การธำรงรักษาวินัยและการเสริมสร้างลักษณะผู้นำ วัฒนธรรมองค์การของทหารที่คงต้องมีอยู่ตลอดไป โดย พล.ท.ทวี แจ่มจำรัส

เมื่อต้น เม.ย.59 และต้น พ.ย.59 ได้เกิดเหตุการณ์อื้อฉาวในค่ายทหารที่ จ.นราธิวาส และการฝึกหลักสูตรทางทหารที่ใช้การเฆี่ยนตี ทำร้าย ถูกเนื้อต้องตัว แพร่ทางสื่อมวลชนทุกชนิดและได้วิพากษ์วิจารณ์ด้วยความห่วงใยถึงพฤติกรรมของนายทหารยศร้อยตรี 1 นาย และนายทหารประทวน (นายสิบ) 5 นาย และครูฝึกใช้กำลังรุมทำร้ายในเวลากลางคืนและกลางวัน ทำให้พลทหาร 1 หนึ่งนายเสียชีวิต และพลทหารอีก 1 นายและนักเรียนทหารที่เข้ารับการฝึกบาดเจ็บสาหัส อาจทำให้กองทัพเสียชื่อเสียง ประชาชนจะเสื่อมศรัทธา ส่ออาการป่วยของกองทัพ จะต้องมีการปฏิรูปการปกครองบังคับบัญชาทหาร การใช้อารมณ์และการลงโทษอย่างป่าเถื่อนจะต้องยุติอย่างเด็ดขาดทันที ซึ่งผู้เขียนในฐานะทหารเก่าก็ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวของน้องๆ ทหารทั้ง 2 นายและนักเรียนทหารนายนั้น และต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ได้แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อมวลชนและห่วงใยในองค์การของทหาร

ผู้เขียนไม่ขอแก้ตัว แต่เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นเฉพาะบุคคล ที่ประพฤติและปฏิบัติไม่ถูกต้องเหมาะสม ในทุกหน่วยงานก็จะต้องมีคนดีเป็นส่วนใหญ่และไม่ดีเป็นส่วนน้อยกันทั้งนั้น การมีคนดีมากกว่าคนไม่ดี ทำให้กองทัพอยู่คู่กับประเทศชาติมาตั้งแต่โบราณแล้ว นิ้วไหนร้ายก็ต้องลงโทษและอาจต้องตัดทิ้งไป วัฒนธรรมองค์การและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีๆ ของทหารที่ได้ยึดถือปฏิบัติกันมาโดยตลอดก็คงต้องดำเนินการต่อไป และปรับปรุงให้ดีขึ้นทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

วัฒนธรรมองค์การ (ORGANIZATIONAL CULTURE) ความหมายทางวิชาการหมายถึง ระบบของการรับรู้และความเข้าใจที่สมาชิกในองค์การมีร่วมกัน ที่ทำให้องค์การมีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากองค์การอื่นๆ เป็นตัวกำหนดบทบาทที่บ่งชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างองค์การหนึ่งกับองค์การอื่นๆ ให้เห็นได้อย่างชัดเจน เป็นสิ่งแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ให้กับสมาชิกขององค์การให้เกิดความรู้สึกว่านี่คือวัฒนธรรมของเรา ซึ่งมีเพียงหนึ่งเดียว และไม่เหมือนใคร วัฒนธรรมช่วยให้เกิดความผูกพันกับบางสิ่งบางอย่าง ที่มีความสำคัญมากกว่าที่จะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัว วัฒนธรรมจะทำหน้าที่ช่วยทำให้องค์การเกิดความมั่นคงโดยทำหน้าที่เป็นกาวทางสังคม (SOCIAL GLUE) เพื่อยึดเหนียวองค์การเข้าด้วยกัน วัฒนธรรมจะเป็นตัวกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสม เพื่อยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติว่าอะไรควรพูดหรือควรทำ และวัฒนธรรมใช้เป็นแนวทางเพื่อควบคุมกำกับทัศนคติและพฤติกรรมให้อยู่ในกรอบหรือขอบเขตที่เหมาะสม วัฒนธรรมขององค์การสามารถส่งผ่านถ่ายทอดไปให้บุคลากรได้หลายวิธี เช่น 1) ใช้สัญลักษณ์ (SYMBOLS) 2) ใช้คำขวัญ (Slogan) 3) เรื่องเล่า (STORIES) 4) พิธีการต่างๆ (CEREMONIES) และ 5) คำแถลงที่เป็นหลักการ (STATEMET OF PRINCIPLE)

