ปฏิทินเลือกตั้ง โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

แฟ้มภาพ

ปฏิทินโลกว่าด้วยการเลือกตั้งนานาประเทศในปีนี้ มีสื่อมวลชนหลายสำนักจัดเวลาออกมาให้จับตากันแล้ว โดยมีรายการใหญ่ให้ลุ้นระทึกในหลายประเทศ

เช่น ในเนเธอร์แลนด์ มีกำหนดเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม พรรคฝ่ายขวาจัดที่ต่อต้านมุสลิมมีคะแนนนิยมอย่างน่าหวั่น ส่วนเดือนเมษายน ชาติน้องเล็กของอาเซียน ติมอร์ตะวันออก จะเลือกตั้งประธานาธิบดี

ในเดือนเมษายนข้ามไปถึงพฤษภาคม ฝรั่งเศสจะเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งยังดูไม่ออกว่าผู้แทนจากพรรคแนวขวา ขวาจัด หรือซ้าย จะมา

ในส่วนของโลกอาหรับ อิหร่านเลือกตั้งประธานาธิบดีเช่นกัน น่าลุ้นตรงที่ว่าจะเป็นผู้นำแนวปฏิรูปหรือจะกลับไปเป็นแนวสายเคร่งฮาร์ดคอร์

Advertisement

ช่วงกลางปี จะเป็นคิวของแอลเบเนีย มองโกเลีย เซเนกัล กาบอง แองโกลา รวันดา สิงคโปร์ บ้างเลือก ส.ส. บ้างเลือกประธานาธิบดี

ไตรมาสสุดท้ายของปี ไฮไลต์จะไปอยู่ที่เยอรมนี เพราะผู้นำหญิงเหล็ก แองเกลา แมร์เคิล ต้องลุ้นหนักว่าจะนำพรรคชนะเป็นนายกฯ สมัยที่ 4 หรือไม่

นอกจากนี้ยังมีนิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ตบท้ายในช่วงปลายปี

Advertisement

สำหรับไทยแลนด์ ไม่ติดโผว่าจะมีเลือกตั้งในหลายสำนัก แต่เว็บไซต์สารานุกรม วิกิพีเดีย จัดให้อยู่ในกลุ่ม ยังไม่รู้วันที่ มีวงเล็บว่า ภายในวันที่ 31 ธันวาคม

หากอ่านตามนี้ก็อาจจะเป็นความหวังว่า อย่างน้อยไทยแลนด์ก็จะมีการเลือกตั้งที่จะคลี่คลายอะไรๆ หลายๆ อย่าง

แม้ว่าจะมีโพลแปลกๆ ปลายปีที่แล้ว ออกมาเชิดชูและชื่นชอบรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร โดยไม่แน่ชัดว่าจัดทำโพลจริงจังแค่ไหน หรือจะปล่อยมุขฮาให้ขำกันเล่นๆ

แต่ที่น่าจะไม่ขำ คือท่าทีของสมาชิกสภานิติบัญญัติส่วนหนึ่งส่งสัญญาณว่าการเลือกตั้งคงจะเกิดขึ้นไม่ได้หรือไม่ทันในปี 2560

การส่งสัญญาณนี้ให้เหตุผลว่า ดูตามขั้นตอนโรดแมป คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องส่งกฎหมายลูก 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้ สนช.พิจารณาภายใน 8 เดือน นับจากวันที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

จากนั้น สนช.จะมีเวลาพิจารณาเนื้อหากฎหมายลูกแต่ละฉบับ 2 เดือน ซึ่งดูตามกรอบเวลานี้แล้ว น่าจะใช้เวลาประมาณ 15 เดือน สรุปแล้วไม่ทัน!!

งานนี้ถ้าไม่ปรับข้อมูลในวิกิพีเดีย ก็คงต้องปรับการทำงานของเหล่าคณะบุคคลผู้ทำงานร่างและเห็นชอบกฎหมาย เพื่อให้ชัดเจนว่าการเลือกตั้งจะมีหรือไม่มีในปีนี้

หากดูจากที่มาและการทำงานของคณะบุคคลเหล่านี้แล้ว การทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

เพราะขนาดอำนาจของประชาชนยังยึดไปเนรมิตกฎหมายได้ด้วยความมั่นใจว่าตนเองเป็นคนดี เก่ง และฉลาด ดังนั้น การจะเนรมิตให้มีการเลือกตั้งย่อมเป็นไปได้ ถ้ามีเจตนามุ่งมั่นจริง

เรื่องติดอยู่แค่ว่า คณะผู้ทำงานเหล่านี้ตระหนักหรือสำนึกหรือไม่ว่าการคืนอำนาจให้ประชาชนนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก

และรู้หรือไม่ว่าประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่ของวิเศษ หรือสมบูรณ์แบบ เพียงแต่เป็นของทุกคน

ถ้าตื่นรู้ ย่อมคิดได้ว่าการเลือกตั้งไม่ควรจะเกินไปจากปี 2560 นี้แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image