ส่องชัดๆ ชุดประจำชาติ กว่าจะเป็น ‘จีเวล ออฟ ไทยแลนด์’ ไม่ง่าย!!

กำลังเป็นที่กล่าวขวัญเป็นอย่างมาก สำหรับชุดประจำชาติมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ “จีเวล ออฟ ไทยแลนด์” ที่ น้ำตาล-ชลิตา ส่วนเสน่ห์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2016 จะสวมใส่ขึ้นประกวดอวดโฉมความงามต่อสายตาชาวโลกบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส 2016 ที่ประเทศฟิลิปปินส์

เรียกได้ว่า ปีนี้ ชุดประจำชาติมีความแตกต่างไปจากหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกับ “ชุดรถตุ๊กตุ๊ก” ที่แม้ “จีเวล ออฟ ไทยแลนด์” จะไม่ฉีกแนวให้ล้ำเท่า แต่ก็ได้รับเสียงชื่นชมถึงความสวยและสะท้อนความเป็นไทย

แต่กว่าจะมาเป็นชุดสวยเลอค่าขนาดนี้ได้ ไม่ง่ายนัก เพราะต้องผ่านด่านการประกวดชุดประจำชาติในหัวข้อ “ครีเอทีฟไทย” ที่มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจำนวน 291 ผลงาน แต่ด้วยแรงบันดาลใจ “ชุดไทยศิวาลัย” ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดไทยพระราชนิยม ในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ “ส้มโอ-หิรัญกฤษฏิ์ ภัทรบริบูรณ์กุล” นักออกแบบ หยิบเอาความประทับใจในฉลองพระองค์มาสร้างสรรค์เป็นชุด “จีเวล ออฟ ไทยแลนด์” ก็ทำให้เขาคว้ารางวัลที่ 1 มาได้

และนับตั้งแต่ 17 พฤศจิกายน 2559 เป็นต้นมา จึงถือเป็นช่วงเวลาที่นักออกแบบและทีมงานได้เร่งรังสรรค์ผลงานในเวลาเกือบ 2 เดือน

Advertisement

IMG_1040

โดยลายปักของชุด ออกแบบโดยนำเอาแผนผังวัดพระศรีรัตนศาสดารามมาเป็นต้นแบบเป็นลายปักอาร์ตเดคโค่ ประยุกต์กับลายปักเลอซาจ ทั้งมีลายกรวยเชิงจากวัดใหญ่ชัยมงคล เมื่อได้ลายแล้วจึงนำไปปักด้วยคอมพิวเตอร์ขึ้นลายให้เท่ากัน ก่อนจะนำไปรีดร้อนเพชรเข้ากับตัวผ้า

จากนั้นจึงเป็นขั้นตอนของการเย็บมือด้วยดิ้นทอง ร่วมปักเพชรกว่า 3 แสนเม็ด ด้วยเพชรคิวบิคเซอร์โคเนีย จากสวารอฟสกี้ ที่ได้รับการรับรองจากสถาบันจีไอเอว่ามีความแวววาวเทียบเท่าเพชรจริง ทำให้เกิดความระยิบระยับเมื่อต้องไฟบนเวที

Advertisement

ขั้นตอนการเย็บนี้เอง เรียกว่า “ละเอียดอ่อนมาก” ต้องใช้ทีมเย็บกว่า 30 คนกระจายไปตามที่ต่างๆ ทั้งบุรีรัมย์ สุรินทร์ ช่วยกันปักเย็บ ก่อนจะนำชิ้นส่วนต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน และต้องไม่ทับซ้อนหรือบดบังความสวยงามกันเอง

ความพิเศษของชุดนี้ ยังรวมถึงเครื่องประดับชิ้นต่างๆ 6 ชิ้น ประกอบด้วย รัดเกล้ายอด (เครื่องประดับศีรษะ) ที่จัดทำขึ้นใหม่ใช้เทคนิคแบบโบราณดั้งเดิมออกแบบลายร่วมสมัย, ต่างหู, สร้อยคอ, ปั้นเหน่ง (หัวเข็มขัด), สายเข็มขัด และพาหุรัด (เครื่องประดับต้นแขน) ที่ได้แรงบันดาลใจจากสุพรรณหงส์

สุพรรณหงส์
พาหุรัดแรงบันดาลใจจาก สุพรรณหงส์

ทุกชิ้นต้องออกแบบ ทำโมเดลสามมิติ ก่อนจะหล่อแวกซ์ และจัดทำขึ้นจริงด้วยเงินแท้ชุดทอง ให้เกิดความวาว ทั้งยังต้องเก็บน้ำหนักให้เบาที่สุด ประดับด้วยเพชรคิวบิคเซอร์โคเนีย จากสวารอฟสกี้ทุกชนิด

