ต้องจารึกนามไว้ในแผ่นดิน ท่านเป็นสุดยอดฝีมือในยุคนั้นคือ มาริโอ ตามัญโญ (Mario Tamagno) สถาปนิกหนุ่มมืออาชีพ

มาริโอ ตามัญโญ

Advertisement

มาริโอ เกิดเมื่อ 19 มิถุนายน พ.ศ.2420 ที่เมืองตูริน เรียนจบสถาปัตยกรรมจากสถาบันศิลปะอัลแบร์ทีน (Albertina Academy) ระหว่างศึกษาเขามีผลการเรียนยอดเยี่ยม และได้รับเหรียญรางวัลนับไม่ถ้วน จึงได้รับทุนการศึกษาโดยตลอด หลังจบการศึกษาในปี พ.ศ.2438 ทำงานเป็นอาจารย์ จนกระทั่งสถาปนิกรุ่นพี่ชื่อ คาร์โอ เซปปี แนะนำให้มาทำงานในสยามซึ่งกำลังจะสร้างกรุงเทพฯ ใหม่สไตล์ตะวันตก

11 มิถุนายน พ.ศ.2443 มาริโอออกเดินทางด้วยเรือชื่อ “โคนิก อัลเบิร์ต” (Konig Albert) มากรุงเทพฯ ซึ่งในขณะนั้นมีกลุ่มสถาปนิกอิตาเลียนทำงานอยู่บ้างแล้ว มาริโอ
เซ็นสัญญาเข้ารับราชการในกรมโยธาธิการ ตำแหน่งผู้ช่วยฝ่ายสถาปัตยกรรม ใน พ.ศ.2446 มีเงินเดือน เดือนละ 48 ปอนด์ เป็นระยะเวลา 25 ปี

ผู้เขียนขอแทรกความรู้เรื่องงานศิลปกรรมของโลกในยุคนั้น ซึ่งต้องยอมรับว่า อิตาลี เป็นดินแดนที่รวมเอาอัจฉริยะของโลกด้านศิลปะไว้ เช่น ไมเคิล แอนเจโล, ดาร์วินชี, ราฟาเอล นอกจากนั้นชาวอิตาเลียนมีความรัก มีพรสวรรค์ด้านงานศิลปะในสายเลือดมาโดยกำเนิด จนเกิดทฤษฎีชื่อว่า “ลักษณะแบบอิตาลี” (Italianate Architecture)

ศิลปกรรมสไตล์อิตาลี โดดเด่นในด้านเรือนร่างของมนุษย์ มีมิติของภาพ เป็นประติมากรรม จิตรกรรมที่สมจริง ผสมผสานไปกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ชาวอิตาเลียนนำเอาศิลปะวิทยาการของกรีก-โรมันมาปรับปรุง สามารถสร้างหลังคาทรงโค้ง ต้นเสาที่มีความแข็งแกร่งน่าเกรงขาม สถาปัตยกรรมแบบอิตาลี มีอิทธิพลสูงสุดในศตวรรษที่ 19 เป็นที่ยอมรับในยุโรปตอนเหนือ แพร่กระจายไปในอเมริกา ออสเตรเลีย และเอเชีย

นับเป็นพระอัจฉริยภาพของในหลวง ร.5 ที่ตัดสินพระทัยสร้างบ้าน สร้างเมือง สร้างเกียรติภูมิของราชอาณาจักรให้เป็นที่เชิดหน้าชูตาให้กับคนไทยจนถึงทุกวันนี้

ย้อนประวัติศาสตร์ไปใน พ.ศ.2198 สมัยอยุธยาเป็นราชธานี มิชชันนารีชาวอิตาเลียน คือบาทหลวงโจวันนี มารีอา เลรีอา และบาทหลวงทอมมาโซ เดินทางเข้ามาสร้างไมตรีกับอยุธยา บาทหลวงทอมมาโซ เป็นผู้ออกแบบป้อมปราการรอบตัวเมืองและออกแบบตกแต่งพระราชวังด้วยน้ำพุอย่างงดงาม มิชชันนารีทั้งสองท่านนี้คือผู้ปูทางให้แก่ศิลปินอิตาเลียนที่เข้ามาทำงานต่อในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ผลงานการออกแบบของมาริโอ โดดเด่นเป็นประกายต่อสายตาของราชสำนักสยามไปหมด เช่น การออกแบบท้องพระโรงพระที่นั่งอภิเษกดุสิต และวัดเบญจมบพิตร

ในปี พ.ศ.2450 ในหลวง ร.5 กำลังจะเสด็จกลับจากประพาสยุโรป ราชสำนักสยามมอบให้มาริโอจัดสร้างซุ้มรับเสด็จสไตล์จีนแถวๆ สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และเพื่อให้งานออกแบบสะพานบนถนนราชดำเนินมีสไตล์สอดรับกัน มาริโอ ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้านายช่างสถาปนิกการออกแบบและสร้าง สะพานมัฆวานรังสรรค์ ต่อเนื่องไปด้วย

