“วัคซีนไข้เลือดออก”สำเร็จแล้ว จ่อขึ้นทะเบียน แม้ประสิทธิภาพไม่เต็ม 100% แต่ดีกว่าไม่มี

นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่า ประเทศฟิลิปปินส์ขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกว่า เรื่องนี้อาจต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ปัจจุบันมีประเทศที่ขึ้นทะเบียนวัคซีนไข้เลือดออก คือ ฟิลิปปินส์ บราซิล เม็กซิโก โดยวัคซีนดังกล่าวเป็นของบริษัท ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ ซึ่งมีการวิจัยพัฒนามานาน และประเทศไทยก็ร่วมศึกษาดังกล่าว โดยที่ผ่านมาทางบริษัทได้นำวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ซึ่งเป็นการป้องกันไวรัสเด็งกี่สี่สายพันธุ์ ทั้งเด็งกี่ 1-4 ซึ่งบริษัทได้นำเอกสารไปขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ของแต่ละประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งระยะเวลาอาจช้าเร็วไม่เหมือนกัน

“หากขึ้นทะเบียนแล้วก็จะสามารถประกาศใช้วงกว้างได้ สำหรับประเทศไทย “วัคซีนไข้เลือดออก” เป็นวัคซีนที่อยู่ในแผนวาระแห่งชาติด้านวัคซีน เป็นวัคซีนที่ได้รับการสนับสนุนการวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำเพื่อให้สามารถนำไปผลิตในเชิงอุตสาหกรรม”นพ.จรุง กล่าว

นพ.จรุง กล่าวอีกว่า สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันได้ประมาณร้อยละ 60 คือ หากมี 100 คน ก็จะมี 60 คนที่ป้องกันได้ ส่วนที่เหลืออีก 40 คนก็ไม่ต้องกังวล เนื่องจากยังมีประสิทธิภาพลดความรุนแรงของโรคได้อีกร้อยละ 80 ซึ่งการฉีดวัคซีนจะใช้ 3 เข็มในกลุ่มอายุ 9-45 ปี เพราะช่วงอายุต่ำกว่า 9 ปีประสิทธิภาพยังไม่ชัดมาก ขณะที่อายุมากกว่า 45ปี ไม่มี่ข้อมูลวิจัย อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า เป็นทางเลือกที่ดี เพราะการป้องกันไข้เลือดออกจากยุงลายนั้น ต้องมีมาตรการหลายอย่างควบคู่กันไป ทั้งแนวทางการป้องกันยุง กำจัดลูกน้ำยุงลาย แนวทางการป้องกันด้วยวัคซีนก็เป็นอีกทางที่ต้องควบคู่กันด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เน้นการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ไปจนถึง 13 เมษายนนี้ เพื่อลดปริมาณยุงลายก่อนช่วงแพร่พันธุ์ โดยให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรในกระทรวงฯ ดำเนินการ 5 ส. 3. เก็บ โดย “5 ส.” คือ 1.สะสาง เก็บข้าวของให้ปลอดโปร่ง 2.สะดวก จัดวางหรือจัดเก็บสิ่งของให้เป็นระเบียบ 3.สะอาด การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานให้เรียบร้อย 4. สร้างมาตรฐาน คือ รักษามาตรฐาน 3ส.แรกให้ดี และ5.สร้างวินัย ปฏิบัติตามมาตรฐาน กฎระเบียบต่างๆ ที่ตั้งไว้อย่างสม่ำเสมอ

Advertisement

ส่วน“3 เก็บ” ได้แก่ เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก เก็บขยะเศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย และเก็บน้ำ ปิดให้มิดชิดหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่ โดยมาตรการเหล่านี้ขอให้ทุกหน่วยงานในสังกัด สธ.ทำทุกวันศุกร์ โดย สธ. ต้องเป็นต้นแบบดำเนินการ

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า วัคซีนนี้มีการขึ้นทะเบียนพร้อมกันไม่ต่ำกว่า 7ประเทศ ซึ่งไทยก็มีการยื่นเรื่องเช่นกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านคุณภาพ ด้านความปลอดภัย และด้านการวิจัยทางคลินิก ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญจากทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ส่งความเห็นกลับมาให้แล้ว เหลือรอความคิดเห็นอื่นๆ หากครบก็จะมีการเสนอคณะอนุกรรมการด้านชีววัตถุพิจารณาต่อไป หากอนุมัติก็จะเสนอต่อคณะกรรมการ อย.ชุดใหญ่ เพื่ออนุมัติขึ้นทะเบียนได้ทันที โดยวัคซีนดังกล่าวน่าจะขึ้นทะเบียนได้ เพราะเป็นวัคซีนตัวแรก แม้ประสิทธิภาพอาจไม่ดีในบางสายพันธุ์ แต่ดีกว่าไม่มีเลย ส่วนจะพิจารณากระจายให้ประชาชนในวงกว้างหรือวงแคบ อยู่ที่กรมควบคุมโรค และสธ.พิจารณา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image