ทิศทางอนาคตการศึกษาไทย : ทางรอด ทางเลือก : โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

การพาดหัวข่าวหน้าการศึกษาของหนังสือพิมพ์มติชนฉบับเช้าวันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม 2559 ด้วยความว่า “ผล PISA 2015 ไทยรั้งท้ายตามเคย” สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยอีกวาระหนึ่ง และจากประเด็นดังกล่าวจะปรากฏให้ผู้เกี่ยวข้องต้องตั้งวงสนทนาว่าจะหามาตรการใดในการยกระดับการศึกษาของชาติ

ผลการประเมินการศึกษาของเด็กไทยทั้งการประเมินภายในและร่วมกับนานาชาติมักจะปรากฏให้เห็นถึงผลการเรียนของเด็กไทยในบางสาขาวิชายังมีผลที่ห่างไกลจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนามอยู่เสมอๆ แต่ในทางกลับกันหากมองดูในแง่การลงทุนหรือการทุ่มเทงบประมาณเพื่อการศึกษาแล้วประเทศไทยไม่ได้น้อยไปกว่าชาติใดในโลก และกลับมากกว่าบางประเทศที่มีผลการเรียนของเยาวชนสูงกว่าเราด้วยซ้ำ

กระทรวงศึกษาธิการมักจะเป็นจำเลยหมายเลขหนึ่งของสังคมเสมอ เมื่อมีการนำเสนอข่าวผลการประเมินที่ไม่สู้จะดีอันมาจากการจัดการศึกษา ซึ่งการจะเป็นจำเลยอันดับไหนไม่สำคัญ วันนี้กระทรวงศึกษาซึ่งเป็นกระทรวงเกรดเอ มีนักบริหาร นักการศึกษาระดับบิ๊กๆ ของประเทศอยู่มากมาย ต้องนำโจทย์อันเนื่องมาจากผลการประเมินการเรียนของนักเรียนมาเป็นการบ้านผลักดัน หรือขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยทั้งปัจจุบันและอนาคตอย่างเร่งด่วน

ผลของการประเมินที่เป็นโครงการจัดสอบนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ที่ดำเนินการโดยองค์การความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจประกาศผลปี 2015 อย่างเป็นทางการ โดยมีประเทศเข้าร่วมทดสอบ 70 ประเทศ ซึ่งทดสอบด้านวิทยาศาสตร์ การอ่านและคณิตศาสตร์ ในเด็กอายุ 15 ปีที่สุ่มตัวอย่างมา 540,000 คน สำหรับผลการประเมินดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพความเท่าเทียม และประสิทธิภาพของระบบโรงเรียนในแต่ละประเทศ ซึ่งสะท้อนว่าคุณภาพของประชาชนที่จะเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในอนาคตเป็นอย่างไร ซึ่งผลการทดสอบด้านวิทยาศาสตร์ไทยอยู่อันดับที่ 55 (วิทยาศาสตร์ อันดับที่ 54 การอ่านอันดับที่ 57 และคณิตศาสตร์ อันดับที่ 54)

Advertisement

เมื่อผลการประเมินการเรียนยังเป็นลักษณะนี้และยังคงมีผลอยู่ในระดับต่ำไม่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลกำหนด แน่นอนย่อมจะนำไปสู่คำถามว่า แล้วที่ผ่านมากระบวนการจัดการศึกษาบ้านเราเดินไปด้วยความถูกต้องหรือไม่ ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ พร้อมกับคำถามย้อนกลับมาว่า ทำไมชาติเพื่อนบ้านในอาเซียนหรืออีกหลายๆ ชาติในเอเชีย จึงมีความแตกต่างในด้านคุณภาพจากไทยเรา รากเหง้าของปัญหาและทางออกจากนี้ไปใครจะให้คำตอบ หรือจะปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ เมื่อมีประเด็นแล้วตั้งวงหยิบยกปัญหามาหาทางแก้ไขกันครั้งหนึ่ง

