ครูไทย 4.0 (จบ) : โดย ดิเรก พรสีมา

ครู 3.0 จึงมีความรอบรู้ในเนื้อหาวิชาที่ตนสอนเป็นอย่างดี รู้ความสนใจ ความถนัด สติปัญญา และศักยภาพของผู้เรียนและสามารถจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัดและสติปัญญาของผู้เรียน มีความรอบรู้เกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ ทั้งแหล่งเรียนรู้บนสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อดิจิทัล ปราชญ์ชาวบ้าน พิพิธภัณฑ์ นิทรรศการ ผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญ และกระตุ้นให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ รวมทั้งจากพ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติๆ เพื่อนในสาขาวิชาต่างๆ แล้วนำความรู้ที่ได้มาแลกเปลี่ยนกันในชั้นเรียน ให้นักเรียนรักการเรียนรู้ รักการศึกษาค้นคว้า
ใฝ่เรียนใฝ่รู้ และเรียนรู้ด้วยตนเอง

การเรียนการสอนแบบ 3.0 จึงเน้นที่การเรียนมากกว่าการสอน (Learning-Oriented) ครูจึงใช้เวลาในการบรรยายหรือถ่ายทอดน้อยลง แต่ใช้เวลาตามตารางสอนไปเพื่อทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ เกิดความรู้ ความเข้าใจ ความมั่นใจในสิ่งที่เขาไปศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองให้มากขึ้น หรือที่เรียกว่า “สอนน้อยลง เรียนรู้มากขึ้น-Teach Less, Learn More = TLLM.”

นักเรียนที่เรียนรู้จากครู 3.0 ก็จะกลายเป็นนักเรียน 3.0 ส่วนผู้บริหารโรงเรียนที่บริหารโรงเรียนจนทำให้นักเรียนเข้าถึง Websites, YouTube, PowerPoint, LINE, Digital Learning Sources, Radio, TV Programs, Printed and Non-printed Materials, Local Wisdoms, Museums, Displays, Presentations, etc. และสามารถบริหารงานวิชาการ งบประมาณ บุคคล และบริหารทั่วไปให้ยืดหยุ่น ให้ผู้เรียนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพ ได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน ได้รับความรู้ที่เป็นปัจจุบัน ทันสมัย ทำให้ครูทุกคนเก่ง (Teacher Empowerment) ก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้บริหารโรงเรียน 3.0 ส่วนโรงเรียนที่สอนโดยครู 3.0 และบริหารโดยผู้บริหาร 3.0 ก็จะได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียน 3.0

การปรับเปลี่ยนจากครู 1.0 เป็นครู 2.0 รัฐบาลอาจลงทุนเพิ่มเพียงไม่มาก แต่การปรับเปลี่ยนจากครู 2.0 เป็นครู 3.0 ให้สำเร็จ รัฐบาลจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะลงทุนในส่วนที่เป็นสภาพแวดล้อมทางกายภาพเพื่อการเรียนรู้ (Physical Learning Environments) เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึง Websites, YouTube, PowerPoint, LINE, Digital Learning Sources, Museums, Displays, etc. และที่สำคัญ ครูจำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้ทันสมัยตลอดเวลาจึงจะรู้ความรู้และแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัย ครูที่สอนวิชาเดียวกัน ระดับชั้นเดียวกัน ในชุมชนที่ใกล้เคียงกัน และต่างมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศิษย์ให้ประสบความสำเร็จเหมือนกันจึงรวมตัวกันเป็นชุมชน (Community) เพื่อแลกเปลี่ยนและเรียนรู้จากกันและกันเป็นระยะ เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ จากวิทยากรหรือผู้รู้ร่วมกัน สร้างชุมชนวิชาชีพร่วมกันจนกลายเป็นชุมชนวิชาชีพ (Professional Learning Community= PLC)

Advertisement

นอกจากนั้น ผู้บริหารโรงเรียนก็ต้องพัฒนาตนเองให้สามารถจัดหา ปรับปรุง และพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนให้ทันสมัยและสามารถสนับสนุนการสอนของครู 3.0 และการเรียนรู้ของนักเรียน 3.0 ได้ ผู้บริหารโรงเรียนจึงจำเป็นต้องมีชุมชนวิชาชีพของตนเองเช่นกัน

