‘ประเทศไทย’ กับ เสรีภาพของอินเตอร์เน็ต2559 โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ไ ม่นานมานี้ องค์กร Freedom House ซึ่งเป็นองค์กรที่ส่งเสริมและติดตามประเด็นเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตยทั่วโลกได้ตีพิมพ์รายงานฉบับล่าสุดในเรื่อง Freedom on the Net 2016 ถือเป็นรายงานฉบับที่หกในเรื่องนี้ และเป็นโครงการล่าสุดในการวัดประเมินประชาธิปไตยขององค์กร จากเดิมที่องค์กรนี้มีชื่อเสียงในเรื่องของการวัดประเมินประชาธิปไตยในสองเรื่องมาอย่างยาวนาน นั่นคือ Freedom in the World และ Freedom of the Press หรือเสรีภาพของแต่ละประเทศในภาพรวม และเสรีภาพสื่อของแต่ละประเทศ

ใครที่ไม่สนใจเรื่องนี้ก็คงจะไม่สนใจต่อไป หรือมองว่าเป็นเครื่องมือในการครอบงำของสหรัฐ แต่สำหรับคนที่สนใจเรื่องของการพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตย กิจกรรมการวัดประเมินขององค์กรนี้ และโดยเฉพาะในรายงานฉบับล่าสุดในเรื่องเสรีภาพใน/ของอินเตอร์เน็ตนั้นมีประเด็นที่น่าเรียนรู้อยู่หลายประเด็นทีเดียว อย่าลืมว่า รายงานขององค์กรที่เขาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้มาเจ็ดสิบกว่าปีนี้ ย่อมมีส่วนสำคัญในการวัดประเมินสถานะของประเทศของเราในประชาคมโลกอยู่ดี และฝ่ายความมั่นคงของเราก็คงจะต้องคิดหนักและทำงานหนักเวลาที่จะต้องตอบโต้ข้อกังวลของพวกเขาอย่างเป็นจริงเป็นจังในเวทีโลก ส่วนในกรณีบ้านเราก็คงต้องดูกันต่อไปว่าข้อห่วงใยขององค์กรนี้จะส่งผลสะเทือนมากน้อยแค่ไหน

ประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือ อาจกล่าวได้ว่าอินเตอร์เน็ตนั้นเข้ามามีส่วนสำคัญในวิถีชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อยๆ จากยุคหนึ่งที่เราอาจจะรู้สึกว่าโลกของอินเตอร์เน็ตเป็นเพียง “โลกใหม่” หรือ “โลกเสมือน” ที่เราอาจจะทำอะไรบ้าๆ บอๆ ก็ได้ ไม่มีใครถือสา อาทิ อยากจะ “สมมุติ” ตัวเองเป็นอะไรก็ได้ มาสู่โลกที่ในวันนี้เชื่อมต่อกับโลกนอกอินเตอร์เน็ตอย่างสลับซับซ้อน จนเราไม่แน่ใจแล้วว่าตกลงเรามีเสรีภาพในโลกอินเตอร์เน็ตจริงไหม และมีส่วนไหนในโลกอินเตอร์เน็ตที่ไม่จริง

รูปธรรมที่สำคัญที่เราเริ่มเห็นว่าโลกในอินเตอร์เน็ตนั้นอาจจะเป็นส่วนเชื่อมต่อหรือส่วนขยายจากโลกของความเป็นจริง และจริงเท่าๆ กับโลกนอกอินเตอร์เน็ต อย่างในบ้านเราก็เช่นเรื่องของการที่เราสามารถทำธุรกรรมในโลกออนไลน์ เราจำเป็นต้องลงทะเบียนโลกออนไลน์ด้วยชื่อจริง เราถูกจับดำเนินคดีจากการแสดงความเห็นในโลกออนไลน์ หรือโลกออนไลน์นำไปสู่ความร่วมมือหรือความขัดแย้งในความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ที่อยู่ในโลกนอกอินเตอร์เน็ต (ซึ่งผมไม่สามารถพูดง่ายๆ ว่าโลกนอกอินเตอร์เน็ตเป็นโลกจริง แล้วโลกในอินเตอร์เน็ตเป็นโลกไม่จริงอีกต่อไป)

