ไร้ปาฎิหาริย์! สนช. มติเอกฉันท์ 168 เสียง ผ่าน พ.ร.บ.คอมพ์ (คลิป)

สนช.ผ่าน พ.ร.บ.คอมพ์ ฉลุย 168 เสียง ย้ำม.14(1)ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท พร้อมตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเพิ่มเป็น 9 คน ชี้การสอนฆ่าตัวตาย-ปล้น-ทำอาวุธ ขัดความสงบและศีลธรรมอันดี

เมื่อเวลา 10.20 น. วันที่ 16 ธันวาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่1 เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. …. ที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระที่ 2 และ 3

ทั้งนี้ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกได้อภิปราย โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้ ในมาตรา 11 วรรคสอง สมาชิกส่วนใหญ่ขอความชัดเจนของคำว่า “ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ” ว่ามีความหมายว่าอะไร และอะไรที่ทำให้เกิดความรำคาญ นอกจากนี้นายวัลลภ ตั้งคุณานุรักษ์ สมาชิกสนช. ได้สอบถามถึงเจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าวว่า เป็นอย่างไร อีเมล์ขยะควรจะต้องขออนุญาตประชาชนก่อนส่งหรือไม่ ไม่ใช่ว่ากฎหมายนี้อนุญาตให้ส่งอีเมล์ขยะมาก่อน แล้วค่อยเปิดช่องให้ผู้รับสามารถยกเลิกได้โดยง่าย

ขณะที่ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ในฐานะประธานวิสามัญฯ ชี้แจงว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้รับปฏิเสธอีเมล์ขยะตั้งแต่ต้น เพราะคิดว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากจะมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์สซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ส่งให้ผู้รับ เช่นเดียวกับนายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญ กล่าวว่า ในประกาศกระทรวงที่กำลังจะออกจะระบุว่าเรื่องใดที่ทำได้และไม่ก่อให้เกิดความรำคาญ

Advertisement

ส่วนมาตรา 12 สมาชิกส่วนใหญ่ อาทิ นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ นายดนัย มีชูเวท นายสมชาย แสวงการ นายเจตน์ ศิรธรานนท์ และนายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ ขอความชัดเจนของคำว่า การกระทำต่อข้อมูลหรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับ “การบริการสาธารณะ” ว่ามีความหมายอย่างไร รวมทั้งท้วงติงมาตรา 12 วรรคสี่ การทำให้ผู้อื่นตายแต่ไม่ได้เจตนา เป็นการบัญญัติซ้ำกับประมวลกฎหมายอาญาที่มีอยู่หรือไม่ ซึ่งพล.ต.อ.ชัชวาล ชี้แจงว่า การทำให้ผู้อื่นตายแต่ไม่ได้เจตนา ไม่มีการบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ขณะเดียวกับกฎหมายอาญาบัญญัติในเรื่อง การทำร้ายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งในระบบคอมพิวเตอร์ไม่ได้ทำร้ายร่างกายโดยตรง แต่เป็นการทำร้ายต่อระบบจนทำให้คนอื่นตาย ดังนั้น การบัญญัติว่า ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแต่มิได้มีเจตนา จึงไม่ซ้ำซ้อนกับประมวลกฎหมายอาญา

ด้านนางสุรางคณา วายุภาพ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญ ชี้แจงถึงการเพิ่มคำว่า “การบริการสาธารณะ” ว่า ที่เพิ่มคำนี้ เพราะคำว่าโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะนั้นไม่ครอบคลุมทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น สำนักทะเบียนของกรมการปกครอง บางคนมองว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐาน แต่บางคนบอกไม่เข้าข่าย ฉะนั้นเส้นแบ่งของ 2 คำนี้บางครั้งไม่ชัดเจน จึงทำให้กมธ.เติมคำว่าการบริการสาธารณะเข้าไป เพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งนี้ ไม่กระทบกับเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลทั่วไป

