วสิษฐ เดชกุญชร 11 ปี 11 เดือน หน้าที่ตามเสด็จฯช่วยประชาชน

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร

นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของปวงชนชาวไทย หลังสำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสวรรคต เมื่อเวลา 15.52 น. วันที่ 13 ตุลาคม 2559 สิริพระชนมพรรษา 89 พรรษา

ตลอดระยะเวลา 70 ปี แห่งการครองสิริราชสมบัติ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ทรงประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทยให้มีความอยู่ดีกินดี โดยได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารในภูมิภาคต่างๆ ทุกภาคทั่วประเทศ

ทำให้พระองค์ทรงเป็นที่เคารพรักของพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า รวมถึง พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตหัวหน้าตำรวจราชสำนักประจำ ผู้เคยติดตามเสด็จฯอย่างใกล้ชิดนานถึง 11 ปีกับ 11 เดือน

ปัจจุบัน พล.ต.อ.วสิษฐเป็นรองประธานที่ปรึกษา บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และมีผลงานเขียนของเขาออกมามากมาย ทั้งนวนิยายเกี่ยวกับวงการตำรวจ และอาชญากรรม โดยนำมาจากประสบการณ์จริง จนได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ.2541 ได้รับยกย่องว่าเป็นตำรวจตงฉินแห่งกรมตำรวจไทย ยุคปราบปรามคอมมิวนิสต์

Advertisement

ยังมีผลงานเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งตามเสด็จฯอีกมากมายหลายต่อหลายชิ้น

แต่บางเรื่องอาจจะยังไม่มีใครได้ยินที่ไหนมาก่อน

วันนี้ พล.ต.อ.วสิษฐพร้อมเปิดเผยตั้งเเต่วินาทีแรกของการเข้าเฝ้าฯ จนได้เป็นผู้ที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไว้วางพระราชหฤทัย จนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ

– เข้าเฝ้าฯครั้งแรก?

ตอนรับพระราชทานปริญญาบัตรที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี 2495 ตอนนั้นตื่นเต้นมาก และไม่คิดว่าจะได้เข้าเฝ้าฯอีก

ส่วนการเข้าเฝ้าฯที่เป็นเหตุให้ได้เข้ารับราชการอยู่กับพระองค์ท่านคือเมื่อประมาณปี 2510 ตอนนั้นผมเป็นตำรวจ ทำหน้าที่เป็นครูสอนวิชาประวัติศาสตร์และลัทธิคอมมิวนิสต์ให้กับตำรวจพลร่มที่หัวหิน พระองค์ท่านเสด็จฯไปที่ค่ายฝึก ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ได้เฝ้าฯโดยไม่ได้นึกไม่ได้ฝัน เพราะพระองค์ท่านเสด็จเข้าไปเพื่อพักผ่อนพระอิริยาบถที่ชายหาด หน้าพระราชนิเวศน์

ผมออกไปรับเสด็จตามระเบียบ ยืนอยู่ในแถวนายตำรวจที่เป็นครูของค่าย ผู้บังคับค่ายจะเบิกเฝ้ารายคน ตอนนั้นผมมียศเป็นพันตำรวจโท ยืนอยู่เป็นคนที่ 2 จากหัวแถว ตอนเขาถวายรายงานคนแรก พระองค์ทรงรับความเคารพเฉยๆ พอมาถึงผมถวายรายงาน บอกชื่อ พระองค์ก็ไม่พระดำเนินต่อ แต่ทรงถามว่ามาทำอะไรอยู่ที่นี่ ผมตอบว่ามาเป็นครูสอนวิชาประวัติศาสตร์และลัทธิคอมมิวนิสต์อยู่

ผมเพิ่งรู้ว่าพระองค์ทรงรู้จักผม เพราะว่าตอนนั้นผมเป็นนักเขียนแล้ว แล้วมีรายการโทรทัศน์หลายรายการ เป็นดารามาตั้งแต่ยังหนุ่ม สุดสัปดาห์นั้นได้รับพระราชทาน

พระราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานเลี้ยงในวังไกลกังวล ได้นั่งร่วมโต๊ะเสวยครั้งแรก

– ความรู้สึกเมื่อได้ร่วมโต๊ะเสวย?