Advertisement

   ผมอยากนำสรุปเรียนท่านผู้อ่านในเรื่องของรายงานฉบับล่าสุดของ Freedom House สักสามเรื่อง เรื่องแรกคือวิธีการในการวัดประเมินเสรีภาพของอินเตอร์เน็ต เรื่องที่สองคือ ภาพรวมของข้อค้นพบเรื่องเสรีภาพของอินเตอร์เน็ตในปีนี้ และส่วนสุดท้ายคือ ข้อค้นพบและสถานะของเสรีภาพของอินเตอร์เน็ตปีล่าสุดของประเทศไทย

วิธีการวัดประเมินเสรีภาพของอินเตอร์เน็ต-ในรายงานฉบับนี้ มีการคัดสรรประเทศ 65 ประเทศทั่วโลก และมีการวัดประเมินเสรีภาพของอินเตอร์เน็ต จากทีมงานขององค์กร Freedom House เอง และเครือข่ายของพวกเขาที่อยู่ในแต่ละประเทศเหล่านั้น ที่เป็นทั้งนักวิชาการและผู้คนที่เกี่ยวข้องในโลกอินเตอร์เน็ต ทั้งที่ใส่เนื้อหาหรือทำงานด้านเทคนิครวมทั้งสื่อมวลชน ทั้งนี้ช่วงเวลาที่เก็บข้อมูลในรอบนี้คือ ช่วงมิถุนายนของปีที่แล้วจนถึงพฤษภาคมของปีนี้ (แต่ในบางเรื่องก็อาจจะเกี่ยวเนื่องมาถึงก่อนที่รายงานจะตีพิมพ์คือถึงเดือนกันยายน)

ส่วนรากฐานของประเด็นในเรื่องของเสรีภาพนั้นมาจากมาตรา 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ยืนยันว่า “บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะยึดมั่นในความเห็นปราศจากการสอดแทรกและที่แสวงหารับตลอดจนแจ้งข่าว รวมทั้งความคิดเห็นผ่านสื่อใดๆ และโดยมิต้องคำนึงถึงเขตแดน” (ดูรายละเอียดได้จาก http://www.lexilogos.com/declaration/thai.htm)

Advertisement

สิ่งที่ทางโครงการฯสนใจเป็นพิเศษคือเรื่องของการส่งข้อมูลหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และการสื่อสารทางการเมืองต่างๆ รวมทั้งการปกป้องสิทธิของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ทั้งในเรื่องของความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพจากการจัดการทางกฎหมายและวิธีการนอกเหนือกฎหมายต่อผู้ใช้อินเตอร์เน็ต จากกิจกรรมต่างๆ ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่อยู่ในโลกออนไลน์

  ทั้งนี้ การวัดประเมินเสรีภาพของอินเตอร์เน็ตนี้ก็ยอมรับว่าในแต่ละประเทศนั้นอาจจะมีการกำกับดูแลอินเตอร์เน็ต แต่การกำกับดูแลดังกล่าวจะต้องเป็นไปอย่างมีความชอบธรรม ในความหมายที่ว่าการกำกับดูแลจะต้องอยู่ในเงื่อนไขสถานการณ์ที่มีการระบุไว้อย่างชัดเจน ไม่ใช่ครอบคลุมอย่างกว้างขวาง และจะต้องมีลักษณะการกำกับดูแลที่คำนึงถึงมาตรฐานของสิทธิมนุษยชนสากล หลักการนิติรัฐ-นิติธรรม หลักการแห่งความจำเป็นในการใช้กฎหมาย และหลักการของการลงโทษทางกฎหมายที่ได้สัดได้ส่วนกับความผิด (ไม่ใช่เน้นแต่ยาแรง) นอกจากนี้การเซ็นเซอร์และการสอดส่องดูแลจะต้องมีลักษณะโปร่งใส รวมทั้งมีช่องทางให้มีการร้องเรียนเรียกร้องความเป็นธรรมได้

คําถามในการวัดประเมินเสรีภาพของอินเตอร์เน็ตนั้นแบ่งออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ คือ