วัฒนธรรมองค์การของทหาร (MILITARY CULTURE) ที่สังคมได้รับรู้มาเป็นเวลานานกว่า 100 ปีแล้ว เช่นคำขวัญว่า “วินัยเป็นหัวใจของทหาร” “ท.ทหารอดทน” “ประเทศเป็นบ้านทหารเป็นรั้ว” และปัจจุบันเฉพาะกองทัพบก มีคำขวัญว่า “เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน” ทหารเป็นข้าราชการที่กฎหมายอนุญาตให้ถือและใช้อาวุธในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อป้องกันอธิปไตยของประเทศให้พ้นจากข้าศึกศัตรู จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและไม่ใช่ลายลักษณ์อักษร เช่น จารีตประเพณี วัฒนธรรมองค์การที่เหมาะสม ฯลฯ กฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรเฉพาะที่ใช้ในการควบคุมที่สำคัญมี 6 ฉบับ ได้แก่ 1) ประมวลกฎหมายอาญาทหาร พ.ศ.2454 2) พ.ร.บ.วินัยทหาร พ.ศ.2476 3) พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 4) พ.ร.บ.เรือนจำทหาร พ.ศ.2479 5) พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ.2521 และ 6) พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551

Advertisement

พ.ร.บ. 6 ฉบับดังกล่าวก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไขและให้อำนาจฝ่ายบริหารคือ รมว.กห.ได้ออกกฎหมายลำดับรอง ได้แก่ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบข้อบังคับ คำสั่ง ประกาศ ฯลฯ เพื่อกำหนดรายละเอียดในการปฏิบัติเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้

ใน พ.ร.บ.วินัยทหาร มาตรา 4) วินัยทหารนั้นคือ การที่ทหารต้องประพฤติตามแบบธรรมเนียมของทหาร มาตรา 5) วินัยเป็นหลักสำคัญที่สุดสำหรับทหาร เพราะฉะนั้นทหารทุกคนจักต้องรักษาโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืนท่านให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิด ตัวอย่าง การกระทำผิดวินัยทหารมีดังต่อไปนี้ 1) ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน 2) ไม่รักษาระเบียบเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย 3) ไม่รักษามารยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมทหาร 4) ก่อให้แตกความสามัคคีในคณะทหาร 4) เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ 6) กล่าวคำเท็จ 7) ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร 8) ไม่ตักเตือนสั่งสอนหรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ 9) เสพเครื่องดองของเมาจนเสียกริยา

มาตรา 6) ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่จัดการระวังรักษาวินัยทหารที่ตนเป็นผู้บังคับบัญชาอยู่นั้นโดยกวดขัน มาตรา 7, 8, 9) ทหารผู้ใดกระทำผิดต่อวินัยทหาร จักต้องรับทัณฑ์ 5 สถาน ได้แก่ ภาคทัณฑ์ ทัณฑ์กรรม กัก ขัง จำขัง นอกจากทัณฑ์ที่กล่าวไว้นี้ห้ามมิให้คิดขึ้นใหม่ หรือใช้วิธีลงทัณฑ์อย่างอื่นโดยเด็ดขาด ในประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา 7) ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาตามกฎหมายว่าด้วยวินัยทหารมีอำนาจลงทัณฑ์แก่ทหารผู้กระทำความผิดต่อวินัยทหารตามกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร ไม่ว่าเป็นการกระทำความผิดในหรือนอกราชอาณาจักร

Advertisement

มาตรา 8) การกระทำความผิดอย่างใดๆ ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21, 23, 24, 27, 28, 29, 30, 31, 32, 33, 34, 35, 36, 37, 38, 39, 41, 42, 43, 44, 46, 47 แห่งประมวลกฎหมายนี้ (ซึ่งมีโทษจำคุกตามความหนักเบาของความผิดจนถึง 20 ปีก็มี)