ในชีวประวัติของสุภาพบุรุษอิตาเลียนท่านนี้ ในระหว่างที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯท่านเป็นคนจริงจัง ใช้ทุกเวลานาทีของชีวิตเพื่อการสร้างสรรค์ เขาเกิดมาเพื่อเป็นผู้คิดสร้าง สยามประเทศโชคดีที่ได้มาริโอมาทำงานให้บ้านเมือง มาริโอเป็นคนไม่ชอบที่จะสรวลเสเฮฮากับใคร เรื่องความรักมีเกร็ดชีวิตเล่าว่า สาวสวยหน้าคมชื่อ มาเรียนนีนา ซุกกาโร
(Marianina Zuccaaro) เดินทางมาจากอิตาลีเพื่อมาเข้าพิธีแต่งงานกับมาริโอที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2444 โดยมี สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ และบรรดาเอกอัครราชทูตในกรุงเทพฯ มาร่วมพิธีแต่งงานโดยมีพระผู้ประกอบพิธีเป็นชาวฝรั่งเศส คู่บ่าวสาวอิตาเลียนเลยต้องกล่าวคำตอบรับเป็นภาษาฝรั่งเศส (oui) แทนที่จะเป็นภาษาอิตาเลียน (si)

สถาปนิกหนุ่มอิตาเลียนใช้ชีวิตเรียบง่ายสมถะ งานระดับอภิมหาโปรเจ็กต์คือ พระที่นั่งอนันตสมาคมที่ออกแบบร่วมกับเพื่อนสถาปนิกชื่อรีก๊อตตี และปรับโฉมสถานีรถไฟหัวลำโพงร่วมกับรีกัซซี

พรสวรรค์ของมาริโอเป็นมนต์เสน่ห์ให้ข้าราชสำนักสยามหันมาใช้บริการ เขาเป็นคนเงียบขรึม ถ่อมตนและขี้อาย แต่มีความสุขกับการทำงาน ผลงานของท่านต่อมาคือคนการออกแบบอาคารกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง แสตมป์และเหรียญที่ระลึกในพิธีต่างๆ ที่เป็นมรดกความงามหมดจรดตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

วังบางขุนพรหม วังปารุสกวัน พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สะพานผ่านฟ้าลีลาศ สะพานมัฆวานรังสรรค์ พระที่นั่งราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ และพระราชวังพญาไท

ต่อมาในสมัยในหลวง ร.6 ผลงานของมาริโอ มีความหลากหลายขยายการออกแบบมากขึ้น เขาออกแบบโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สถานีรถไฟสวนจิตรลดา สะพานขนาดเล็กในชุด “เจริญ” ที่สร้างขึ้นในสมัยในหลวง ร.6 คือ สะพานเจริญรัช 31 สะพานเจริญราษฎร์ 32 สะพานเจริญพาศน์ 33 สะพานเจริญศรี 34 สะพานเจริญทัศน์ 35 และสะพานเจริญสวัสดิ์ 36

ผลงานที่เป็นอมตะในสยามที่ตามมาคือ ออกแบบบ้านนรสิงห์ของเจ้าพระยารามราฆพ (ปัจจุบันคือ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล) บ้านบรรทมสินธุ์ของเจ้าพระยาอนิรุทธเทวา (ปัจจุบันคือ บ้านพิษณุโลก) และห้องสมุดเนลสัน เฮส์

ผลงานการออกแบบในสยามที่สร้างชื่อเสียงให้กับมาริโอ คือ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นพระที่นั่งที่มีสถาปัตยกรรมแบบนีโอเรอเนสซองซ์ และนีโอคลาสสิก ใช้หินอ่อนสีขาวจากอิตาลีแทบทุกตารางนิ้ว จุดเด่นอยู่ที่หลังคาโดมคลาสสิกแบบโรมัน ซึ่งอยู่ตรงกลางพระที่นั่งและล้อมรอบด้วยโดมเล็กๆ อีก 6 โดม เพดานด้านในของโดมวาดด้วยวิธีเฟรสโก เป็นภาพพระราชกรณียกิจของกษัตริย์ราชวงศ์จักรี นับเป็นพระที่นั่งที่งดงามระดับโลก

พระที่นั่งอนันตสมาคม มีรูปแบบตะวันตกอย่างแท้จริง เป็นพระที่นั่งหินอ่อนเพียงแห่งเดียวของไทย เป็นการรวมสุดยอดฝีมืองานช่างแขนงต่างๆ ทั้งสถาปัตยกรรม การแกะสลักหินอ่อน ประติมากรรม จิตรกรรมฝาผนัง-เพดาน ลวดลายเหล็กดัด-เหล็กหล่อ

หินอ่อนที่ใช้สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมมาจากเหมืองคาราร่า ของอิตาลีซึ่งเป็นเหมืองหินอ่อนที่เดียวในโลกที่มีหินอ่อนครบทุกสี ขุดต่อเนื่องกันมา 400 ปียังไม่หมด

เมื่อหมดสัญญาจ้างงาน 25 ปี มาริโอ และครอบครัวเดินทางกลับไปบ้านเกิดที่อิตาลี ซึ่งขณะนั้นอิตาลีอยู่ในช่วงเริ่มต้นของ
ระบอบฟาสซิมส์ มาริโอยังคงประกอบวิชาชีพสถาปนิก มาริโอเสียชีวิตในปี พ.ศ.2484 ด้วยโรคมะเร็ง อายุ 64 ปี

บทความนี้ ผู้เขียนขอชื่นชมผลงานของกลุ่มวิศวกร สถาปนิก จิตรกร ปฏิมากรช่างฝีมือ ช่างตกแต่งชาวอิตาเลียนซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคกลางตอนเหนือของอิตาลี แคว้นทัสคานี ลิกูเรีย ปิเอมองต์ และบางส่วนจากแคว้นลอมบาร์ดี รวมทั้ง คอร์ราโด เฟโรซี หรือศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มาช่วยสร้างสรรค์งานที่เลอเลิศให้กับคนไทย แผ่นดินไทยตราบจนวันนี้
ขอบคุณข้อมูลและภาพบางส่วนจากหนังสือ Italians At The Court of Siam ครับ

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

aislogo

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image