กสม.ยื่น กรธ. รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไร้สัญชาติ-คนต่างด้าว

“เตือนใจ” ชงข้อเสนอแนะต่อ กรธ.ขอให้รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไร้สัญชาติ คนต่างด้าว พร้อมกำหนดให้เพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการปฏิรูปสิทธิชุมชน –ทรัพยากรธรรมชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ยื่นความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรต่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อขอปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในร่างรัฐธรรมนูญ (ร่างเบื้องต้น) มีสาระสำคัญดังนี้ ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหหมายสูงสุดของประเทศ ควรรับรองหลักการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคไม่ต่ำไปกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ได้เคยรับรองไว้ โดยเฉพาะบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เป็นการวางหลักการพื้นฐานที่สำคัญทางด้านสิทธิมนุษยชนสากลของประเทศในด้านการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นคนต่างชาติ คนต่างด้าว คนไร้สัญชาติ หรือพลเมืองไทยก็ตาม

บทบัญญัติว่าด้วยความผูกพันของรัฐกับสิทธิและเสรีภาพซึ่งรัฐธรรมนูญได้ให้การรับรอง โดยกำหนดให้สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การบังคับกฎหมายและการตีความกฎหมายทั้งปวง

ขณะเดียวกันเห็นว่าควรรับรองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยที่เกี่ยวกับสิทธิชุมชนอื่นๆ เพื่อให้การใช้สิทธิชุมชนของชุมชนมีความสมบูรณ์ ประกอบด้วย สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการที่เกี่ยวข้องกับชุมชน สิทธิที่จะได้รับข้อมูล คำชี้แจง เหตุผลก่อนการอนุญาตโครงการ ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้ส่วนเสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับชุมชน การมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การวางผังเมือง การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดินและการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้ส่วนเสียสำคัญของประชาชน

Advertisement

รวมทั้งสิทธิการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของรัฐอันอาจมีผลกระทบต่อชุมชน สิทธิในการเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และได้รับการแจ้งผลการพิจารณาในระยะเวลาที่รวดเร็ว และสิทธิที่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรอื่นของรัฐ เพื่อให้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และการใช้สิทธิดังกล่าวย่อมได้รับความคุ้มครอง นอกจากนี้ยังเห็นควรให้กำหนดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปด้านต่างๆ เช่น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน ไว้เป็นหมวดการปฏิรูป แทนการกำหนดไว้เป็นบทเฉพาะกาลเพื่อให้เกิดกลไก รวมทั้งวางกรอบการปฏิรูปให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image