รพ.สมเด็จพระยุพราช พระมหากรุณาธิคุณ เพื่อประชาชนห่างไกล

“ด้วยพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในอันที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบท ถิ่นทุรกันดารและห่างไกล รัฐบาลร่วมกับพสกนิกรชาวไทยได้แสดงออกซึ่งความจงรักภักดี ร่วมบริจาคทรัพย์สินสมทบสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระองค์…”

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิ รพ.สมเด็จพระยุพราช เล่าถึงความเป็นมาของ รพ.สมเด็จพระยุพราช ว่า ในปี พ.ศ.2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงสถาปนาพระองค์เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ เป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และเพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ ศ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นสมควรอย่างยิ่งในการเทิดพระเกียรติโดยสร้างโรงพยาบาลที่สามารถบริการประชาชน ทหาร ตำรวจ พลเรือน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ผู้มีรายได้น้อย ผู้พิการ และผู้สูงอายุ ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร

โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทุกๆ ฝ่าย และศรัทธาของพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศ บริจาคเงิน ที่ดิน ฯลฯ เพื่อสมทบทุนในการก่อสร้างโรงพยาบาล นับว่าเป็นการระดมทุนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช”

Advertisement

21

19

นอกจากนี้ ศ.ธานินทร์ได้ขอพระบรมราชานุญาต นำเงินและทรัพย์สินส่วนที่เหลือจัดตั้งเป็นมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โดยมี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์

Advertisement

จนถึงปัจจุบัน ศ.ธานินทร์ องคมนตรี รับเป็นประธานกรรมการมูลนิธิ และทุกๆ ปี คณะกรรมการมูลนิธิทำการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เพื่อติดตามผลการดำเนินงานและให้การช่วยเหลือการดำเนินงานต่างๆ ของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เพื่อให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตามพระราโชบายขององค์นายกกิตติมศักดิ์ และถวายรายงานความก้าวหน้าของโรงพยาบาลต่อองค์นายกกิตติมศักดิ์ทุกปี ทำให้พระองค์ทรงทราบความก้าวหน้าของโรงพยาบาลมาอย่างต่อเนื่อง

นพ.โสภณให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 ซึ่งถือเป็นการระดมทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 30 เตียง ปัจจุบันมีทั้งหมด 21 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็น…

17

ภาคเหนือ 6 แห่ง คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จ.เชียงราย โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว จ.น่าน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชนครไทย จ.พิษณุโลก โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จ.แพร่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน จ.พิจิตร

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี 9 แห่ง คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน จ.ขอนแก่น โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จ.หนองคาย โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา จ.ยโสธร โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จ.นครพนม โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชบ้านดุง จ.อุดรธานี โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม จ.อุบลราชธานี และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน จ.สกลนคร

ภาคกลางมี 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว จ.สระแก้ว และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง จ.ราชบุรี

ภาคใต้ 4 แห่ง คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี จ.ปัตตานี โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชฉวาง จ.นครศรีธรรมราช และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา จ.ยะลา

18

นพ.โสภณกล่าวอีกว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชนั้นแตกต่างจากโรงพยาบาลชุมชนอื่นๆ คือ นอกจากให้การดูแลรักษาแล้ว ยังทำหน้าที่ในการเทิดพระเกียรติ และเป็นโรงพยาบาลชุมชนต้นแบบ เป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงพยาบาลชุมชนใกล้เคียง ประกอบกับเจ้าหน้าที่ทุกคนของโรงพยาบาลสำนึกตลอดเวลาว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกำเนิดจากศรัทธาอันแรงกล้าของพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทุกแห่งได้สนองพระราชปณิธาน มีการพัฒนาในทุกด้าน ทั้งด้านการบริหาร การบริการ วิชาการ ดั่งพระราชดำรัสของพระองค์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2529 ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทุกแห่งได้จารึกบนพื้นหินแกรนิตสีดำ ไว้บริเวณผนังโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ความว่า

“ทุกคนที่ทำงานให้แก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จะต้องไม่ลืมว่า โรงพยาบาลนี้กำเนิดขึ้นจากความมุ่งมั่นปรารถนาอันแรงกล้าของคนไทยทั่วราชอาณาจักรที่ต้องการจะเห็นผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารทุกหนแห่งได้รับความเอาใจใส่รักษาพยาบาลเป็นอย่างดี ให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้ โดยทั่วถึงเสมอหน้ากัน”

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์ และทรงเปิดโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด้วยพระองค์เองอย่างเป็นทางการทุกแห่ง และทรงรับเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์มูลนิธิ นับได้ว่า พระองค์ทรงเป็น “พระผู้ให้กำเนิดโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วประเทศ”

