ปีระกา เริ่มแล้วตั้งแต่เดือนอ้าย (ปลายปีที่แล้ว)

ปีใหม่ไทย-ลาว เดือนอ้าย หรือขึ้นฤดูกาลใหม่ ส่งท้ายฤดูกาลเก่า ด้วยพิธีไหลเรือขอขมาน้ำแม่ของ (แม่น้ำโขง) [ลายเส้นฝีมือช่างในคณะสำรวจชาวยุโรปที่เดินทางเข้ามาสำรวจแม่น้ำโขง ระหว่าง พ.ศ.2409-2411 เมื่อปลายแผ่นดิน ร.4 ถึงต้นแผ่นดิน ร.5]

1มกราคม ปีใหม่สากล มีครั้งแรกในไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2484

ปีใหม่ไทย อยู่เดือนอ้ายตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เป็นอย่างเดียวกับกลุ่มไต-ไท และเผ่าพันธุ์อื่นๆ ของสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์

เดือนอ้าย ปีใหม่ไต-ไท, และไทย ในสุวรรณภูมิอุษาคเนย์ (ไม่ใช่เดือนห้า สงกรานต์ของอินเดีย) หลังลอยกระทงเดือน 12 ถือเป็นท้ายฤดูกาลเก่า แล้วย่างเข้าฤดูกาลใหม่ (ทางจันทรคติ) เริ่มนับเป็นเดือน 1 เปลี่ยนใหม่ปีนักษัตร

ถ้าเทียบตามปฏิทินสากล (ทางสุริยคติ) เริ่มนับเข้าเดือน 1 ปีระกา ตั้งแต่หลังลอยกระทง เมื่อกลางพฤศจิกายน 2559 (แต่บางแห่งนับหลังลอยกระทงอีก 15 วัน)

Advertisement

เดือนอ้าย

เดือนอ้าย แปลว่า เดือนที่หนึ่ง หรือเดือนแรกของ 12 เดือน (ใน 1 ปี) ตามปฏิทินจันทรคติ หมายถึงเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ เริ่มปีนักษัตรใหม่ ตั้งแต่หลังลอยกระทง เดือน 12

ปีนักษัตร ได้แก่ ชวด, ฉลู, ขาล, เถาะ ฯลฯ มีรูปประจำปีเป็นสัตว์ต่างๆ เช่น ชวด หนู, ฉลู วัว, ขาล เสือ, เถาะ กระต่าย ฯลฯ เป็นวัฒนธรรมจากตะวันออกกลาง เช่น อิหร่าน (เปอร์เซีย) ผ่านไปทางจีน เข้าสู่อุษาคเนย์ ถึงไทย (ไม่มีในอินเดีย)

อ้าย ในภาษาไทยแปลว่าหนึ่ง เป็นคำเรียกลำดับและนับจำนวนที่เป็นเพศชาย

Advertisement

ในภาษาไทยมีใช้ต่างกันเมื่อเรียกลูกสาวกับลูกชาย เรียงลำดับลูกสาวว่า เอื้อย อี่ อ่าม ไอ อัว อก เอก แอก เอา อัง ฯลฯ ลูกชายว่า อ้าย ญี่ สาม ไส งัว ลก เจด แปด เจ้า จ๋ง ฯลฯ

[คำว่า อ้าย แผลงเป็น ไอ้ เช่น ไอ้เบิ้ม, ไอ้ห่า ฯลฯ คำว่า อี่ แผลงเป็น อี เช่น อีบัว, อีดอกทอง ฯลฯ]

เดือน เป็นคำเรียกดวงจันทร์ ที่ทำให้มีน้ำขึ้น-น้ำลง หล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ธัญญาหาร

ดวงจันทร์เห็นได้ชัดตอนกลางคืน เรียกว่าค่ำ มีความเปลี่ยนแปลงเรียกเดือนขึ้น (หรือข้างขึ้น) สลับกับเดือนแรม (หรือข้างแรม) รวมกันได้ราว 30 วัน บางครั้ง 31 วัน คนเราเลยยอมรับเรียกชื่อเวลาทั้งหมดว่าเดือนหนึ่ง หรือหนึ่งเดือน

คำว่าเดือนจึงหมายถึงระยะเวลา 30-31 วันตามจันทรคติ (แปลว่า คติที่มีดวงจันทร์เป็นแกนกลาง)

ปี หมายถึง ช่วงเวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ครั้งหนึ่งประมาณ 365 วัน แบ่งเป็น 12 เดือน

คนแต่ก่อนไม่เรียกปี แต่เรียกเข้า (ที่ปัจจุบันเสียงเป็นข้าว) ตามการเพาะปลูกทางกสิกรรม ทำนาปลูกข้าวแล้วได้ข้าวปีละครั้ง

ภาคเหนือเร็วกว่าภาคกลาง

เดือนอ้ายของล้านนาอยู่ทางเหนือ เริ่มก่อนภาคกลางโดยเฉลี่ย 2 เดือน (ขณะนั้นภาคกลางยังเป็นเดือน 11) เพราะเก็บเกี่ยวข้าวในนาก่อนภาคกลาง

พอภาคกลางเริ่มปีใหม่เดือนอ้าย ทางภาคเหนือก็เข้าเดือนสามแล้ว

มีเหตุจากภาคเหนือรับมรสุมก่อนภาคกลาง ฝนจึงตกทางภาคเหนือแล้วเริ่มฤดูทำนาก่อนภาคกลาง ข้าวทางภาคเหนือออกรวงสุกเต็มที่ ต้องเก็บเกี่ยวก่อนภาคกลาง โดยเฉลี่ยราว 60 วัน หรือ 2 เดือน

สงกรานต์ ไม่ใช่ปีใหม่ไทย

สงกรานต์ เป็นประเพณีของพราหมณ์อินเดีย จะอนุโลมเรียกปีใหม่อินเดียโบราณก็ได้ เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนราศีตามปฏิทินทางสุริยคติในอินเดีย จากราศีมีน (มีนาคม-เมษายน) สู่ราศีเมษ (เมษายน-พฤษภาคม) ไม่มีปีนักษัตร

ดังนั้น สงกรานต์เดือน 5 (เมษายน-พฤษภาคม) ไม่ใช่ปีใหม่ไทย และไม่ใช่ปีใหม่ของรัฐนอกศาสนาพราหมณ์ และนอกอินเดีย ไม่ใช่ปีใหม่ลาว, กัมพูชา, พม่า, สิบสองพันนาในจีน และไม่ใช่ช่วงเวลาเปลี่ยนปีนักษัตร (เพราะเปลี่ยนก่อนแล้วตั้งแต่เดือนอ้าย)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image