INDEX : คำถามถึง ‘สนช.’ ถึง ‘แม่น้ำ 5 สาย’ ต่อปัญหาของ ‘สมเด็จพระสังฆราช’

เป้าหมายของ 81 สนช.ที่เสนอแก้ไขเพิ่มเติมพรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 เป็นเป้าหมายที่ดี

นั่นก็คือ เพื่อแก้ปัญหา

แต่เมื่อถามว่า ที่ว่าเป็น”ปัญหา” นั้น ปัญหาที่ว่านั้นคืออะไร ก็ชักจะเริ่มเกิด “ปัญหา”

คล้ายกับจะเป็นปัญหาของ “คณะสงฆ์”

Advertisement

แต่เมื่อพิจารณาจาก “มติ” ของที่ประชุม”มหาเถรสมาคม”เมื่อเดือนมกราคม

ก็จะเห็นว่า “คณะสงฆ์”มิใช่ตัว”ปัญหา”

เนื่องจากเป็นมติอันเป็น “เอกฉันท์” สะท้อน “เอกภาพ”อันแข็งแกร่งอย่างยิ่งของ “กรรมการ” มหาเถรสมาคม

Advertisement

ไม่ว่า”มหานิกาย” ไม่ว่า”ธรรมยุต”

เมื่อภายใน “คณะสงฆ์” ดำรงอยู่อย่างเป็น”เอกภาพ”อันแข็งแกร่งและมั่นคงเช่นนี้ “ปัญหา” หรือที่เรียกว่า”ความขัดแย้ง”ย่อมอยู่ที่อื่น

อยู่ที่ไหน

ต้องยอมรับว่า “มหาเถรสมาคม” ปฏิบัติตามบทบัญญัติของ พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ครบถ้วน

ไม่มีตรงไหนที่เป็นการ”ละเมิด”

กระบวนการของ “มหาเถรสมาคม” ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.)จึงได้นำเรื่องเดินไปตามแบบแผน

แบบแผนก็คือ พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 นั่นเอง

คือ ส่งเรื่องไปยัง “รัฐมนตรี”

เพื่อที่ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจะส่งเรื่องไปยัง “รองนายกรัฐมนตรี” เพื่อกรองอีกชั้นก่อนส่งถึงมือของ “นายกรัฐมนตรี” เพื่อนำทูลเกล้าฯ

เรื่องมา “ติด” อยู่ตรงนี้

เป็นการติดจาก “เดือนมกราคม” ยืดเยื้อและยาวนานมายัง”เดือนธันวาคม”

จึงได้เกิดการแก้ไข”กฎหมาย”

เนื้อหาการเสนอแก้ไขพรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ที่สำคัญก็คือ

แก้ไข มาตรา 7

ตัดขั้นตอนของ “มหาเถรสมาคม” ในความรับผิดชอบในกระบวนการสถาปนา”สมเด็จพระสังฆราช”ออกไป

เหลือเพียง “นายกรัฐมนตรี”

ให้ “นายกรัฐมนตรี” อยู่ในฐานะเป็น “ผู้รับสนอง”พระบรม ราชโองการ

เท่ากับเรื่องของ”สมเด็จพระสังฆราช”มิได้เป็นเรื่องของ”พระ” หากแต่มาอยู่ในความรับผิดชอบของ”นายกรัฐมนตรี”ซึ่งเป็น “พลเรือน”

ชัดหรือยังในเป้าหมายและวิธีคิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image