สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ขึ้นทรงราชย์

วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2559 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตอบรับขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระราชดำริว่าในระหว่างที่ประชาชนยังมิได้ถวายพระปรมาภิไธยเนื่องในการพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกย่อมเป็นการสมควรที่จะถวายเฉลิมพระปรมาภิไธยเป็นการชั่วคราวเพื่อความสะดวกในการเรียกขานพระนาม จึงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร”

นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ร่วมถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ด้วยบทความพิเศษในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม 2559

นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม 2559 ภาพปก : ธงมหาราชใหญ่-ธงประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ไทย และโคลง-เป็นโคลงขึ้นต้นกาพย์ขับไม้เรื่องพระรถตอนที่เรียกว่า "ขึ้นเรือนหลวง" ซึ่งใช้ขับเฉพาะในงานสมโภชชั้นสูง เช่น สมโภชพระมหาเศวตฉัตร หรือสมโภชเจ้าฟ้า เป็นต้น
นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม 2559 ภาพปก : ธงมหาราชใหญ่-ธงประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ไทย และโคลง-เป็นโคลงขึ้นต้นกาพย์ขับไม้เรื่องพระรถตอนที่เรียกว่า “ขึ้นเรือนหลวง” ซึ่งใช้ขับเฉพาะในงานสมโภชชั้นสูง เช่น สมโภชพระมหาเศวตฉัตร หรือสมโภชเจ้าฟ้า เป็นต้น


“พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์” โดย นนทพร อยู่มั่งมี นำเสนอประวัติพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตั้งแต่พิธีบรมราชาภิเษกในอินเดีย, ความหมายของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก, พระราชพิธีบรมราชาภิเษกก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์, พระราชพิธีปราบดาภิเษกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนับเป็นพระราชพิธีที่แสดงถึงความเป็นสิริมงคลอย่างยิ่งเมื่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ

“พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ในประวัติศาสตร์ไทย” โดย ไกรฤกษ์ นานา กล่าวถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ สมเด็จพระบรม โอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ อ่านข้อมูลฉบับปฐมฤกษ์ที่ถือว่าเป็นระเบียบแบบแผนเก่าแก่ที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์จากหนังสือหายากชื่อ “สยามรัฐพิพิธภัณฑ์” และภาพงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชเมื่อ 105 ปีมาแล้ว ฝีมือนักข่าวพิเศษของ The National Geographic Magazine ที่ส่งช่างภาพมาบันทึกเหตุการณ์นี้โดยเฉพาะเมื่อ พ.ศ.2454

Advertisement
ในเวลา 08.00 น. ของวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2559 ที่เสาธงประจำพระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต ได้มีการเชิญธงมหาราชใหญ่ขึ้นสู่ยอดเสาเป็นเครื่องหมายแห่งการขึ้นทรงราชย์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ในเวลา 08.00 น. ของวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2559 ที่เสาธงประจำพระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต ได้มีการเชิญธงมหาราชใหญ่ขึ้นสู่ยอดเสาเป็นเครื่องหมายแห่งการขึ้นทรงราชย์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

“ธงสำหรับพระเกียรติยศพระมหากษัตริย์” โดย พิชญา สุ่มจินดา นำเสนอประวัติธงสำหรับพระเกียรติยศพระมหากษัตริย์ ในอดีตกาลแต่โบราณพระมหากษัตริย์ทรงดำรงสถานะเป็นจอมทัพ ทรงมีหน้าที่ในการป้องกันและขยายพระราชอาณาเขตพิทักษ์ความสงบร่มเย็นของราษฎร การเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชสงครามหรือแม้ในกระบวนพยุหยาตรายามปกติก็ดีย่อมต้องมีการเชิญธงชัยเป็นธงประจำพระองค์พระมหากษัตริย์เพื่อเป็นพระราชสิริและสวัสดิมงคลแด่องค์พระผู้เป็นหลักชัย ขณะเดียวกันก็ช่วยเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้กับทหารผู้ออกสู่สมรภูมิด้วยประเภทธงชัย ได้แก่ “ธงชัยราชกระบี่ยุทธใหญ่” และ “ธงชัยพระครุฑพ่าห์ใหญ่”

