ย้ายแล้วเงียบๆ ‘อนุสาวรีย์หลักสี่’ สัญลักษณ์ปราบกบฏบวรเดช

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.จิรฐา วัฒนประดิษฐ์ ผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ส่งภาพประชาสัมพันธ์เรื่อง รฟม.จัดพิธีสักการะอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพื่อเตรียมการย้ายที่ตั้งอนุสาวรีย์ฯ และก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) วันที่ 3 พฤศจิกายน ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน เวลา 09.00 น. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยนายกิตติ เอกวัลลภ ผู้จัดการโครงการสัญญาที่ 1 โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต พร้อมด้วยผู้แทนบริษัทที่ปรึกษา PCGRN บริษัท อิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา สัญญาที่ 1 และผู้แทนกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ กองทัพบก จัดพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบำเพ็ญอุทิศกุศลแด่บรรพชนทหารหาญ เพื่อดำเนินการย้ายที่ตั้งอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญและก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ณ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การย้ายอนุสาวรีย์ฯในครั้งนี้ รฟม.ไม่ได้แจ้งสื่อมวลชนแต่อย่างใด และใช้วิธีทำพิธีสักการะอย่างเงียบเชียบ ก่อนจะส่งภาพให้สื่อมวลชน เพราะไม่ต้องการให้เป็นประเด็นทางสังคม โดยได้เคลื่อนย้ายจากตำแหน่งเดิมไปทางทิศเหนือ 45 องศา ฝั่งถนนพหลโยธินขาออก มุ่งหน้าสะพานใหม่ เพื่อไม่ให้กระทบกับโครงสร้างสถานีวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน

ทั้งนี้ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญเป็นอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่ ณ วงเวียนหลักสี่ จุดตัดระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนแจ้งวัฒนะและถนนรามอินทรา ตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญจัดสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองการปราบกบฏบวรเดช โดยมีการบรรจุอัฐิทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ภายในรวม 17 นาย จึงมีชื่อเรียกอื่นๆ ได้แก่ อนุสาวรีย์ปราบกบฏ อนุสาวรีย์ 17 ทหารและตำรวจ อนุสาวรีย์หลักสี่ หรืออนุสาวรีย์หลวงอำนวยสงคราม

โดยอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญได้รับการออกแบบโดยหลวงนฤมิตรเลขการ อาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โดยยึดหลักทางการเมืองของรัฐบาล 5 ประการ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กองทัพ และรัฐธรรมนูญ โดยถูกออกแบบให้คล้ายเสากระสุนปืนใหญ่ ตั้งอยู่บนฐานคอนกรีตแปดเหลี่ยม มีกลีบบัวประดับขึ้นไปสองชั้น ยอดของกลีบบัวมีพานรัฐธรรมนูญ สะท้อนการสละชีพเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ผนังด้านหน้าจารึกรายชื่อทหารและตำรวจที่เสียชีวิต การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2479 มีการทำพิธีเปิดในวันที่ 15 ตุลาคมปีเดียวกัน

Advertisement

มีการปรับปรุงพื้นที่บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญอยู่หลายครั้งโดยกรมทางหลวง เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดโดยรอบอนุสาวรีย์ อาทิ การปรับภูมิทัศน์เป็นสี่แยกและการขุดอุโมงค์ลอดอนุสาวรีย์ ในอนาคตมีโครงการก่อสร้างสะพานลอยข้างอนุสาวรีย์เพื่อเชื่อมต่อถนนแจ้งวัฒนะและถนนรามอินทรา และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอส (สายสีเขียว) และรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ อ่านเพิ่มเติมได้ในณัฐพล ใจจริง,กบฎบวรเดช : เบื้องแรกปฎิปักษ์ปฎิวัติสยาม 2475. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2559 หน้า 248-256

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image