แค่พระองค์ทรงรู้จักผมก็ตื่นเต้นแล้ว แต่ได้นั่งโต๊ะเสวยนี่คาดไม่ถึงเลยจริงๆ ผมนั่งอยู่เบื้องขวาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ แล้วก็ทำห้าแต้มบนโต๊ะเสวย

อาหารชุดเเรกเป็นไก่อบต้องกินแบบฝรั่ง ผมก็ไม่ประหม่ามาก เพราะสมเด็จฯท่านทรงพระกรุณา ทรงแย้มพระสรวลแจ่มใส รับสั่งด้วย เราก็คลายความวิตกกังวล แต่ว่าก็ตั้งใจเกินไปกลัวจะทำผิด ตอนเอามีดเฉือนไก่ มันกระเด็นไปนอกจาน เกือบตกลงไปในจานของสมเด็จฯ แต่พระองค์ทำเหมือนไม่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เสร็จแล้วก็ชวนคุย ผมก็เลยค่อยยังชั่ว แต่ตอนที่เอาไก่กลับมาใส่จานตัวเองก็ลำบากหน่อย

– เข้ามาเป็นตำรวจราชสำนักประจำได้ยังไง?

หลังจากได้เข้าเฝ้าฯคราวนั้น ปรากฏว่า พระองค์ท่านทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตามเสด็จฯทั้งๆ ที่ยังไม่มีตำแหน่งในวัง แรกๆ เสด็จฯทรงเยี่ยมประชาชนใกล้ๆ หัวหิน หลังจากนั้นก็เสด็จออกไปต่างจังหวัด เลยได้ตามเสด็จฯ

ไม่มีตำแหน่งอยู่ 3 ปี กระทั่งปี 2513 ถึงจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ ผมก็อยู่ 11 ปี 11 เดือนถึงจะกลับมารับราชการที่กรมตำรวจ

– ช่วงที่ได้ถวายงานใกล้ชิด มีความประทับใจอย่างไร?

หน้าที่ตำรวจราชสำนักประจำคือถวายความปลอดภัย ฉะนั้น เลยได้เห็นพระองค์ใกล้มาก ไม่ว่าเสด็จฯที่ไหนผมก็ได้ตามเสด็จฯด้วย

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ เพิ่งรู้ว่าเรามีพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงเป็นห่วงเป็นใยประชาชนมากเหลือเกิน เยี่ยมชาวเขาทุกหมู่บ้าน บางหมู่บ้านเดินเท้าเข้าไม่ได้ ต้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปลง

ตอนแรกผมไม่เข้าใจว่าทำไมเสด็จฯแล้วเสด็จฯอีก ตอนหลังจึงรู้ว่าไปถึงก็พระราชทานคำแนะนำเกี่ยวกับการครองชีพ ทำอย่างไรถึงจะกักน้ำไว้ใช้ได้ ดินที่มีควรปลูกพืชอะไร แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ชาวเขาที่เคยปลูกฝิ่น พระองค์ทรงแนะนำให้ปลูกพืชอย่างอื่นทดแทน บางหมู่บ้านเสด็จฯบ่อยเพราะพระองค์ทรงอยากเห็นความคืบหน้าหรืออุปสรรคหลังจากพระราชทานคำแนะนำแล้ว

การตามเสด็จฯทำให้ผมเข้าใจทีละน้อยว่า พระองค์ทรงเป็นห่วงคนไทย ไม่ว่าจะเป็นคนบนเขาหรือคนข้างล่าง การเสด็จฯทรงเยี่ยมชาวบ้านทำให้พระองค์ทรงทราบปัญหาที่แท้จริง ทรงได้ฟังจากปากของชาวบ้านเองจริงๆ จึงทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่รู้จักบ้านเมืองของพระองค์เองมากที่สุด

ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จฯภาคอีสานอย่างเป็นทางการ ตอนนั้น 2509-2510 เรื่อยมากระทั่ง 2525-2526 คอมมิวนิสต์ในพื้นที่อีสานเยอะ มีการรบกันตลอดเวลา ตำรวจ ทหาร และพลเรือนปีหนึ่งล้มตายนับร้อย บางปีเป็นพัน แต่พระองค์เสด็จฯไปพื้นที่อันตรายโดยไม่ห่วงตัวพระองค์เอง

ครั้งหนึ่ง เสด็จฯทรงเยี่ยมทหารที่ตั้งค่ายใกล้ๆ กับหมู่บ้านเพื่อดูแลความปลอดภัย ที่ตั้งค่ายนั้นอยู่ในวิถีกระสุนของฝ่ายตรงกันข้าม แต่พระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนิน ต้องเอาเฮลิคอปเตอร์ลงทีละเครื่อง ปล่อยลงแล้วก็ยกเครื่องไปไว้ที่อื่นเพราะถ้าปล่อยให้จอดบนเขา อาจจะถูกยิงได้

– ในหนังสือ “ชีวิตตำรวจ” มีบทหนึ่งที่พูดถึง “ราชการที่ปฏิบัติตามพระราชประสงค์” หมายถึงอะไร?

หน้าที่หลัก หน้าที่ตามกฎหมายของผมคือถวายความปลอดภัย แต่ว่ากฎหมายพระราชบัญญัตินายตำรวจพระราชสำนักคือ มาตราหนึ่งบอกชัดว่า พระองค์จะใช้ให้ทำอะไรก็ได้ สิ่งที่พระองค์ใช้ผมเป็นประจำคือ ให้ออกไปศึกษา ดูปัญหาของชาวบ้าน ครั้งหนึ่งชาวบ้าน จ.สิงห์บุรี ถวายฎีกา ว่า ได้นำที่นาไม่กี่ไร่ของตัวเองไปจำนอง ไม่มีสตางค์ใช้หนี้และอาจถูกยึดที่ดิน เขาจึงถวายฎีกา พระองค์ก็ให้ผมไปดู ผมก็ออกไปแล้วมากราบบังคมทูลว่าเป็นเรื่องจริง ก็ทรงพระกรุณาฯพระราชทานเงินให้ไปไถ่ที่ จำไม่ได้ว่ากี่หมื่นบาท ซึ่งสมัยนั้นถือว่าเยอะมาก

แต่พระองค์โปรดให้ใครก็ตามช่วยตัวเองก่อน ไม่ใช่รอให้พระองค์ช่วย ฉะนั้น ถ้าใครคิดว่าพระองค์จะเอาเงินของตัวเองไปแจก ไม่ใช่ พระราชทานเงินไปและให้ทำสัญญากู้ยืมเงิน (นายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง เป็นผู้ให้กู้ในสัญญา) ดอกเบี้ยที่ส่งนั้นให้ส่งเป็นข้าว ราษฎรรายนี้ส่งข้าวเปลือกมาที่สวนจิตรลดาไม่เคยขาด 1-2 ปี ข้าวเปลือกพระองค์ก็ส่งต่อไปที่โรงสีของหลวง เห็นว่าชาวนาซื่อตรง พระองค์ก็เลยรับสั่งว่าที่เหลือไม่ต้องส่ง ยกให้เลย นี่เป็นตัวอย่างภารกิจของผม ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องของตำรวจ

แต่ละปีมีฎีกาเป็นร้อยเป็นพันฉบับ ทุกฉบับพระเจ้าอยู่หัวจะทรงอ่าน ถ้าเสด็จฯที่ไหนชาวบ้านยื่นถวายกับมือ พระองค์ก็ทรงรับที่นั่น

– เสด็จฯต่างจังหวัด ทรงศึกษาธรรมบ่อยๆ?

พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงศึกษาธรรมะ และทรงศึกษาต่อเนื่องจนเป็นพระนิสัย ฉะนั้น เวลาเสด็จฯต่างจังหวัด ถ้าพระรูปไหนที่เป็นครูด้านกรรมฐาน พระองค์ต้องเสด็จฯทรงเยี่ยม หน้าที่ของผมตอนตามเสด็จฯคือ ออกไปสืบเสาะว่ามีพระประเภทนี้ที่วัดไหนบ้าง

หลายรูปเป็นพระที่มีชื่อของเมืองไทย จำนวนนี้มีหลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่, หลวงปู่สิม วัดถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่, ท่านอาจารย์แบน ธนากโร ที่วัดดอนธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร, อาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร และมีอีกหลายรูป มีรูปหนึ่งที่เป็นพระดังทางอีสาน หลวงปู่คำพัน ที่วัดมหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม ตอนนั้นยังไม่มีพระธาตุ

เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องไป “ล่าพระถวาย” ผมก็ไปเจอก่อนที่จะเชิญเสด็จฯให้ได้ไปทรงไหว้

– ปฏิบัติธรรมด้วย?

คิดว่าเข้าวังได้เป็นแค่ตำรวจยามเฉยๆ แต่ปรากฏว่าเมื่อรู้กันว่าพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ท่านทรงปฏิบัติธรรมะ พวกเรา ทหาร ตำรวจ พลเรือนที่อยู่ในวังก็ลุกขึ้นปฏิบัติกันหมด สมัยที่ผมอยู่สวนจิตรลดามีสภาพเหมือนวัด ว่างจากเวรทุกคนก็ลุกขึ้นมานั่งวิปัสสนา นั่งกรรมฐานกัน จนกระทั่งมีคนเรียกอย่างล้อๆ ว่า ไม่ใช่วังหรอก เป็นวัดจิตรลดาวนาราม

เเล้วพอเราลงมือปฏิบัติสมาธิตามพระองค์และความทราบถึงพระกรรณ ก็พระราชทานเป็นหนังสือบ้าง เทปบันทึกคำสอนของครูบาอาจารย์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะตัดต่อเทปใหม่ด้วยพระองค์เอง สมัยนั้นใช้วิธีหมุนฟัง ตรงไหนที่ควรตัดก็ต้องเอามีดโกนตัดแล้วเอาเทปปะใหม่ ทรงทำเองหมด พอสมบูรณ์แล้วก็ก๊อบปี้ไว้หลายชุด แล้วพระราชทานลงมาให้เรา

– ได้เข้าเฝ้าฯพระองค์ท่านครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?

นานแล้วครับ ตั้งแต่ก่อนจะทรงพระประชวร คือพอพ้นหน้าที่ปี 2524 ผมก็ไม่มีเหตุต้องเข้าเฝ้าฯ แต่ก็เป็นครั้งคราวที่ต้องเข้าไปเวลามีราชกิจเกี่ยวกับชาวบ้านที่พระองค์ทรงนึกว่าผมทำได้ ก็จะรับสั่งมาทางราชเลขาธิการบอกให้ผมไปช่วยดู ผมก็ถวายรายงานผ่านราชเลขาธิการ ไม่ได้กราบทูลฯโดยตรงกับพระองค์เลย