มิเพียงเท่านี้ แต่รองเท้าก็ยังต้องจัดทำขึ้นใหม่ ปักลายให้เข้ากับชุดด้วย

ก่อนจะสำเร็จออกมาเป็นชุด “จีเวล ออฟ ไทยแลนด์” อันเป็นงานศิลปะที่รวมศาสตร์และศิลป์ในการผลิตและตัดเย็บชุดไทย ที่มีน้ำหนักกว่า 14 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 7 หลัก จากแรงใจของคนช่างไทยนับร้อยคน ไม่ว่าจะเป็น ดร.สุรัตน์ จงดา รองอธิการบดีวิทยาลัยนาฏศิลป์ ที่ปรึกษาด้านเครื่องแต่งกายไทย, พีระมล ชมธวัช ที่ปรึกษาด้านเครื่องประดับไทย และโจ้-โอฬาร กกโอ ที่ปรึกษา ด้านงานปักไทย ไปจนถึงคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยทั้งสิ้น

ทั้งหมดก็เพื่อให้ “จีเวล ออฟ ไทยแลนด์” เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ที่จะแสดงออกให้ชาวโลกได้รู้จักกับ “ชุดไทยศิวาลัย” และมรดกงานหัตถกรรมของไทยนั่นเอง

unnamed (1)

ว่าด้วยเครื่องประดับแต่ละชิ้น
รัดเกล้ายอด 
ก่อนออกแบบได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับศิราภรณ์ เครื่องประดับไทย จากครูบิ๊ก – พีระมล ชมธวัช ด้วยความประทับใจจาก “รัดเกล้ายอดโบราณสมัยรัชกาลที่ 5” ตอนปลาย อายุกว่า 120 ปี ซึ่งเป็นยุคที่ศิลปะไทยรับอิทธิพลของศิลปะ Art Deco จากยุโรป งานเครื่องประดับไทยในยุคนั้นเริ่มมีจะมีการทอนรายละเอียดและโชว์โครงสร้างเป็นหลัก และเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบสร้างสรรค์รัดเกล้ายอดชิ้นนี้ ให้มีความร่วมสมัย ผสมผสานกับงานสลักดุนโบราณแบบช่างสิบหมู่ โดยได้อาจารย์ชาติชาย คันธิก อาจารย์ประจำภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้น ผสมผสานกับงานออกแบบเครื่องประดับด้วยเทคโนโลยีสามมิติ (3D CAD) และใช้การประกอบตัวเรือนด้วยช่างฝีมือที่ทำงานเครื่องประดับเพชรแท้ (fine jewelry)
รัดเกล้ายอดชิ้นนี้ออกแบบให้มีขนาดที่ใหญ่กว่าปกติโดยคำนึงถึงการใช้งาน การนำเสนอในลักษณะ stage costume คือ เพื่อให้สามารถมองเห็นแต่ไกล และสร้างอารมณ์ให้กับผู้ชมให้รู้สึกถึงความสง่างามและยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีความ dramatic
IMG_1050
ช้องผมและปิ่นดอกไม้ไหว
คือเครื่องประดับที่ใช้ประกอบกับการรวบผมเป็นหางม้าที่บริเวณท้ายทอยประดับให้สวยงาม จึงออกแบบให้สอดคล้องกับรัดเกล้ายอดซึ่งใช้ประดับศีรษะคู่กัน โดยทอนลายไทยและอิงศิลปะ Art Deco เช่นเดียวกัน
IMG_1054
ต่างหู
ออกแบบโดยใช้โครงสร้างของต่างหูแบบไทย แต่นำชิ้นส่วนต่างๆที่ได้ออกแบบไว้สำหรับเครื่องประดับทั้งหมด มาจัดเรียงประกอบเข้ากันใหม่ให้มีความยาวพิเศษคล้ายกับต่างหูของชุดราตรี เพื่อเสริมให้ช่วงคอผู้สวมใส่เกิดความระหง
IMG_1052
สร้อยคอ
ออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากกรองพระศอในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ซึ่งออกแบบโดย Van Cleef & Arpels โดยนำโครงสร้างของลายกรวยเชิงของวัดใหญ่สุวรรณาราม มาใช้เป็นไอเดียในการออกแบบใหม่ และออกแบบให้มีขนาดใหญ่กว่าปกติเช่นเดียวกัน เพื่อการใช้งานในลักษณะ stage costume
IMG_1051
พาหุรัด (เครื่องประดับต้นแขน)
ออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากความงดงามของสุพรรณหงส์ ประกอบเข้ากับปีกและชิ้นส่วนเครื่องประดับไทยประยุกต์ โดยมีความพิเศษคือ ชิ้นศีรษะและปีกหงส์ใช้เทคนิคการสลักดุนลายแบบโบราณ และมีลูกเล่นที่ปีกหงส์สามารถขยับสั่นไหวได้
IMG_1055
ปั้นเหน่ง (หัวเข็มขัด)
ออกแบบโดยนำชิ้นส่วนเครื่องประดับที่ออกแบบไว้มาประกอบรวมกันให้มีความงดงามในโครงสร้างของลายประจำยาม และทำให้มีขนาดใหญ่พิเศษ
WSP_8765

WSP_8661

WSP_8706

WSP_8751

IMG_1053

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image