1.อุปสรรคในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ซึ่งรวมไปถึงตั้งแต่ อุปสรรคทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือสถานะทางเศรษฐกิจ การควบคุมทางกฎหมาย และการเป็นเจ้าของกิจการอินเตอร์เน็ต รวมทั้งความเป็นอิสระขององค์กรที่กำกับดูแลในเรื่องอินเตอร์เน็ต

2.การจำกัดเนื้อหา ได้แก่เรื่องของเนื้อหาของกฎหมายที่ใช้ควบคุมอินเตอร์เน็ต ลักษณะทางเทคนิคของการคัดกรองข้อมูลและสกัดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ การเซ็นเซอร์ตัวเอง ความหลากหลายของสื่อออนไลน์ และการใช้สื่อดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมือง

3.การละเมิดสิทธิของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต โดยพิจารณาถึงการสอดส่อง ความเป็นส่วนตัว และผลจากการจัดการกิจกรรมออนไลน์ เช่น การจับกุมคุมขัง การใช้วิธีนอกกฎหมาย และการการโจมตีออนไลน์

คะแนนรวมของการวัดประเมินจะเต็มร้อย ถ้าเสรีภาพมากก็จะคะแนนน้อย คะแนนกลางๆ (31-60) คือไม่ค่อยมีเสรีภาพ และจาก 61 ขึ้นไปก็คือไม่มีเสรีภาพของอินเตอร์เน็ต

ภาพรวมของเสรีภาพของอินเตอร์เน็ตในโลก-ข้อค้นพบที่สำคัญในปีนี้คือ เสรีภาพของอินเตอร์เน็ตในโลกนี้ตกต่ำลงต่อเนื่องเป็นปีที่หก โดยร้อยละ 67 ของประเทศที่มีการวัดประเมินนั้น ประชาชนอยู่ในประเทศที่ไม่มีเสรีภาพในอินเตอร์เน็ต มีการเซ็นเซอร์ความเห็นของผู้ที่วิจารณ์ผู้มีอำนาจในประเทศเหล่านั้น ในปีนี้สิ่งที่เห็นชัดก็คือ ผู้ที่ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ต้องเผชิญกับการลงโทษอย่างที่ไม่เคย เกิดขึ้นมาก่อน มีประเทศถึง 38 ประเทศที่มีการจับกุมผู้คนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ รวมไปถึงเรื่องของการจับกุมผู้คนที่ตีพิมพ์ แบ่งปัน หรือเพียงกดแสดงความเห็นด้วยกับข้อมูลเหล่านั้น

นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลของประเทศจำนวนมากยังเริ่มที่จะติดตามและพยายามเข้ากำกับสื่อประเภทที่เป็นโปรแกรมการสนทนาระหว่างประชาชนด้วยกันเอง อาทิ WhatsApp และ Telegram ไม่นับ Facebook Messenger หรือ Line ที่เราก็ทราบดีว่ารัฐบาลอย่างประเทศของเรานั้นพยายามจะติดตามตรวจสอบมาโดยตลอด

ดังที่หัวข้อหลักของรายงานในปีนี้ใช้ชื่อว่า “การปิดปากโปรแกรมสื่อสารระหว่างประชาชน” (Silencing the Messenger: Communication Apps under Pressure) รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้จาก https://freedomhouse.org/report/freedom-net/freedom-net-2016 ประเทศไทยอยู่ในสถานะไม่มีเสรีภาพของอินเตอร์เน็ตในปีนี้ โดยได้คะแนนที่ 66 (ดูที่ https://freedomhouse.org/report/freedom-net/2016/thailand) นับจาก 2011 มาจนถึงปีนี้ มี 2013 อยู่ปีเดียวที่อยู่ในสถานะมีเสรีภาพบางส่วน นอกนั้นทุกปีอยู่ในสถานะไม่มีเสรีภาพมาโดยตลอด จากจำนวนประชากร ร้อยละ 39 ที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตของ 68 ล้านคน ข้อค้นพบหลักในปีนี้คือ โปรแกรมสื่อสารในโลกออนไลน์ถูกปิดกั้น มีการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารทางการเมือง มีการจับกุมผู้ใช้อินเตอร์เน็ต

