เหลียวหลังการศึกษาปี’59 จับตาปีไก่ทอง “รุ่ง-ร่วง”??

ผ่านพ้นปีลิงแสนซน 2559 เข้าสู่ปีไก่ทอง 2560 ภาพรวมการศึกษาไทยยังมองไม่เห็นความแตกต่างจากปีที่ผ่านมาเท่าที่ควร แต่ก็ไม่ถึงขั้นไม่มีผลงานให้บอกเล่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายที่ “บิ๊กหนุ่ย” พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการไว้หลายเรื่องต้องใช้เวลา และความที่ทำงานตามแบบฉบับซิงเกิลคอมมานด์ ทำให้การตัดสินใจเรื่องนโยบายต่างๆ ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีว่าการ ศธ.งานบางอย่างจึงทำได้เร็วและตัดสินฉับไวกว่าหลายรัฐบาลที่ผ่านมา แต่บางเรื่องก็ยังคงไม่คืบหน้าไปไหน!!!

โดยเฉพาะการแก้ปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นในสำนักงานคณะกรรมการสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนก่อน พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 สั่งกวาดล้างเหลือบไรที่เกาะกินวงการศึกษา ตั้งแต่ปี 2558 แต่ตลอดปี 2559 กลับมองไม่เห็นผลงาน ทั้งที่ “บิ๊กหนุ่ย” ย้ำมาตลอดว่าจะไม่ปล่อยให้คนผิดลอยนวล ทั้งการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้อง และการเรียกเงินกว่า 3,000 ล้านบาทที่ถูกยักยอกคืนครู ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูก็วนอยู่ในอ่าง ยังคงเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ทิ้งรูปแบบเดิม โดยให้ครูใช้เงินอนาคตมารีไฟแนนซ์หนี้ตัวเองเหมือนการขายผ้าเอาหน้ารอดเท่านั้น

ปลายปี ศธ.ต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เนื่องจาก พล.อ.ดาว์พงษ์ต้องไปรับตำแหน่งอันทรงเกียรติ ทำให้ต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยรัฐบาลมอบหมายให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ขึ้นแท่นเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ส่ง “หม่อมเหลน” ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล จากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ข้ามห้วยมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ทำงานร่วมกับ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ซึ่งถือว่านั่งในตำแหน่งนี้ต่อเนื่องมานานเกือบ 3 ปี

ตลอดปี 2559 ที่ผ่านมา งานที่ “บิ๊กหนุ่ย” ขับเคลื่อนจะเกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอน ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ และการแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งการแก้ปัญหาส่วนใหญ่ พล.อ.ดาว์พงษ์เลือกใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาแก้ปัญหา ผลงานชิ้นโบแดง คือ ปฏิรูปโครงสร้าง ศธ.ระดับภูมิภาคใหม่ ยุบคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาและคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่ฯ และโอนอํานาจให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) มีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรองผู้ว่าฯ เป็นประธาน ตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค 18 ภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ตลอดจนตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (คปภ.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน

Advertisement

แม้นักวิชาการแวดวงการศึกษาหลายรายจะมองว่าการให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลการศึกษาเหมือนเป็นงานฝากและกังวลว่าจะทำให้การปฏิรูปการศึกษาล้มเหลว และยิ่งถอยหลังลงคลองเข้าไปอีก แต่ “บิ๊กหนุ่ย” ก็ยังยืนยันเสียงแข็งว่า การปฏิรูปครั้งนี้เพื่อให้การขับเคลื่อนการศึกษาตามกรอบระยะเวลาที่เหลือของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการบูรณาการงานระดับพื้นที่ให้โรงเรียนในระดับต่างๆ ที่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน ทำงานเชื่อมโยงกันมากขึ้น มีความคล่องตัวในการบริหารงานบุคคล แก้ปัญหาการเกลี่ยอัตรากำลังครู การบรรจุครูใหม่ การย้ายครูข้ามเขต การคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียน การดำเนินการทางวินัย ที่มีกระแสข่าวว่ามีการเรียกรับเงินมาโดยตลอด

จากการปรับโครงสร้าง ศธ.ระดับภูมิภาคครั้งใหญ่นี้เอง ทำให้ต้องมีการปรับหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการทำงานของ กศจ.ที่จะยึดจังหวัดเป็นฐานในการบริหารการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการปรับหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา รองผู้อำนวยการสถานศึกษา การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ การจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ ฯลฯ โดยให้ทั้งหมดเชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก แก้ปัญหาครูทิ้งห้องเรียน วิ่งเต้นทำผลงานเพื่อให้ได้มีวิทยฐานะและเงินเดือนที่สูงขึ้น ทั้งหมดนี้ยังไม่เป็นรูปธรรม ขณะที่การทำงานของ กศจ.ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาก็มีปัญหา โดยหลังการปรับ ครม. นพ.ธีระเกียรติได้มอบหมายงานสำคัญนี้ให้ ม.ล.ปนัดดา ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม และจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนเข้ามานั่งทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล

ต้องจับตามองว่าในปี 2560 นี้ กศจ.ภายใต้การดูแลของ “หม่อมเหลน” จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานการศึกษาได้ตามที่คาดหวังหรือไม่