ในเรื่องปัญหาการวางแผนเพื่อการพัฒนาการศึกษาของชาติตลอดจนการทดสอบผลการศึกษาสอดคล้องกับความคิดเห็นของนายภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาและอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “ตั้งแต่มีการสอบ PISA มาคะแนนของไทยอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายเช่นนี้มาตลอด สำหรับประเทศอื่นๆ ได้ใช้ผล PISA ไปเป็นประโยชน์ในการวางแผนการศึกษาของชาติ แต่ไทยไม่เคยมีแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาการศึกษาอย่างเบ็ดเสร็จ แม้จะมีตัวบ่งชี้นานาชาติที่สะท้อนความอ่อนแอให้เห็นอย่างชัดเจนซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ตาม” (มติชน, 8 ธันวาคม 2559,หน้า 17)

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่นายภาวิช ทองโรจน์ สะท้อนออกมาจะเป็นจริงหรือไม่ คนในกระทรวงศึกษาธิการย่อมรู้ดี แต่ผู้เขียนมีฐานความเชื่อว่ากระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีหน่วยงานหลักอย่างสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาน่าจะมีข้อมูลมากกว่าหน่วยงานอื่น ทั้งนี้ เพราะหน่วยงานแห่งนี้เปรียบเสมือนคลังสมองของภาครัฐที่มีบทบาทในการศึกษาวิจัยและวางแผนการพัฒนาการศึกษา และแสวงหาทางออกกับปัญหาดังกล่าว ข้อมูลที่นายภาวิชสะท้อนว่า ไทยไม่มีแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาการศึกษาอย่างเบ็ดเสร็จ เป็นการตบหน้าผู้บริหารในกระทรวงศึกษาธิการอย่างจัง แถมยังกลับไปตอกหน้านายภาวิชอีกแรงหนึ่งด้วยในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการเช่นเดียวกัน

สภาวการณ์ที่ส่งผลต่อแวดวงการศึกษาไทยมีมากมาย นักการศึกษาระดับชาติได้เคยศึกษาวิจัยพบว่า ปัญหาที่กัดกร่อนการศึกษาไทยมีหลายประเด็น ซึ่งผู้บริหารโดยเฉพาะในระดับสถานศึกษาต่างทราบดี เพียงแต่ว่าในระดับเหนือขึ้นไปยังอาจจะจับจุดของปัญหาหรือไม่สามารถลำดับความสำคัญเพื่อที่จะทะลุเหตุแห่งปัญหาได้

ผู้เขียนมองว่าปัญหาที่ส่งผลต่อการจัดการศึกษาบ้านเรา ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการยังแก้ไม่ตรงจุดเพราะปัญหาที่มีมานานและเรื้อรังมาถึงวันนี้ มีนานาสารพัด แต่ก็อยากจะสะท้อนให้เห็นว่าหากมองที่ตัวปัญหาน่าจะประกอบด้วยประเด็นแรก ได้แก่ หลักสูตรซึ่งในหลายครั้งเมื่อถึงเวลาปรับเปลี่ยนหลักสูตร คณะทำงานมักจะนำแนวคิดของต่างประเทศมาใช้ในการจัดการศึกษา ซึ่งในบางบริบทไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจของบ้านเรา ครู ผู้บริหารสถานศึกษาต้องลองผิดลองถูกกว่าจะรู้ก็สายเสียแล้ว ซึ่งส่งผลให้นักเรียนมีผลการเรียนที่แตกต่าง เกิดปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ฯลฯ

แต่ในประเด็นนี้ นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้หารือยุทธศาสตร์การปรับกระบวนการเรียนการสอนกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ว่าต้องให้ความสำคัญกับเด็กที่มีผลการเรียนอ่อน และปานกลางมากเป็นพิเศษ ซึ่งถ้าเด็กกลุ่มนี้มีคุณภาพดีขึ้น ต่อไปไม่ต้องกังวลว่าการประเมินในระดับนานาชาติจะไปเจอเด็กกลุ่มใด เพราะผลคะแนนจะสูงขึ้น รวมทั้งเรื่องหลักสูตรไทยที่สอนอยู่ในปัจจุบันไม่ได้อิงมาตรฐานนานาชาติ เราสร้างหลักสูตรเพื่อจะพัฒนาเด็กให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมไทยและพร้อมที่ออกไปสู้กับโลกภายนอกได้ ดังนั้นหลักสูตรส่วนหนึ่งจะเกี่ยวกับบริบทของความเป็นไทย ( มติชน,9 ธันวาคม 2559,หน้า 17)