ส่วนคะแนนย่อยนั้น เราสอบผ่านในเรื่องของโครงข่ายของอินเตอร์เน็ตที่มีคนเข้าถึง คือได้ 10/25 เราสอบไม่ผ่านในเรื่องของการจำกัดเนื้อหาในอินเตอร์เน็ต คือได้ 23/35 และเราสอบตกมากในเรื่องของการละเมิดสิทธิของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต คือได้ 33/40

ถ้ าดูข้อค้นพบหลักที่ถูกอ้างอิงจากกรณีของไทยที่ใช้ให้โลกเห็นนั้น มีประเด็นหลักอยู่สามประเด็นที่เขาเป็นห่วงกันในรอบปีที่ผ่านมา

หนึ่งคือ มีการดำเนินคดีกับผู้ใช้สื่อออนไลน์โดยกรณีที่สำคัญคือเมื่อมีการกดไลค์ในโปรแกรมเฟซบุ๊ก ซึ่งถือว่าจัดอยู่ในเรื่องของการดำเนินคดีและคุมขังกิจกรรมออนไลน์ ทั้งนี้ รวมไปถึงกระบวนการนอกอำนาจศาลต่างๆ ในการข่มขู่ผู้ที่แสดงทรรศนะในโลกอินเตอร์เน็ต มีหลายกรณีที่ถูกเชิญตัวไปทำความเข้าใจโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหายไปหลายวันในลักษณะที่ก่ำกึ่งว่าเป็นการใช้กฎหมายเกินกว่าเหตุหรือไม่ (อาทิ ระยะเวลาคุมตัว)

สองคือ เรื่องของการประเมินในด้านกฎหมายที่แบ่งเป็นสองเรื่อง หนึ่งคือ เรื่อของการเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับกิจกรรมคอมพิวเตอร์ที่จะอนุญาตให้มีการเซ็นเซอร์เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในลักษณะที่อาจจะกระทบไปถึงข้อมูลที่มีการใส่รหัสความปลอดภัยเอาไว้  และอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องของการลงโทษหรือขู่ว่าจะมีการลงโทษอย่างเป็นทางการกับการสนทนาออนไลน์ในช่วงที่มีการรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับการสนับสนุนจากระบอบรัฐประหารเมื่อปีที่ผ่านมาตาม พ.ร.บ.การลงประชามติ

สามคือ เรื่องของการจำกัดการเชื่อมต่อที่มีการพยายามเสนอโครงการซิงเกิลเกตเวย์ ที่ถึงแม้จะมีการยุติการนำเสนอไปในช่วงนี้หลังจากมีการรณรงค์คัดค้านอย่างหนัก แต่คนที่คัดค้านก็ยังไม่วางใจ รายงานฉบับนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของแต่ละประเทศ หรือจัดระดับของรัฐบาลแต่ละประเทศโดยตรง เขาต้องการจะเสนอรายงานว่าผู้คนแต่ละประเทศตกอยู่ในสถานการณ์อย่างไร ทั้งนั้น เพราะสถานการณ์เรื่องของเสรีภาพของอินเตอร์เน็ตอาจเกี่ยวเนื่องไปถึงเรื่องของตัวแสดงนอกภาครัฐ หรือแม้กระทั่งเครือข่ายอาชญากร

และจากที่ผมอ่านรายงานแล้ว ผมก็คิดว่า ภาพการประเมินเสรีภาพของอินเตอร์เน็ตนั้นมันก็สะท้อนคุณค่าของเสรีภาพและสิทธิต่างๆ ที่เรามีให้กับสังคมการเมืองและสังคมวัฒนธรรมของเราเองด้วย เราต้องมาคิดด้วยว่า เราจะโทษแต่ฝ่ายรัฐหรือโครงสร้างกฎหมาย หรือเราต้องมาดูตัวเราว่า
เราเผลอแชร์ เผลอไลค์ข้อมูลอะไรที่เราเองก็ไม่ได้มีความเข้าใจทั้งหมดไหม แล้วมันส่งเสริมความขัดแย้งแตกแยกในสังคมทั้งที่เราไม่รู้ตัวไหม และส่วนหนึ่งจะกลายเป็นข้ออ้างให้มีการเสนอกฎหมายที่ควบคุมเสรีภาพของพวกเรากันเอง

