นวัตกรรมใหม่! มช.คิดค้นพลาสติกชีวภาพคุณภาพสูง หนุนนโยบายอุตสาหกรรมแพทย์ 4.0

วันที่ 26 ธันวาคม 2559 เมื่อเวลา 10.00 น. ผศ.ดร.วินิตา บุณโยดม อาจารย์จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) แถลงที่ห้องประชุมพระยาศรีวิสารวาจา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ถึงความก้าวหน้าการผลิตพลาสติกชีวภาพคุณภาพสูงเกรดทางการแพทย์มาตรฐาน ASTM F1925-09 หรือ Standard Specification for Semi-Crystalline Poly (lactide) Polymer and Copolymer Resins for Surgical Implants สำหรับนำไปใช้เป็นวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อดำเนินการในห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้ทางการแพทย์ ที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO 13485 หรือระบบบริหารคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์

“มช.ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพฯ โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ มช. เป็นผู้ดำเนินการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามแผนธุรกิจของ มช. โดยร่วมมือกับ ปตท. เพื่อทดสอบตลาด และอยู่ระหว่างการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)” ผศ.ดร.วินิตากล่าว

201612261446061-20021028190355
ผศ.ดร.วินิตากล่าวว่า ผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นการสนับสนุนนโยบายอุตสาหกรรมการแพทย์ 4.0 ของรัฐบาล เนื่องจากเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเม็ดพอลิเมอร์ที่ดูดซึมได้คุณภาพสูงเกรดทางการแพทย์ซึ่งเตรียมได้จากผลผลิตมูลค่าต่ำในประเทศ ทำให้นักวิจัยในประเทศไทย รวมทั้งผู้ประกอบการด้านวัสดุทางการแพทย์สามารถซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่าการสั่งซื้อจากต่างประเทศ 3 เท่า ซึ่งหากซื้อจากต่างประเทศจะมีมูลค่า 1.5 แสนบาท แต่หากเราผลิตเองจะมีราคาเพียง 5 หมื่นบาทเท่านั้น จึงเป็นโอกาสดีที่จะผลิตเพื่อส่งออกและชดเชยการนำเข้า ด้วยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ภายใต้มาตรฐานสากล

“ขณะนี้คณะผู้วิจัยร่วมกับทีมแพทย์ สัตวแพทย์ และวิศวกร นำเม็ดพลาสติกชีวภาพดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอด โดยการขึ้นรูปเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ในร่างกายมนุษย์ เช่น ไหมเย็บแผลที่ละลายได้ ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ด้วยปฏิกิริยาไฮโดรไลซิส โดยระบบเมตาบอลิซึมในร่างกาย ขับถ่ายออกมาเป็นปัสสาวะ จึงช่วยลดขั้นตอนในการรักษา ทำให้ไม่ต้องทำการผ่าตัดซ้ำ ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมและไม่ต้องทนเจ็บปวดหลายครั้ง” ผศ.ดร.วินิตากล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ ผศ.ดร.วินิตากล่าวอีกว่า ในส่วนเมล็ดพลาสติกสามารถจำหน่ายได้แล้ว แต่ในส่วนของการผลิตเป็นไหมเย็บแผล หรือวัสดุทางการแพทย์นั้น ยังมีขั้นตอนอีกมาก คาดใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี จึงจะสมบูรณ์ โดย ปตท.พร้อมสนับสนุนการวิจัยเต็มที่ และจะมีการทดลองในสัตว์ใหญ่ก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image