ส่วนการแก้ปัญหาอุดมศึกษา ถือว่าเริ่มเห็นเค้าลางของการเอาจริงเอาจังไม่ปล่อยให้ธุรกิจการศึกษากัดกินอุดมศึกษาให้ตกต่ำลงไปอีก โดย “บิ๊กหนุ่ย” ได้ใช้ ม.44 สั่งตั้งคณะบุคคลเข้าไปควบคุมมหาวิทยาลัย 4 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สุรินทร์ มรภ.ชัยภูมิ มหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก ที่ส่วนใหญ่จะมีปัญหาในเรื่องการสรรหาอธิการบดี นายกสภาฯรวมถึงมีความขัดแย้งที่รุนแรงเกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งแว่วว่าในปี 2560 นี้จะมีการสั่งตั้งคณะบุคคลเข้าไปควบคุมมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชนอีกหลายแห่ง นอกจากนี้ยังไม่อนุมัติใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูให้กับบัณฑิตมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ วิทยาลัยทองสุข และวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เนื่องจากรับนักศึกษาเกินกว่าที่แจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รับทราบจำนวนมาก อีกทั้งอาจารย์ในหลักสูตรส่วนใหญ่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ สกอ.กำหนด ทั้งนี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ยังสั่งการให้ สกอ.ตรวจสอบการจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ให้เกิดปัญหา ใช้นักศึกษาเป็นตัวประกันหารายได้เข้ากระเป๋าอีก

ขณะเดียวกันกลุ่มที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) และที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) ยังมีมติปรับระบบการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยระบบใหม่ โดยจะมี 5 รอบ ได้แก่ 1.การรับตรงโดยใช้แฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนโดยไม่มีการสอบ 2.การรับระบบโควต้าหรือรับตรง โดยใช้ข้อสอบกลาง จัดสอบช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 3.ระบบเคลียริ่งเฮาส์รอบแรก 4.เคลียริ่งเฮาส์รอบสอง และ 5.รับตรงอิสระ ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถดำเนินการได้เอง รวมทั้งมหาวิทยาลัย คณะ/สาขาต่างๆ สามารถเปิดสอบวิชาเฉพาะได้เอง ซึ่งการปรับเปลี่ยนครั้งนี้จะมีผลดีกับเด็ก ผู้ปกครองและมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการสมัครเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา นักเรียนจะมีเพียง 1 สิทธิในการเข้าศึกษาเท่านั้น ซึ่งจะไม่เกิดปัญหาการกั๊กที่เรียนเหมือนที่ผ่านมา

อีกเรื่องที่ต้องจับตามอง คือการควบรวม หรือยุบโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 10,000 โรงเรียน บริหารจัดการภายใต้โครงการ “โรงเรียนดีใกล้บ้าน” หรือ “โรงเรียนแม่เหล็ก” เพราะเป็นเรื่องที่หลายรัฐบาลพยายามแก้ปัญหามาตลอด แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะจะเกิดแรงต้านทั้งจากชุมชน เอ็นจีโอและภาคส่วนอื่นๆ ซึ่งถือเป็นนโยบายทิ้งทวนของ “บิ๊กหนุ่ย” ก่อนไปรับตำแหน่งองคมนตรี

ดังนั้น เมื่อมีการปรับ ครม.ให้ นพ.ธีระเกียรติ มารับไม้ต่อในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ. จึงถูกจับตามองว่าจะสานต่อสิ่งที่ “บิ๊กหนุ่ย” ทำไว้ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะต้องยอมรับว่าในช่วงที่ นพ.ธีระเกียรติเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ก็ยังไม่มีผลงานที่เป็นรูปธรรม และยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นงานด้านอุดมศึกษา หลักสูตร และการปฏิรูปการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ ที่ นพ.ธีระเกียรติกำกับดูแลอยู่ จึงอาจถูกมองว่าภาพความเป็นนักวิชาการจะทำให้ไม่ทันเกมข้าราชการ ศธ.!!!

งานแรกที่ “หมอธี” สั่งเดินเครื่องทันทีคือ โครงการแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา โดยคัดเลือกโรงเรียนไอซียู กว่า 3,000 โรงเรียนทั่วประเทศ มานำร่องรักษาตามอาการ โดยเน้นย้ำให้สืบสานพระราชปณิธาน ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งในเรื่องของครูและการปฏิรูปการศึกษา

ส่วน พล.อ.สุรเชษฐ์ ปีที่ผ่านมาดูเหมือนจะมีผลงานที่เป็นรูปธรรมน้อยที่สุด แต่ก็รับผิดชอบงานสำคัญ โดยลงไปดูแลความมั่นคงและการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการศึกษาทางไกล ที่ต้องการมือดีที่เข้าใจมวลชนเข้าไปแก้ไข

สรุปภาพรวมงานการศึกษาในปี 2559 ของทีมรัฐมนตรีการศึกษา แม้จะยังไม่มีผลงานที่เป็นรูปธรรมมากนัก แต่ก็ได้เห็นความพยายามในการขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมมานาน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาคุณภาพครู และคุณภาพผู้เรียน

คงต้องจับตาดูว่าโค้งสุดท้ายของรัฐบาลนี้ และเป็นช่วงสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ศธ. ภายใต้การกุมบังเหียนของ “หมอธี” และทีมรัฐมนตรีช่วย อย่าง ม.ล.ปนัดดา และ พล.อ.สุรเชษฐ์ จะทิ้งทวนอะไรที่เป็นรูปธรรมไว้ให้วงการศึกษาได้ชื่นชม!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image