ทั้งนี้ เพราะเราไม่ช่วยกันกำกับดูแลกันเองหรือไม่ เรื่องเหล่านี้แม้ว่าจะไม่ใช่จุดเน้นของรายงานฉบับนี้ นั่นคือเรื่องของสภาวะทางสังคมที่อาจมีส่วนสร้างความขัดแย้ง อาทิ ความรุนแรงทางภาษา และการแสดงออกซึ่งความเกลียดชังในโลกออนไลน์

สําหรับผมคำถามสำคัญไม่ได้จบลงที่ว่า เสรีภาพต้องมาพร้อมความรับผิดชอบ แต่ต้องตั้งคำถามด้วยว่าเสรีภาพนั้นต้องมาจากความรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่โยนความรับผิดชอบไปที่หน่วยงานที่เรากำกับดูแลไม่ได้ ดังนั้น เรื่องเสรีภาพของอินเตอร์เน็ตนั้นแม้ว่าในระดับโลก รัฐบาลที่ผลักดันโครงสร้างกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายย่อมจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ในประชาคมโลก

แต่ในส่วนของระดับสังคมนั้น การพยายามช่วยกันยกระดับการใช้อินเตอร์เน็ต และการถกเถียงประเด็นกันอย่างอารยะมากกว่าเน้นไปที่ความเกลียดชังนั้นก็น่าจะยกระดับมิติทางสังคมให้เพิ่มขึ้น และเป็นแรงกดดันไม่ให้หน่วยงานความมั่นคงนำไปอ้างการกำกับดูแลจากภายนอกเครือข่ายอินเตอร์เน็ตด้วยกันเองได้ในระยะยาว

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือ เราเองก็ขาดแคลนการทำการสำรวจภูมิทัศน์ของโลกอินเตอร์เน็ตอย่างเป็นระบบ ว่าในปัจจุบันนี้โลกอินเตอร์เน็ตในสังคมไทยมีลักษณะอย่างไร นอกไปจากข้อมูลทางสถิติ เรายังขาดแคลนความเข้าใจทางสังคมวิทยาในเรื่องของโครงสร้างทางสังคมและการเมืองในโลกอินเตอร์เน็ต และความเข้าใจความเชื่อมต่อของโลกออนไลน์และโลกนอกอินเตอร์เน็ตอย่างเป็นระบบ

ในทางการเมืองและการเมืองวัฒนธรรมนั้น ถ้าประชากรในประเทศเข้ามาในโลกอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ความเชื่อเดิมที่ว่าอินเตอร์เน็ตเป็นของคนกลุ่มเดียวจะลดลง แต่การต่อสู้ในการครอบงำกัน หรือนำเสนอรสนิยมของฝ่ายตัวเองให้กลายเป็นรสนิยมหลัก อาจจะเป็นเรื่องที่ทำให้เราเห็นมากขึ้น

เราอาจอยู่ในโลกที่มีความพยายามยกระดับภาพลักษณ์ของสื่ออินเตอร์เน็ตบางอย่างให้ดูน่าเชื่อถือกว่าสื่อแบบอื่น ทั้งที่อาจไม่ได้มาจากเนื้อหาสาระจริง แต่มาจากภาพลักษณ์ของการดีไซน์ให้ดูดี และเราก็อาจจะเจอกับสื่อใหม่ๆ ประเภทที่เราเชื่อว่าหาสาระไม่ได้ แต่มีคนดูและแชร์กันเป็นล้าน และอาจจะกำหนดความรู้สึกนึกคิดหรือรสนิยมของเราโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน เรื่องแบบนี้กำลังจะเกิดมากขึ้นในโลกใหม่ ที่เชื่อมต่ออย่างซับซ้อนกับโลกที่เราคุ้นชิน และเป็นเรื่องที่มากกว่าการพิจารณานโยบายสื่อหรือกฎหมายเซ็นเซอร์ในอินเตอร์เน็ตครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image