ถ้าผู้มีอำนาจบังคับบัญชาตามกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร พิจารณาเห็นว่าเป็นการเล็กน้อยไม่สำคัญ ให้ถือเป็นความผิดต่อวินัยทหารและให้มีอำนาจลงทัณฑ์ตาม มาตรา 7) เว้นแต่ผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร จะสั่งให้ส่งตัวผู้กระทำความผิดไปดำเนินคดีในศาลทหาร หรือจะมีการดำเนินคดีนั้นในศาลพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารจึงให้เป็นไปตามนั้น

จะเห็นได้ว่าในประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา 8) เจตนารมณ์ของกฎหมายให้ผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจเห็นว่าเป็นการเล็กน้อย ขนาดฐานความผิดต่างๆ ที่มีโทษจำคุกมากบ้างน้อยบ้าง สูงสุดจำคุกถึง 20 ปี กฎหมายยังให้อำนาจดุลพินิจเป็นแค่ความผิดวินัยทหารได้ มิเช่นนั้นจะมีทหารที่ต้องจำคุกจำนวนมาก ก็คงไม่แตกต่างอะไรกับการที่ผู้บังคับบัญชามีดุลพินิจเห็นว่าเป็นการเล็กน้อยที่ทำผิดวินัยทหาร

ซึ่งตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.วินัยทหาร 9 ประการ เป็นแค่ตัวอย่างเท่านั้น แต่ในการปฏิบัติจริงยังมีเพิ่มเติมอีกมากมาย นับไม่ถ้วน และในวงเล็บ 8 ถ้าผู้บังคับบัญชาพบไม่ตักเตือน สั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ ก็เป็นความผิดวินัยของผู้บังคับบัญชาที่ต้องถูกลงโทษโดยผู้บังคับบัญชาระดับเหนือขึ้นไปได้

ในชีวิตจริงของสังคมทหาร ไม่มีทหารผู้ใดที่ไม่เคยกระทำความผิดเล็กน้อยที่เกี่ยวกับวินัยทหาร ถ้าผู้บังคับบัญชาจะเถรตรงวันๆ ก็ไม่ต้องทำอะไร ให้เขียนรายงานเพื่อตั้งหรือไม่ต้องตั้งกรรมการสอบสวน (กรณีความผิดซึ่งหน้า) แล้วสั่งลงทัณฑ์ ฯลฯ ยิ่งไม่สามารถปฏิบัติได้เมื่อเกิดศึกสงคราม ฯลฯ แทนที่จะเกิดผลดีกลับมีผลเสียตามมามากมาย

เช่น 1) เสียเวลาทางธุรการที่จะต้องดำเนินการทางเอกสารไว้เพื่อเป็นหลักฐาน 2) ต้องบันทึกความผิดในสมุดประวัติรับราชการโดยเฉพาะ นายทหารสัญญาบัตรต้องทัณฑ์ทางวินัยอย่างหนึ่งอย่างใด ต้องรายงานถึง รมว.กห.ไม่เป็นสิ่งประสงค์ของทุกคน 3) เสียความรู้สึกขาดประมุขศิลป์ ขาดลักษณะผู้นำ ใช้แต่พระเดชอย่างเดียว ไม่สามารถครองใจทหารได้ 4) เป็นการทำลายอนาคตของผู้ใต้บังคับบัญชาทางอ้อม

5) เป็นการจบสิ้นด้วยการทำโทษตนเองและเลิกแล้วต่อกันโดยไวไม่ผูกพันยืดเยื้ออีก เช่น สั่งดันพื้น (ยึดพื้น) 20 ครั้ง เมื่อปฏิบัติจบก็เสร็จสิ้นไป เว้นแต่จะมีการทำผิดเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นอีก ก็สั่งลงโทษอีก เป็นต้น

