เอพีอาร์ซี ถกปม “บีอาร์ไอ” พลิก “เศรษฐกิจเอเชีย”

คณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเซีย (APRC) จัดการสัมมนาในหัวข้อ The Belt and Road Initiatve: Its Impacts on Peace and Prosperity หรือ แนวนโยบายหนึ่งแถบหนึงเส้นทาง (BRI) ของจีน กับผลทางด้านสันติภาพและความเจริญมั่งคั่ง เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป ลาว โดยมี นายสอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรี สปป ลาว ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิด และ นายทองพัน สะหวันเพด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ สปป. ลาว ให้เกียรติมาร่วมในพิธีเปิด

ในการกล่าวปาฐกถาเปิดการสัมมนา ศาสตราจารย์ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย กล่าวถึงนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (BRI) ว่าเป็นนโยาบายที่สำคัญยิ่งของประธานาธิบดี สี จิ้ผิง ของจีน ซึ่งประกาศไว้เมื่อเดือนกันยายน 2556 อันประกอบด้วยเส้นทางสายไหมเศรษฐกิจทางบก และเส้นทางสายไหมทางทะเลสายใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งอิงบนเส้นทางสายไหมที่จีนเคยใช้เพื่อการค้าขายกับนานาประเทศเมื่อราว 2000 ปีที่แล้ว BRI นี้ จะกลายเป็นแนวนโยบายและยุทธศาสตร์ของจีนไปอีกหลายทศวรรษ เพื่อระดมทุนให้เกิดโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางคมนาคม เศรษฐกิจ การเงินการคลัง และ โทรคมนาคม เชื่อมโยงจีนกับประเทศต่างๆ 40-50 ประเทศในเอเซียทั้งทวีป และ ยุโรป เพื่อให้เกิดความเจริญมั่งคั่ง สันติภาพ และ ความมั่นคงในภูมิภาคเอเซีย ยุโรป-เอเซีย (Eurasia) และประเทศอื่นๆ

15300750_10211880100146092_1903409914_n

BRI หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า One Belt, One Road หรือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง จะเชื่อมโยงการคมนาคม ไปมาหาสู่ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ และการค้าขายอย่างกว้างใหญ่ไพศาลในทวีปเอเซีย และเชื่อมโยงไปยังทวีปยุโรป และเมื่อดำเนินการเต็มที่แล้ว ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนสภาพภูมิสถาปัตย์ทางด้านเศรษฐกิจของทวีปเอเซียเป็นอย่างมาก และยังความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไปสู่ประชาชนในทุกระดับชั้นของเอเซีย

Advertisement

ในขณะที่ทั้งอนุภูมิภาคต่างๆในเอเซีย และจีน ก็กำลังขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน เช่น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ความร่วมมือในภูมิภาคแม่น้ำโขง เช่น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ แม่โขง-ล้านช้าง ความร่วมมือหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเซียใต้ (SAARC) รวมทั้งการประชุมสุดยอดเอเซียตะวันออก (EAS) แนวนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ BRI ของจีนนนี้ จะเป็นแนวยุทธศาสตร์หลักเชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจเหล่านี้ โดยการพัฒนาเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐาน ให้เชื่อมโยงถึงกันหมด ทำให้ผลของความร่วมมือเหล่านี้ลงไปถึงประชาชนในทุกระดับอย่างแท้จริง

15300462_10211880100266095_1400161060_n

นอกจากนั้น การที่จีนได้จัดตั้ง ธนาคารเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน (AIIB) ขึ้นพร้อมเงินทุน 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสมาชิกแล้ว 57 ประเทศ และจัดตั้งกองทุนเส้นทางสายไหมอีกเป็นเงิน 40,000 ล้านเหรียญ แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ในการทำให้แนวคิดนี้มีผลเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว แต่เอเซียยังต้องใช้เงินทุนอีกเป็นจำนวนมากในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่ง ต้องอาศัยทั้ง ธนาคาร AIIB ของจีน และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB ซึ่งมีญี่ปุ่นเป็นแกนนำ ร่วมกันเป็นแกนหลักและสนับสนุนกันและกันในการพัฒนาเอเชีย ไม่ควรปล่อยให้คิดว่า สถาบันการเงิน 2 แห่งนี้จะต้องเป็นคู่แข่งขันกัน

ในส่วนของกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ ประธาน APRC เห็นว่า แนวทาง BRI ของจีน แสดงให้เห็นว่า จีนประสงค์ที่จะเห็นทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเส้นทางสายไหมทางทะเล เป็นทะเลแห่งความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และไม่น่าจะประสงค์ที่จะเห็นทะเลจีนใต้ เป็นทะเลแห่งการสู้รบ หรือสร้างสมแสนยานุภาพทางทหาร จึงเชื่อว่าแนวทางของ APRC ที่พยายามสนับสนุนให้เกิความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆที่พิพาทอ้างสิทธิ์ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ น่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง

การจัดสัมมนาดังกล่าว เป็นกิจกรรมประจำต่อเนื่องจากการประชุมประจำปีของคณะมนตรีเพื่อสันติและความปรองดองแห่งเอเซีย (APRC) ทุกครั้ง และปีนี้ก็จัดขึ้นต่อจากการประชุมประจำปีของ APRC เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เพื่อให้สมาชิกของคณะมนตรีซึ่งประกอบด้วยอดีตประมุขของประเทศ อดีตผู้นำรัฐบาล อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และ อดีตรัฐมนตรีอื่นๆ รวมทั้งนักวิชาการ จากทั้ง เอเซีย ยุโรป สหรัฐ และ อเมริกาใต้ ได้แสดงทัศนะความเห็นส่วนตัวในเรื่องต่างๆเกี่ยวกับสันติภาพ และประเด็นทร่เกี่ยวข้อง

ในเรื่องของ BRI นี้ สมาชิกของคณะมนตรีที่ร่วมอภิปราย ซึ่งได้แก่นายชอกัต อาซิส รองประธานคณะมนตรี และ อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน นายอัลเฟรด กุสเซนบาวเออร์ รองประธานคณะมนตรี และ อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรีย นายจิกมี ตินลี อดีตนายกรัฐมนตรีภูฏาน นายโฮเซ่ คามาโช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฟิลิปปินส์ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด เคนเนดี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา และ นาย ยูฮา คริสเตนเสน ผู้อำนวยการองค์การพันธมิตรด้านสันติภาพ ประเทศฟินแลนด์ และมี ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการอภิปราย ต่างเห็นว่า BRI มีความสำคัญกับสันติภาพและความเจริญมั่งคั่งของประเทศในเอเซียและนอกเอเซียอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในด้านการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมขนส่งและ โทรคมนาคมสื่อสาร และอื่นๆ และจะนำมาซึ่งแหล่งเงืนทุนในการพัฒนาด้านนี้อย่างมหาศาล แต่ทุกประเทศจำเป็นอย่างยิ่งต้องศึกษาและตระหนักในความต้องการที่แท้จริงของตนเองและตัดสินใจเองว่าต้องการพัฒนาประเทศไปในทิศทางใด และจะสามารถใช้ประโยชน์จาก BRI อย่างไร และได้มากน้อยเพียงใด เพื่อหารือกับจีนในการดำเนินการแนวโนบายนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศของตน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image