การเคหะขยับบทบาท ปล่อยกู้ผู้มีรายได้น้อย

ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ

ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติคนใหม่ ดร.ธัชพล กาญจนกูล ประกาศวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนการเคหะฯ เตรียมขยับบทบาทเป็นผู้ปล่อยกู้ผู้มีรายได้น้อยด้วยตัวเองโดยตรง ลดการพึ่งสถาบันการเงิน เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน เน้นใช้นวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ลดต้นทุนเงินทุนขยายโครงการ และสร้างผลกำไรให้องค์กร พร้อมกับพัฒนารูปแบบโครงการสู่ความทันสมัยและชูจุดขายการตลาดที่ชัดเจนมากขึ้น

ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ประกาศวิสัยทัศน์ในฐานะผู้ว่าการคนใหม่ว่า จะใช้นวัตกรรมทางการเงินเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการเคหะแห่งชาติเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งทุน และมีที่อยู่อาศัยได้ โดยที่การเคหะฯ มีต้นทุนเงินทุนต่ำ ขยายโครงการได้ง่ายขึ้น โดยลดการพึ่งพาเงินทุนจากรัฐฝ่ายเดียว ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มผลกำไรให้องค์กรดีขึ้น

ทั้งนี้ ในเรื่องสินเชื่อเคหะนั้น ที่ผ่านมาการเคหะฯ จัดให้ธนาคารพาณิชย์เอกชนและธนาคารของรัฐเป็นแหล่งรองรับการปล่อยสินเชื่อเคหะ แต่ในทางปฏิบัติธนาคารก็ตรวจสอบอย่างเข้มข้นในทุกประเด็น จนทำให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงสินเชื่อเหล่านั้นได้ในอัตราที่ต่ำ ดังนั้น ตนจึงมีแนวความคิดให้การเคหะแห่งชาติกลับมาเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อเคหะด้วยตัวเองดังที่เคยทำมาในอดีต

ทั้งนี้ ปัจจุบันการเคหะแห่งชาติอยู่ในฐานะผู้ค้ำประกันสินเชื่อดังกล่าวทั้งหมด และมีภาระในการติดตามการชำระหนี้รายงวดให้กับธนาคารด้วย นอกจากนั้น เมื่อเป็นหนี้ที่มีปัญหา ธนาคารก็จะโอนหนี้ดังกล่าวมาให้การเคหะแห่งชาติอีกครั้ง เท่ากับการเคหะฯ ต้องดำเนินการเองแทบทุกขั้นตอน ยกเว้นการเป็นแหล่งเงินหรือผู้ปล่อยกู้โดยตรง ซึ่งจะรื้อฟื้นบทบาทใหม่นี้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

Advertisement

ขณะเดียวกัน การเคหะฯ ยังมองถึงการใช้ธุรกรรมทางการเงินอย่างซีเคียวริไทเซชั่นสำหรับลดต้นทุนเงินทุน ซึ่งเคยทำมาเมื่อปี 2546-2547 เมื่อครั้งที่เผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน

บ้านประชารัฐ1
ดร.ธัชพลกล่าวว่า ปัญหาหนึ่งของการเคหะฯ คือเป็นผู้ผลิตสินค้าคือบ้าน แต่ขายไม่ออก การแก้ไขปัญหานอกจากใช้นวัตกรรมทางการเงินมาช่วยแล้ว ยังต้องใช้การตลาดใหม่ๆ เข้าเสริมอีกแรงหนึ่งด้วย

“จะใช้การตลาดแบบดั้งเดิม ประเภทซื้อบ้านแถมเฟอร์นิเจอร์คงไม่พอแล้ว อาจต้องพัฒนาเป็นบ้านเพื่อสุขภาพ บ้านประหยัดพลังงาน เป็นต้น ซึ่งเป็นความทันสมัยและตรงใจของคนที่อยากมีบ้าน”

Advertisement

สำหรับการขับเคลื่อนโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง หลังจากที่เริ่มก่อสร้างโครงการระยะแรกในพื้นที่แปลง G บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่โครงการระยะที่ 3- 4 สำหรับรองรับผู้เช่ารายเดิมและผู้เช่ารายใหม่ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนในสัดส่วนที่มากจากวงเงินรวม 35,000 ล้านบาท การเคหะฯ วางแผนการใช้เงินในลักษณะร่วมทุนเอกชน (PPP) ซึ่งจะทำให้การเคหะฯใช้เงินลงทุนน้อยลงไม่ถึง 35,000 ล้านบาท

ขณะนี้มีภาคเอกชนสนใจโครงการเช่น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือภาครัฐเองอย่างกระทรวงพลังงานสนใจที่จะทำอาคารใช้พลังแสงอาทิตย์

สำหรับปี 2560 การเคหะแห่งชาติ มีแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (พ.ศ.2559-2568) ซึ่งมีทั้งอยู่ระหว่างก่อสร้างและขออนุมัติคณะรัฐมนตรีประกอบด้วย 5 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการเคหะชุมชน ทั้งประเภทเช่าและเช่าซื้อ 7,567 หน่วย โครงการบ้านข้าราชการ ทั้งเช่าซื้อและบ้านพักข้าราชการ 13,000 หน่วย โครงการบ้านเคหะประชารัฐ 12,754 หน่วย โครงการบ้านกตัญญู 352 หน่วย และโครงการพัฒนาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมชุมชนของการเคหะฯ 103 ชุมชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image