สถาบันซึ่งเป็นต้นแบบของระเบียบวิสัยที่เข้มข้นที่สุดของกองทัพบกคือ รร.นายร้อย จปร. ซึ่งผลิตนักเรียนนายร้อยออกมาเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ทุกยุคสมัยและผ่านกฎระเบียบวินัยที่เข้มงวดแล้วทุกคน ตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า พ.ศ.2545 นักเรียนนายร้อยจะต้องปฏิบัติตาม กฎ ระเบียบ คำสั่งแบบธรรมเนียมของ รร.นายร้อยพระจุลจอมเกล้า กับจะต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง และแบบธรรมเนียมของทหาร ทั้งยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายอีกด้วย โดยกำหนดคะแนนความประพฤติในรอบหนึ่งปีการศึกษา จำนวน 200 คะแนน ถ้าผู้ใดถูกตัดคะแนนความประพฤติเกินร้อยละ 60 หรือ 120 คะแนน หากสอบได้ให้ถือว่าสอบตกซ้ำชั้น หากสอบตกซ้ำชั้นให้ถอนทะเบียน

สำหรับการลงทัณฑ์ นอกเหนือจากการตัดคะแนนความประพฤตินักเรียนนายร้อยที่กระทำผิดวินัยทหารแล้ว ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นจะต้องพิจารณาลงทัณฑ์นักเรียนนายร้อยที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ ทัณฑ์ที่จะลงแก่นักเรียนนายร้อยกำหนดเป็น 4 สถาน คือ ภาคทัณฑ์ ทัณฑ์กรรม กัก และขัง ไม่มีจำขัง เว้นแต่จะได้ทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือประมวลกฎหมายอาญาทหาร (มีห้องหมายเลข 18 ไว้ขังนักเรียนนายร้อยด้วย)

ตามระเบียบ รร.นายร้อยพระจุลจอมเกล้าว่าด้วยการตัดคะแนนความประพฤติและการลงทัณฑ์นักเรียนนายร้อย พ.ศ.2552 ในหมวด 4 การลงทัณฑ์นักเรียนนายร้อย ข้อ 28 จากทัณฑ์ตามที่กล่าวมาแล้ว ห้ามมิให้คิดขึ้นใหม่หรือใช้วิธีลงทัณฑ์อย่างอื่นเป็นอันขาด

ข้อ 29 ผู้บังคับบัญชาอาจพิจารณาใช้มาตรการทางปกครอง แก่นักเรียนที่ประพฤติบกพร่องอีกก็ได้ ดังต่อไปนี้ 1) ว่ากล่าวตักเตือน คือการที่ผู้บังคับบัญชาได้อบรมสั่งสอนด้วยวาจา ซึ่งอาจจะมีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานด้วยก็ได้ 2) ตัดสิทธิ คือการตัดสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น ยืดเวลาปล่อยพักผ่อนนอกโรงเรียนให้ช้ากว่าปกติ ฯลฯ 3) การธำรงวินัย คือให้กระทำการว่ากล่าวตักเตือนหรืออบรมสั่งสอน ควบคู่กับการออกกำลังกาย หรือให้ทำงาน หรือกิจกรรมที่มีผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพ อุปนิสัยหรือจริยธรรมของนักเรียน โดยไม่ถูกเนื้อต้องตัว ตามที่กรมนักเรียนนายร้อยรักษาพระองค์กำหนด

สำหรับเกณฑ์การตัดคะแนนความประพฤติ คือ 1) ความผิดชั้นที่ 1 สถานหนัก ตัด 26-35 คะแนน ได้แก่ หมวดการขาดราชการ หมวดการรักษาการณ์ หมวดการปกครอง หมวดสามัคคี หมวดการปฏิบัติตน 2) ความผิดชั้นที่ 2 สถานกลาง ตัดคะแนน 8-25 คะแนน ได้แก่ หมวดขาดราชการ หมวดรักษาการณ์และเตรียมพร้อม หมวดการปกครอง หมวดการพนัน หมวดความสามัคคี หมวดการปฏิบัติตน เฉพาะหมวดนี้มีถึง 19 รายการ เช่น การปฏิบัติไม่เป็นสุภาพบุรุษ ปฏิบัติการใดๆ อันก่อให้เกิดข้อครหาในทางวินัย ทำตัวอย่างที่ไม่ดีแก่นักเรียนชั้นต่ำกว่า ฯลฯ และหมวดการแต่งกาย ชั้นที่ 3 สถานเบา ตัดคะแนน 1-7 คะแนน มีหมวดรักษาการณ์ หมวดการปกครอง หมวดการปฏิบัติตน หมวดการแต่งกายและเบ็ดเตล็ด รวมทั้ง 3 สถาน หนัก กลาง และเบา มากกว่าหนึ่งร้อยรายการความผิด