ครู 1.0 ครู 2.0 หรือ ครู 3.0 เป็นครูที่มุ่งมั่นทำให้นักเรียนเรียนรู้ เข้าใจ และสามารถนำความรู้ (Knowledge) ทั้งที่อยู่ในรูปทฤษฎี หลักการ งานวิจัย กฎ ระเบียบ ประกาศ แนวปฏิบัติ ปทัสถาน ค่านิยม วัฒนธรรมเกี่ยวกับวิชาต่างๆ ที่เรียนในโรงเรียน และที่ปรากฏตามแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ทั้งแหล่งเรียนรู้ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ และแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ไปใช้ในการแก้ปัญหาและใช้ในชีวิตประจำวัน

เป็นครูที่ช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้และสามารถใช้ Knowledge ที่มีอยู่แล้ว ค้นพบแล้วให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของผู้เรียน

พอก้าวย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เทคโนโลยีโรบอต (Robot Technology) ก้าวหน้าและมีอัตราเร่งของการพัฒนาที่สูงมาก มีการนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence =AI) มาใช้ในการประดิษฐ์คิดค้น สร้างนวัตกรรม และการบริหารจัดการ ทำให้มนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมด้านต่างๆ ได้รวดเร็วเกินความคาดหมายของมนุษย์ในหลายๆ เรื่อง การสอนให้นักเรียนเป็นนักเรียน 3.0 จึงไม่เพียงพอ ครูในศตวรรษที่ 21 นอกจากเป็น ครู 1.0 ครู 2.0 และครู 3.0 แล้ว ยังต้องปรับเปลี่ยนตนเองให้เป็นครู 4.0 ด้วยจึงจะสามารถทำให้นักเรียนกลายเป็นนักเรียน 4.0 และสามารถดำรงตนให้ประสบความสำเร็จได้ในศตวรรษที่ 21

ครู 4.0 จะใช้สมรรถนะที่ครูมีอยู่ในการทำให้นักเรียนกลายเป็นนักเรียน 4.0 ด้วยการเพิ่มกิจกรรมการเรียนรู้ที่จะทำให้นักเรียนได้รับทักษะที่จำเป็นสำหรับ ศว.ที่ 21 คือทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การคิดสร้างสรรค์ การสร้างนวัตกรรม การเรียนและการทำงานร่วมกันเป็นทีม การมีภาวะผู้นำ การสื่อสาร การใช้ข้อมูลและสารสนเทศ การติดต่อสื่อสารทางไกล การใช้คอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ การคิดคำนวณ การสร้างอาชีพและการเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือที่พวกเราเรียกกันว่า “7Cs”

และนอกจากนั้น ต้องจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่บูรณาการการพัฒนาทักษะทางสังคม คุณธรรม จริยธรรม คารวธรรม การสร้างเสริมสุขภาพอนามัย การเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศและของโลก การจัดการเกี่ยวกับเศรษฐกิจของตนเองและครอบครัว การเป็นผู้ประกอบการใหม่ การรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การป้องกันภาวะโลกร้อน การยึดมั่นในขนบธรรมเนียม ประเพณี และจรรยาบรรณวิชาชีพเข้าไปในทุกวิชาที่สอนด้วย

ครู 4.0 จึงเน้นที่การสร้างชุมชนแห่งความสงสัย กระตือรือร้น อยากเรียนอยากรู้ และอยากได้คำตอบขึ้นในชั้นเรียน ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนทุกห้องเป็นห้องเรียนแห่งความสงสัย อยากเรียนอยากรู้ อยากหาคำตอบ “Community of Inquiry” และนักเรียนก็จะลงมือค้นหาคำตอบที่ตนสงสัยและอยากรู้เป็นกลุ่ม ค้นหาคำตอบผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่เรียกว่าการเรียนรู้โดยยึดปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning = PBL) คือเริ่มต้นจากความสงสัย อยากเรียนอยากรู้แล้วก็จะพัฒนาเป็นปัญหาที่ต้องการคำตอบ (Problem) และจากปัญหาที่ต้องการคำตอบก็จะพัฒนาไปสู่การค้นหาคำตอบ ลงมือค้นหาคำตอบ โดยใช้สมรรถนะความเป็นนักเรียน 3.0 นักเรียน 2.0 นักเรียน 1.0 เทคโนโลยีโรบอต และปัญญาประดิษฐ์เป็นตัวช่วย