มีเข้าเฝ้าฯในโอกาสอื่นๆ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา นำหนังสือไปถวาย เช่น หนังสือชุด “ธนุส นิราลัย” ส่วนตอนมีพระอาการประชวรก็ไม่ได้เข้าเฝ้าฯ แต่ฟังจากพระอาการแล้วทั้งหมดคือพระองค์ไม่ทรงถนอมวรกาย ทุ่มเทให้กับการทำงาน ถ้าเราศึกษาพระราชดำรัส พระราชกรณียกิจก็จะรู้ว่า พระองค์ทรงทำอะไรทั้งหมดเพื่อคนไทยทั้งนั้น พวกเราทุกคนต้องถือเอาเป็นมรดกที่รับพระราชทานมาแล้วใช้ต่อ คือใครทำหน้าที่อะไรก็ทำไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ หรือพ่อค้าต้องทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเหมือนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงทำ เสียใจก็เสียใจ แต่ไม่ควรจะมานั่งเสียใจเฉยๆ แต่คิดถึงพระองค์แล้วต้องเจริญตามรอยพระยุคลบาทให้ได้

ผมก็ตั้งใจเช่นกันว่าในช่วงเวลาอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ก่อนที่ผมจะไม่อยู่แล้ว ถ้าทำอะไรที่ถวายพระเจ้าอยู่หัวได้ ผมจะทำถวายต่อไปเหมือนพระองค์ยังทรงอยู่กับเรา

– ตอนมีพระอาการประชวรครั้งแรก?

ตอนมีพระอาการประชวรครั้งแรกปี 2518 ผมยังทำงานอยู่กับพระองค์ ครั้งนั้นมีพระอาการประชวรหนักเกือบสิ้นพระชนม์ ที่เชียงใหม่ ตอนนั้นหมอที่เข้าไปถวายการรักษาเดินร้องไห้ออกมาทั้งนั้น เราต้องลุกขึ้นไปทำบุญคนละวัดถวายพระเจ้าอยู่หัว ผมตั้งใจจะบวชถวายด้วยซ้ำไป แต่พอพระองค์ทรงหายแล้วไม่ทรงยอมให้บวช

นี่เป็นการทรงพระประชวรครั้งแรก ที่ทรงพระประชวรเนื่องจากไม่ทรงสงวนเนื้อสงวนตัว ไปเยี่ยมชาวบ้านก็ทรงไปถึงในครัว ถึงในห้องนอน เขาทูลเกล้าฯถวายอะไรให้เสวยก็รับหมด ในที่สุดทรงรับเชื้อโรคมาจากป่า มีพระปรอทสูง 1 อาทิตย์เต็มๆ ในที่สุดพระองค์ก็ทรงหายพระอาการประชวร พอหายก็รับสั่งว่า นี่หมอไม่ได้รักษาฉันนะ ฉันหายเอง

– หลังพระองค์ท่านสวรรคต?

ผมรู้สึกเหมือนขาดอวัยวะสำคัญไปชิ้นหนึ่ง ที่สำคัญยิ่งกว่าหัวใจ เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาเกือบทำอะไรไม่ได้เลย ดูที่เขาคอมเมนต์ทางเฟซบุ๊กไปน้ำตาไหลไป ที่สัมภาษณ์อยู่ตอนนี้ก็จะพูดไม่ได้แล้ว (น้ำตาคลอ)

แต่ผมมาพิจารณาว่า เราคงจะมานั่งเสียใจกันไปเรื่อยๆ แบบนี้ไม่ได้ เมื่อไม่มีพระองค์แน่นอนแล้ว สิ่งที่คนไทยทุกคนที่รักพระองค์ควรจะทำคือมาศึกษาพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัวให้เข้าใจว่า พระองค์ทรงต้องการอะไร ซึ่งสิ่งที่ในหลวงพระองค์นี้ทรงต้องการมีอย่างเดียวคือ ความสุขของชาวบ้าน เมื่อเสด็จขึ้นพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2493 พระองค์ท่านทรงประกาศว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์แห่งมหาชนชาวสยาม” ไม่ใช่ประกาศเล่นๆ แต่คือสัญญาที่ให้ไว้กับคนไทย

ตลอด 70 ปี พระองค์ไม่เคยทรยศต่อสัญญาเลย พระองค์ท่านทรงสละพระวรกาย อุทิศเวลาทำงานหนักจนกระทั่งทรงพระประชวร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image