ถัดมาประเด็นที่สอง ของปัญหาน่าจะมาจากครู ที่ครูไทยในวันนี้อาจจะแตกต่างจากผู้เป็นครูในสมัยก่อน ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง ครูวันนี้อาจจะเป็นเพียงผู้เข้ามาประกอบวิชาชีพครูเท่านั้นไม่ได้เป็นครูอาชีพอย่างแท้จริง ครูมีความต้องการเหมือนกับผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ครู (บางคน) ให้ความสำคัญ เรื่องปากท้อง เรื่องความก้าวหน้าในวิชาชีพหรือการแสวงหาตำแหน่ง ลาภยศ สรรเสริญอาจมากเกินไป อาจจะสวนทางกับการทุ่มเทเพื่อการยกระดับการศึกษาของเด็ก ซึ่งในอันที่จริงวันนี้ครูจะมีความพร้อมในหลายด้านโดยเฉพาะสื่อและเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน

ประเด็นที่สามคือ ความไม่เท่าเทียมหรือความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ผู้ปกครองนักเรียนมีฐานะทางการเงินที่แตกต่าง โอกาสของเด็กจึงเป็นส่วนหนึ่งในการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ประกอบกับคุณภาพโรงเรียนที่ไม่เท่าเทียมหรือรวมถึงการสนับสนุนของภาครัฐที่มีต่อโรงเรียนเอกชนก็ยังเป็นประเด็นของความไม่เท่าเทียมของสังคมไทย และล่าสุด เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ติดอันดับที่ 3 ในด้านความเหลื่อมล้ำที่สุดของโลก

และปัญหาต่อมาคือ การไม่เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกันขององค์กรหลักในกระทรวงศึกษาธิการ อย่างวันนี้มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงน่าจะเข้ามามีส่วนในการวางแผนการพัฒนาการศึกษาของชาติได้เป็นอย่างดีเพราะเป็นองค์กรที่มีความพร้อมในหลายมิติ แต่ผู้บริหาร (บางแห่ง) โดยเฉพาะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยก็ยังเดินหน้าในการที่จะให้มีการแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาหรืองานมหาวิทยาลัยออกไปตั้งเป็นกระทรวงใหม่ ทั้งนี้ เพราะเชื่อว่างานอุดมศึกษาน่าจะก้าวหน้ามากกว่าการสังกัดในกระทรวงศึกษาธิการ

ปัญหาการศึกษาไม่ใช่เป็นการบ้านของกระทรวงศึกษาธิการหรือรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น บรรดาข้าราชการและนักวิชาการในกระทรวงจะต้องกลับมาระดมสมองกำหนดทิศทางอนาคตการศึกษาไปสู่อนาคตที่ชัดเจน สามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์รัฐบาลกับการเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างมีคุณภาพ

ในขณะเดียวกันทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาโดยเฉพาะระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารสถานศึกษาต้องเป็นทัพหน้าพร้อมที่จะอยู่ประจำในโรงเรียน ไม่ทิ้งและเอาเวลาวิ่งเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่เพื่อการไต่เต้าสู่ตำแหน่งอย่างที่เป็นมา ในขณะที่ผู้ปกครองนักเรียนก็เป็นหัวใจหลักในการที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางอนาคตการศึกษาร่วมกัน ผู้เขียนเชื่อว่า คนไทย สังคมไทย มีความพร้อม มีความเก่งไม่น้อยหน้าชาติใด แต่อยู่ที่การจะรวมกันเพื่อกำหนดทางรอดทางเลือกให้วงการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรมมากแค่ไหนเท่านั้น

ปีใหม่กำลังจะเข้ามาเยือน วันครูกำลังจะมาถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่กำลังจะเข้ามาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ วันนี้ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจเพื่อเด็กไทยและอนาคตการศึกษาของชาติ ซึ่งจะส่งผลต่อการนำมาซึ่งความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนแห่งอนาคต

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image