ผู้เรียนแต่ละคนจึงไม่อยู่นิ่ง แต่กระตือรือร้นและคิดค้นหาความรู้และคำตอบอยู่ตลอดเวลา (Active Learner) ซึ่งในกระบวนการของการเรียนรู้โดยยึดปัญหาเป็นฐาน นักเรียนอาจค้นหาคำตอบจากห้องทดลอง ห้องปฏิบัติการ สถานประกอบการ แปลงสาธิต โรงงาน บริษัท ธุรกิจของรัฐ หรือของเอกชน นักเรียนได้ค้นหาคำตอบจากสถานที่จริง สถานประกอบการจริงเพื่อให้ได้คำตอบที่เป็นจริง ทำให้เกิดคำว่า Work-based Learning หรือ Work-integrated Learning หรือ Site-based Learning ขึ้นทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน สถานประกอบการจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนของนักเรียน และจากการเรียนโดยยึดปัญหาเป็นฐานนี้ก็จะทำให้นักเรียนและ/หรือครูค้นพบความรู้ใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ใหม่ และสร้างนวัตกรรมใหม่

การเรียนการสอนของครู 4.0 จึงเป็นการเรียนการสอนที่เน้นการคิดสร้างสรรค์-Creative Learning ที่จะนำไปสู่การผลิตนวัตกรรม-Innovation

ผู้บริหารโรงเรียนที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ครู 4.0 จัดการเรียนการสอนได้สำเร็จก็จะกลายเป็นผู้บริหารโรงเรียน 4.0 และโรงเรียนที่สอนและบริหารโดยครูและผู้บริหาร 4.0 ก็จะกลายเป็นโรงเรียน 4.0

ประเทศที่ผลักดันให้โรงเรียนในประเทศของตนเป็นโรงเรียน 4.0 จึงออกกฎหมายกำหนดให้ภาครัฐและเอกชนถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ของเยาวชน สถานประกอบการของรัฐและเอกชน บริษัท ห้างร้าน พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ จึงต้องจัดให้มีห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ ห้องสาธิต และวิทยากรเพื่อให้ความรู้แก่นักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ที่จะมาดูงาน มาศึกษา มาค้นคว้า มาหาความรู้ และมาทดลองที่สถานประกอบการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ภาครัฐกำหนดให้สถานประกอบการได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบต่างๆ

หลายประเทศอยากได้โรงเรียน 4.0 อยากได้ผู้บริหารโรงเรียน 4.0 อยากได้ครู 4.0 อยากได้นักเรียน 4.0 และอยากให้ประชาชนของตนกลายเป็นประชาชน 4.0 เพื่อที่จะผลักดันให้ประเทศของตนกลายเป็นประเทศ 4.0 และผลักดันหลายๆ เรื่องในประเทศให้เป็น 4.0 ตามมา

เขียนมาถึงตรงนี้ ผู้เขียนเองเกิดคำถามขึ้นในใจหลายประการ จนไม่อาจจะเขียนอะไรต่อไปได้จนกว่าจะได้คำตอบจากท่านผู้อ่าน

อยากถามท่านที่เป็นครูอยู่ ณ วันนี้ว่า ท่านคิดว่าท่านเป็นครู 4.0 แล้วหรือยัง ช่วยยกมือขึ้นหน่อยได้ไหมครับ ขอถามท่านที่มีคุณพ่อ คุณแม่ ลูก หลาน ญาติ หรือเพื่อนๆ เป็นครูว่าคุณครูเหล่านั้นเป็นครู 4.0 หรือยัง ถามผู้ใช้ครูว่าครูของท่านเป็นครู 4.0 แล้วกี่เปอร์เซ็นต์ ถามผู้ผลิตครูว่าสถาบันของท่านพร้อมที่จะผลิตครู 4.0 แล้วหรือยัง ถามท่านที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการศึกษา รวมทั้งรัฐบาลด้วยว่าท่านอยากได้ครูไทย 4.0 ไหมครับ

จุดเริ่มต้นอยู่ที่ไหน ถ้าครูและผู้บริหารโรงเรียนของเราไม่พัฒนาตนเองให้เป็นครู 4.0 และผู้บริหารโรงเรียน 4.0 แล้วนักเรียนของเราจะกลายเป็นนักเรียน 4.0 ได้ไหม ถ้านักเรียนของเราไม่เป็นนักเรียน 4.0 คนไทยจะกลายเป็นคนไทย 4.0 ได้ไหม ขอคำตอบด้วยครับ

ได้เวลาหรือยังครับที่พวกเราจะต้องมารวมพลังกันผลักดันให้ประเทศของเราได้มีครูไทยและผู้บริหารโรงเรียนไทย 4.0 จะทำได้ไหมครับ จะได้คำตอบมาอย่างไรครับ ท่านใดจะตอบครับ เกิดปัญหาที่ต้องการคำตอบแล้วครับ

ดิเรก พรสีมา
อดีตประธานกรรมการคุรุสภา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image