ถ้าผู้บังคับบัญชาจะเข้มงวดและเถรตรงและตัดคะแนนความประพฤติตามกำหนด โดยไม่มีข้อยกเว้นโดยดูเจตนาที่กระทำ ก็จะไม่มีนักเรียนนายร้อยผู้ใดจบการศึกษาได้เลยเพราะต้องถูกตัดแต้มเกิน 120 คะแนน ในระเบียบดังกล่าวจึงผ่อนปรนให้ใช้มาตรการทางปกครองควบคู่กับการออกกำลังกายแทน เช่น นักเรียนนายร้อยได้รับการฝึกหนักมาหลับในห้องเรียนเกณฑ์ตัด 5-7 คะแนน ก็อบรมว่าคราวหลังอย่าหลับอีก ให้ยึดพื้น 20 ครั้งแทนเป็นการทำโทษเมื่อทำแล้วก็จบกันไป ไม่ต้องบันทึกตัดแต้ม นักเรียนได้ฝึกความอดทนและลักษณะทางร่างกายไปด้วย แต่ถ้าความผิดสถานหนัก เช่น มีเจตนาแสดงกิริยาวาจาโอหังต่อผู้บังคับบัญชา อาจารย์ ผู้ใหญ่ นายทหาร ผู้ฝึก หรือนายทหารเวร เกณฑ์ตัด 26-35 คะแนน อย่างนี้ต้องคัดคะแนนและให้ออกกำลังกายอย่างหนัก เป็นต้น

นอกจากนั้นยังมีระบบและระเบียบของกรมนักเรียนนายร้อยเกี่ยวกับการปลูกฝังและเสริมสร้างลักษณะผู้นำที่ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ปฏิบัติที่จะต้องให้ใช้การออกกำลังกาย เช่นกัน

เพราะฉะนั้นนายทหารรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่จบออกไปรับราชการและต้องปกครองบังคับบัญชากำลังพลหลายประเภท จึงต้องมีดุลพินิจในการใช้อำนาจตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ถ้าผู้กระทำมีเจตนาและจงใจ และส่งผลกระทบเป็นผลเสียส่วนรวม อย่างนี้ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ถ้าผู้กระทำผิดเล็กน้อยไม่มีเจตนา และการกระทำนั้นไม่ส่งผลกระทบเป็นผลเสียต่อส่วนรวม ก็ต้องใช้ดุลพินิจ โดยใช้มาตรการทางปกครองด้วยการให้ออกกำลังกายตามสมควร เป็นการทำโทษตนเองแทน เพื่อให้หลาบจำ เป็นการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาทหารที่เหมือนเป็นวัฒนธรรมองค์การ และใช้ปฏิบัติกันมานานแล้ว เป็นความพึงพอใจของทั้งผู้ลงโทษและผู้รับโทษ และได้ประโยชน์มากกว่า เช่น เสริมสร้างความอดทนของร่างกาย ได้ประโยชน์ในการปรับปรุงและเสริมสร้างลักษณะผู้นำ โดยต้องผ่านการเป็นผู้ตามมาก่อนทุกคน

แต่ถ้าจะให้การบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.วินัยทหาร พ.ศ.2476 ที่ได้แก้ไขเป็นฉบับที่ 5 ล่าสุดเมื่อ พ.ศ.2505 เพื่อป้องกันการถูกฟ้องร้องในเรื่องความรับผิดทางละเมิดและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอนาคต ก็น่าจะได้พิจารณาแก้ไขอีกครั้งให้แน่ชัด โดยแก้ไขเพิ่มข้อความในมาตรา 9 ภาคทัณฑ์ คือ ผู้กระทำผิดมีความผิดอันควรต้องรับทัณฑ์สถานหนึ่งสถานใดดังกล่าวมาแล้ว แต่มีเหตุอันควรปรานี จึงเป็นแต่แสดงความผิดของผู้นั้นให้ปรากฏ หรือให้ทำทัณฑ์บนไว้ หรือให้ออกกำลังกายตามสมควรแทนได้ ก็จะมีความครบถ้วนสมบูรณ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image