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชได้เปิดให้บริการประชาชนมาเกือบ 40 ปี ทุกแห่งได้ยึดแนวพระราชดำรัส เพื่อให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเป็นที่พึ่งของประชาชนยามเจ็บป่วย และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละแห่งมีความโดดเด่นแตกต่างกันและได้รับการรับรองคุณภาพบริการ หรือเอชเอ (HA : Hospital Accreditation) ทั้ง 21 แห่ง

นพ.วิโรจน์ วิโรจนวัธน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน เล่าว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน เป็น 1 ใน 21 แห่ง ที่ก่อตั้งขึ้นพร้อมกันระหว่างปี พ.ศ.2520-2522

20

อย่างไรก็ตาม สำหรับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน นอกจากการให้บริการรักษา ดูแลสุขภาพประชาชน ยังต้องตัดวงจรความเจ็บป่วย นั่นคือ ความจน ความไม่รู้ การบาดเจ็บ สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นบ่อเกิดให้เกิดความเจ็บป่วยได้ แล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องสร้างภาคีเครือข่าย เพื่อให้ทำงานอย่างองค์รวม ยกตัวอย่าง การป้องกันการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร ก็ต้องร่วมกันกับพื้นที่ ซึ่ง จ.สกลนครให้การสนับสนุนเรื่องนี้ มีความร่วมมือกันในพื้นที่จากหลากหลายหน่วยงาน จนเกิดเป็นธรรมนูญอำเภอ ทั้งเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การศึกษา ฯลฯ

สำหรับการบริการรักษาจะเป็นแบบผสมผสานแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน โดยจะเปิดแบบคู่ขนาน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยนอก บริเวณคัดกรองจะมีทั้งพยาบาลทำหน้าที่คัดกรองเบื้องต้น และมีแพทย์แผนไทยอีก โดยจะพิจารณาว่าผู้ป่วยรายใดเหมาะกับการรักษาแบบใด เป็นต้น โดยโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน จึงถือเป็นโรงพยาบาลชุมชนแห่งแรกของประเทศที่มีร้านขายยาชุมชนที่มีเภสัชกรตลอดเวลา เพื่อแก้ปัญหาการใช้ยาเกินความจำเป็นของคนไทย และได้พัฒนาเป็นตู้ยาสามัญประจำบ้านชุมชนแห่งแรกของประเทศอีก

ส่วนที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชอื่นๆ ก็มีการพัฒนาจนมีจุดเด่นต่างๆ อาทิ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว มีการใช้กระบวนการจิตตปัญญาในการจัดบริการผู้ป่วยและบริหารงาน และยังมีการรักษาผู้ป่วยโรคหอบหืดตามมาตรฐานโลก โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ เป็นโรงพยาบาลที่มีการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์มาให้บริการประชาชนในพื้นที่ และเป็นศูนย์การผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง ซึ่งมีการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มีโรงงานขาเทียม รองรับบริการผู้พิการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และยังทำงานผ่านเครือข่ายบริการแม่และเด็กคุณภาพ มีการบูรณาการแพทย์แผนไทย และยังเป็นแหล่งผลิตยาสมุนไพรมาตรฐานจีเอ็มพีและฮาลาล

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชนครไทย มีการน้อมนำพระราชปณิธานสู่การสร้างสุขภาวะให้ชุมชน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ ทำงานร่วมกับชุมชนในทุกมิติ และในทุกบริบท โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน มีความเป็นองค์กรนวัตกรรมและภาคีสุขภาพที่เข้มแข็ง โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม ก็เช่นกันมีการพัฒนาองค์กรนวัตกรรมและภาคีสุขภาพที่เข้มแข็ง

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน เป็นโรงพยาบาลคุณภาพคู่คุณธรรม โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ เป็นความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ทั้งชุมชน สถาบันการศึกษา ประเทศเพื่อนบ้าน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเด่นชัย เป็นการบูรณาการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกับการแพทย์แผนปัจจุบันในการดูแลสุขภาพประชาชน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า มีการพัฒนาบุคลากรด้วยกระบวนการจิตตปัญญาศึกษา

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง มีการสร้างเสริมสุขภาพในชุมชนและการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย มีการจัดการองค์ความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น มิติความเชื่อในการรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม มีการพัฒนาการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม การผ่าตัดส่องกล้องถุงน้ำดี การส่องกล้องทางเดินอาหาร การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ข้อสะโพก โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา มีการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เป็นต้น

การพัฒนาทั้งหมดนี้ทำเพื่อ “ประชาชน” ซึ่งเป็นพสกนิกรของพระองค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นรัชกาลปัจจุบัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image