เชียงใหม่ดึง 8 ผู้เชี่ยวชาญ ถกจัดทำแผนเมืองมรดกโลก

วันที่ 6 มกราคม ที่ห้องฝ้ายคำ สำนักบริการวิชาการ (Uniserv) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมระดับนานาชาติ The Lanna Historic City Forum Experts 2017 ตามแผนดำเนินการศึกษาและรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และบริบทต่างๆ ของเมือง รวมถึงสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปจัดทำแผนและข้อกำหนดพื้นที่สำหรับพื้นที่มรดก สำหรับใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำเอกสารเพื่อเสนอเมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลกต่อคณะกรรมการองค์กรยูเนสโกในระยะต่อไป โดยมีนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มช. พร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมล้านนา ไต และวัฒนธรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมืองเชียงใหม่ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์และการพัฒนาเมือง เข้าร่วมประชุมพร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับคุณค่า และอัตลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ ใน 5 ประเด็น คือ ภูมิทัศน์และการตั้งเมือง ประวัติศาสตร์และโบราณคดี คติ ความเชื่อและพิธีกรรม องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม และการปกป้องและการรักษาความจริงแท้ของวัฒนธรรมล้านนา

201701061454342-20021028190355

ศ.ริชาร์ด เอ. แองเกิลฮาร์ท อดีตผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมเอเชียและแปซิฟิก ยูเนสโก กล่าวว่า เชียงใหม่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแง่ศิลปะและวัฒนธรรมที่น่าสนใจ และน่าแปลกใจที่ทุกฝ่ายมีความร่วมมือร่วมใจกัน โดยเกิดขึ้นจากฐานราก พระภิกษุสงฆ์ นักเรียน นักศึกษา และแม้แต่สื่อมวลชนก็มาให้ความร่วมมือ เป็นเสน่ห์พิเศษที่เชียงใหม่มีแตกต่างจากที่อื่นๆ

ด้าน รศ.ดร.วรลัญจก์กล่าวว่า จากการไปสำรวจพบว่าเมืองเชียงใหม่ของเรามีสิ่งที่มีค่ามาก เป็นการฟื้นฟูสิ่งที่มีอยู่ให้มีชีวิตขึ้นมา คนมักคิดว่ามรดกโลกใหญ่เหลือเกิน และมองว่าการพัฒนาไม่สามารถเดินต่อไปได้หากเป็นเมืองมรดกโลก แต่เป็นการเสริมไปด้วยกัน เก็บรักษาสิ่งมีคุณค่า ปัดประกายฉายเแสงให้เจิดจรัสขึ้นมา จัดการตามกระบวนการที่ดีจะทำให้เมืองนี้ดีขึ้น ยกตัวอย่างการแก้ปัญหาคลองแม่ข่าที่ผ่านมาไม่เคยสำเร็จ เรามาลองทำจากข้างล่าง จากวิถีชีวิตดั้งเดิม ปัดกวาดหน้าบ้านตัวเอง มองภาพรวมให้ดูดีขึ้น ไม่ใช่คลองของฉันแต่ทุกคนช่วยกันได้

Advertisement

201701061454355-20021028190355
“อาจจะดูยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าเราทำไม่ได้ และต้องทำ คำว่ามรดกโลกคงยังอีกนาน แต่จะรักษาตัวตนของเราอย่างไรให้ได้ การเป็นมรดกโลกต้องค่อยเป็นค่อยไป ชาวบ้านทำเขาก็บอกว่านี่คือมรดกโลกในมุมของเขา การจุดเทียนรอบคูเมือง ก็คือมรดกโลก เพราะไม่มีใครทำ เป็นเสน่ห์ของเมืองเชียงใหม่ ในความหมายวิถีชีวิต จิตวิญญาน และผู้คนของเราต่างหากที่ต้องคงอยู่และเป็นมรดกโลก อาคารเก่าหรือโบราณสถานก็เป็นส่วนหนึ่ง หลังจากนี้เราจะสรุปข้อมูลที่ได้เพื่อเดินตามในการผนวกสี่เหลี่ยมคูเมือง สวนดอก และดอยสุเทพ ที่เป็นเส้นทางเมืองเก่า ให้เต็มไปด้วยชีวิตที่ดีงาม ฟื้นจากสลัมให้เป็นสวรรค์ให้ได้ ยากแต่ต้องทำ เป็นงานท้าทายของทุกคนในเมืองเชียงใหม่ ช่วยกันกุยทางและจุดประกายไปให้ถึงเป้าหมาย” รศ.ดร.วรลัญจก์กล่าว

201701061454354-20021028190355

ขณะที่นายปวิณกล่าวว่า สิ่งสำคัญโดยเนื้อหาและประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่มีความพร้อมอยู่แล้ว แต่การจัดการอย่างไรนั้น ต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่าการเป็นเมืองมรดกโลก มีผลดีในแง่ของเมืองของเรามีความโดดเด่นขึ้นมา และประชาชนได้อะไร หรือเสียอะไร จึงอยากให้คนเชียงใหม่เข้าใจเรื่องนี้และก้าวร่วมไปพร้อมกับทุกฝ่าย คนเชียงใหม่ควรมีความภาคภูมิใจในการจะเป็นมรดกโลกจากศักยภาพที่มี เพราะไม่ใช่การเปลี่ยนวิถีชีวิต แต่เป็นการอยู่ร่วมกับอดีตอย่างมีคุณค่า เพียงแต่มีการปรับให้เข้ากันระหว่างวิถีชีวิตของที่ดำรงอยู่กับความเป็นมรดกโลก ซึ่งล่าสุดรองนายกรัฐมนตรีได้ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการเมืองเก่าขึ้นมาร่วมกันขับเคลื่อนความเป็นมรดกโลกของเรา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image