สำหรับมาตรา 14 (1) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการหลอกลวงหรือทุจริต ปลอม บิดเบือนทั้งหมดหรือบางส่วนข้อมูลคอมพิวเตอร์ นางสุรางคณา กล่าวว่า เจตนารมณ์เดิมของมาตรานี้ตั้งใจเอาผิดกับเรื่องฉ้อโกง ปลอมแปลง แต่การบัญญัติตามพ.ร.บ.คอมพ์ฯ พ.ศ.2550 นั้นทำให้เกิดความเข้าใจผิดและนำไปใช้กับความผิดฐานหมิ่นประมาท ครั้งนี้กมธ.จึงแก้ไขให้ตรงกับเจตนารมณ์ ทั้งนี้ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวเสริมว่า มาตราดังกล่าวถือว่ามีความชัดเจน ไม่เกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท

ส่วนในมาตรา 20/1 ให้รัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ จำนวน 5 คน โดยมาจากภาคเอกชน 2 คน และหากเห็นว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลขอให้มีคำสั่งระงับการแพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์นั้น โดยนายวัลลภ อภิปรายว่า การตั้งคณะกรรมการเพียง 5 คน หากมาประชุมเพียงแค่ 3 คนก็สามารถลงมติได้แล้ว ถามว่าจะให้ 3 คน ตัดสินชีวิตใครคนใดคนหนึ่งใช่หรือไม่ ดังนั้นขอความกรุณา กมธ.ช่วยปรับจำนวนเป็น 7 หรือ 9 คน และเชื่อว่าหากมีที่มาชัดเจนจะช่วยลดแรงต้านของสังคมได้ นอกจากนี้สมาชิกสนช.ยังสอบถามถึงคำจำกัดความ คำนิยมของคำว่า “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” หมายถึงอะไร

พล.ต.อ.ชัชวาลย์ จึงชี้อแจงว่า มาตรา 20/1 บัญญัติว่าข้อมูลอันขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีเป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจไปกระทบสิทธิส่วนบุคคล ส่วนความหมายของคำว่า “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยฯ” และอะไรที่ขัดต่อความสงบฯนั้น ไม่เคยมีการบัญญัติไว้ในกฎหมาย ซึ่งที่ประชุมกมธ.ได้หารือกันแล้ว พบว่าศาลจะมีแนวทางพิจารณาอยู่แล้วว่าเรื่องใดขัดต่อความสงบบ้าง ซึ่งมาตราดังกล่าวศาลจะพิพากษาให้ระงับหรือลบข้อมูลเท่านั้น ไม่มีความผิดใดๆ แต่ถ้าไม่ทำตามที่ศาลสั่งถึงจะมีความผิด

“สำหรับตัวอย่างความผิดตามมาตราดังกล่าว เช่น สอนวิธีการฆ่าตัวตาย วิธีการปล้น หรือวิธีทำอาวุธ ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อเผยแพร่แล้วถือว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี เป็นต้น”พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าว

ผู้สือข่าวรายงานว่า เมื่อที่ประชุมพิจารณาถึงมาตราดังกล่าว นายพรเพชร ได้สั่งพักการประชุม 30 นาที เพื่อขอให้กมธ.และผู้ที่ติดใจปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าวในเรื่องที่มาและจำนวนของคณะกรรมการกลั่นกรอง จนกระทั่งเปิดประชุมอีกครั้ง พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ชี้แจงว่า หลังจากที่หารือแล้ว เห็นว่าการที่มีคณะกรรมการกลั่นกรอง จำนวน 5 คน แม้คำตัดสินจะไม่มีผลต่อการกระทำผิดหรือถูก แต่นำไปสู่การยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งระงับหรือลบข้อมูลดังกล่าวออกไป ซึ่งกมธ.เห็นว่าควรปรับเปลี่ยนจำนวนคณะกรรมการกลั่นกรองจาก 5 เป็น 9 คน และคำตัดสินต้องมีคะแนนเกินครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการกลั่นกรอง หรือ 5 คน นอกจากนี้คุณสมบัติของคณะกรรมการฯ ที่มาจากภาคเอกชน จำนวน 3 คน ให้มาจากด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสื่อสารมวลชน และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

สุดท้ายที่ประชุมได้ลงมติเป็นรายมาตราในวาระ 2 และลงมติในวาระ 3 เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ ด้วยคะแนน 168 ต่อ 0 งดออกเสียง 5 เสียง ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image