สงครามครั้งสุดท้าย

เหมือนว่าวันนี้ คสช. ได้กำหนดภารกิจการปฏิรูปประชาธิปไตยในแบบ “มีชัย” ที่ทั้งใส่หมวก และ คุมกำเนิด เรียบร้อยแล้ว

นั่นคือ ต้องชนะในศึก “ประชามติ” ให้ได้

ส่วนทางถอยในกรณีรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามตินั้น

คิดไว้ แต่คงรอให้ถึงจุดนั้นไม่ได้

Advertisement

เพราะทุกคนอ่านเกมออกว่า ถ้า คสช. พ่ายเกม “ประชามติ”

ปรากฏการณ์หนียะย่ายพ่ายจะแจจะเกิดขึ้นทันที

บางทีอาจเลวร้ายถึงขั้น รสช. ในปี 2534

Advertisement

ดังนั้น เป้าหมายเอาชนะในเกมประชามติจึงเป็น “ภารกิจ” ที่แพ้ไม่ได้

คล้ายกับเมื่อครั้งปราบ “ม็อบแดง” เมื่อปี 2553

เพียงแต่ครั้งนี้ไม่มี “กระสุนจริง”

ยุทธการ “ประชามติ” รับรองว่า “ครบเครื่อง” แน่นอน

รัฐบาลใช้กองทัพบกเริ่มออกมาเป็นทัพหน้า

ใช้นักศึกษาวิชาทหารหรือ รด. เป็น “ทหารราบ”

ภารกิจเปิดเผยคือการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาลงประชามติ

ด้วยการประชาสัมพันธ์เนื้อหาในรัฐธรรมนูญ

แต่หลักการของการลงประชามติ คือ ประชาชนมีสิทธิ์ “รับ” และ “ไม่รับ”

รัฐบาลนั้นแสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ

หรืออยู่ฝ่าย “รับ”

คนที่มีเป้าหมาย “รับ” ออกรณรงค์ประชาสัมพันธ์เรื่องรัฐธรรมนูญ

คำถามก็คือ เนื้อหาการประชาสัมพันธ์จะเป็นอย่างไร

จะพูดข้อไม่ดี หรือข้อท้วงติงของฝ่าย “ไม่รับ” บ้างหรือไม่

ชัดเจน และชัดเจน

แต่ต้องยอมรับว่าการใช้กองทัพ รด. เป็นทัพหน้า นุ่มนวลกว่าใช้ทหารเกณฑ์

แต่ใครที่เรียน รด. ก็รู้ว่าระหว่างการฝึก กับ การรณรงค์รัฐธรรมนูญ

ถ้าได้คะแนนหรือเวลาเรียนเหมือนกัน รด. จะเลือกอะไร

นั่นคือ ที่มาของ “จิตอาสา” ในครั้งนี้

แต่คำถามก็คือ นักเรียน-นักศึกษา นั้นมีความเห็นเป็นของตัวเอง

จะสั่งให้ “ซ้ายหัน” หรือ “ขวาหัน” ทาง “ความคิด” นั้นไม่ง่าย

การรณรงค์อาจหมายความแค่การแจกใบปลิว

มีคนบอกว่าการลงประชามติ คสช. มั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญน่าจะ “ผ่าน”

แต่มีคนแย้งว่าทหารพม่าก็เคยคิดแบบนี้ตอนเลือกตั้ง

คิดว่าชนะแน่นอน

แต่สุดท้าย “ออง ซาน ซูจี” ชนะถล่มทลาย

เพราะเมื่อเข้าสู่สนามประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

ไม่มีใครสั่งใจประชาชนได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image