กาลต่อมาเมื่อสยามมีการติดต่อกับนานาอารยประเทศจึงเริ่มมีการใช้ธงที่เป็นเครื่องหมายตามแบบสากลนิยมที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอย่างเป็นทางการ ธงอย่างสากลเช่นนี้ต่อมาได้สร้างเป็นธงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ด้วย ประเภทธงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ได้แก่ “ธงมหาราช”

Advertisement

“ฉันท์ดุษฎีสังเวย และขับไม้สมโภชพระมหาเศวตฉัตร” โดย ถาวร สิกขโกศล นำเสนอข้อมูลประวัติของการอ่านฉันท์ดุษฎีสังเวยและบรรเลงวงขับไม้อันเป็นกิจกรรมสำคัญคู่กันในพระราชพิธีสมโภชพระมหาเศวตฉัตรและสมโภชช้างเผือก การอ่านฉันท์ดุษฎีสังเวยเป็นส่วนสำคัญของพิธีกรรมไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และขอพร ส่วนการขับไม้เป็นดนตรีชั้นสูงบรรเลงขับกล่อมในพระราชพิธีต่อจากการอ่านฉันท์ ในบทความจะอธิบายถึงความรู้เรื่องขับไม้อย่างสังเขป, วินิจฉัยศัพท์ “ขับไม้”, ที่มาและพัฒนาการของการขับไม้, เรื่องที่ใช้ขับไม้, กาพย์ขับไม้เรื่องพระรถ (นิตยสารศิลปวัฒนธรรมได้นำโคลงขึ้นต้นกาพย์ขับไม้เรื่องพระรถตอนที่เรียกว่า “ขึ้นเรือนหลวง” ขึ้นปกฉบับเดือนธันวาคม 2559) และฉันทลักษณ์ของกาพย์ขับไม้

“สิบสองพระกำนัลและสิบสองพระคลัง” โดย ส.พลายน้อย ค้นคว้าหาความหมายของคำว่า “สิบสองพระกำนัล” และ “สิบสองพระคลัง” ตำแหน่งตามราชประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับการบรมราชาภิเษก โบราณเรียกนางกำนัลทั้งหมด 12 นางว่า พระสนมสิบสองพระกำนัล ในกาพย์ขับไม้เรื่องพระรถกล่าวไว้ว่า มีกำนัลรับพระหัตถ์, กำนัลพระขันหมาก, กำนัลน้ำเสวย, กำนัลพัชนี, กำนัลพระสำอาง, กำนัลพระมาลา, กำนัลพระบังคน, กำนัลพระไสยาสน์, กำนัลทิพยรส, กำนัลพระโภชน์, กำนัลพระโอษฐ์ และกำนัลทาพระองค์

ภาพประกอบข่าววันสวรรคตในรัชกาลที่ 5 พาดหัวข่าวว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ของสยามในวันสวรรคตของสมเด็จพระบรมชนกนาถ (ภาพจาก Le Gaulois du Dimanche, 12 Nov. 1910. เอกสารหายากของสะสม คุณไกรฤกษ์ นานา)
ภาพประกอบข่าววันสวรรคตในรัชกาลที่ 5 พาดหัวข่าวว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ของสยามในวันสวรรคตของสมเด็จพระบรมชนกนาถ (ภาพจาก Le Gaulois du Dimanche, 12 Nov. 1910. เอกสารหายากของสะสม คุณไกรฤกษ์ นานา)

สิ่งที่เป็นคู่กับสิบสองพระกำนัลก็คือสิบสองพระคลัง ในสมัยโบราณมีคลังมาก คลังเหล่านี้เป็นที่เก็บทรัพย์สมบัติและข้าวของพัสดุต่างๆ ของมหากษัตริย์ รายชื่อสิบสองพระคลังเท่าที่มีปรากฏอยู่ในเอกสารเก่ามีชื่อดังต่อไปนี้ คลังทอง, คลังมหาสมบัติ, คลังสินค้า, คลังวิเศษ, คลังในซ้าย, คลังขวา, คลังราชการ, คลังพิมานอากาศ, คลังป่าจาก, คลังสรรพยุทธ, คลังวังไชย และคลังศุภรัต

บทความในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม 2559 เป็นเสมือนบันทึกข้อมูลในหน้าประวัติศาสตร์แห่งงานพระราชพิธีที่สำคัญยิ่งของคนไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image